หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

อีกด้านของ ‘เควนติน ทารันติโน’ (Quentin Tarantino) กับการเล่าเรื่องผ่าน ‘อาหาร’ เจาะลึกฉากชวนหิวและเทคนิคการเล่าเรื่องด้วย ‘เสน่ห์ของอาหาร’ ในภาพยนตร์ของทารันติโน ตั้งแต่แม็คแอนด์ชีส (Mac and Cheese) ยันสตรูเดิลที่เสิร์ฟพร้อมครีม (Strudel with Cream)

  • การนำเสนอตัวละครให้ผู้ชมรู้จักผ่าน ‘อาหาร’ จากแซนด์วิชใน Inglorious Basterds (2009) และ แม็คแอนด์ชีสใน Once Upon a Time in Hollywood (2019)
  • เมื่ออาหารถูกใช้เป็นตัวแทนของ ‘อำนาจ’ ผ่านกรณีของ Big Kahuna Burger ใน Pulp Fiction (1994)
  • รวมฮิต 3 อันดับสุดยอดเมนูชวนหิวในบรรดาภาพยนตร์ทุกเรื่องของ เควนติน ทารันติโน จะมีอะไรบ้าง?

 

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ของ เควนติน ทารันติโน /

 

เลือด, ปืน, สีแดง - เหลือง, ความสะใจ, เพลงประกอบสุดเท่จากยุค 70s, บทสนทนาสุดน่าฟัง, สไตล์จากหนังในอดีตและ…

ซามูเอล แอล. แจ็กสัน ที่มาพร้อมคำสบถสุดไอคอนนิค!

(คำว่าอะไรจำกันได้ไหมครับ?)

 

เอ่ยมาขนาดนี้ หลายคนคงจะเดากันได้ไม่ยากว่าเรากำลังพูดถึงองค์ประกอบของภาพยนตร์ที่สรรสร้างโดยยอดผู้กำกับและสุดยอดเซียนหนังนามว่า ‘เควนติน ทารันติโน’ (Quentin Tarantino) เจ้าของผลงาน Pulp Fiction (1994), Death Proof (2007), Django Unchained (2012) และภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่เปรียบเสมือนจดหมายรักส่วนตัวที่อยากส่งไปหาวันวานของฮอลลีวูดกับภาพยนตร์เรื่อง Once Upon a Time in Hollywood (2019)

ทารันติโนได้เคยให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่าเขาได้กำหนดจุดหมายปลายทางของเส้นทางอาชีพผู้กำกับของเขาไว้อย่างแน่ชัดผ่านเงื่อนไข 2 ประการ -  ไม่ทำหนังครบ 10 เรื่องก็อายุครบ 60 ปี - หากเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้บรรลุสมบูรณ์ เขาจะวางมือจากการกำกับภาพยนตร์ไปทำอย่างอื่นแทน เช่นงานเขียน ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ปล่อยทั้งงานเขียนแบบ Fiction (Once Upon a Time in Hollywood ฉบับนวนิยาย) และ Non-Fiction (Cinema Speculation) ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Quentin Tarantino

แต่ดูเหมือนว่าในปี 2023 นี้เขาก็ได้บรรลุเงื่อนไขทั้งสองข้อพร้อม ๆ กัน ประการแรกเขามีอายุครบ 60 ปีเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนั้น เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เควนติน ทารันติโน ได้ออกมาเผยว่าเขากำลังริเริ่มทำโปรเจกต์ที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 10 หรือเรื่องสุดท้ายของเขา ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวตั้งอยู่ในลอสแอนเจลิสช่วงปลายทศวรรษ 1970

กลับมาที่บรรดาองค์ประกอบที่เราเอ่ยถึงไปในตอนแรก ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูอีกครั้ง แล้วลองทวนดูว่าในบรรดาชื่อที่ผมเอ่ยมานั้น มีองค์ประกอบใดที่ตกหล่นไปบ้างหรือไม่? ยังมีเอกลักษณ์ไหนอีกที่ยังไม่ได้ถูกเอ่ยถึง?

