โยชิโกโระ โอบายาชิ : ผู้ก่อตั้ง Obayashi เบื้องหลังผู้ก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ทั่วโลก

โยชิโกโระ โอบายาชิ : ผู้ก่อตั้ง Obayashi เบื้องหลังผู้ก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ทั่วโลก

‘โยชิโกโระ โอบายาชิ’ (Yoshigoro Obayashi) ผู้บุกเบิกธุรกิจก่อสร้างที่ไม่ต้องการแค่สร้างตึก เบื้องหลังโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

KEY

POINTS

  • ‘โยชิโกโระ โอบายาชิ’ (Yoshigoro Obayashi) เริ่มเส้นทางธุรกิจจากร้านขายชุดกิโมโน เพราะเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานตอนอายุ 11 ปี และเห็นว่าธุรกิจนี้น่าสนใจ แต่หลังจากนั้นไม่นานญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคความวุ่นวายทางการเมือง
  • แม้จะล้มเหลว แต่เขาไม่ยอมแพ้ เข้าสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างและก่อตั้ง Obayashi Corporation ในเวลาต่อมา
  • ก่อนจะเข้ามาเปิดออฟฟิศในไทยตั้งแต่ปี 1964 โดยเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการเป็นผู้ดูแลตรวจสอบงานก่อสร้าง ก่อนกลายเป็น Thai Obayashi ในปี 1974 และก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ ๆ คู่บ้านคู่เมืองไทยมานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน 

ทุกเมืองย่อมมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นแลนมาร์คสำคัญของเมือง แล้วใครคือเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘สิ่งปลูกสร้าง’ เหล่านี้ที่ยังไง๊ยังไงก็ต้องมีการก่อสร้างมันขึ้นมา? 

หลายคนเวลาสัญจรผ่านไซต์งานก่อสร้างใหญ่ อาจสังเกตเห็นป้ายใหญ่หน้าทางเข้าเขียนว่า ‘Thai Obayashi’ ตามตึกโปรเจกต์ใหญ่ๆ ในบ้านเรา 

ซึ่งบริษัทนี้เอง มีบริษัทแม่ ‘Obayashi Corporation’ ที่ญี่ปุ่น และเจ้าเดียวกันกับที่สร้าง…สถานีรถไฟ Tokyo Station, หอคอย Tokyo Skytree, มิกซ์ยูสคอมเพลกซ์ Azabudai Hills Garden Plaza, ศูนย์การค้า Oasis 21 นาโกย่า, รีโนเวตสนามบินนานาชาติคันไซที่โอซาก้า และอีกหลายโปรเจกต์ครบทุก 47 จังหวัดของญี่ปุ่น

จุดเริ่มต้นของบริษัทก่อตั้งโดย ‘โยชิโกโระ โอบายาชิ’ (Yoshigoro Obayashi) จากคนเปิดร้านขายชุดกิโมโน สู่ธุรกิจก่อสร้างที่ไม่ต้องการแค่สร้างตึก…แต่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง

โยชิโกโระ โอบายาชิ : ผู้ก่อตั้ง Obayashi เบื้องหลังผู้ก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ทั่วโลก

 

ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิกแต่เด็ก

คุณโอบายาชิ เกิดที่โอซาก้าเมื่อปี 1864 นี่คือช่วงปลายท้ายยุคสมัยเอโดะ ก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) ที่กินเวลาระหว่างปี 1868-1889

ขณะที่อายุเพียง 11 ขวบ เขาไปเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ที่ร้านขายชุดกิโมโนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมือง เขาได้สัมผัสแฟชั่นและสิ่งทอหลายรูปแบบ ได้พบเจอผู้คนมากหน้าหลายคน เป็นธุรกิจที่ได้สัมผัสพูดคุยกับผู้คนซึ่ง ๆ หน้าอยู่เป็นประจำ

