‘ซาลีนา โจนส์’ บนเวทีฟีนิกซ์ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทาง

‘ซาลีนา โจนส์’ บนเวทีฟีนิกซ์ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทาง

รีวิวคอนเสิร์ต ‘An Evening with Salena Jones Live in Bangkok 2024’ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทางของ ‘ซาลีนา โจนส์’

เมื่อทราบข่าวว่าศิลปินรุ่นตำนานวัย 86 ปี อย่าง ‘ซาลีนา โจนส์’ (Salena Jones) จะมาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตในไทย ในงาน ‘An Evening with Salena Jones Live in Bangkok 2024’ ณ โครงการ Phenix ประตูน้ำ ผมขอสารภาพว่า ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังอะไรและไม่คิดว่าเธอจะถ่ายทอดเสียงร้องได้ทรงพลังแค่ไหน เพราะวัยน่าจะเป็นอุปสรรคเสียแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็รู้สึกชื่นชมในความรักที่มีต่อวิชาชีพของเธอ ตามสถานะ Living Legend หรือ ‘ตำนานที่ยังมีลมหายใจ’

เหมือนอย่างที่เพื่อนร่วมชมคอนเสิร์ตคนหนึ่งเอ่ยปากว่า “แค่ใจสู้ กล้าขึ้นเครื่องบินจากอังกฤษมาไทย ก็นับถือหัวใจแล้ว!”

แต่ที่ไหนได้ ทุกอย่างในค่ำคืนวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลับพลิกความคาดหมายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคอนเสิร์ต และนั่นอาจจะทำให้ทัศนคติที่เรามีต่อผู้สูงวัยเปลี่ยนแปลงไป เพราะความบันเทิงเริงรมย์นั้นมอบให้แก่กันได้ ด้วยฝีมือ ประสบการณ์ และหัวใจ เรื่องของวัยเป็นเพียงหนึ่งในข้อจำกัดเท่านั้น

ซาลีนา แสดงให้เราเห็นว่า เธอคือเอ็นเตอร์เทนเนอร์ตัวจริง ผู้หยิบเอาสารัตถะอันลึกซึ้งของแจ๊ส มาเชื่อมโยงกับศิลปะคาบาเรต์และอิทธิพลเพลงป๊อปได้อย่างกลมกลืนแยบยล วัยกับสังขารเป็นเรื่องรอง เมื่อเธอมี ‘อินเนอร์’ มากเพียงพอที่จะส่งต่อพลังด้านบวกมาถึงเรา

‘ซาลีนา โจนส์’ บนเวทีฟีนิกซ์ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทาง

เริ่มจากการปรากฏตัวของเธอในชุด ‘แกลม’ ระยิบระยับแพรวพราว เธอพาเรือนร่างอันบอบบางออกจากมุมเวทีด้านขวา ด้วยท่วงท่าสง่าบนรองเท้าส้นสูง แม้จะไม่คล่องแคล่วว่องไวเหมือนที่แฟนเพลงหลาย ๆ คนจดจำ จากที่เคยมีโอกาสได้ชมการแสดงของเธอเมื่อ 30 ปีก่อน ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี แต่บารมีของเธอในครานี้ สามารถสะกดทุกคนให้ตราตรึงเมื่อแรกเห็น

เริ่มต้นด้วย ‘But Not For Me’ เพลงสแตนดาร์ดที่นำมาบรรเลงเปิดคอนเสิร์ต จัดวงในลักษณะควินเทท ประกอบด้วย ทรัมเป็ต – แซ็กโซโฟน – เปียโน – ดับเบิลเบส - กลอง นักดนตรีทั้ง 5 ชีวิต บรรเลงอุ่นเครื่องแบบสบาย ๆ ด้วยจังหวะสวิง - มิดเทมโป้ ก่อนจะผ่อนความดังของเสียงลง เพื่อกล่าวต้อนรับการปรากฏตัวของนักร้องระดับตำนาน

วงดนตรีเชื่อมตอนจบเข้าสู่เพลงต่อไป ‘Hello’ บทเพลงเก่าจากยุค 1980s ของ ‘ไลโอเนล ริชชี’ ซึ่งในเพลงนี้ ซาลีนา ร้องแบบบัลลาดในช่วงต้น ก่อนจะขยับเปลี่ยนฟีลเพลงให้กรู้ฟขึ้น 

โดยภาพรวม เสียงร้องของ ซาลีนา ไม่แตกต่างจากเดิมนัก เธอวนเวียนอยู่ในเรนจ์แคบ ๆ ตามแนวทางถนัด แนวทางการร้องค่อนมาทาง vibrato - less มากกว่าจะโชว์ลูกคอกึกก้อง เป็นการถ่ายทอดเสียงร้องแบบ economy ที่มีความหมดจดงดงามไปอีกแบบ ไม่เน้นการสำแดงพลังเสียง หรือโชว์เทคนิคหวือวาโดยไม่จำเป็น และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่มิตรรักแฟนเพลงไม่น้อยชื่นชมเธอในมิตินี้

ด้วยวัยที่ผ่านพ้นมาขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ในหลาย ๆ ช่วง พลังเสียงร้องอาจจะอ่อนกำลังลง บางครั้งเธออาจจะช้าลงจนเหมือน ‘ตะครุบตัวโน้ต’ หรือหลายหนเธอจำเนื้อเพลงไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้ทำให้สุนทรียภาพของการฟังลดลง เพราะเหนืออื่นใด คุณค่าสำคัญของการแสดงในครั้งนี้ คือ ‘ฟิลลิ่ง’ ที่เธอเติมลงในบทเพลง ซึ่งบ่งบอกถึง ‘ความเฉพาะตัว’ ทุกตัวโน้ตที่ถ่ายทอด บ่งบอกถึงเรื่องราวการเดินทางอันยาวนาน และนั่นคือโอกาสพิเศษสุดของทุกคนในฮอลล์แห่งนั้น

‘ซาลีนา โจนส์’ บนเวทีฟีนิกซ์ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทาง

บางที เธออาจจะเป็นนักร้องไม่กี่คนที่ผาดโผนอยู่ในยุทธจักรเพลงมานานถึงกว่า 7 ทศวรรษ นับตั้งแต่อัดเพลง ‘He Knows How to Huckleback’ ให้กับวงบิ๊กแบนด์สไตล์ริธึ่มแอนดูบลูส์ ของ ‘พอล วิลเลียมส์’ เมื่อปี ค.ศ. 1949 ตอนนั้น เธออายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น 

ซาลีนา ผ่านการแสดงในนาม ‘โจนส์ ชอว์’ มาหลายปี มีโอกาสประชันกับนักดนตรีแจ๊สชั้นนำมากมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ปัญหาการเหยียดสีผิวที่เธอประสบในสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของตัวเองมีผลต่อสภาพจิตใจอย่างมาก ทำให้ในที่สุด เธอตัดสินใจตีตั๋วเที่ยวเดียว ย้ายไปพำนักยุโรป แล้วเปลี่ยนชื่อในวงการเสียใหม่ เป็น ‘ซาลีนา โจนส์’ โดยนำชื่อของ ‘ซาราห์ วอห์น’ และ ‘ลีน่า ฮอร์น’ นักร้องที่เธอชื่นชอบ 2 คน มาผสมเป็นชื่อใหม่ 

จากเพลง ‘Hello’ ซาลีนา ต่อด้วย ‘Antonio’s Song’ เพลงเก่าจากยุคเซเวนตีส์ ของ ‘ไมเคิล แฟรงส์’ ตามด้วยการกล่าวแนะนำนักดนตรีทีละคน เริ่มจาก ‘ร็อบ บาร์รอน’ นักเปียโนแจ๊สแถวหน้าของวงการเพลงอังกฤษ , ‘ริชาร์ด อดัม เชพเพิร์ด’ มือเทเนอร์แซ็กโซโฟน ,​ ‘มาร์ติน ชอว์’ มือทรัมเป็ต , ‘โอลิวิเยร์ เฮย์เฮิร์สต์’ มือเบส และ ‘ปีเตอร์ คาเตอร์’ มือกลอง

เพลงถัดมายังอิงชีพจรบอสซาโนวา นั่นคือ ‘Dindi’ ของ ‘โจบิม’ ต่อด้วยเพลงสแตนดาร์ด ‘Day In Day Out’ ก่อนจะผ่อนความเร็วลงด้วยบัลลาด ‘Save Your Love For Me’ เพลงฮิตที่ ‘แนนซี วิลสัน’ เคยสร้างชื่อไว้ จากนั้นมาถึงเพลงที่ทุกคนร้องตามกันได้ทั้งฮอลล์ ‘Just The Way You Are’

ซาลีนา มีวิธีการเลือกเพลงที่จากหลาย ๆ ยุคให้เชื่อมร้อยกันได้อย่างไร้ตะเข็บ เหตุที่เป็นเช่นนั้น คือการใช้เวทย์มนตร์ในการเรียบเรียงเพลงเสียใหม่ เช่นจากเพลง ‘Just Friends’ จากยุค 1930s มาสู่เพลง ‘Feelings’ ที่ร็อบ มือเปียโนเปลี่ยนจากอะคูสติกเปียโนมาใช้คีย์บอร์ด เพื่อให้ได้ซาวด์ที่สอดคล้องกับยุคสมัยของเพลง โดย ‘มาร์ติน ชอว์’​ เลือกโซโล่เพลงนี้ ด้วยฟลูเกิลฮอร์น ให้ความนัวร์ในน้ำเสียง นักร้องอาวุโสยังมีเพลง ‘How Do You Keep The Music Playing’ เป็นไฮไลท์ปิดท้ายในช่วงครึ่งแรก

พักการแสดง 20 นาที ผู้คนคิดว่า ซาลีนา โจนส์ น่าจะเหลือเพลงอีกไม่มาก หลังจากการแสดงครึ่งแรกใช้เวลาไปกว่า 60 นาที แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ศิลปินวัย 86 ได้นำ playlist มาแสดงแบบจัดเต็ม ชนิดศิลปินวัยรุ่นยังอาย โดยครึ่งหลังเธอปรากฏตัวในอาภรณ์ชุดใหม่ พร้อมกับการยืนแสดงบนรองเท้าส้นสูงอีก 60 นาทีเต็ม รวมแล้วนานกว่า 120 นาที

“I am still freezing.” ซาลีนา โจนส์ ทักทายผู้ชมอย่างมีอารมณ์ขันเมื่อกลับมาบนเวทีอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านั้น เธอออกปากว่ารู้สึกหนาว มือเย็น และขอกลับไปจิบน้ำชาอุ่น ๆ ช่วงพัก 

เพลงที่คัดสรรมาในช่วงครึ่งหลัง มี ‘And I Love You So’ เพลงโฟล์คจากยุคเซเวนตีส์ ของ ‘ดอน แมคลีน’ ที่หลังจากต้นฉบับออริจินัลออกมาได้ไม่กี่ปี นักร้อง ‘เพอร์รี โคโม’   นำมาถ่ายทอดใหม่ในสไตล์โอลด์แฟชั่น แต่กลับสร้างความโด่งดังได้ยิ่งกว่า  