แน่นอนว่าคงมีอีกมากที่ผมยังไม่ได้เอ่ยถึง แต่คุณลักษณะประการหนึ่งที่ผมจงใจไม่รวมเอาไว้ เพื่อที่จะเก็บไว้มาพูดถึงในย่อหน้านี้ก็คือ ‘เสน่ห์ของอาหาร’ 

ใช่ครับ ‘อาหาร’ ใครจะคิดว่าผู้กำกับที่ทำหนังสุดโหด ถลกหนังหัว ตัดใบหู ระเบิดโรงหนัง เผามนุษย์ อย่าง เควนติน ทารันติโน จะให้ความสำคัญกับอาหารที่ตัวละครกำลังรับประทาน ‘อย่างมาก’ แถมยังเก็บรายละเอียดได้เป๊ะจนเมื่อได้ชมก็อดไม่ได้ที่จะกลืนน้ำลายแล้วเดินออกไปหามาทานหรือดื่มตามตัวละครกันบ้าง จะบอกว่าเป็น ASMR อาหารแห่งโลกภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลก็ไม่ผิดสักเสียเท่าไรนัก

จำฉากเบียร์ใน Django Unchained กันได้ไหมล่ะครับ! 

แต่ไม่เพียงแค่อาหารจานต่าง ๆ ที่ทารันติโนได้ใส่ไปในหนังจะทำหน้าที่แค่ยั่วน้ำลายผู้ชมเพียงเท่านั้น มันยังเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ทารันติโนเลือกใช้เป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่องที่มีความน่าสนใจอย่างมากเลยทีเดียว

กล่าวกันมาขนาดนี้ แน่นอนครับ ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจบรรดาเมนูอาหารอันน่าโอชะจากภาพยนตร์ของ เควนติน ทารันติโนกันว่าแต่ละเมนูมีอะไรบ้าง, น่ารับประทานอย่างไร และถือเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องแบบไหน

หากใครยังไม่คุ้นชินกับผู้กำกับนามว่า ‘เควนติน ทารันติโน’ ผู้เขียนขอแนะนำหนึ่งในรายการของเราที่ได้เล่าเรื่องราวและสไตล์การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของเขาใน ‘Culture Shake : เจาะลึก เควนติน ทารันติโน ผู้กำกับนักยำ หยิบเก่าเล่าใหม่ สะใจกว่าเดิม’ ที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักสไตล์การเอาของเก่ามายำให้กลายเป็นของสดใหม่ไม่ซ้ำเดิมในแบบฉบับของทารันติโน!

 

ถ้าอยากรู้จักใคร ก็ให้ดูว่าเขากินอะไร

ในโลกแห่งภาพยนตร์และศาสตร์การเล่าเรื่อง แน่นอนว่าการแนะนำตัวละครนั้นมีอยู่หลากหลายวิธีเกินบรรยายครบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงอดีต เหตุการณ์ปัจจุบัน หรือเป้าหมายที่มุ่งหวังในอนาคต แต่หารู้ไม่ว่า บางทีการที่เราจะรู้จักตัวละคร - หรือใครสักคนหนึ่ง - รายละเอียดเล็ก ๆ ก็อาจจะเพียงพอ อย่างเช่นเมนูโปรดของเขาเหล่านั้นหรือวิธีที่เขากินมัน

ตัวละครในโลกภาพยนตร์ของเควนติน ทารันติโนมักเปิดตัวด้วยดนตรีและมุมกล้องสุดเท่ แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ทารันติโนก็พาเราไปรู้จักตัวละครผ่านบทสนทนาและอาหารที่พวกเขากำลังกินอยู่ ถ้าเราสังเกตดี ๆ เราจะรู้จักตัวละครนั้นเพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ในฉากไม้เบสบอลอันลือลั่นของ Inglorious Basterds (2009) ในขณะที่ จ่าดอนนี โดโนวิทซ์ (Donny Donowitz) กำลังเค้นข้อมูลจากผู้บังคับบัญชากองทหารนาซี เราจะได้เห็น ร้อยโท อัลโด เรน (Aldo Raine) ที่สวมบทบาทโดย แบรด พิตต์ (Brad Pitt) ควักเอา แซนด์วิชขนมปังบาแก็ตต์ (Baguette) ขึ้นมาโซ้ยอย่างสบายใจ ถึงขั้นว่าในขณะที่มีการใช้ไม้เบสบอลประหารด้วยการตีซ้ำ ๆ อย่างโหดเหี้ยม เขาก็ยังเคี้ยวมันและมองดูเสมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดา ชี้ให้เห็นว่าสำหรับตัวละครตัวนี้ การทุบหรือเห็นนาซีสักคนตายอยากทุกข์ทรมานเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นเรื่องเพลินจิตเพลินใจเสียด้วยซ้ำ เสมือนว่าเปิดยูทูบดูระหว่างกินข้าวเลยทีเดียว

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Inglorious Basterds (2009)

 