เมื่ออายุได้ 18 ปี ด้วยความชื่นชอบ เงินเก็บที่สั่งสมมา และความไฟแรง เขาตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านกิโมโนของตัวเอง แต่จากปัจจัยภายนอกที่มิอาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ หลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของญี่ปุ่นที่ทำให้เมืองโอซาก้าเงียบเหงา ผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย และเงินหมุนเวียนสะพัดของเขาเริ่มร่อยหรอ คุณโอบายาชิต้องปิดร้านตัวเองลงหลังผ่านไปได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารอบด้านอ่างตรงไปตรงมาแล้ว แม้จะไม่ถึงกับเป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตกดินขนาดนั้น แต่กิโมโนก็ดูไม่ใช่ธุรกิจรุ่งโรจน์รุ่งอรุณอันสดใส  ประกอบกับเทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวของคนญี่ปุ่นยุคนั้นที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นสไตล์ตะวันตกให้เห็นบ้างแล้ว นั่นหมายถึงชุดญี่ปุ่นดั้งเดิมมีแนวโน้มลดน้อยลง และตัวเขาเองลึก ๆ อาจไม่ได้ถูกจริตหรือมีหัวกึ๋นด้านนี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เขาล้มเหลว…แต่ไม่ได้ล้มเลิก 

เขาเลือกเดินไปต่อ…ในเส้นทางอื่น

โยชิโกโระ โอบายาชิ : ผู้ก่อตั้ง Obayashi เบื้องหลังผู้ก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ทั่วโลก

ก่อร่างสร้างประเทศ

ญี่ปุ่นยุคสมัยเมจิ ณ ตอนนั้น มองไปทางไหน เขาเห็นบ้านเมืองญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงโฉมใหญ่เพื่อมุ่งสู่ความทันสมัยในหลากหลายด้าน แต่แทบทุกด้านมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ต้องมี ‘การก่อสร้าง’ (Construction) ตึกรามอาคารบ้านช่องเกิดขึ้นเสมอ 

คุณโอบายาชิเชื่อว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างนี้เองที่จะเป็นอนาคตของญี่ปุ่น อย่างน้อยที่สุดมันคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้แล้ว เขาจึงตัดสินใจกลับไปเป็นเด็กฝึกงานอีกครั้งให้กับบริษัทผู้รับเหมาแห่งหนึ่งที่ทำงานให้กับสำนักพระราชวังของญี่ปุ่น 

และแล้วจุดเปลี่ยนแรกในชีวิตของเขาก็มาถึง เพราะบริษัทนี้กำลังริเริ่มก่อสร้าง พระราชวังอิมพีเรียล (Imperial Palace) อยู่ขณะนั้นเนื่องจากญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตมายีงโตเกียว

ขึ้นชื่อว่า ‘พระราชวัง’ นี่จึงเป็นสถานที่ที่ต้องใช้วิทยาการความเป็น ‘ที่สุดของประเทศ’ 

คุณโอบายาชิโชคดีมากที่ได้เริ่มต้นเข้าวงการนี้และได้สัมผัสกับวิทยาการความเป็นที่สุดของอุตสาหกรรม เขาเรียนรู้กับองค์ความรู้ขั้นแอดวานซ์สุดของการก่อสร้าง วิศวกรรมโยธา (Civil engineering) ล่าสุดจากตะวันตก แหล่งและวิธีคัดเลือกวัสดุที่ดีที่สุด รายละเอียดมาตรฐานสูงสุดระหว่างการก่อสร้างที่ต้องเนี้ยบพิถีพิถันที่สุดเท่าที่ประเทศจะมีได้

ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญที่เขาจะได้ก่อตั้ง Obayashi Corporation ในเวลาต่อมา

โยชิโกโระ โอบายาชิ : ผู้ก่อตั้ง Obayashi เบื้องหลังผู้ก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ทั่วโลก

หลังจากฝึกงาน 5 ปีกับโปรเจกต์อันทรงเกียรตินี้เสร็จ เขาเดินทางกลับโอซาก้าก่อนจะพบกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วบ้านเกิดตัวเอง

ชาวโอซาก้าขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อค้านักธุรกิจมาตั้งแต่สมัยเอโดะ การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโตเกียว แต่ได้เกิดที่โอซาก้าซึ่งเป็นเมืองใหญ่ด้วยเช่นกัน เกิดโรงงานอุตสาหกรรมและออฟฟิศยุคใหม่มากมาย เกิดธุรกิจร้านค้าหลากหลายที่รองรับดีมานต์ยุคสมัยใหม่

