22 พ.ค. 2568 | 12:00 น.
“หากผมต้องเล่นเป็นผู้รักษาประตูก็ย่อมได้
หากผู้จัดการสั่ง”
คือคำกล่าวของเจ้าหนุ่มแข้งทองจากแดน ไอวอรี่ โคสต์ นามว่า ‘อาหมัด ดิยัลโล่’ (Amad Diallo) ที่เด็กผีแดงเห็นน้องลงสนามต้องตะโกนออกมาเป็นเสียงของ บ. บู๋ว่า ‘สะเด่าไปเลยอีน้อง’
เรื่องราวของ อาหมัด ดิยัลโล่ คือบทพิสูจน์ว่าความฝันและความมุ่งมั่นสามารถพาใครสักคนก้าวผ่านข้อจำกัดและอุปสรรคในชีวิตได้อย่างน่าทึ่ง เขาไม่ได้เป็นแค่นักเตะดาวรุ่งธรรมดา แต่คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้และความหวังของเด็กชายจากอาบีจาน ที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในยุโรปด้วยวัยเพียงไม่กี่ขวบ
ความน่าทึ่งของ อาหมัด เริ่มต้นตั้งแต่การก้าวลงสนามในเกมระดับอาชีพครั้งแรก ด้วยวัยเพียง 16 ปี กับอีกไม่กี่เดือน เขากลายเป็นหนึ่งในนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ได้เล่นในลีกใหญ่ ซึ่งขณะที่คนอื่นยังมุ่งเรียนหนังสือ เขาต้องแบกรับความกดดันมหาศาล ทั้งจากการแข่งขัน และความคาดหวังที่ถูกวางไว้บนบ่าเล็ก ๆ ของเขา
จนถึงตอนนี้ก็เปรียบเป็นดั่ง ‘อาวุธลับ’ ของถิ่นปีศาจแดงไปเรียบร้อย ที่เพียงแค่เห็นว่ามีรายชื่อลงตัวจริง หรือแม้กระทั่งตอนวอร์มข้างสนามขณะเป็นตัวสำรอง ก็จะกลายเป็นเหมือน ‘ประกายความหวัง’ เพราะความกล้าหาญ ความทุ่มเทผสมเข้ากับทักษะที่แพรวพราว เสิร์ฟพร้อมกันกับความไม่เห็นแก่ตัว ทำให้เขาเป็นที่รักของแฟนบอลปีศาจแดงไปแล้วโดยปริยาย
ด้วยฟอร์มการเล่นอันร้อนแรง เขาจึงเป็นที่ต้องการตัว เมื่อถึงวัยที่เขามีฝีเท้าที่ดีพอและอายุที่ผ่านเกณฑ์จะลงไปรับใช้ ‘ชาติ’ ด้วยการที่เป็นผู้อพยพทำให้เขามีตัวเลือก
เด็กน้อยเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนในเมือง โกตดิวัวร์ ที่เป็นชื่อฝรั่งเศส ส่วนชื่อภาษาอังกฤษที่เรามักได้ยินกันคุ้นหูในนาม ไอวอรี่โคสต์ (Ivory Coast) แต่ด้วยภาวะของ ‘สงคราม’ และ ‘ความขัดแย้ง’ ในช่วงเวลานั้นทำให้อาหมัดต้องถูกส่งไปลี้ภัยที่ประเทศอิตาลีตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบกับ ‘ครอบครัวปลอม’ ของเขา
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการตรวจสอบ ถกเถียงในระดับโลกจนถึงทุกวันนี้นั่นก็คือเรื่องของการขายฝัน ค้ามนุษย์ การอพยพของผุ้คนต่างด้าวจากสภาวะ สงคราม เพราะหวังว่าจะมีอาชีพที่มั่นคงและเม็ดเงินที่เอาไว้เลี้ยงดูครอบครัวจาก ‘การเป็นนักบอลมืออาชีพ’
‘อาหมัด ดิยัลโล่ ตราโอเร่’ (Amad Diallo Traoré) คือชื่อเต็มแต่เดิมของชายคนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2002 ในอาบีจาน เมืองหลวงของไอวอรี่โคสต์
ในวัยเพียงสิบกว่าขวบ เด็กชายร่างเล็ก ผู้ฉลาดและขี้อาย ต้องเดินทางข้ามทวีปมาสู่เมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี ด้วยเอกสารที่ต่อมาถูกพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ ชื่อของเขาในตอนนั้นคือ อาหมัด ดิยัลโล ตราโอเร่ แต่เมื่อโตขึ้น เขาลบ ‘ตราโอเร่’ ทิ้ง ไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง หากเพราะต้องการตัดขาดจากอดีตที่เต็มไปด้วยคำครหาและความคลุมเครือ
