นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

ไพรวรรณ์ ทิลารักษ์ : ต้นแบบ ‘หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน’ ที่นำภูมิปัญญาผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ย้อมคราม (Indigo dye) เป็นกระบวนการย้อมผ้าที่ใช้การสกัดเนื้อครามออกมาจากต้นคราม (Indigofera tinctoria) ซึ่งเป็นไม้พุ่มสีเขียวมีดอกสีชมพูอมแดง แล้วนำมาผ่านกระบวนการหมักเพื่อปลุกความมหัศจรรย์ให้กับวัตถุดิบจากต้นพืชที่เราแทบไม่เห็นความเป็นสีน้ำเงินเลยสักนิด ให้สามารถเปลี่ยนผืนผ้าสีขาวบริสุทธิ์กลายเป็นผ้าสีน้ำเงินครามสดได้ในเพียงเสี้ยวนาที

การย้อมครามไม่เพียงสร้างสีสันให้กับเส้นใยผ้าที่นำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่ภูมิปัญญาการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานนี้ยังสามารถมาเปลี่ยนชีวิตให้กับผู้คนในหมู่บ้านได้อีกด้วย

การผลิตผ้าย้อมครามที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับผู้คนในอดีตที่ครั้งหนึ่งหลายคนหลงลืมกันไปแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายพื้นที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน วันนี้เราชวนมาเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเรื่องราวของชาวบ้านบ้านคำประมง หมู่บ้านในจังหวัดสกลนคร ที่ใช้การรวมกลุ่มย้อมผ้าครามสร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่ จนเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของหมู่บ้านยั่งยืนให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป
นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

ย้อมครามสร้างความยั่งยืน

ใครที่ได้ไปบ้านคำประมงจะเห็นภาพหมู่บ้านขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ที่มีแลนด์มาร์กอยู่ที่อ่างเก็บน้ำขนาดย่อม และวัดคำประมงอันเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เนื่องจากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี จึงไม่แปลกเลยที่อาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นการทำเกษตรกรรม เช่น การทำไร่ ทำนา ปลูกผักผลไม้ ไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ อย่าง หมู ไก่ กบ โค กระบือ ไม่เว้นแม้แต่การเพาะพันธุ์แมลงให้เป็นโปรตีนแหล่งใหม่ในอนาคต

ส่วนในยามว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านคำประมงมักจะทอผ้าเพื่อใช้กันเองภายในครัวเรือน เพราะคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวภูไทที่สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการทอผ้ามาแต่โบราณ วิถีการทอผ้าจึงเป็นอีกสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่นี่ รวมไปถึงหมู่บ้านอีกหลายแห่งในจังหวัดสกลนคร โดยตอนนี้พวกเขาได้รวมกลุ่มกันปลูกต้นคราม เพื่อเก็บเกี่ยวมาสกัดนำมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการย้อมผ้าฝ้าย 

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
ภาพชาวบ้านทอผ้าในยามว่าง จึงเป็นภาพที่ผู้ใหญ่ไพรวรรณ์ ทิลารักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคําประมง หมู่ที่ 4 ตําบลสว่าง อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ผู้ที่เกิดและเติบโตที่นี่รู้สึกคุ้นเคยมานานหลายสิบปี นั่นทำให้เมื่อเขาได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านคำประมงอันเป็นบ้านเกิด มีความคิดที่จะเผยแพร่วิถีการทอผ้า และกรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติให้คนภายนอกได้รับรู้มากยิ่งขึ้น 

ผู้ใหญ่ไพรวรรณ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างสนิทสนมว่าผู้ใหญ่วรรณ์ เล่าอดีตก่อนมารับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อ 17 ปีที่แล้วให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่า

“ก่อนที่จะได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมเคยเป็นครู กศน. สอนพวกวิชาชีพต่าง ๆ พอได้กลับมาบ้านก็รู้สึกอยากจะพัฒนาบ้านเกิดของเราให้คนทั่วไปได้รู้จักว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยงามสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและธรรมชาติ”
นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

จากดอนกอยโมเดลสู่คำประมง

ผู้ใหญ่วรรณ์เล่าเพิ่มเติมว่าแรงบันดาลใจของการพัฒนากลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมงมาจากความสำเร็จของบ้านดอนกอย หรือ ดอนกอยโมเดล ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการทอผ้าย้อมครามมาอย่างยาวนาน ทำให้พวกเขาหันมาต่อยอดภูมิปัญญาการผลิตผ้าย้อมครามจากเดิมที่เพื่อใช้กันเองในครัวเรือนมาพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านการทอผ้า รวมถึงเทคนิคการฟอก การย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

ผ้าย้อมครามของบ้านคําประมงจึงมีความโดดเด่นในเรื่องสีสันและลวดลายที่หลากหลาย ดูแปลกตา สวยงาม และมีเอกลักษณ์ อาทิ ลายกลีบมะเฟือง ลายโค้งภูพาน ลายดาวสกล รวมไปถึงลายดอกรัก และลายขอนารี ที่เป็นลายพระราชทาน

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน

ด้วยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้าน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ผลักดันการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยผู้ใหญ่วรรณ์กล่าวว่าเส้นทางไปสู่หมู่บ้านยั่งยืนนั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน ที่เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา และพัฒนาหมู่บ้าน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ช่วยให้ชาวบ้านมีความตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนและการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จากการส่งเสริมและสนับสนุนของทางอำเภอ ทำให้มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้บ้านคำประมงเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านต้นแบบด้านความยั่งยืนให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป”

นอกจากเรื่องความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มแล้ว ด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หมู่บ้านให้ความสำคัญ ทางส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาให้คำแนะนำในการปลูกผักไว้กินเอง รวมไปถึงการจัดหาเมล็ดพันธ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเพาะปลูกเพิ่มเติมให้อีกด้วย

