แนวคิดเบื้องหลัง ‘The Judge From Hell’ ซีรีส์น้ำดีตีแผ่ความรุนแรงในสังคมเกาหลี

แนวคิดเบื้องหลัง ‘The Judge From Hell’ ซีรีส์น้ำดีตีแผ่ความรุนแรงในสังคมเกาหลี

ไขแนวคิดเบื้องหลังของ ‘The Judge From Hell’ (2024) ซีรีส์เรตติ้งแรง ส่วนผสมอันลงตัวของ โรแมนซ์ - แฟนตาซี เคมีพระนาง ตำนานเทพปรัมปรา และการตีแผ่ความรุนแรงในสังคม

KEY

POINTS

  • โจอีซู (Jo Yi-soo) นักเขียนบทเล่าว่าไอเดียของซีรีส์เรื่องนี้เกิดจากการเห็นคดีที่ถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม
  • ความน่าสนใจของเรื่องเกิดขึ้นจากการหยิบยกเอาวรรณกรรมชิ้นเอก ‘Divine Comedy’ ของมหากวีดันเต้ ที่สอดแทรกแนวคิดของคริสต์ศาสนามาผสมผสานกับเรื่องเล่าปรัมปราของเทพและปีศาจ
  • นอกจากนี้ คดีที่เกิดขึ้นในเรื่อง ล้วนสะท้อนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน

เพียงแค่คิดเล่น ๆ ว่า ถ้า ‘ปีศาจ’ มีอำนาจสิทธิตัดสินความผิดของ ‘มนุษย์’ ก็สนุกแล้ว!

จากสารตั้งต้นชั้นดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘The Judge From Hell’ (2024) จะสร้างกระแสตั้งแต่ออกอากาศ แถมยังทุบสถิติเรตติ้งของตัวเองในทุกสัปดาห์ โดยล่าสุดตอนที่ 8 ก็อยู่ที่ 13.7% เข้าไปแล้ว และน่าจะเป็นหนึ่งในซีรีส์ยอดฮิตส่งท้ายปี 2024 

แฟนซีรีส์เกาหลีต่างรู้กันดีว่าเรื่องเกี่ยวกับ ผู้พิพากษา อัยการ และทนาย นับเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ใช้ได้ตลอดมา แน่นอนว่า The Judge From Hell ก็ได้นำความได้เปรียบนี้ มาผสมผสานกับโรแมนซ์ - แฟนตาซี อีกทั้งยังชวนให้นึกถึงซีรีส์ฝรั่งแนวสืบสวนอย่าง ‘Lucifer’ (2016 – 2021) เรื่องของ ‘เทวดา’ ตกสวรรค์ ที่ถูกไล่ให้ลงไปปกครองนรก ก่อนจะใช้โลกมนุษย์เป็นจุดแวะพัก และเข้ามาช่วยนักสืบสาวในการสืบสวนคดี

แต่สำหรับเวอร์ชั่นเกาหลีได้สร้างความ ‘สดใหม่’ มากกว่านั้น ด้วยการเปลี่ยนตัวละครหลักให้เป็น ‘ปีศาจสาว’ จากนรกนาม ‘จัสติเซีย’ ที่ตัดสินคดีผิดพลาด จนปีศาจระดับผู้อำนวยการอย่าง ‘บาเอล’ ลงโทษให้เธอมาเป็นมนุษย์โลก ด้วยการสิงสู่อยู่ในร่างของ ‘คังพินนา’ ผู้พิพากษาสาว แสดงโดย ‘พัคชินฮเย’ (Park Shin Hye) เพื่อตัดสินบาปของมนุษย์ให้ครบ 20 คน ภายใน 1 ปี ซึ่งระหว่างภารกิจเธอก็ได้พบกับ ‘ฮันดาอน’ แสดงโดย ‘คิมแจยอง’ (Kim Jae-young) ตำรวจหนุ่มน้ำใจงามที่มีภูมิหลังสุดสะเทือนใจ