แม้จะอยู่ในเงื่อนไขของชีวิตที่ไม่มั่นคง กับห้องนอนเล็กๆ ในบ้านเช่าร่วมกับเด็กอีกรายหนึ่งที่ถูกพามาพร้อมกัน และต้องเรียนหนังสือควบคู่ไปกับการเล่นฟุตบอล แต่ความสามารถของเขากลับฉายแววชัดเจน เขามีไหวพริบ ความเร็ว และทักษะที่เกินเด็กวัยเดียวกัน ไม่ใช่แค่เล่นบอล แต่ ‘คิด’ ได้เหมือนนักเตะที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเขาถูกดึงเข้าสู่ระบบเยาวชนของ ‘อตาลันต้า’ สโมสรที่ขึ้นชื่อเรื่องการปั้นดาวรุ่งแห่งอิตาลี ที่นั่น เขาพัฒนาฝีเท้าอย่างก้าวกระโดด และในที่สุดก็ได้โอกาสลงสนามชุดใหญ่ในเซเรียอา ในวัยเพียง 17 ปี ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ย้ายไปร่วมทัพ ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ด้วยค่าตัวที่สูงถึง 40 ล้านยูโร
แต่ในอีกแง่มุมที่ตัวอาหมัดเองก็ไม่ได้พูดถึง ไม่ว่าจะจากสื่อกีฬาเองหรืออย่างอื่นก็ตามแต่ หากย้อนกลับไปในอดีต ชีวิตของเด็กชายหนึ่งคนต้องผ่านเรื่องเลวร้ายมาตั้งแต่เด็ก แค่เพิ่งเริ่ม ‘ลืมตา’ ก็ดันอยู่ในเมืองที่มี ‘ดงกระสุน’ เสียแล้ว สงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลาหลายปี เคราะห์ร้ายเข้าไปอีกเพราะฐานะครอบครัวที่ยากจน เพราะฉะนั้นแล้วการที่เด็กสองคนคือ อาหมัด และ ฮาเหม็ด ผู้ซึ่งเป็นพี่ชาย จะเติบโตมาให้ได้คุณภาพเป็นเรื่องที่ดูจะ ‘เป็นไปไม่ได้’ เลยที่ดินแดนงาช้างแห่งนี้
โภชนาการที่ไม่ถูกต้อง สุขอนามัยที่ไม่ทั่วถึงจึงทำให้ทรัพยากรอย่างน้ำสะอาดและอาหารเปรียบเสมือนของ ‘ศักดิ์สิทธิ์’
ช่วงเวลานั้นประเทศกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ความรุนแรงและความไม่มั่นคงทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ตัวเขาถูกส่งออกจากบ้านเกิดมาตั้งแต่ยังเด็ก พร้อมกับ ‘ผู้ปกครองปลอม’
‘ฮาเหม็ด มามาดู ตราโอเร’ หรือก็คือผู้ดูแลของอาหมัด เกิดที่นี่ในปี 1975 ขณะที่ฮาเหม็ด (พี่ชาย) เกิดในปี 2000 และอาหมัด ดิยัลโลเกิดตามมาในอีกสองปีให้หลัง ครอบครัวในย่านนี้มักมีขนาดใหญ่ และมีวัฒนธรรมการเรียกความสัมพันธ์หลวม ๆ ให้ฟังดูแน่นแฟ้น เช่น การเรียกใครสักคนว่า ‘ลุง’ หรือ ‘ญาติ’ แม้จะไม่มีสายเลือดโดยตรง
เมื่ออายุประมาณ 8 ปี อาหมัด ถูกพามาสู่เมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี โดยอาศัยเอกสารที่ถูกจัดเตรียมในรูปแบบของการรับบุตรบุญธรรม โดยมีชายที่อ้างตัวว่าเป็น ‘ลุง’ เป็นผู้รับหน้าที่ดูแล ซึ่งต่อมาถูกเปิดโปงว่าใช้เอกสารปลอมเพื่ออ้างความเป็นญาติ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่เด็กแอฟริกันหลายคนถูกล่อลวงด้วยความหวังว่าจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพในยุโรป
แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่สงบและเป็นระบบมากกว่า แต่ราคาที่ต้องจ่ายก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก เขาต้องเติบโตโดยไร้ครอบครัวที่แท้จริง พึ่งพาผู้ดูแลที่แทบไม่รู้จัก ต้องพิสูจน์ตัวเองในสังคมใหม่ ต้องฝึกฝนหนักโดยมีอนาคตเป็นเดิมพัน ข้อจำกัดเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กคนหนึ่งที่เพื่อนในวัยเดียวกันยังคงวิ่งเล่นสนุกสนานกันอย่างไร้กังวล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขามีคือวินัย ความมุ่งมั่น และพรสวรรค์ที่ไม่เคยหลับใหล ครอบครัวใหม่ที่เคร่งครัดเรื่องการเรียนและการฝึกฟุตบอลหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคง ทั้งเขาและพี่ชายต่างมีสายใยผูกพันกับลูกบอลตั้งแต่เล็ก ใช้สนามฟุตบอลเป็นทางหนีจากความจริงอันโหดร้าย และในที่สุดมันก็พาเขาก้าวไปถึงเวทีที่ใหญ่กว่าฟุตบอลยุโรป
บางคนมองว่าอาหมัดคือดาวรุ่งแห่งอนาคต แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาคือเด็กชายจากแดนสงครามที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางด้วยอดีตที่ไม่มีใครอยากจดจำ
“เขาไม่ใช่แค่เก่ง แต่เขาฉลาด และใจกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ ในสนาม เขาเลือกส่งบอลให้เพื่อนมากกว่ายิงเอง ทั้งที่ตัวเองก็มีจังหวะจบสกอร์ได้ทุกครั้ง”
โค้ชในทีมเยาวชนของอตาลันตาเคยกล่าวไว้
ด้วยทักษะ เทคนิค และวิสัยทัศน์ในสนามที่โดดเด่น อาหมัด ได้รับโอกาสลงสนามให้ทีมชุดใหญ่ของทีมฟุตบอลอตาลันตาในวัยเพียง 17 ปี ไม่ใช่แค่ลงเล่น แต่เขายังยิงประตูในเกมเดบิวต์ได้ทันที กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ทำประตูในเซเรียอาได้สำเร็จ ภาพของเด็กหนุ่มผิวเข้ม วิ่งเฮด้วยรอยยิ้มกว้างในชุดดำน้ำเงินของอตาลันตา คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟนบอลเริ่มจดจำชื่อเขา
ฃไม่นานหลังจากนั้น ชื่อของเขาก็ถูกขานในตลาดซื้อขายระดับโลก เมื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตัดสินใจคว้าตัว อาหมัด ด้วยค่าตัวมหาศาลกว่า 40 ล้านยูโร กลายเป็นนักเตะชาวแอฟริกันที่ค่าตัวแพงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แม้จะยังไม่ได้ลงสนามมากนักในช่วงแรกกับยูไนเต็ด แต่ทุกครั้งที่ได้โอกาส เขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ แต่รวมถึงทัศนคติและวินัยที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างหนัก
เป็นเวลาเพียงไม่นานแต่ อาหมัด ก้ได้จารึกชื่อตัวเองลงไปในแฟนบอลปีศาจแดงและอีกหลายๆคนแล้วอย่างแน่นอน เพราะช่วงเวลาสุดพิเศษที่ทุกครั้งที่เขาลงสนามมา มักจะสร้างความ ‘แตกต่าง’ ได้เสมอ
ในค่ำคืนที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเต็มไปด้วยความกดดันและเสียงเชียร์ที่ดังสนั่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเปิดบ้านรับมือคู่อริตลอดกาล ลิเวอร์พูล ในศึก FA Cup รอบก่อนรองชนะเลิศ ฤดูกาล 2023/24 เกมที่พลิกไปพลิกมาตลอดจนถึงกับต้องดำเนินยันถึงช่วงทดเวลาพิเศษ 120 นาที
