ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

‘ทอม คอนติ’ (Tom Conti) ชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ บทวิเคราะห์บทสนทนาสุดท้ายจากภาพยนตร์สองเรื่องและตัวละครสองตัวที่สวมบทบาทโดย ทอม คอนติ กับคำพูดที่ทำให้ผู้ชมจำไม่ลืม

นอกจากชื่อผู้กำกับอย่าง ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan), ขบวนดารานักแสดงมากคุณภาพในบทบาทที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวนักวิทยาศาสตร์ผู้เปลี่ยนโลกทั้งใบ (ให้ลุกเป็นไฟ) อย่าง ‘โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์’ (Robert Oppenheimer) อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมหลายคนถึงกับขนลุกซู่และตั้งตารอดูคงหนีไม่พ้นการปรากฏตัวของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจนได้กลายเป็นภาพแทน ‘ความฉลาด’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าไอน์สไตน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘โครงการแมนแฮตตัน’ (Manhattan Project) ที่ได้คิดค้นและทดสอบระเบิดปรมาณู แต่ก็มีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเขาที่สร้างระเบิดดังกล่าวขึ้นมา แต่ถึงจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง แต่ผู้คนต่างก็เฝ้ารอว่าการปรากฏตัวของเขาจะมีความพิเศษอะไรรอเราอยู่… ซึ่งหากใครได้ชมแล้ว ก็คงมีความเห็นไม่ต่างกันว่า การปรากฏตัวของเขา…ทรงพลังยิ่ง

แต่ไฮไลต์สำหรับบทความนี้หาใช่เรื่องราวบทบาทของไอน์สไตน์ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว แต่เป็นนักแสดงชาวสกอตแลนด์วัย 81 ปี อย่าง ‘ทอม คอนติ’ (Tom Conti) ชายผู้สวมบทบาทเป็นไอน์สไตน์และกลั่นบทสนทนาสุดท้ายออกมาจนทำให้ผู้ชมจุกกันจนพูดไม่ออก แต่เรื่องที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ Oppenheimer ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาได้ฝากตอนจบสุดจุกแบบนี้ไว้กับผู้ชม

 

ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

Oppenheimer (2023)

ถ้าหากใครเคยได้ชม ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ (1983) ภาพยนตร์สงครามขึ้นหิ้งที่นำแสดงโดยสองยอดนักดนตรีจากตะวันออกและตะวันตกมาประชันกันอย่าง ‘เดวิด โบวี’ (David Bowie) ยอดร็อกสตาร์เลื่องชื่อในตำนานกับ ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) ชายผู้สร้างเสียงดนตรีที่เขย่าโลกทั้งใบในบทเพลงชื่อเดียวกับภาพยนตร์

จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ น่าทึ่งยิ่งนักที่กาลเวลาได้ผ่านไป 40 ปีเต็ม ทอม คอนติ นักแสดงคนเดิมที่เคยละเลงตอนจบของ Merry Christmas, Mr.Lawrence ด้วยน้ำตาและความจุก กลับมาสร้างปรากฏการณ์เช่นเดิมใน Oppenheimer ในบทความนี้เราจะพาดำดิ่งลงไปสำรวจฉากจุก ๆ จากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องโดยเขาคนนี้

 

ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983)

​​/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง

Merry Christmas, Mr.Lawrence (1983) และ Oppenheimer (2023) /

 

MERRY CHRISTMAS, MR.LAWRENCE - บางชัยชนะก็ยากยิ่งที่จะโอบรับเอาไว้

Merry Christmas, Mr.Lawrence เป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงมิตรภาพระหว่างเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และยังพูดถึงการที่สองวัฒนธรรมประเพณี - ตะวันออกและตะวันตก - เดินทางมาพบปะกัน ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นความเป็นไปในค่ายเชลยที่มีทั้งความโหดร้ายและความเห็นใจ และยังได้เห็นความสัมพันธ์ของเชลยนามว่า ‘ลอว์เรนซ์’ กับนายทหารผู้ทำหน้าที่ควบคุมเชลยนามว่า ‘ฮาระ’ ที่สวมบทบาทโดย ‘ทาเคชิ คิตาโนะ’ (Takeshi Kitano)

 

ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

ทอม คอนติ ในบทบาท ลอว์เรนซ์

 

แม้จะมีการกดขี่อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลอว์เรนซ์และฮาระได้ก่อร่างสร้างมิตรภาพระหว่างทั้งคู่ขึ้นมาอย่างเหนียวแน่น แม้จะในฐานะทหารผู้ควบคุมเชลยกับเชลยก็ตาม ซ้ำวัฒนธรรมและความเชื่ออันต่างขั้วทั้งสอง ก็ได้ผสานรวมกันได้อย่างน่าสนใจ