นอกจากจะพาไปรู้จักตัวละครนั้น ๆ แล้ว อาหารก็สามารถพาเราไปรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อีกด้วย ในภาพยนตร์ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ในฉากที่ คลิฟฟ์ บูธ (Cliff Booth) ที่รับบทโดย แบรด พิตต์ (ใช่ครับ พิตต์อีกแล้ว) กำลังตระเตรียมอาหารเย็นให้แก่ตัวเองและสุนัขพันธุ์พิตบูลคู่ใจของเขานามว่า แบรนดี (Brandy)

ไม่เพียงแค่เราได้เห็น มะกะโรนีแอนด์ชีส หรือที่เขาเรียกกันว่า แม็คแอนด์ชีส (Mac and Cheese) ที่สุดแสนจะน่ากิน (แถมยังละม้ายคล้ายคลึงกับมาม่าเกาหลีในบ้านของเราอีกด้วย) เราจะได้เห็นการที่ทั้งบูธและแบรนดีลุยเขมือบอาหารเย็นพร้อม ๆ กัน แถมกล้องก็ตัดสลับภาพกันไปมา แสดงมิตรภาพระหว่างสุนัข - คนอันแน่นแฟ้น และยังเป็นการสื่อเป็นนัยอีกว่า คลิฟฟ์ บูธ ก็แข็งแกร่ง กร้านโลก และซื่อสัตย์ไม่ต่างอะไรจากแบรนดีเลย

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Once Upon a Time in Hollywood (2019)

 

แม้ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ซึ่งบางฉากก็ถูกแอบอยู่ในแบคกราวเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้เราได้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครมากขึ้น แถมยังชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจรายละเอียดของ เควนติน ทารันติโนอีกต่างหาก

 

อาหารสื่ออำนาจ

ความน่าสนใจในการใช้เสน่ห์ของอาหารมาเป็นลูกเล่นในการเล่าเรื่องคือการใช้มันสื่อถึงความมีอำนาจของตัวละคร ไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงที่แข็งกล้า อาวุธที่ไร้เทียมทาน หรือรูปร่างที่น่าเกรงขาม เพียงแค่ใช้ ‘อาหาร’ ก็สื่อได้อย่างประจักษ์ชัดแล้วว่าคนคนหนึ่งมีอำนาจเหนือคนอีกคนมากมายเพียงไหน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดหากเรากำลังกล่าวถึงหัวข้อนี้ก็คงเป็นฉากใดไปไม่ได้นอกจากหนึ่งฉากตำนานแห่งโลกภาพยนตร์จากภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction (1994) เมื่อตัวละครที่สวมบทโดย ซามูเอล แอล. แจ็กสัน (Samuel L. Jackson) นามว่า จูลส์ วินฟิล์ด (Julles Winnfield) บุกเข้าไปในห้องของคู่ค้าสองหน้าที่เล่นไม่ซื่อกับนายของเขา จนเกิดเป็นคำถามวลีเด็ดว่า

Does he look like a bitch?

และในฉากเดียวกันนี้เองก็คือฉากที่เราจะได้เห็นเมนูอาหารสุดเอกลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีชื่อว่า ‘Big Kahuna Burger’ เบอร์เกอร์ฮาวายที่เขาว่ากันว่าแสนอร่อย! (หากอ้างอิงตามคำบอกเล่าของจูลส์)

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Big Kahuna Burger

 

แต่เบอร์เกอร์ดังกล่าวหาได้มีจริงไม่ เป็นเพียงหนึ่งในเมนูอาหารและแบรนด์ (จากหลาย ๆ แบรนด์) ที่เควนติน ทารันติโน จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อนำเอาไปใส่ในภาพยนตร์ของเขา อีกหนึ่งแบรนด์ที่เรียกได้ว่าปรากฏออกมาให้ได้เห็นอยู่บ่อยครั้งก็คือ บุหรี่ตรา ‘Red Apple’ 

เอาละ กลับมาในประเด็นที่ว่าทำไมการที่จูลส์หยิบบิ๊กคาฮูนาเบอร์เกอร์ของ แบรด (Brad) มาเขมือบพร้อมสูบเอา สไปร์ท จากแก้วพลาสติกให้เหลือเพียงน้ำแข็ง ทารันติโนอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างนี้ครับ

 

อะไรในชีวิตนี้ที่คุณจะไม่มีวันทำแน่ ๆ ล่ะ?

คุณไม่ยื่นเบอร์เกอร์ของคุณให้คนแปลกหน้าเขมือบเว้ย!

ใครจะไปทำแบบนั้น...

