“เกรตา ทุนเบิร์ก” เด็กอายุ 16 ที่แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการโดดเรียนทุกวันศุกร์

“เกรตา ทุนเบิร์ก” เด็กอายุ 16 ที่แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการโดดเรียนทุกวันศุกร์

เด็กอายุ 16 ที่แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการโดดเรียนทุกวันศุกร์

จำได้ไหมตอนอายุ 16 ปี ทำอะไรกันอยู่? เตรียมสอบ GAT PAT ดีดกีตาร์จีบหญิง หรือ ชวนตี้ตีป้อม แต่สำหรับ เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวสวีดิชในวัย 16 เธอเลือกโดดเรียนหนังสือมานั่งอยู่หน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนในกรุงสตอกโฮล์มทุกวัน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามข้อตกลงได้เคยได้สัญญาไว้ แม้ประเทศสวีเดนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีคุณภาพด้านการศึกษาดีเยี่ยม และให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ เกรตา ทุนเบิร์ก ยังรู้สึกว่าไม่พอ เพราะหลังจากได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนและปัญหาไฟป่าในปีที่ผ่านมา เธอได้บอกตัวเองว่าจะไม่ทนกับเรื่องนี้อีกแล้ว 20 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียน แทนที่จะไปโรงเรียนเหมือนเด็กเกรด 9 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) คนอื่น ๆ เกรตาตัดสินใจเดินตรงไปยังรัฐสภา พร้อมกับเป้สีม่วงคู่ใจ พอไปถึงเธอชูป้ายที่เขียนว่า “โดดเรียนเพื่อโลก” (Skolstrejk för klimatet) เธอนั่งอยู่ที่นั่นจนถึงเวลาเดียวกับที่เสียงออดเลิกเรียนดัง แล้วค่อยเก็บของเดินกลับบ้านอย่างเงียบ ๆ เกรตาตั้งใจทำแบบนี้ทุกวันตามเวลาเรียนปกติ จนถึงวันเลือกตั้งทั่วไปของสวีเดนในวันที่ 9 กันยายน แน่นอนว่าการที่เด็กผู้หญิงผมเปียคนหนึ่งมานั่งชูป้ายประท้วงหน้ารัฐสภาสม่ำเสมอทุกวัน แม้เป็นสิ่งที่ผิดกฎ แต่เธอก็ไม่ถูกจับกุมเหมือนในบางประเทศ กลับกันเธอได้ดึงดูดความสนใจของใครหลายคน ช่วยให้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “รู้ไหมว่าเรามีวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายอยู่ในมือ แต่ไม่มีคนให้ความสนใจ ที่ต้องทำตอนนี้คือการเริ่มต้นลงมือทำเท่านั้นเอง ไม่ใช่ผลัดวันไปรอให้เรียนจบก่อน” นี่คือคำตอบอย่างไม่ประนีประนอมของเด็กผู้หญิงอายุ 16 เวลาที่มีผู้ใหญ่บางคนเดินมาสอนว่า “หนูจ๋ากลับไปตั้งใจเรียนให้เก่ง เป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเลยดีกว่ามั้ย” สาเหตุหนึ่งที่เกรตาตอกกลับอย่างไม่เกรงใจ อาจมาจากการที่ตัวเธอเป็น แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มออทิสติก ทำให้เธอมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม และความหมกมุ่นกับเรื่องที่สนใจเป็นอย่างมาก ในที่นี้คือปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ที่เธอมองว่าสื่อมวลชนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ไม่ค่อยสื่อสารเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน ตัวเธอเองหลังจากได้ศึกษาข้อมูลเรื่องโลกร้อนอยู่สี่ปี ก็ได้บอกเลิกการเดินทางด้วยเครื่องบินตั้งแต่ 12 ขวบ (เครื่องบินสร้างมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศได้มากกว่ารถยนต์หลายเท่า) และไม่กินเนื้อสัตว์เลย เพราะการทำปศุสัตว์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหานี้ (กว่าจะได้เนื้อสัตว์ต้องทำลายป่า เพื่อปลูกพืช เอามาเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการรับประทานพืชผักโดยตรง) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 เธอได้นั่งรถไฟนานกว่า 32 ชั่วโมง ไปเมืองดาโวส ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อขึ้นพูดในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว นอกจากความหมกมุ่นแล้วเธอยังบอกอีกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม มีส่วนทำให้เธอไม่คิดอะไรซับซ้อนเหมือนคนทั่วไป มีแค่ขาวกับดำ ไม่มีสีเทา เรื่องปัญหาโลกร้อนสำหรับเธอเลยมองว่าทางเลือกสำหรับทุกคนตอนนี้เลยมีแค่ “ลงมือทำ” หรือ “ไม่ลงมือทำ” เท่านั้นเอง จุดเริ่มในการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกรตา เกิดขึ้นตอนที่เธออายุ 8 ขวบ ตอนนั้นเธอถูกสอนให้ปิดไฟที่ไม่ได้ใช้เพื่อประหยัดพลังงาน เอากระดาษใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นั่นทำให้เธอได้ยินคำว่า “โลกร้อน” เป็นครั้งแรก โดยเธอสัมผัสถึงความน่ากลัวที่แท้จริงของปัญหานี้ ที่ว่าส่วนใหญ่มนุษย์เป็นคนก่อขึ้นมาเอง และอาจนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกในอีกไม่ช้า ด้วยน้ำมือของพวกเราเอง หลังการเลือกตั้งทั่วไปของสวีเดนสิ้นสุดลง เกรตาได้เปลี่ยนจากโดดเรียนทุกวันมาเป็นโดดเรียนทุกวันศุกร์ ที่แม้วันจะน้อยลงแต่การประท้วงของเด็กผู้หญิงคนนี้ได้เข้มข้นขึ้น ช่วยจุดความเชื่อให้กับเด็กอีกหลายคน จนเกิดกระแส #FridaysForFuture #FFF ขยายวงกว้างไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีเด็กนักเรียนกว่า 20,000 คน ใน 270 เมืองทั่วโลกเข้าร่วมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจังและจริงใจ

การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีกครั้ง ทุกสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และมันต้องเริ่มวันนี้เท่านั้น

รวมไปถึงยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใหญ่อีกหลายคน ทั้งกลุ่มนักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ จนเธอได้รับเชิญให้ไปพูดในงานใหญ่ ๆ มากมายทั้งการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก, ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ  ความมุ่งมั่นและไม่ยอมประนีประนอมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนของเธอ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นตัวแทน แต่จริง ๆ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เธอคู่ควรกับรางวัลนี้น่าจะเป็นเรื่องของ “อายุ” “ในอนาคตปี 2078 หนูน่าจะกำลังฉลองวันเกิดครบรอบ 75 ปี ถ้าหนูมีลูกหลานแล้วเขาถามว่า ทำไมตอนปี 2018 ไม่รีบแก้ไขปัญหาในขณะที่ยังพอมีหวัง การตัดสินใจ ทำ หรือ ไม่ทำ ในวันนี้จะส่งผลถึงอนาคตตลอดชีวิต ทั้งตัวเราเองรวมถึงลูกหลานที่จะเกิดตามมา การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีกครั้ง ทุกสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และมันต้องเริ่มวันนี้เท่านั้น” อนาคตเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องกำหนดเอง สาววัยทีนอย่าง เกรตา ทุนเบิร์ก เลยเป็นเหมือนตัวแทนที่กระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อโลกในวันพรุ่งนี้ที่พวกเขาใช้อยู่อาศัยและหายใจ ชาวสวีดิชมีอายุไขเฉลี่ยที่ประมาณ 82 ปี จัดอยู่อันดับ 9 ของโลก หมายความว่าถ้าคนในวัยเกรตายังคงเกรงใจไม่ลุกมาทำอะไรในวันนี้ พวกเธออาจต้องทนกับสิ่งนี้ไปอีกกว่า 66 ปี (กลับกันบางประเทศให้คนอายุมากกว่า 60 ปี ที่อาจมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่ปี มาวางยุทธศาสตร์อนาคตข้างหน้าไว้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ!!) เกรตา ทุนเบิร์ก เชื่อว่าไม่ว่าถึงจะเป็นแค่เด็ก หรือคนตัวเล็กในสังคม ถ้ามุ่งมั่นกับเป้าหมายแล้วตั้งใจกับมันจริงจัง ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ว่า การโดดเรียนของเด็กอย่างพวกเธอเพียงไม่กี่คน กลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกได้ ซึ่งถ้าคนตัวเล็ก ๆ หลายคนรวมตัวกันเพื่อมีเป้าหมายหนึ่งเดียวจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่ามากมายมหาศาลขนาดไหน เรื่องราวของสาวน้อย เกรตา ทุนเบิร์ก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่กว่าที่เคยเป็น ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตัวเอง หรืออย่างน้อยกล้าลุกขึ้นมาเขียนอนาคตประเทศด้วยพลังของเรา กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น อนาคตจะได้ไม่มาเสียใจในภายหลังว่า ทำไมเราไม่ตัดสินใจทำตั้งแต่วันนี้   ที่มา : https://medium.com https://www.ted.com https://en.wikipedia.org https://www.youtube.com https://www.lifegate.com https://www.amnesty.or.th