The Surfer : ความวิปลาสเมื่อ ‘ศักดิ์ศรีของชายแท้’ ถูกเกลียวคลื่นพัดทำลาย

The Surfer : ความวิปลาสเมื่อ ‘ศักดิ์ศรีของชายแท้’ ถูกเกลียวคลื่นพัดทำลาย

The Surfer ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของนิโคลัส เคจ นำเสนอภาพความคลุ้มคลั่งของจ่าฝูงสองคนที่ต้องการช่วงชิงอาณาเขตของกันและกัน มีแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของลัทธิครองครองหาดในรัฐแคลิฟอเนียร์

KEY

POINTS

  • The Surfer คือภาพยนตร์ที่พาผู้ชมไปสัมพัสความเดือดดาลคลุ้มคลั่งตลอดเรื่อง ด้วยภาษาภาพที่ชวนอึดอัด เวียนหัว และการแสดงของนิโคลัส เคจที่เดือดระอุเกินบรรยาย
  • แรงบันดาลใจของเรื่องมาจากกลุ่ม ‘ลูนาดา เบย์ บอยส์’ หรือลัทธิครอบครองชายหาดที่กีดกันคนนอก ด้วยแนวคิดท้องถิ่นนิยม ที่ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่อย่างสุดโต่ง
  • การกระทำทั้งมวลในเรื่อง เกิดจากการที่เพศชายถูกลดทอนศักดิ์ศรีและทำลายอาณาเขต นำมาสู่การตอบโต้แบบ ‘ชายแท้’ ซึ่งมักขาดเหตุผลและคำอธิบายรองรับ
     

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง The Surfer (2024)

 

ผู้ชายก็เหมือนเครื่องยนต์

ต้องปล่อยไอร้อนบ้างเป็นครั้งคราว ไม่งั้นระเบิด”

 

คือคำพูดของตัวละครหญิงแปลกหน้าที่แม้จะปรากฏตัวอย่างไร้ที่มา แต่สารที่เธอกล่าวทิ้งไว้กลับสามารถสรุปแรงขับเคลื่อนของทุกเหตุการณ์ในเรื่อง จนหากขาดเธอไป ‘The Surfer’ (2024) เจ้าของชื่อไทยห้วนสั้นแต่ตรงประเด็นว่า ‘กูจะเซิร์ฟ’ ก็คงเป็นภาพยนตร์ที่ชวนสับสน ปราศจากแรงจูงใจและตรรกะ

ประโยคดังกล่าวทำให้ผู้ชมตระหนักได้ว่า ตัวหนังกำลังเสียดสีความเป็น ‘ชายแท้’ อันหมายถึง การยึดมั่นและปฏิบัติตามกรอบเกณฑ์ของบุรุษเพศอย่างสุดโต่ง นับจากนั้น ความอลหม่านในเรื่องก็ดูเป็นเหตุเป็นผล เพราะอารมณ์แบบชายแท้นี้เอง คือสิ่งที่ไร้เหตุผล พร้อมดับเครื่องชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หลังกวาดเสียงตอบรับเชิงบวกจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ The Surfer ของผู้กำกับ ‘ลอร์แกน ฟินนิแกน’ (Lorcan Finnegan) เจ้าของภาพยนตร์ระทึกขวัญไอเดียล้ำอย่าง ‘Vivarium’ (2019) ก็เดินหน้ารับเสียงวิจารณ์จากผู้ชมทั่วโลก เล่าเรื่องราวของนักโต้คลื่นนิรนามวัยกลางคน (แสดงโดย นิโคลัส เคจ) ผู้กลับมาบ้านเกิดในประเทศออสเตรเลียเพื่อซื้อบ้านที่ตนเคยอยู่สมัยเด็ก ทว่าขณะพาลูกชายมาโต้คลื่นที่ชายหาดในละแวก กลับถูก ‘เจ้าถิ่น’ ในคราบ ‘กลุ่มลัทธิ’ ขวางเอาไว้ ก่อนจะกลั่นแกล้ง เหยียบย่ำศักดิ์ศรี เรื่อยไปจนถึงทำร้ายร่างกายสารพัด คนเป็นพ่อผู้ไม่ต้องการให้ลูกมองว่าล้มเหลว จึงต้องประกาศจุดยืนแสนหนักแน่นว่า “กูจะเซิร์ฟ!” นำไปสู่เรื่องราวแสนพิสดาร ที่หากใครได้รับชมแล้ว คงเข้าใจว่าถึงความน่าสับสน และไร้เหตุผลรองรับเป็นอย่างดี

