มอง ‘ความหลากหลาย’ ในอุตสาหกรรมหนังไทย ผ่าน 15 ปี ‘รักแห่งสยาม’

มอง ‘ความหลากหลาย’ ในอุตสาหกรรมหนังไทย ผ่าน 15 ปี ‘รักแห่งสยาม’

คุณค่าของ ‘ความหลากหลาย’ ไม่ควรถูกจำกัดแค่ในจอ ร่วมแสดงตัวตนแห่งความภาคภูมิใจ และสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทย กับงาน Empower Your Pride

เมื่อปี 2550 ภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ จนได้รับกระแสความสนใจและถูกพูดถึงอย่างหลากหลาย ทั้งในแง่ประเด็นความรักวัยรุ่นและการเปิดโอกาสให้ภาพยนตร์ไทยกล้านำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่ความรักไม่ได้ถูกกำหนดเพียงเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น 

The Momentum และ SF Cinema จึงอยากชวนทุกคนมองภาพความหลากหลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผ่าน 15 ปี ‘รักแห่งสยาม’ และร่วมหาคำตอบว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีความลื่นไหลทางเพศมากขึ้นหรือไม่? 

นอกจากประเด็นเรื่องเพศบนหน้าจอแล้ว ปัญหาต่อมาที่น่าตั้งคำถามคือความหลากหลายทางเพศของอาชีพ ‘คนกองถ่ายฯ’ ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ การเลือกปฏิบัติ หรือค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับการทำงาน ท่ามกลางการกดทับและการต่อสู้ในโลกแห่งความจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

ปัญหาข้างต้นเป็นที่มาของการเปิดพื้นที่เสวนาให้ชาว LGBTQIA+ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ได้ร่วมกันถ่ายทอดปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ และถอดบทเรียนหาทางออก ผ่านกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม และเสวนาหัวข้อ ‘Empower Your Pride’

สำหรับงาน Empower Your Pride ทาง The Momentum ได้รับเกียรติจากตัวแทนคนทำงานและด้านนโยบาย 3 ท่าน มาร่วมแชร์ประสบการณ์และข้อเสนอที่อยากเห็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ให้เกิดขึ้นจริงทั้งในจอและนอกจอ ได้แก่

  1. มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม
  2. จีน-ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา สมาชิกจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (Creative Workers Union Thailand: CUT) 
  3. ธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

มาร่วมกันผลักดันและยกระดับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ไม่ว่าคุณเป็นใคร มีตัวตนแบบไหน หรือมาจากที่ใด ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมอันน่าอยู่ได้

The Momentum หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเกิดขึ้นโดยเร็ววัน และการผลักดันความหลากหลายทางเพศไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะในเดือนนี้ แต่ควรเป็นเรื่องปกติในทุกวัน