ภารกิจหลักของจัสติเซียบนโลกมนุษย์นั้น หาใช่การตัดสินเหล่าฆาตกรให้ “เข้าคุก” ตามหน้าที่หลักของผู้พิพากษา หากแต่เป็นการตัดตอนด้วยการ “ปลิดชีวิต” และส่งลงนรกทันที ซึ่งนักเขียนบท ‘โจอีซู’ (Jo Yi-soo) เล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ว่า เกิดจากการที่เธออ่านข่าวผลการตัดสินคดีอาชญากรรมที่ดูเหมือนว่าจะอะลุ่มอะล่วยจนเกินไป และตอนนั้นหนึ่งในคอมเมนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ

“นี่คือคำตัดสิน ที่ทำให้ปีศาจยังต้องร้องไห้” 
 

เธอจึงมีความคิดผุดขึ้นในใจว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าปีศาจกลายเป็นผู้พิพากษา?” ก่อนจะจดสั้น ๆ ว่า “ปีศาจจากนรกกลายเป็นผู้พิพากษา และเริ่มคัดแยกเดนมนุษย์” 

อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้นั่นเอง

(บทความนี้อาจมีการเผยแพร่บางส่วนของเนื้อเรื่อง) 

ส่วนผสมอันลงตัวของ ศาสนา เทวา และซาตาน

แม้ประชากรชาวเกาหลีกว่าครึ่งจะยอมรับว่าตนเอง “ไม่มีศาสนา” แต่ศาสนาที่ชาวเกาหลีนับถือกันมากที่สุด กลับไม่ใช่ ‘ศาสนาพุทธ’ อย่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง หากแต่เป็น ‘ศาสนาคริสต์’ ที่ครองใจชาวเกาหลี ด้วยเหตุนี้ การนำแนวความเชื่อเรื่องเทวา ซาตาน และพระคัมภีร์ มาใช้ จึงเป็นอะไรที่ดูไม่เคอะเขิน 

แรงบันดาลใจที่ถูกนำมาเป็นแกนหลักของเรื่องนั้น มีที่มาจาก ‘Divine Comedy’ วรรณคดีเก่าแก่ของ มหากวีชาวอิตาเลียน ‘ดันเต้ อาลีกีเอรี’ (Dante Alighieri) ที่ใช้เวลาถ่ายทอดยาวนานกว่า 12 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1308 - 1320 ซึ่งข้อความในวรรณคดีเรื่องนี้ ได้ปรากฏบนประตูนรกตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง พร้อมกับรูป ‘ไม้กางเขนคว่ำ’ โดยมีใจความว่า “lasciate ogne speranza, voi ch'intrate.” ซึ่งหมายถึง “ผู้ที่ผ่านมาที่นี่ จงละทิ้งซึ่งความหวังทั้งปวง”

วรรณกรรมเรื่องนี้ได้เล่าเรื่องราวการเดินทางผ่านสามภูมิ ได้แก่ ‘นรก’ (Inferno) ‘แดนชำระ’ (Purgatorio) และ ‘สวรรค์’ (Paradiso) ซึ่งข้อความข้างต้นก็เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในดินแดนนรก แต่ทว่าในซีรีส์ไม่ได้เรียกนรกว่า ‘อินเฟอโน’ แต่กลับเรียกว่า ‘เกเฮนนา’ (Gehenna) อันหมายถึง ‘นรก’ เช่นเดียวกัน แต่เกเฮนนาเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง โดยเชื่อว่าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล และเคยเป็นสถานที่ที่พระผู้เป็นเจ้าเคยตัดสินกษัตริย์ผู้ทำบาปด้วยเปลวเพลิง