แม้เรื่องย่อ เรื่อยไปถึงองก์แรกของเรื่องจะชวนให้นึกถึงภาพยนตร์แนวล้างแค้นเลือดสาด แต่ The Surfer กลับพลิกแนวทางตั้งแต่ช่วงองก์สองมาเป็นหนังจิตวิทยาเต็มรูปแบบ อัดแน่นด้วยความ ‘ปั่นประสาท’ และ ‘ชวนสะอิดสะเอียน’ โดยคำหลังใช้นิยามได้ทั้งภาพความน่าขยะแขยง ตลอดจนความรู้สึกที่ผู้ชมมีต่อแนวคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ ของเหล่าตัวละครซึ่งถูกตีแผ่จนดูโง่เง่า ชวนตลกขบขัน

 

เดือดกว่าไอแดดในเรื่อง

คือภาษาภาพที่ทำผู้ชมแทบเป็นลมล้มพับ

สิ่งที่ The Surfer ทำได้โดดเด่นตลอดเรื่องคือการสร้างบรรยากาศร้อนระอุของชายหาดในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นฉากหลัง หากแต่ดึงผู้ชมเข้าสู่ความอึดอัด ครั่นเนื้อครั่นตัว แสบตาด้วยแสงแดด เหนอะหนะด้วยเหงื่อไคล จนแทบรู้สึกวิงเวียนตามตัวละครไปด้วย

ผู้สร้างใช้เทคนิคการเคลื่อนกล้องแบบหมุนรอบทิศ ตลอดจนเลือกใช้เลนส์กว้าง รับกับคลื่นความร้อนที่ทำให้องค์ประกอบของฉากหลังดูบิดเบี้ยว นอกจากนั้น ยังเกลี่ยสีภาพด้วยโทนอุ่น ปล่อยให้แสงแดดตกกระทบวัตถุจนขาวสว่าง ยิ่งหลังจากที่ตัวละครสูญเสียแว่นกันแดด ภาพการหยีตาและแดดจ้าที่ตกกระทบใบหน้าชื้นเหงื่อก็ยิ่งทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความร้อนในระยะเผาขน 

สามารถพูดได้ว่า หากเป็นมนุษย์ปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องเผชิญสถานการณ์ปั่นประสาทจึงจะมีอาการคลุ้มคลั่งแบบตัวละครเลย เพราะแค่สภาพแวดล้อมที่ยืนอยู่ก็ชวนกระสับกระส่ายจนพร้อมระเบิดอารมณ์ได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว

ยิ่งประกอบกับการเจาะจงถ่ายเหงื่อไคล และการแสดงสีหน้าแสนเก็บกดของตัวละครหลักยามถูกกลุ่มลัทธิเหยียบย่ำศักดิ์ศรี ทั้งข่มขู่ต่อหน้าลูกชาย ราดด้วยกาแฟร้อน ยั่วยุปั่นหัว ตลอดจนขโมยรถ อันเป็นเหตุให้เขาต้องหันมาปะทังชีวิตด้วยน้ำสกปรกและซากหนูตาย ก็ยิ่งทำให้ The Surfer กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทุกองค์ประกอบพร้อมใจดันความอดทนของผู้ชมให้ทะลุปรอท ตั้งหน้าตั้งตารอผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มลัทธิในตอนจบว่าจะ ‘สาสม’ และ ‘สาแก่ใจ’ แค่ไหน

ขณะเดียวกัน แม้จะถูกครอบทับด้วยคำว่า ‘หนัง’ อันหมายถึง ‘เรื่องแต่ง’ การกระทำแสนไร้ที่มาหลาย ๆ ช่วงก็ชวนตั้งคำถามว่า ตัวละครทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร โดยเฉพาะการกระทำของ ‘เบย์บอย’ หรือกลุ่มลัทธิในเรื่องซึ่งปราศจากคำอธิบาย

ทว่าในความจริง การกระทำของทั้งตัวละครหลักและกลุ่มเบย์บอยล้วนมีที่มา ความวิปลาสของฝ่ายแรกเกิดจากการถูกกดดันด้วยบรรทัดฐานของ ‘ชายแท้’ อันหมายถึงเพศชายต้องมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายหลังมีที่มาที่ไปหนักแน่นกว่า เพราะผู้สร้างได้หยิบยกแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ‘ลัทธิครอบครองหาด’ ที่ยึดครองพื้นที่สาธารณะของรัฐแคลิฟอร์เนียต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี

 

เรื่องจริงของ ‘ลัทธิท้องถิ่นนิยม’

ผู้ครอบครองชายหาดแคลิฟอร์เนีย

ลัทธิเบย์บอยใน The Surfer คือกลุ่มชายหลากช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น ไปจนถึงหัวหน้าลัทธิซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับตัวละครหลัก การกระทำของพวกเขาดูไร้ที่มา เปิดตัวด้วยการเข้ามาขัดขวางตัวละครหลักกับลูกไม่ให้เล่นเซิร์ฟ พร้อมยกเหตุผลแค่ว่า “ไม่ได้อยู่ที่นี่ ห้ามเล่นเซิร์ฟที่นี่” ก่อนที่การขัดขวางนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าขั้นการปั่นประสาทและหมายเอาชีวิต

โดยเบย์บอยได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่ม ‘ลูนาดา เบย์ บอยส์’ (Lunaga Bay Boys) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นที่เลื่องลือในหมู่นักโต้คลื่นด้วยสถานะเจ้าถิ่นแห่ง ‘ลูนาดา เบย์’ ชายหาดพร้อมหน้าผาสูงชัน ซึ่งในช่วงฤดูหนาว จะมีปัจจัยด้านคลื่นลมที่เหมาะสม เป็นจุดหมายปลายทางของนักโต้คลื่นทั่วโลก

ลูนาดา เบย์ บอยส์ เป็นกลุ่มคนที่ประกอบด้วยชายท้องถิ่นหลากช่วงวัย สร้างเพิงพักขนาดเล็กเพื่อปักหลักยึดครองพื้นที่ ยามนักโต้คลื่นจากต่างแดนย่างกรายเข้ามา พวกเขาจะตะโกนขับไล่ หลายครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นขว้างปาข้าวของ หรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อย่างการทุบกระจกและเจาะยางรถ

ฟังผิวเผินอาจดูคล้ายนักเลงเจ้าถิ่นทั่วไป ทว่าสาเหตุที่ลูนาดา เบย์ บอยส์โด่งดัง เป็นเพราะปัญหาดังกล่าวเรื้อรังมาหลายปี เจ้าหน้าที่ตำรวจพากันเพิกเฉยด้วยเหตุผลบางอย่าง แม้ว่าตอนนี้ สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเพราะมีการฟ้องร้อง นำไปสู่การจัดการของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม แต่ลัทธิครอบครองหาดนี้ก็ยังเป็นที่พูดถึงในฐานะตัวแทนของ ‘ท้องถิ่นนิยม’ (Localism) หรือแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ มากกว่าคนนอกพื้นที่อย่างสุดโต่ง

ในบางครั้ง ลูนาดา เบย์ บอยส์ ยังถูกมองเป็นลัทธิ เพราะสมาชิกแต่ละคนล้วนมีความสามัคคีและศรัทธาในสิ่งที่พวกของตนทำอย่างเหนียวแน่น มิหนำซ้ำ ยังปฏิบัติคล้ายกับมองคนทั่วไปที่เห็นต่างว่าเป็นพวกนอกรีต

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง The Surfer เบย์บอยส์เป็นมากกว่าเจ้าถิ่นหรือกลุ่มลัทธิทั่วไป โดยแม้ตัวหนังจะไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่ก็พอทราบได้ว่า เจ้าลัทธิมีศักดิ์เป็นลูกคนใหญ่คนโต จนแม้กระทั่งตำรวจท้องที่ก็ยังอยู่ใต้อาณัติ เป็นเหตุให้ตัวละครหลักมืดแปดด้าน ไม่อาจหาที่พึ่งใด ๆ นำมาสู่การค่อย ๆ สูญเสียสติสัมปชัญญะ ตามวิถีหัวหน้าครอบครัวผู้แตกสลาย ไม่เหลือบารมีมาใช้สร้างการยอมรับจากลูกอีกต่อไปแล้ว

การสูญสิ้นศักดิ์ศรีของหัวหน้าครอบครัว อันเป็นตัวแทนของ ‘ชายแท้ในอุดมคติ’ นี้เอง คือสิ่งที่ผู้สร้างหยิบยกมาผสมผสานกับแนวคิดท้องถิ่นนิยม เกิดเป็นองก์ท้ายของเรื่องที่ตีความได้หลากหลายว่า การกระทำสุดฟั่นเฟือนของบรรดาตัวละครมีต้นสายปลายเหตุอย่างไรกันแน่

 

เมื่อสูญเสียอาณาเขต

ชายแท้จึงคลุ้มคลั่งและแหลกลาน

สัญญะสำคัญของ The Surfer เห็นจะเป็นคำว่า ‘อาณาเขต’ เพราะแทบทุกการกระทำในเรื่อง ล้วนมีที่มาจากการ ‘ล้ำเส้น

ตัวละครหลักกับลูกชายล้ำเส้นเข้าไปในพื้นที่ของกลุ่มเบย์บอยส์ นำมาสู่การขับไล่ ทว่าการขับไล่นั้นกลับรุนแรงเข้าขั้นป่าเถื่อน เมื่อผสมรวมกับ ‘ศักดิ์ศรี’ ของชายแท้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือศักดิ์ศรีของจ่าฝูงผู้มีหน้าที่คุ้มครองสมาชิก

ติดตรงที่ตัวละครหลักเองก็มีภาระหน้าที่แบบจ่าฝูงอยู่เต็มเปี่ยม ฝูงของเขาคือครอบครัวซึ่งอยู่ในสถานะระหองระแหง ภรรยาขอแยกทาง ในขณะที่ลูกชายเองก็ดูไม่เชื่อมั่นในตัวเขา การพยายามประสานรอยร้าวในครอบครัวจึงเปรียบเสมือนอาณาเขตของตัวละครหลัก กลุ่มเบย์บอยส์ที่เข้ามาขับไล่ไม่ต่างอะไรกับผู้บุกรุก นำมาสู่การตอบโต้กันไปมา ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร

ในสถานการณ์ทั้งมวล ‘การโต้คลื่น’ ดูจะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากสงครามระหว่างสองจ่าฝูงเกิดขึ้นเพียงเพราะต้องการพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมดังกล่าว

สำหรับตัวละครหลักแล้ว การพาลูกชายไปโต้คลื่นที่หาดแห่งนั้นคงเป็นหนทางในการประสานรอยร้าว นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียวที่เขาสามารถยึดเหนี่ยว ท่ามกลางความสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่ค่อย ๆ ผุพังลงเรื่อย ๆ ฝ่ายหัวหน้าลัทธิเองก็ดูจะศรัทธาในกีฬาชนิดนี้ไม่น้อย ถึงขั้นต้องขโมยกระดานเซิร์ฟของอีกฝ่ายมาประดับที่พักของตน พร้อมเขียนข้อความว่า ‘สถานศักดิ์สิทธิ์’ เป็นการยั่วล้อกับสัญญะของเรื่องอย่างตรงไปตรงมา