“นายอำเภอและปลัดเวลาที่เข้ามาในหมู่บ้านเราก็ได้ผ้าสวย ๆ จากกลุ่มทอผ้าของเราติดมือกลับไปแทบทุกครั้ง” ผู้ใหญ่วรรณ์หัวเราะอย่างอารมณ์ดีเมื่อเราถามถึงการสนับสนุนจากปลัดอำเภอและนายอำเภอในพื้นที่ 

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
เมื่อเราได้เห็นงานหัตถกรรมผ้าทอมือจากกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมงก็ไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนที่มาเยือนที่นี่ถึงได้ของฝากเป็นผ้าทอสวย ๆ กลับไปด้วย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเพียงผ้าย้อมครามเท่านั้น ยังมีผ้าย้อมจากเปลือกไม้ธรรมชาติ ที่ให้สีน้ำตาล สีเขียว สีเหลือง สีแดงแกมส้ม และสีแดงก่ำ ตามแต่ชนิดของเปลือกไม้และกรรมวิธีการย้อม รวมไปถึงผ้าฝ้ายหมักโคลน ภูมิปัญญาเรียบง่ายจากความมหัศจรรย์ของการผสมผสานระหว่างดินและผ้า ที่ให้สีเฉพาะตัว ดูละมุนอย่างเป็นธรรมชาติ

ความนิยมของผ้าจากกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง วัดผลได้จากรายได้เฉลี่ยของคนในหมู่บ้านที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ใหญ่วรรณ์บอกว่าในการสํารวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ครั้งล่าสุด รายได้เฉลี่ยต่อคนของหมู่บ้านเพิ่มจากเดิม 40,000 บาท มาเป็น 50,000 กว่าบาท ซึ่งมีแนวโน้มว่าปีหน้าอาจจะเพิ่มเป็น 70,000 - 80,000 บาทได้ไม่ยาก เพราะความต้องการผ้าไทยมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อย่างล่าสุดที่ ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ก็ยังนุ่งผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมครามจนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ภายในข้ามคืน 

“พอมีโครงการก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในหมู่บ้านเรา เพราะการรวมกลุ่มทอผ้าช่วยให้พวกเรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น แล้วยังมีการตั้งกลุ่มอาชีพอื่น ๆ รวมทั้งการปลูกผักกินเองก็ทำให้มีอาหารไม่ขาดแคลน และสามารถเอาไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันได้อีกด้วย”

หลายคนอาจวัดความสำเร็จของบ้านคำประมงจากตัวเลขรายได้เฉลี่ยของคนในหมู่บ้านที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่ยืนยันผลของโครงการนี้ได้ดีกว่านั้นอาจจะเป็นมวลความสุขที่เพิ่มมากขึ้น อันจะพบได้จากรอยยิ้มแจ่มใส และเสียงหัวเราะของชาวบ้านทุกคนที่เราได้พูดคุย

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
ประกวดเพื่อที่จะพัฒนาหมู่บ้าน

“ความยั่งยืนในความคิดของผมมาจากการที่พี่น้องประชาชนเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมจากข้างใน แล้วเริ่มต้นลงมือทำ เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียดว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้สึกอยากจะทำ เมื่ออยากแล้วก็ลงมือทำด้วยตัวเอง”

ผู้ใหญ่วรรณ์เริ่มด้วยการไปพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เข้าใจเป้าหมายที่มีร่วมกันในการยกระดับและพาหมู่บ้านไปสู่ความยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านทุกคนพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจ รวมพลังเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในหมู่บ้านดีขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความร่วมมือของผู้คนในบ้านคำประมงได้คือการคว้ารางวัลประกวดหมู่บ้านระดับจังหวัดมาหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน แต่ผู้ใหญ่วรรณ์กลับบอกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาหมู่บ้านไม่ใช่เรื่องของตัวรางวัลที่ได้รับ เพราะสิ่งที่มากกว่ารางวัลคือการที่หมู่บ้านได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากความร่วมมือของทุกคน

“เราไม่ได้พัฒนาหมู่บ้านเพื่อส่งประกวด เราประกวดเพื่อที่จะได้พัฒนา เพราะจะทําให้หมู่บ้านของเรายั่งยืนตลอดไป” 

นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน
ผู้ใหญ่วรรณ์บอกว่า ในฐานะผู้ใหญ่บ้านที่มีหน้าที่หลักคือต้องคอยบําบัดทุกข์ บํารุงสุขให้กับทุกคนในหมู่บ้านแล้ว ยังต้องใส่ใจถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้านด้วย สิ่งไหนที่ผู้ใหญ่วรรณ์สามารถหาให้ได้ เขาจะพยายามสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นอาจจะไม่เกินความจริงที่จะบอกว่าความรู้สึกจากใจของผู้ใหญ่บ้าน บ้านคำประมงในวันนี้คือความสุขที่ได้เห็นหมู่บ้านที่เขาเติบโตมาได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญ พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านมีความสุข กินดีอยู่ดี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“ตอนแรกก็คิดว่ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านจะดีหรือเปล่า แต่พอได้มารับตำแหน่งแล้วทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็รู้สึกมีความสุขเวลาที่เห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป จนไม่อยากเกษียณอายุเลย”

ความสำเร็จของบ้านคำประมงจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นของทุกคนที่มีส่วนร่วมในการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ประยุกต์กับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่จะทำให้บ้านคำประมงเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน จนสามารถเป็นต้นแบบของหมู่บ้านยั่งยืนที่ส่งต่อความยั่งยืนไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป
นำผ้าย้อมครามมาเพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน