Poor Things : แฟรงเกนสไตน์ปลดแอก ฝันร้ายของชายเปราะบาง

Poor Things : แฟรงเกนสไตน์ปลดแอก ฝันร้ายของชายเปราะบาง

ถอดสัญญะแนวคิดเบื้องหลังภาพยนตร์รางวัลออสการ์​ ‘Poor Things’ ผลงานจากผู้กำกับไอเดียแหวก ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ (Yorgos Lanthimos) ที่ว่าด้วยการปลดแอกของแฟรงเกนสไตน์และความเป็นผู้หญิง

KEY

POINTS

  • Poor Things’ ผลงานการประพันธ์จาก ‘ลาสแดร์ เกรย์’ (Alasdair Gray) ในฐานะแฟรงเกนสไตน์แห่งสกอตแลนด์
  • ถอดสัญญะการกลับมาเกิดในฐานะแม่ตัวเองกับการสะท้อนให้เห็นถึงกรอบ ขนบ และความคาดหวังที่สังคมมีต่อผู้หญิง
  • หรือที่จริงแล้ว ‘เบลล่า’ คือฝันร้ายของเหล่าชายผู้เปราะบาง?

จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการทดลองลับ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ได้ทำการผ่าตัดเอาสมองของทารกมาใส่ในร่างของหญิงผู้เป็นแม่ที่เสียชีวิตแล้ว และทำให้เธอฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งเพื่อใช้ชีวิตบนโลกบิดเบี้ยวใบนี้

Poor Things’ (2023) เป็นเรื่องราวของ เบลล่า แบ็กซ์เตอร์ (เอมมา สโตน) หญิงสาวร่างกึ่งแฟรงเกนสไตน์ผู้โหยหาอิสระของโลกภายนอก จนนำไปสู่การท่องโลกกว้าง การค้นหาตัวตน ผ่านจุดเริ่มต้นที่มาจากการสำเร็จความใคร่ของตัวเอง เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2024 ถึง 11 สาขา และกวาดรางวัลมาได้ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ สาขานางแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม สาขาการออกแบบโปรดักชั่นยอดเยี่ยม และสาขาแต่งหน้า-ออกแบบทรงผมยอดเยี่ยม

ผลงานจากผู้กำกับ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ (Yorgos Lanthimos) เจ้าพ่อหนังสไตล์แหวกที่เปี่ยมไปด้วยความสุดโต่งและการเสียดสี ที่ได้ทำการดัดแปลงภาพยนตร์จากวรรณกรรมเรื่อง Poor Things ของนักเขียนและศิลปินชาวสกอตแลนด์อย่าง  ‘อลาสแดร์ เกรย์’ (Alasdair Gray) มาให้เราได้รับชม 

ด้วยมวลอนุความแปลกประหลาดของโลกในภาพยนตร์ Poor Things สไตล์สตีมพังค์ที่ชวนดึงดูด การดำเนินเรื่องของตัวละครหญิงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน โศกนาฏกรรมและการเสียดสีเรื่องเพศ สัญญะการมีอยู่ของเบลล่าที่กลับมาเกิดใหม่ในร่างของแม่ตัวเอง และเบื้องหลังเจ้าของวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ แต่สุดท้ายไม่ได้อยู่ชมภาพยนตร์ ในบทความนี้เราจะมาสำรวจมันด้วยกัน

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Poor Things /

 

แฟรงเกนสไตน์แห่งสกอตแลนด์

ก่อนที่ Poor Things จะมาเป็นภาพยนตร์บนจอรอให้ทุกคนยืนต่อแถวยื่นบัตรประชาชนนั้น ในปี 1992 นวนิยายเรื่องนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย อลาสแดร์ เกรย์ นักเขียนและศิลปินจากดินแดนแห่งกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ อลาสแดร์เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีอิทธิพลในโลกวรรณกรรมอย่างมาก ถือฉายาเป็นเจ้าพ่อแห่งเรเนซองส์แห่งโลกวรรณกรรมร่วมสมัยในประเทศสกอตแลนด์เลยทีเดียว

ซึ่งหนึ่งในผู้รับอิทธิพลจากอลาสแดร์ คือ ไอร์วีน เวลช์ (Irvine Welsh) ผู้เป็นนักเขียนเจ้าของเรื่องอย่าง Trainspotting ที่ถูกนำมาสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์ โดยผลงานส่วนใหญ่ของอลาสแดร์จะมีกลิ่นอายความสัจนิยมผสมความเป็นแฟนตาซีและไซไฟ ที่ถูกแต่งเติมไปด้วยงานภาพที่เขาวาดขึ้นเองเนื่องจากพื้นหลังที่เคยเป็นนักเรียนวิจิตรศิลป์