ครั้งหนึ่งลอว์เรนซ์และอีกหนึ่งตัวเอกอย่าง แจ็ค (เดวิด โบวี) เคยกระทำผิดร้ายแรงจนต้องนอนรอโทษประหาร แต่เนื่องจากในวันนั้นฮาระกำลังเฉลิมฉลองกับสาเกของตน แถมในคืนนั้นยังเป็นคืนวันคริสต์มาสอีกด้วย ฮาระก็ได้ปล่อยตัวทั้งสองเสมือนว่าเพื่อนคนหนึ่งกำลังช่วยเพื่อนอีกคนหนึ่ง เสมือนว่าฮาระเป็นซานต้าที่ประทานของขวัญให้แก่ลอว์เรนซ์ในคืนนั้น

แต่สถานการณ์กลับไม่ลงเอยเช่นเดิมเมื่อถึงคิวของฮาระ…

ภายหลังจากที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศผู้แพ้สงคราม ฮาระ จากเดิมที่เป็นผู้หมวดควบคุมกลุ่มเชลย ชีวิตก็พลิกผันกลายเป็นเชลยศึกเฝ้ารอคอยโทษประหารแทน และในคืนวันคริสต์มาส คืนสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องเดินเข้าลานประหารในรุ่งสาง ลอว์เรนซ์ก็ได้มาเยี่ยมเขา และพูดคุยกันถึงวันวาน แม้ว่าลอว์เรนซ์ไม่สามารถเป็นซานต้าให้กับฮาระได้ แต่บทสนทนาภายหลังจากนั้น ถือเป็นหนึ่งในฉากสนทนาที่ลึกซึ้งกินใจที่สุดในโลกภาพยนตร์ก็ว่าได้ และมันก็ได้สะท้อนความโหดร้ายของสงคราม จนทำให้ผู้ชมจบแบบจุก ๆ ไปตาม ๆ กัน

 

ผมเพียงแค่ไม่เข้าใจว่าผมผิดอะไร…

ความผิดของผมก็ไม่ได้แตกต่างจากทหารคนอื่น ๆ (ในฝ่ายผู้ชนะ)

ฮาระเอ่ยถาม

 

คุณเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองถูก…

ครั้งหนึ่ง คุณเองก็เคยเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าคุณคือคนที่ถูก

แต่ความจริงก็เห็นกันอย่างประจักษ์ชัดว่า

ไม่มีใครเลยคือคนที่ถูก

 

วายร้ายที่โหดเหี้ยมที่สุดของเรื่องนี้ อาจไม่ใช่กองทัพญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่ควบคุมเหล่าเชลย หรือฝั่งประเทศผู้ชนะที่กำลังจะปลิดชีวิตของผู้แพ้ด้วยโทษฐานความผิดที่ไม่ต่างจากตน แต่คงเป็นสถานการณ์ความขัดแย้ง เป็นสงครามที่ทำให้ผู้คนฆ่าฟันกัน เป็นความเกลียดชังที่ทำให้มิตรภาพเมล็ดน้อย ๆ ที่เติบโตขึ้น ไม่สามารถผลิดอกได้ไกลกว่านี้

ภายหลังจากที่คุยย้อนความหลังที่คืนคริสต์มาสเมื่อหลายปีก่อน บทสนทนาก็กลายเป็นเสียงเงียบสงัดระหว่างทั้งสอง ไม่มีประโยคใดที่จะช่วยต่อเวลาให้กับเขาทั้งคู่ ลอว์เรนซ์จึงได้ยืนขึ้นและเอ่ยคำลากับเพื่อนของเขาเป็นครั้งสุดท้าย

 

ในบางครา

ชัยชนะก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะโอบรับมันเอาไว้

ลาก่อนนะ ฮาระ...

ขอให้พระเจ้าอยู่ข้างคุณ

 

บทสนทนาของทั้งคู่ ไม่เพียงแต่เรียกน้ำตาจากผู้ชมที่ต้องเห็นเพื่อนทั้งสองเอ่ยคำลาเป็นครั้งสุดท้าย แต่ยังสะท้อนความโหดร้ายของสงครามออกมาอย่างเห็นภาพชัด สงครามฉีกมิตรภาพที่กำลังเติบโตออกเป็นชิ้น สงครามกีดขวางความสวยงามของเพื่อนให้แหลกสลาย สงครามทำให้เกิดการจากลา