จากนั้น ซาลีนา เล่าว่าเธอเคยมีโอกาสไปแสดงที่บราซิล และได้บันทึกเสียงกับสมาชิกครอบครัวโจบิมที่นั่น (อัลบั้ม Salena Sings Jobim with the Jobims) ในคราวนี้ เธอร้อง ‘The Girl From Ipanema’ และ ‘Agua De Beber’ ผูกต่อเนื่องกันแบบเมดลีย์ ก่อนจะต่อด้วยเพลง ‘Every Breath You Take’ ของ ‘The Police’ ซึ่งเธอมีช่วงสูญญากาศไประยะหนึ่ง แต่ ‘ร็อบ บาร์รอน’ มิวสิคไดเรคเตอร์ และสมาชิกวงบรรเลงสนับสนุนนักร้องอาวุโสได้อย่างลื่นไหล เรียบเนียนราวไหม 

เพลงที่ลึกซึ้งกินใจมาก ๆ ในการแสดงครั้งนี้ของ ซาลีนา โจนส์ คือ ‘Everything Must Change’ บัลลาดที่ประพันธ์โดย ‘เบอร์นาร์ด ไอห์เนอร์’ ซึ่งมีนักร้องถ่ายทอดกันหลายเวอร์ชัน ต่อด้วยเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ส อย่าง ‘All or Nothing At All’ และ ‘Angle Eyes’ ที่นำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีชีพจรบอสซา

‘ซาลีนา โจนส์’ บนเวทีฟีนิกซ์ ทุกตัวโน้ตคือร่องรอยของการเดินทาง

มาสู่จังหวะเร่งเร้าอีกครั้ง เริ่มจากดับเบิลเบสวอล์คเบสอย่างด่วนจี๋ ตามด้วยกลอง และวง กับ ‘From This Moment On’ เพลงเก่าของ ‘โคล พอร์เตอร์’ โดยในช่วงกลางเพลง มือเทเนอร์แซ็กโซโฟนโซโล่ไวชนิดไฟแลบ ก่อนจะผ่อนลงกับเพลงช้า ‘Bridge Over Troubled Water’ ที่ซาลีนา สะกดคนฟังได้อยู่หมัด

ช่วงท้ายของคอนเสิร์ต มีเพลงสโลว์บลูส์ อย่าง ‘Since I Fell For You’ ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีแต่ละคนได้แสดงคีตปฏิภาณ โดย ซาลีนา ขอร้องให้มือเบสบรรเลงโซโล่ยาวอีกสักหน่อย ต่อด้วย ‘That’s All’ เพลงสแตนดาร์ด ทำนองอบอุ่นสวยงาม จากยุค 1950s ที่มีนักร้องแจ๊สนำมาตีความใหม่อยู่เสมอ เป็นช่วงที่ซาลีนามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง โดยเธอบอกกล่าวถึงความสุขใจที่ได้กลับมาเยือนไทยอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานหลายสิบปี พร้อมจบวลีในท้ายเพลงว่า “Thank you” แทนที่จะเป็น “That’s All”

ซาลีนา โจนส์ ปิดการแสดงของเธอด้วย ‘You’ve Got A Friend’ เพลงความหมายดี ๆ ของ ‘คาโรล คิง’ ซึ่งนำมารีฮาร์มอไนซ์และเรียบเรียงใหม่ได้อย่างไพเราะ นับเป็นการส่งพลังสุดท้ายให้แก่ผู้ชมทุกคนในฟีนิกซ์แกรนด์บอลรูม ซึ่งรู้สึกเต็มอิ่มไปกับอณูความสุขจากเสียงเพลง ที่ศิลปินอาวุโสท่านนี้มอบให้อย่างน่าประทับใจ

ด้วยวัยและสังขารของ ซาลีนา โจนส์ เราคงไม่อาจเรียกการแสดงของเธอครั้งนี้ว่า ‘ท้อปฟอร์ม’ แต่เธอสมควรได้รับเกียรติให้เป็น ‘ท้อปออฟมายด์’ ในใจของแฟนเพลง เพราะนี่คืออีกครั้งหนึ่งของคอนเสิร์ตที่ไม่ธรรมดา โดยศิลปินสูงวัยที่มีสายเลือดของความเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์