คุณโอบายาชามีผลงานโปรเจกต์พระราชวังอิมพีเรียลติดตัวที่ไม่ว่าจะไปไหนก็สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าในวงการได้เป็นอย่างดี จดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งที่เขาสร้างขึ้นด้วยตัวเองก็มาถึง นั่นคือการได้ก่อสร้างโรงงานผลิตกระดาษที่ชื่อว่า ‘Abe Paper Mill’ ในปี 1892 

ในปีเดียวกันนั้น เขายังได้ก่อตั้งบริษัท ‘Obayashi Store’ ขึ้นในวัย 27 ปี เป็นเวลาเกือบทศวรรษจากสมัยวัยรุ่นที่เปิดกิจการและต้องปิดตัวไป แต่มาวันนี้ในวัยที่พร้อมกว่ารอบด้าน เขาจะไม่เดินผิดพลาดและต้องสำเร็จให้ได้มากกว่าเดิม!

คุณภาพดีที่โกหกไม่ได้

งานวิศวกรรมโยธาก่อสร้างเป็นงานที่ผลลัพธ์เปิดเผยมาในเชิงกายภาพที่หลอกกันได้ยาก งานประณีตคือประณีต เห็นด้วยตาแล้วรู้ สัมผัสแล้วรู้สึก ส่วนงานหยาบคือหยาบ จำนนต่อหลักฐาน

คุณโอบายาชิมีคติการทำงานน่าสนใจ 

ทุกดีลโปรเจกต์กับลูกค้าต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยได้ 

การทำงานที่มีเดตไลน์ชัดเจนและเข้มงวด 

มีขั้นตอนการทำงานและประสานงานที่ละเอียดยิบ 

โดยทั้งหมดคุณโอบายาชิยังคิดว่าตัวเองเป็นหน้าใหม่ในตลาด จึงชาร์จราคาค่าบริการตามมาตรฐานที่ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้ได้งาน ขึ้นชื่อว่าเป็น 'ของดีมีคุณภาพ ในราคาสมเหตุสมผล'

ลูกค้าของเขาหลายรายเป็นบริษัทใหญ่ชั้นนำที่เมื่อจบโปรเจกต์ก่อสร้างตึกนึงเสร็จ ก็กลับมา ‘ซื้อซ้ำ’ กลับมาใช้บริการ Obayashi ต่อเมื่อมีโปรเจกต์ใหม่เกิดขึ้น 

ปัจจัยภายนอกที่เสริมโอกาสให้เขา คือ รัฐบาลเมจิมีคำสั่งก่อสร้างพัฒนาประเทศในหลายเมืองใหญ่ คุณโอบายาชิได้รับคำสั่งก่อสร้างให้ทำธนาคาร โรงเรียน จนไปถึงโปรเจกต์ใหญ่ที่เป็นหน้าเป็นตาและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองโอซาก้า เช่น ท่าเรือโอซาก้า (Osaka Port) และการก่อสร้างมหกรรมงาน National Industrial Exposition ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่โอซาก้าในปี 1903

ปี 1904 เขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Obayashi-gumi’ และเริ่มขยายอาณาเขตพื้นที่จากเดิมจำกัดแค่เมืองโอซาก้า ขยายสู่เกียวโต โกเบ ฮิโรชิม่า คิวชู และย้อนกลับไปเมืองหลวงที่บ่มเพาะเขามา...โตเกียว

จากผลงานพระราชวังอิมพีเรียลในอดีต มาวันนี้เขาได้รับเลือกให้ก่อสร้างสถานีรถไฟ Tokyo Central Station (ปัจจุบันคือ Tokyo Station) ในเวลาต่อมา ผลงานนี้จะขึ้นแท่นเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของบริษัทและเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาติ โดยถือเป็นอาคารที่มี ‘โครงสร้างทำด้วยเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ’ ขณะนั้น และพิสูจน์ความแข็งแกร่งภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวคันโตในปี 1923 ที่โครงสร้างสถานียังคงมั่นคงอยู่ไม่ได้พังถล่มลงมา

ทั้งหมดนี้ผลักดันให้ Obashiya ขึ้นแท่นกลายเป็นบริษัทระดับประเทศ ทั้งในแง่ฐานะการเงินบริษัทและชื่อเสียงผลงานที่ผ่านมา

 