คือถ้ายื่นเฟรนช์ฟรายส์น่ะเข้าใจได้ แต่นี่มันคว้าเบอร์เกอร์ไปกัดซะเต็มคำเลย

 

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Pulp Fiction (1994)

 

หากได้ชมฉากดังกล่าวไปแล้วเราจะเห็นว่าไม่เพียงเบอร์เกอร์อันเลอค่าถูกปากของคนแปลกหน้าลุกล้ำอย่างน่าสลดใจ แต่สไปร์ททั้งแก้วอันเป็นเครื่องดื่มจบมื้อกลับถูกสูบจนเหือดแห้ง หากจิบสักนิดสักหน่อยยังพอเข้าใจได้ แต่นี่เกลี้ยง!

การกระทำนี้จึงชี้ให้เห็นว่าจูลส์มีอำนาจเหนือแบรดโดยสมบูรณ์ เราเห็นได้ก่อนที่เขาจะควักปืนมาขู่เสียด้วยซ้ำ เพราะน้อยคนที่จะยอมให้เบอร์เกอร์และน้ำอัดลมยามเช้าให้คนแปลกหน้ามาคว้าไปโซ้ยอย่างหน้าตาเฉย… 

จริงไหมครับ?

 

ทารันติโนชวนชิม!

หากจะให้กล่าวตามตรง จริง ๆ แล้วบางเมนูในหัวข้อนี้สามารถรวมไว้อยู่ในบรรดาหัวข้อก่อนหน้าได้ เพราะมันได้ทำหน้าที่ประกอบการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ แต่สาเหตุที่เมนูเหล่านั้นถูกรวมกันอยู่ในหัวข้อนี้ทั้งหมดเป็นเพราะ… ความน่ากินสุดจะเกินต้านของแต่ละเมนู! ซึ่งเราได้หยิบมาเป็นจำนวน 3 เมนูจากภาพยนตร์ 3 เรื่องที่ผู้เขียนขอการันตีความยั่วน้ำลายและ ASMR สุด ๆ จากฝีมือของ เควนติน ทารันติโน ที่ชี้ให้เห็นว่าเขาคนนี้เข้าใจแก่นความน่าหลงใหลในเสน่ห์ของอาหารเหล่านี้อย่างแท้จริง

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Inglorious Basterds (2009)

 

เริ่มจากเมนูแรก - สตรูเดิลเสิร์ฟพร้อมครีม (Strudel with Cream)

แน่นอนครับ ในภาพยนตร์เรื่อง Inglorious Basterds (2009) ฉากที่ โชชานา (Shosana) อดีตเด็กสาวชาวยิวที่รอดพ้นจากเงื้อมมือแห่งความตายในตอนเด็กหวนกลับมาเจอยมทูตที่เคยเกือบคร่าชีวิตตนอีกครั้งบนโต๊ะอาหารเดียวกัน เป็นความกดดันที่มากเกินบรรยาย แต่ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับว่าดูไปก็กลืนน้ำลายไป

 

กดดันขนาดนั้นเชียวหรือครับ?

เปล่าครับ… อยากกินสตรูเดิลที่เสิร์ฟพร้อมครีมและนมสด

 

ในฉากดังกล่าวเราจะได้เห็นตั้งแต่บริกรนำเอาสตรูเดิลมาเสิร์ฟที่โต๊ะ ก่อนที่จะนำครีมตามมาทีหลัง เราจะได้เห็นช็อตโคลสอัปของครีมที่บริกรตัก และวางมันลงบนสตรูเดิลที่โรยด้วยน้ำตาล หากเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นนี่คงเป็นฉากธรรมดา ๆ แต่ทารันติโนแกแสบครับ เขาอยากสร้างอารมณ์ที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างสตรูเดิลและครีมกับภาวะความกดดันสุดขีด จึงได้จงใจถ่ายโคลสอัปตั้งแต่ตอนที่ตักครีมไปจนถึงตอนที่ค่อย ๆ หั่นสตรูเดิลและป้ายครีมก่อนจะนำมันเข้าปาก เสมือนว่าผู้ชมได้นั่งอยู่บนโต๊ะด้วยจริง ๆ เลย 

ว่าแล้วต้องไปหาสตรูเดิลคู่ครีมมาลองชิมเสียหน่อย…

 

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Death Proof (2007)

 

เมนูที่สอง - นาโชส์ (Nachos)