ในโลกของ Poor Things ตัวละครกึ่งผีดิบกึ่งมนุษย์ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากความตายในยุคของศตวรรษที่ 19 นั้น ได้รับอิทธิพลอย่างหนักหน่วงมาจากวรรณกรรมสมัยวิกตอเรีย อย่างเรื่อง แฟรงเกนสไตน์ จากนักเขียนหญิง แมรี่ เชลลี่ (Mary Shelley) ซึ่งเป็นช่วงยุคแห่งสังคมอุตสาหกรรมที่กำลังมุ่งหน้าสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์และการล่าอาณานิคม

นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญที่มีต่อเรื่องก็คืออุดมการณ์ทางการเมืองของอลาสแดร์ ผู้ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและสนับสนุนเอกราชของสกอตแลนด์ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของประเทศสกอตแลนด์ที่มีความพยายามที่จะแยกตัวออกมาจากราชอาณาจักรอังกฤษ (United Kingdom) เพื่อที่จะมีเสรีภาพเป็นของตัวเอง สิ่งนี้ชี้ชัดถึงความเป็นตัวละครของเบลล่าที่เกิดในประเทศอังกฤษ เนื่องจากในนัยหนึ่งเธอคือตัวแทนความเป็นประเทศสกอตแลนด์ที่อยู่ท่ามกลางประวัติศาสตร์แห่งความโกลาหล แต่ก็เปี่ยมไปด้วยศักยภาพที่จะมุ่งหน้าต่อไปสู่เสรีภาพในอนาคตด้วยแนวทางของตัวเอง 

 

‘‘

ผมมีเพื่อนชาวสกอตคนหนึ่งที่ชอบงานของผมมาก ๆ ผมลองศึกษาอ่านงานของเขาดู ตอนที่ได้อ่านเรื่อง Poor Things มันน่าดึงดูดและทำให้ผมอินมากเลย ผมเลยบินไปสกอตแลนด์เพื่อไปเจอเกรย์ เขาเป็นคนที่จริงใจและพลังล้นเหลือมากขนาดมีอายุ 80 ปีแล้ว เขาพาผมดูสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจในเรื่อง และตอนที่ผมกลับมาที่บ้าน เขาก็อวยพรให้ไฟเขียวในการทำหนังเรื่องนี้

’’

 

เป็นสิ่งที่ยอร์กอส ลานธิมอสกล่าวถึงอลาสแดร์ เกร์ยในบทสัมภาษณ์ แต่ด้วยระยะเวลาในการถ่ายทำที่กินเวลานาน รวมถึงอายุขัยที่มากของอลาสแดร์ สุดท้ายแล้วอลาสแดร์เสียชีวิตลงในปี 2019 ก่อนที่หนังจะได้ออกฉาย สิ่งที่ยอร์กอสตั้งใจทำเพื่อให้จิตวิญญาณของนักเขียนยังคงอยู่ ได้ถูกใส่ลงในตัวละครของก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (วิลเลม เดโฟ) นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้มีสำเนียงสกอตและผู้เปรียบเป็นดั่งพระเจ้าในเรื่อง

 

การกลับมาเกิดในร่างของแม่ตัวเอง

จุดเริ่มต้นของชีวิตของเบลล่า แบ็กซ์เตอร์ หญิงสาวแฟรงเกนสไตน์ที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพ โดยมีสมองเป็นทารกที่กลับมาเกิดใหม่อยู่ในร่างกายแม่ตัวเองที่ได้พยายามจบชีวิต ถึงแม้โทนเรื่องจะให้ความรู้สึกที่ตลกร้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นชะตากรรมการกลับมาที่โหดร้ายและน่าหดหู่ เรื่องราวของเธอถูกคลี่คลายจนทำให้เราได้รู้ว่าความจริงแล้วแม่ของเธอไม่ได้ต้องการที่จะมีเบลล่าตั้งแต่แรก และทำให้แม่ของเธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง

ส่วนตัวมองว่าเบลล่าคือตัวแทนแห่งการปลดแอกของผู้หญิงในแต่ละเจเนอเรชั่นที่ติดอยู่ในวงจรของการที่ต้องก้มหัวให้กรอบสังคมที่เต็มไปด้วยความคาดหวังต่าง ๆ ที่มีต่อผู้หญิง วิธีการปฏิบัติตัวที่ควรคำนึงถึงความเป็นกุลสตรี การปรนนิบัติสามีในฐานะของภรรยาที่ดี การต้องเดินตามกติกาล่องหนที่สร้างขึ้นโดยผู้ชายเพื่อให้พวกเธอมีความเชื่องและเป็นที่พึงพอใจ ค่านิยมและความคาดหวังเหล่านี้เป็นทุกอย่างที่ไม่ได้ถูกฝังในตัวของเบลล่า เธอเรียนรู้โลกผ่านกรอบความสงสัยที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่งด้วยความใสซื่อ หลักปรัชญาและความปราดเปรื่องจากเหล่าผู้หญิงผู้เจนโลกผู้ซึ่งเธอพบเจอระหว่างทาง นอกจากนี้แล้วเธอยึดถือความพึงพอใจของตัวเองเป็นอันดับหนึ่งเสมอ 

ถึงแม้ตัวบริบทในเรื่องจะเกิดขึ้นในช่วงยุคศตวรรษที่ 19 แต่ความคาดหวังเหล่านั้นยังคงอยู่เสมอแม้ในบริบทของโลกปัจจุบันนี้ และเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่เราจะยังคงสามารถเข้าอกเข้าใจตัวละครได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วในร่างของความเป็นแม่นั้น ยังสามารถมองได้เป็นในแง่ความเป็นประเทศหรือแผ่นดินแม่ได้ด้วยเช่นกัน หากอ้างอิงจากอุดมการณ์ของนักเขียนอลาสแดร์ เกรย์ ผู้ยึดในความเป็นชาตินิยมของประเทศสกอตแลนด์

 

เบลล่า ฝันร้ายของเหล่าชายผู้เปราะบาง 

สิ่งมีชีวิตกึ่งแฟรงเกนสไตน์อย่างเป็ดหัวสุนัขหรือไก่หัวหมู ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ นักวิทยาศาสตร์นอกรีตพยายามจะศึกษาดัดแปลงเพื่อต่อยอดความรู้ของตัวเอง เมื่อวันที่เขาได้เจอร่างไร้ชีวิตของหญิงสาวที่ตั้งท้อง เขาจึงเห็นโอกาสที่ตัวเองจะได้สร้างสิ่งมีชีวิตชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็อดวินกำลังจะเป็น ก็อด สมชื่อดั่งที่เขาต้องการ เพราะ เบลล่า แบ็กซ์เตอร์ ได้ถือกำเนิดขึ้น ก็อดวินเฝ้าดูเบลล่าเติบโตจากสิ่งมีชีวิตที่เขาตั้งใจให้เป็นการทดลองสู่ความผูกพันที่เปรียบเสมือนว่าเธอเป็นลูกสาวของเขาจริง ๆ 

เบลล่ามีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดและมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก ก็อดวินมีความต้องการให้เบลล่าหมั้นกับ แม็กซ์ แม็คแคนเดิลส์ (รามี่ ยุสเซฟ) นักเรียนของเขาเพื่อให้เธอได้อยู่บ้านตลอดไป เราเห็นได้ถึงความเปราะบางของก็อดวินที่ถึงแม้จะผูกพันกับเบลล่ามาก แต่เขาถือคติว่านักวิทยาศาสตร์ต้องห้ามไม่ให้ความรู้สึกควบคุมการตัดสินใจ ต้องยึดหลักเหตุผล ตามคำสั่งสอนที่พ่อของเขาฝากฝังเอาไว้ เมื่อเบลล่าร้องขอที่จะออกไปสำรวจโลก เขาจึงทำได้เพียงแต่ปล่อยให้เธอไป แต่ถึงจะปฏิเสธว่าเขาไม่ได้รู้สึกอะไร ไวน์ที่ดื่มจนเมาแอ๋ก็ไม่สามารถกลบความรู้สึกห่วงใยที่เขามีต่อเธอได้ 