แนวคิดการทำงาน

อาจเพราะเคยล้มเหลวมาก่อน เป็นลูกน้องคนมาก่อน และข้ามสายงานจนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทำให้คุณโอบายาชิเป็นคนที่คอย ‘พัฒนาตัวเองต่อเนื่อง’ ไม่สิ้นสุด และไม่ให้ความสำเร็จตรงหน้าแปรสภาพเป็นอีโก้ครอบงำจิตใจตัวเอง โดยคุณโอบายาชิได้ก่อตั้งแผนกที่ทำหน้าที่เดียวกับการค้นคว้าวิจัย (R&D) ภายในองค์กร องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมคือตัวแปรที่จะชนะยืนตลาดในระยะยาวได้

ไม่มองว่าตัวเองอยู่เฉย ๆ แล้วก็ได้เพราะเป็นเจ้าใหญ่จนลูกค้าต้องวิ่งเข้าหา แต่ต้องพัฒนาคิดค้น ‘นวัตกรรมใหม่’ อยู่เสมอ เรื่องนี้สะท้อนถึงไทม์ไลน์การคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นทุกยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน เช่น

ปี 1961 พัฒนาเทคโนโลยี Wet Screen technology ขึ้นเองสำหรับก่อสร้างผนังคอนกรีต

ปี 2005 พัฒนาเทคโนโลยีป้องกันแผ่นดินไหวในโครงสร้างตึก ช่วยลดแรงกระแทกจากแผ่นดินไหวได้ถึง 75% ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น

เมื่อบริษัทเริ่มใหญ่และมีลูกทีมมากขึ้นแล้ว เขาสร้างวัฒนธรรมให้สมาชิกทีมต้อง ‘บินไปดูงานต่างประเทศ’ ด้วยกันเป็นประจำ โดยเฉพาะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา อัพเดทเทคโนโลยีการก่อสร้างล่าสุดเพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาญี่ปุ่น แม้จะเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการเดินทางสมัยนั้น แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด

นอกจากนี้ เขาเป็นคนกล้าที่จะ ‘คิดการใหญ่’ ไว้ก่อน อย่าประเมินตัวเองต่ำเกินไป มองตามความเป็นจริงและเอื้อมไปให้ไกลขึ้นอีกหน่อย น่าสนใจที่ว่าช่วงแรกที่เขาเป็นหน้าใหม่ในวงการก่อสร้างญี่ปุ่น แต่กลับได้รับมอบหมายให้สร้างโปรเจกต์สเกลใหญ่ ๆ อยู่ไม่น้อย กล่าวกันว่าสาเหตุหลักเพราะมาจากคาแรคเตอร์ของตัวคุณโอบายาชิเองที่มุ่งมั่นตั้งใจคิดการใหญ่และทำให้สำเร็จ จนไปทัชใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ลูกค้าไม่ได้ซื้อแค่บริษัทแต่ซื้อเพราะตัวผู้นำด้วย

คุณโอบายาชิยังมีมุมมองต่อธุรกิจก่อสร้างที่น่าสนใจและเขาจะคอยสอนทีมงานรุ่นต่อไปอยู่เสมอ เพราะตัวเองเติบโตมาในยุคที่ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสู่ความเจริญ ผู้คนก่อร่างสร้างตัว…พร้อม ๆ ไปก่อร่างสร้างเมือง

เขาจึงมองว่าธุรกิจการก่อสร้าง เป็นมากกว่าการทำงานหาเงิน แต่สามารถ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิต’ ของผู้คนในเมืองได้จริง ต้องไม่ลืมว่าแต่ละโปรเจกต์ที่เกิด แต่ละตึกอาคารที่สร้าง จะอยู่คู่กับเมืองนั้นไปอีกนานแสนนาน

 

โตก้าวกระโดด

ด้วยพื้นฐานความคิดการทำงานที่สตรองในระยะยาวผ่านการบ่มเพาะจากคุณโอบายาชิ และผลงานโปรเจกต์ชั้นนำที่ทำสำเร็จมาพอสมควร เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 Obayashi-gumi (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Obayashi Corporation) ได้กลายเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย

ปี 1911 Obayashi ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างอุโมง์รถไฟให้กับบริษัทเดินรถไฟรายใหญ่ของโอซาก้า (ปัจจุบันคือบริษัทเดินรถไฟ Kintetsu) ความพิเศษคือ นี่เป็นอุโมงค์รถไฟรางคู่ที่ยาวที่สุดของญี่ปุ่นขณะนั้นด้วยระยะทาง 3,388 เมตร ทะลุภูเขาเพื่อเชื่อมโอซาก้าและเมืองนาระ

เป็นโจทย์ใหญ่ของบริษัทที่ต้องระดมความคิดกันและได้พิสูจน์ถึงความล้ำหน้าทางวิศวกรรม 

การก่อสร้างอุโมงค์ในชั้นดิน (Soft Ground Tunnelling)

ความเสี่ยงในการเจาะไปโดนแหล่งขุมน้ำบาดาล (Groudwater) ที่อาจพุ่งทะลักออกมา

ความสำเร็จจากโปรเจกต์นี้ได้สร้างจุดแข็งความแตกต่างให้องค์กรในเรื่องของเทคโนโลยีก่อสร้างและเจาะอุโมงค์ไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน Obayashi คือเบื้องหลังผู้ก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ทั่วญี่ปุ่นที่เราอาจคุ้นเคยกัน เช่น

หอคอย Tokyo Skytree ของโตเกียว

ตึกระฟ้า Toranomon Hills ย่านธุรกิจโตเกียว

สถานีรถไฟเกียวโต

ศูนย์การค้า Oasis 21 ใจกลางนาโกย่า

สนามบินนานาชาติคันไซ ของเมืองโอซาก้า

 

โอบายาชิโกโกลบอล

แม้จะล่วงเลยผ่านยุคสมัยของตัวคุณโอบายาชิ และได้ส่งผ่านสู่ทีมงานเจเนอเรชั่นต่อไปแล้ว บริษัท Obayashi ยังคงเติบโตก้าวกระโดดในศตวรรษที่ 20 และเริ่มก้าวข้ามสู่ตลาดต่างประเทศไปทั่วโลก

มีการตั้งบริษัทย่อยและบริษัทในเครือดำเนินการก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ ๆ อยู่ทั่วโลก โดยแต่ละแห่งมักเป็นโครงการระดับแฟลกชิปตัวท็อปสุดบริษัทในประเทศนั้น ๆ 

ปี 1954 เริ่มไปตลาดต่างประเทศครั้งแรกที่สิงคโปร์ ดูแลพัฒนาโปรเจกต์ถมที่ดิน (Land reclamation project) จนสร้างชื่อเสียงและความเชื่อมั่นมาถึงปัจจุบัน Obayashi ยังเป็นผู้ก่อสร้างน้ำตก Jewel ภายในสนามบิน Changi Airport ของสิงคโปร์ด้วย

ปี 1979 บุกตลาดสหรัฐอเมริกา และได้รับเลือกให้ก่อสร้างระบบระบายน้ำเสียให้กับเมืองซานฟรานซิสโก

ปี 1984 บุกตลาดจีน โดยได้รับเลือกให้ปรับปรุงสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้

หรือตัวอย่างในเมืองไทย เข้ามาเปิดออฟฟิศตั้งแต่ปี 1964 โดยเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการเป็นผู้ดูแลตรวจสอบงานก่อสร้าง ก่อนกลายเป็น Thai Obayashi ในปี 1974 และก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ ๆ คู่บ้านคู่เมืองไทยมานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน 

ตัวอย่างเช่น

  • มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์ ONE BANGKOK
  • ศูนย์การค้า ICONSIAM
  • โรงแรม 5 ดาว The Okura Hotel
  • คอนโดและโรงแรม Aman Nai Lert Bangkok
  • อาคารสำนักงาน KingBridge Tower
  • ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

แต่ละสถานที่ แต่ละโปรเจกต์ มีความแตกต่างกันด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ล้วนแล้วช่วย ‘ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่’ ของชาวเมืองได้ไม่มากก็น้อย เป็นไปตามปณิธานที่คุณโอบายาชิผู้ก่อตั้งได้วาดฝันไว้แต่แรก…

 

อ้างอิง

https://www.obayashi.co.jp/chronicle/130th/en/overview/chapter1.html

https://www.zippia.com/obayashi-careers-1046958/history/

https://www.encyclopedia.com/books/politics-and-business-magazines/obayashi-corporation

https://www.obayashi.co.jp/company/rekishi/yoshigoro.html