สำหรับชื่อของตัวละครที่เป็นปีศาจ ซีรีส์เรื่องนี้ก็ให้ความใส่ใจแบบไม่มีตกหล่น เริ่มด้วย ‘จัสติเซีย’ ก็มาจาก ‘จัสติเทีย’ (Justitia) ชื่อของเทวีแห่งความยุติธรรม ตามความเชื่อของกรีกและอียิปต์โบราณ ด้วยรูปลักษณ์ของหญิงสาวผู้ถือ ‘ตาชั่งและดาบ’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความยุติธรรม’ และ ‘อำนาจอันชอบธรรม’ ซึ่งรูปปั้นของจัสติเทียก็ปรากฏอยู่หน้าศาลตั้งแต่ตอนแรก พร้อมกับข้อความ “Let justice done though the heavens fall” ที่แปลได้ว่า “จงนำพาความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มลงมาก็ตาม”

ขณะที่ ‘วาลัค’ (Valak) หรือ ‘โวแล็ค’ (Volak) ผู้ช่วยของจัสติเซียเป็นปีศาจหมายเลข 62 จากทั้งหมด 72 ตัวใน ‘กุญแจย่อยของโซโลมอน’ (The Lesser Key of Solomon) ตำราปีศาจและไสยเวทซึ่งกล่าวถึงปีศาจ 72 ตน ที่กษัตริย์แห่งโซโลมอนทรงปราบปรามและกักขังเอาไว้ โดยวาลัคนับเป็นปีศาจทรงพลานุภาพระดับประมุข ซึ่งดูขัดแย้งกับรูปลักษณ์เด็กชายมีปีกอยู่ชอบกล และอาจด้วยเหตุผลนี้ ทำให้วาลัคในซีรีส์มีความเป็นเด็ก จิตใจดี และค่อนข้างที่จะใจเสาะ

ส่วน ‘บาอัล’ (Bael) เป็นปีศาจลำดับที่ 1 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะได้เป็นผู้อำนวยการแห่งนรก ตามตำนานเล่าว่า บาอัลเป็นราชาแห่งนรกและมีหัวสามหัว ได้แก่ คางคก มนุษย์ และแมว เมื่อรวมร่างจะมี 8 ขาเหมือนแมงมุมอย่างที่เห็นกันในซีรีส์ 

ร่วมด้วย ‘เกรโมรี’ (Gremory) ปีศาจลำดับที่ 56 ที่มักปรากฏตัวในร่างของหญิงสาวแสนสวยและขี่อูฐตัวใหญ่ ซึ่งความสามารถของเกรโมรีก็คือ การคาดเดาเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งในซีรีส์เองเธอยังพกพา ‘ความลับ’ ที่ยังไม่ได้เฉลย

เมื่อมนุษย์มีดีมีชั่ว ปีศาจเองก็เช่นกัน

จากบรรดาตัวละครปีศาจที่ร่ายยาวมาทั้งหมด หากสังเกตให้ดีจะพบว่า จัสติเซีย เป็นเทวีเพียงหนึ่งเดียว ที่ห้อมล้อมด้วยปีศาจมากหน้าหลายตา ราวกับเป็นการประกาศว่าในหมู่มวลปีศาจ ก็มีคนดีแฝงอยู่เช่นกัน

แม้ตัวละครจัสติเซียจะมีความมุทะลุ ดุดัน และโหดแบบสุด ๆ กับฆาตกร แต่ถ้าดูการกระทำ เธอก็ไม่ใช่ ‘คนชั่ว’ เลยสักนิด ซึ่งในซีรีส์ก็ค่อย ๆ เผยว่าความจริงที่ว่า ปีศาจไม่ใช่สิ่งร้ายกาจ อย่างที่จัสติเซียเคยพูดว่า นรกน่าอยู่กว่าโลกมนุษย์มากนัก เพราะมนุษย์นี่แหละที่มีส่วนทำให้โลกใบนี้ยุ่งเหยิง 