เมื่อทนายหัวหมออย่าง ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น (มาร์ก รัฟฟาโล) พาเธอหนีออกไปโดยหวังผลเพียงร่างกายของเธอ สิ่งที่ตามมากลับไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคาดคิด เบลล่าที่กำลังมีการตื่นรู้ทางเพศกำลังสำรวจตัวเอง ทำให้การกระโดดอย่างดุเดือดหรือเซ็กซ์ของเธอเป็นหนทางแห่งความสุข พวกเขามีเซ็กซ์กันอย่างหนักหน่วงในขณะเดียวกัน เบลล่าก็ทำการสำรวจสิ่งนี้กับผู้ชายคนอื่นเช่นกัน สิ่งที่เบลล่าทำเป็นนิสัยเขาที่กระทำต่อหญิงอื่นมาเสมอ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ดันแคนเกิดความหึงหวงจนเสียสติ จากความต้องการที่ฟันแล้วทิ้งก่อตัวกลายเป็นความหมกมุ่นในตัวเธอ และเมื่อเบลล่าได้ทำความรู้จักกับปรัชญา ความสนใจในตัวดันแคนก็ลดน้อยลงทุกที เพราะตอนนี้เขากลายเป็นเด็กน้อยที่ฉุนเฉียวที่ไม่สามารถจัดการความเปราะบางของตัวเองได้ 

นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่เบลล่าสำรวจชีวิตผ่านความสงสัย จึงนำมาซึ่งคำตอบของเบื้องหลังโศกนาฏกรรมชีวิตของแม่เธอ ซึ่งก็คือ อัลฟี่ เบล็สซิงตัน (คริสโตเฟอร์ แอ็บบอตต์) ผู้เป็นพ่อ หลังจากที่เขาได้ตามตัวและเข้ามาพังงานแต่งของเบลล่า อัลฟี่ต้องการให้เธอกลับไปอยู่กับเขาที่คฤหาสน์หลังโต เธอค้นพบว่าเขาเป็นคนหัวรุนแรง ต้องพกปืนขู่ทุกคนในบ้าน และมีความต้องการที่จะกำจัดเอาคลิตอริสของเธอเพื่อควบคุมไม่ให้หนีออกไปอีก แต่สุดท้ายเหมือนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยกับชะตากรรมของทุกคนที่พยายามจะควบคุมเบลล่า เธอยิงเขาที่เท้าและสานต่อตำนานของก็อดวิน โดยการพาอัลฟี่เข้าห้องผ่าตัดสลับสมองของเขากับแพะตัวหนึ่งเสีย ความเจ็บปวดของอัลฟี่ที่โดนยิงคงไม่เจ็บปวดเท่าอีโก้ที่สั่นร้าวเพราะเขาไม่สามารถควบคุมเธอได้อีกต่อไป ซึ่งอีกนัยหนึ่งของจุดจบนี้สามารถมองได้ว่าเบลล่าได้จบวงจรความเจ็บปวดของแม่ของเธอได้ด้วยเช่นกัน

แท้จริงแล้วเบลล่าไม่ได้เป็นตัวปัญหาในชีวิตของผู้ชายเหล่านี้เลย เพียงแต่เป็นพวกเขาเองที่โดนสะท้อนความเปราะบางในความเป็นชายและหาวิธีการรับมือกับมันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธความรู้สึกตัวเองของก็อดวินเพียงเพราะว่ามันไม่มีเหตุผลพอ ผลจากการเป็นเสือสาวของดันแคนที่ถูกกระทำกลับแล้วรับไม่ได้ซะเอง หรือความพยายามในการครอบงำของอัลฟี่ที่ทำให้เขากลายเป็นแพะ

สุดท้ายแล้วค่านิยมหรือระบบที่พวกเขาถูกฝังนั้นกำลังทำลายตัวตนของพวกเขาเอง 

 

Poor Things พูดถึงการเดินทางเติบใหญ่ของหญิงสาวร่างแฟรงเกนสไตน์ที่ได้เรียนรู้โลกและเรียนรู้ตัวตนของตัวเองผ่านเซ็กซ์และปรัชญา โลกของเธอที่เต็มไปด้วยขนมหวานและความรุนแรง ล้วนแต่นำพาความต้องการของตัวเองให้ได้สัมผัสกับทุกประสบการณ์ไม่ว่าจะดีหรือแย่ เธอคือตัวแทนแห่งอำนาจและความอิสระของผู้หญิงที่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการอย่างสมบูรณ์ 

ดูเหมือนในคราบความเป็นผีดิบของเธอจะดูมีความเป็นมนุษย์มากกว่าผู้คนในสังคมรอบข้างของเธอเสียอีก

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง

Poor Things: meet the radical Scottish visionary behind the new hit film | The Conversation

“The power of freedom is scary to people at times”: Yorgos Lanthimos on Poor Things | BFI

Poor Things and the Profoundly Feminist Origins of Frankenstein | Time

‘Poor Things’ Ending Explained: How Does Bella Baxter’s Bonkers Journey End? | Collider