แต่อย่างน้อยสงครามก็สอนให้ทั้งคู่ และรวมถึงผู้ชม ได้เห็นถึงมิตรภาพที่แหวกมาตั้งเด่นท่ามกลางไฟระเบิดและดินปืน… บทพูดและการแสดงของ ทอม คอนติ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้น และยังทำให้ Merry Christmas, Mr. Lawrence กลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ขอยกขึ้นไว้บนหิ้งเพื่อหวนกลับไปชมมันอีก

 

OPPENHEIMER - ปฏิกิริยาลูกโซ่… ผมว่าเราได้ทำมันไปแล้วนะ

หลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า การปรากฏตัวของไอน์สไตน์ ไม่ทำให้ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย ไม่เพียงแค่นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นทฤษฎีที่กลายเป็นรากฐานให้กับการคิดค้นระเบิดของออพเพนไฮเมอร์จะปรากฏตัวมาเพื่อให้ผู้ชมกรี๊ดหรือเพื่อประกอบให้ภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้สมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น แต่บทสนทนาระหว่างไอน์สไตน์และออพเพนไฮเมอร์ในท้ายเรื่อง ได้ส่งสารสำคัญที่ภาพยนตร์มุ่งนำเสนอได้อย่างทรงพลัง

 

ทอม คอนติ : จาก ‘คุณลอว์เรนซ์’ ถึง ‘ไอน์สไตน์’ กับชายผู้ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำและน้ำตา

ทอม คอนติ ในบทบาท ไอน์สไตน์

 

ตลอดเรื่อง Oppenheimer เราจะได้เห็นบทสนทนามากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะในด้านการไต่สวนหรือเรื่องราวตั้งแต่ ต้น - กลาง - จบ ของการคิดค้นระเบิดปรมาณู แต่สิ่งที่สะท้อนได้ชัดว่าโนแลนอยากจะนำเสนอคือความรู้สึกของออพเพนไฮเมอร์กับสิ่งที่เขาได้กระทำ ความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้สร้างสิ่งที่จะพรากชีวิตคนอย่างนับไปถ้วนออกไป สิ่งนี้ได้สอดแทรกอยู่ตลอดเรื่องและถูกนำเสนออย่างเด่นชัดในฉากสุดท้าย

 

มันถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องแบกรับสิ่งที่ตามมาจากความสำเร็จของคุณ

หลังจากที่เขาทรมานคุณจนพอใจแล้ว

เขาก็จะมอบรางวัลให้คุณ ลูบหลังคุณแล้วบอกว่า พวกเขาให้อภัยคุณทั้งหมด

ผมอยากให้คุณจดจำเอาไว้นะ ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อคุณ

เขาทำเพื่อตัวของพวกเขาเอง

 

คือสิ่งที่ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่เอ่ยแนะนำรุ่นน้องอย่างออพเพนไฮเมอร์ถึงสิ่งที่เขาต้องเตรียมรับมือหลังจากความสำเร็จของตัวเขา แต่บทสนทนาของพวกเขาหาได้หยุดเพียงเท่านั้น ก่อนไอน์สไตน์จะเดินจากไป ออพเพนไฮเมอร์ก็ได้เอ่ยถามถึงตอนที่เขาเคยปรึกษาไอน์สไตน์เกี่ยวกับระเบิดปรมาณู

 

“ตอนผมนำเอาการคำนวณมาให้คุณดู ผมคิดว่าสิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะพังโลกทั้งใบ”

“ทำไมเหรอ?”

“ผมว่ามันเกิดขึ้นแล้วนะ”

 

แม้ภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer จะเต็มไปด้วยบทสนทนาและเนื้อหาที่เข้มข้นจนผู้ชมอาจจะหลุดรางตามไม่ทันกันได้ง่าย ๆ แต่บทสนทนาสุดท้ายระหว่างยอดนักวิทยาศาสตร์สองคนกลับเป็นอะไรง่าย ๆ ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่มันกลับสะท้อนแก่นของ Oppenheimer ออกมาได้อย่างจุกและน่าตราตรึงใจ บ้างก็บอกว่านี่เป็นหนึ่งในตอนจบภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

ผู้เขียนทึ่งเป็นอย่างมาก เมื่อได้ลองถอยมาคิดดูดี ๆ ว่า นักแสดงที่สวมบทบาทอยู่ในตอนจบทั้งสองเรื่อง อยู่ในบทสนทนาสุดท้ายทั้งสองฉาก คือ ‘ทอม คอนติ’ ชายที่ละเลงฉากสุดท้ายด้วยถ้อยคำแทงใจ ที่แม้ 40 ปีจะผ่านไป เขาก็ยังสามารถที่จะทำมันได้เหมือนเดิม

 

ภาพ : IMDB - Merry Christmas, Mr.Lawrence (1983) และ Oppenheimer (2023)