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้ปีศาจแตกต่างจากมนุษย์ซีรีส์เรื่องนี้กลับไม่ใช่การแบ่งแยกว่า “ความดี = มนุษย์” และ “ความชั่ว = ปีศาจ” เพราะสิ่งที่แตกต่างอย่างแท้จริงกลับเป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ดังนั้น สิ่งที่ปีศาจแสดงในเรื่อง จึงออกมาเป็นลักษณะของความไม่แยแส ไม่อินังขังขอบ หรือสะทกสะท้านต่อสิ่งใด จนบางทีออกแนวต่อต้านสังคมเสียด้วยซ้ำ ก่อนเฉลยว่าปีศาจ (ที่ดี) จะไม่สามารถ ‘ร้องไห้’ ได้

และปีศาจที่ชั่วร้ายจะถูกเรียกว่า ‘ซาตาน’ นั่นเอง

ตีแผ่ความรุนแรงในสังคมเกาหลี

นอกเหนือจากเรื่องของเทวาและซาตาน คงต้องบอกว่าคดีที่เกิดขึ้นในเรื่อง ล้วนสะท้อนถึง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน

‘เดอะ โคเรีย เฮรัลด์’ (The Korea Herald) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเกาหลีใต้ ได้เปิดเผยผลสำรวจของปี 2022 จัดทำโดย ‘สถาบันพัฒนาสตรีแห่งเกาหลี’ (Korean Women's Development Institute) ซึ่งได้เข้าไปสอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 754 คน ก่อนจะพบว่ามีเพียง 11.5 เปอร์เซนต์ ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ที่เข้าใจความหมายแท้จริงของความรุนแรงในครอบครัว

โดยกลุ่มตัวอย่างมากถึง 91.4 เปอร์เซนต์ ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวอยู่มาก เพราะพวกเขามองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ‘ผู้ก่อเหตุ’ ใช้ความรุนแรงเป็น ‘เพศชาย’ ขณะที่ ‘เหยื่อ’ หรือ ‘ผู้ถูกกระทำ’ จะเป็นเพศหญิงเท่านั้น 

ทั้งที่ความจริงแล้ว พระราชบัญญัติลงโทษความรุนแรงในครอบครัวของเกาหลี มีความหมายครอบคลุมถึง การกระทำที่รุนแรงใด ๆ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ๆ หรือแม้กระทั่ง พี่น้อง ก็นับด้วยเช่นกัน โดยไม่มีการเกี่ยงเพศและสถานะ

ในแต่ละคดีของ The Judge from Hell ก็ทำหน้าที่ตีแผ่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ 3 คดีแรก จะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว เริ่มด้วยความรุนแรงระหว่างแฟนหนุ่มกระทำต่อแฟนสาว แล้วขยับมาที่ความรุนแรงของแม่เลี้ยงที่มีต่อเด็กและสามีใหม่ของเธอ ก่อนจะปิดฉากเซ็ตนี้ด้วยคดีนองเลือดของครอบครัวหนึ่ง เมื่อคุณพ่อได้พยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย “ฆ่ายกครัว” ของตัวเอง 

สำหรับช่วงครึ่งหลังของซีรีส์น่าจะมีอะไรให้ติดตามมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเริ่มขยับขยายไปสู่สเกลใหญ่ ทั้งความรุนแรงในโรงเรียน ความรุนแรงของนายจ้างที่กระทำต่อลูกจ้าง รวมทั้ง “คดีฆาตกรรมต่อเนื่อง” ที่ยังไม่ได้ปิด 

เตรียมพบกับปีศาจชั่วร้ายที่แท้จริง เร็ว ๆ นี้

 

เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์
ภาพ: IMDb

อ้างอิง:
Lee Jaeeun. 9 in 10 Koreans identify domestic abuse as perpetrated by men against women

 Lily Alice. Here's What Inspired the Script for Park Shin Hye's "The Judge from Hell"

Se-Woong Koo. Religions of Korea Yesterday and Today

Phillip Connor. 6 facts about South Korea’s growing Christian population

Vocab Insight: Gehenna / Valley of Wailing

The Dark Side of Mythology: A List of Demon Names from Various Cultures

7 เทพและปีศาจจากปกรณัมใน ‘The Judge from Hell’ เมื่อปีศาจนรกขึ้นมาพิพากษามนุษย์โลก