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสูญเสียสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตนให้ฝ่ายตรงข้ามคือสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดแก่ตัวละครหลักอย่างถึงที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสูญเสียสิ่งของมีค่าอื่น ๆ ให้กับคนในลัทธิ ตั้งแต่นาฬิกา โทรศัพท์ ไปจนถึงสติสัมปชัญญะ ราวกับเป็นการสื่อว่า เมื่อปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว มนุษย์ก็เป็นได้แค่สิ่งมีชีวิตตัวเปล่า ไร้เขี้ยวเล็บ ศักดิ์ศรีที่พยายามประคับประคองมาตลอดจึงถึงคราวสูญสิ้น

เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว ตัวละครหลักจึงถูกกลืนกิน ปล่อยให้เกียรติยศแห่งจ่าฝูงหลุดลอยไปกับเกลียวคลื่น ยอมเข้าร่วมลัทธิวิปลาสอย่างง่ายดายราวกับหุ่นเชิดไร้ชีวิต

ทว่าการรุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของชายชราคนหนึ่งกลับทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ในช่วงท้าย หลังจากที่ตัวละครหลักเข้าร่วมลัทธิอย่างสมบูรณ์ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการเผารถของชายชราไร้บ้าน ผู้ถูกคนในลัทธิข่มเหงรังแกมาตลอดเรื่อง ที่ผ่านมา ชายชราคนดังกล่าวอ้างว่า พวกเบย์บอยส์สังหารลูกชายของเขา ทว่าความอ่อนแอและชราภาพกลับทำให้ไม่อาจตอบโต้มากนัก

การเผาทำลายรถซึ่งเปรียบเสมือนอาณาเขตสุดท้ายของเขาคงเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วจริง ๆ ในช่วงไม่กี่นาทีก่อนจบเรื่อง ชายชราจึงไล่ปลิดชีวิตกลุ่มเบย์บอยส์รวมไปถึงจ่าฝูงจนลัทธิคล้ายกับเป็นอันสิ้นสลาย นับเป็นการพลิกบทบาทครั้งใหญ่ จากผู้ถูกล่ากลายเป็นนักล่าผู้คลั่งแค้น ตอกย้ำว่าอาณาเขตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะชายแท้จ่าฝูงซึ่งหากสูญสิ้นมัน สติที่เคยเป็นผู้เป็นคนก็จะพินาศย่อยยับ เมื่อถึงตอนนั้น จะแสดงออกอย่างอ่อนแอเหมือนตัวละครหลัก หรือแสดงออกอย่างรุนแรงเหมือนกับชายชรา ก็สุดแต่สัญชาตญาณดิบของบุคคลผู้นั้น

 

แม้ The Surfer จะเป็นภาพยนตร์ที่อาจชวนสับสนไปบ้าง ทั้งในแง่ของเรื่องราวและประเด็นสัญญะ ที่ในหลาย ๆ ช่วง ก็ยากจะตีความ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะได้รับหลังเดินออกจากโรง ก็คือความคลุ้มคลั่งปั่นประสาท...ซึ่งแม้จะปราศจากคำอธิบาย แต่การทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างแรงกล้าทั้งที่ไม่เข้าใจ ก็บ่งบอกว่าผู้สร้างเก่งกาจในการใช้องค์ประกอบภาพยนตร์ ลำเลียงอารมณ์ของเรื่องไปจนถึงจุดระเบิด

และอย่างน้อย ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพการแย่งชิงอาณาเขตไปมาด้วยศักดิ์ศรีและสัญชาตญาณดิบของชายแท้ที่ผู้สร้างประเคนให้ผู้ชมไม่ยั้ง ก็ถือเป็นความคลุ้มคลั่งที่สนุก และตลกขบขันดีเหลือเกิน

เมื่อรวมกับแก่นสารที่พอจับใจความได้ประปราย การปะติดปะต่อมันเข้ากับเรื่องราวทั้งหมดก็ยิ่งทำให้เห็นภาพ และประทับใจที่ผู้สร้างนำความคิดอันไร้เหตุผลแบบชายแท้ มาร้อยเรียงจนดูมีตรรกะได้ถึงเพียงนี้

 

ภาพ : โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Surfer