แม้ปรากฏมาเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 20 วินาที แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านาโชส์จานนั้นจากภาพยนตร์เรื่อง Death Proof (2007) ถือเป็น ASMR อาหารชั้นยอดผู้มาก่อนกาลเลยทีเดียว เราจะได้เห็น สตันต์แมนไมค์ (Stuntman Mike) ที่รับบทโดย เคิร์ต รัสเซลล์ (Kurt Russel) เขมือบเอานาโชส์ที่ยืดไปด้วยชีสเข้าปากดั่งสัตว์ประหลาด 

แต่มันไม่ได้ดูน่าเกลียดหรือทำให้ผู้ชมหายหิวเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม มันกลับยิ่งกระตุ้นให้ผู้ชมอยากไปหานาโชส์มาจกเข้าปากด้วยมือ ณ ตอนนั้นเลยเสียด้วยซ้ำ เมื่อการแสดงของรัสเซลล์หลอมรวมเข้ากับซาวด์ดีไซน์และมุมกล้องโคลสอัป เสมือนว่าเรากำลังแอบมองใครสักคนกินนาโชส์อย่างเอร็ดอร่อย

แนะนำให้ลองไปดูครับ แล้วคุณจะอยากกินนาโชส์ขึ้นมาทันที!

 

หิวไปกับ ‘เควนติน ทารันติโน’ เสน่ห์ของอาหารที่ถูกใช้ในภาพยนตร์จนคนไม่ลืม

Django Unchained (2012)

 

เมนูสุดท้าย - เบียร์! (Beer)

สุดท้ายและท้ายสุด ก็คงเป็นอย่างใดไปไม่ได้นอกเสียจากเบียร์แก้วแรกของ แจงโก้ (Django) ในภาพยนตร์คาวบอยเรื่องแรกของทารันติโน Django Unchained (2012) ที่เสิร์ฟโดย ดร.คิง ชูลส์ (Dr.King Schultz) 

เฉกเช่นเดียวกับกรณีของสตรูเดิลและครีม ตามจริงแล้วในภาพยนตร์บางเรื่องก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำว่าตัวละครกำลังเสิร์ฟเติมเบียร์จากแทปอยู่ อย่างมากก็คงใส่เสียงเบียร์ถูกเติมลงแก้วเล็กน้อย แต่อย่างที่เรารู้กันครับ นี่หนังของใครล่ะ ‘ทารันติโนชวนชิม!’ 

เราจะได้เห็นตั้งแต่การกดแทปเบียร์ จนถึงการที่เบียร์ค่อย ๆ ถูกเติมจนเต็มล้นแก้ว ก่อนที่จะถูกปาดฟองออกด้วยไม้ปาดเบียร์ ต้องยอมรับกันตามตรงว่าทั้งภาพและเสียงของการรินเบียร์ที่ดำเนินควบคู่ไปกับเรื่องราวของหมอชูลส์ ทำให้ผู้ชมคอแห้งขึ้นมาทันที…

เราจะเห็นได้ว่ารายละเอียดเล็ก ๆ และเสน่ห์น้อย ๆ ของอาหารแต่ละจานนี่แหละครับ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราหวนคิดถึงความโอชะของเมนูเหล่านั้น ไม่ต้องมีควัน ไม่ต้องมีวัตถุดิบที่เลิศหรู เพียงแค่ตระหนักและเห็นค่าของอาหารแต่ละจาน คุณก็สามารถดึงเสน่ห์ของมันออกมาตีแผ่ได้ เพราะขนาดแม็คแอนด์ชีสยังน่ากินเลย!

ท้ายที่สุดผู้เขียนจึงขอทิ้งท้ายไปด้วยคำกล่าวของ เควนติน ทารันติโนเกี่ยวกับเสน่ห์ของอาหารในบรรดาภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ของเขาที่ว่าไว้ดังนี้

 

ผมชอบเวลาที่ผู้ชมมาดูหนังของผม แล้วทำให้พวกเขาโหยหาอาหารหรือเครื่องดื่มสักอย่างหนึ่ง ผมไม่เชื่อหรอกนะ ถ้าคุณจะรู้สึกไม่อยากกิน ‘สตรูเดิล’ ตอนที่ได้ดู Inglorious Basterds น่ะ คือฉากนั้นมันไม่ใช่นายพลนาซีกินขนมไงคุณ มันต้องแบบ ‘แม่ง… สตรูเดิลนั่นแม่งโคตรน่ากินเลย’

 

ภาพ
Getty Images
IMDb

อ้างอิง :
How Quentin Tarantino uses food as power in his movies - Far Out 

The Best Food Moments From Quentin Tarantino’s Movies - UPROXX

Quentin Tarantino Food Scenes — The Complete Menu - Studio Binder