โอลด์แทรฟฟอร์ดถูกสะกดไว้ด้วยชื่อของเด็กหนุ่มผู้เคยถูกสงสัยว่า ‘ดีพอหรือยัง?’ อย่าง อาหมัด ดิยัลโล่
เกมดำเนินไปถึงช่วงทดเวลาบาดเจ็บของการต่อเวลาพิเศษ สกอร์เสมอกัน 3-3 และทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงที่การดวลจุดโทษ ทว่าในวินาทีสุดท้าย อาหมัด วิ่งตัดบอลได้กลางสนาม ก่อนใช้ความเร็วและความเยือกเย็นลากขึ้นมาลุยเดี่ยวแล้วยิงเสียบเสาไกล ส่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดทะยานสู่รอบรองฯ ได้แบบไม่ต้องลุ้นอะไรอีก
ทั้งสนามระเบิดเสียงเฮ ขณะที่เขาถอดเสื้อฉลองสุดอารมณ์ ทำให้ได้รับใบเหลืองที่สองและถูกไล่ออกจากสนามทันที เป็นโมเมนต์ที่ ‘ทั้งบ้าคลั่ง สวยงาม และลืมไม่ลง’ กลายเป็นฉากจำประจำฤดูกาลที่ทั้งแฟนผีและคอลูกหนังพูดถึงกันทั่วโลก
“มันเป็นประตูที่ดีที่สุดในชีวิตผม”
อาหมัด กล่าวหลังจบเกม
ไม่เพียงเท่านั้น วันนั้นยังตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่ง Amad กำลังถือศีลอดตลอดทั้งวัน ก่อนลงเล่นเกมที่หนักหนาสาหัสกว่า 2 ชั่วโมงเต็ม เขากล่าวเสริมอย่างถ่อมตัวว่า
“มันไม่ง่ายเลยเมื่อคุณถือศีลอด… แต่คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ผมถือศีลอดเพื่อพระเจ้า และผมสู้เพื่อทีมเมื่อผมอยู่ในสนาม ขอบคุณพระเจ้าสำหรับช่วงเวลานี้”
ด้วยบุคลิกที่มุ่งมั่น อ่อนน้อม และเปี่ยมน้ำใจ อาหมัด ดิยัลโล ไม่เคยเป็นนักเตะที่เล่นเพื่อตัวเอง เขาเลือกจ่ายบอลมากกว่ายิงเอง วิ่งไล่บอลแม้หมดแรง และมักเป็นคนแรกที่ยื่นมือช่วยเพื่อนร่วมทีม พลังด้านบวกแบบนั้นสะท้อนอยู่ในสายตาของผู้ชมทุกครั้งที่เขาก้าวเท้าลงสนาม
แต่เบื้องหลังภาพของนักเตะหนุ่มที่โลกกำลังจับตามอง คือเรื่องราวชีวิตที่ซับซ้อน ย้อนกลับไปในปี 2020 หน่วยงานในอิตาลีพบว่า เอกสารการอพยพและการรับบุตรบุญธรรมที่ใช้พาเขาเข้าประเทศนั้นเป็นของปลอม
ชายที่ชื่อ ฮาเหม็ด มามาดู ตราโอเร ถูกตั้งข้อหาใช้เอกสารเท็จในการนำพาเด็กจากโกตดิวัวร์เข้ายุโรป หนึ่งในกลไกที่มักถูกใช้เพื่อหวังจะมอบชีวิตใหม่ผ่านเส้นทางฟุตบอล แต่หากมองลึกลงไป เขาคือคนที่มองเห็นแววอาหมัดตั้งแต่ยังเล็ก และทำหน้าที่เหมือน ‘ครูคนแรก’ ในชีวิต
ตราโอเรรับเด็กชายคนนี้เข้าสู่สโมสรเล็ก ๆ ที่เขาก่อตั้งเองชื่อ Leader Foot ตั้งแต่อายุแค่ 8 หรือ 9 ขวบ โดยเชื่อว่า เด็กคนนี้ทั้งฉลาดและมีพรสวรรค์เกินวัย จากนั้นเขาก็พยายามทุกทางที่จะพาอาหมัดออกจากย่านแออัดในอาบีจาน แม้ต้องใช้วิธีที่ผิดกฎหมายก็ตาม
เพราะในโลกของฟุตบอลแอฟริกัน เด็กมากพรสวรรค์คือ ‘โอกาสเดียวของครอบครัว’ ที่จะหลุดพ้นจากความยากจน
อาหมัดเองยอมรับในภายหลังว่า เขาไม่ใช่ลูกบุญธรรมตามกฎหมายของตราโอเร และไม่ได้มีสายเลือดเกี่ยวข้องกัน แต่ความผูกพันทางใจ และโอกาสที่ชายผู้นั้นมอบให้ กลายเป็นต้นทางของการเดินทางที่ไม่มีใครล่วงรู้อนาคต
แม้วันนี้ อาหมัด ดิยัลโล จะกลายเป็นนักเตะในเวทีระดับโลก แต่เขาไม่เคยลืมจุดเริ่มต้นของตัวเองที่ Leader Foot สโมสรเล็ก ๆ ในย่านอาดฌาเม ประเทศโกตดิวัวร์ ที่ให้โอกาสเขาได้เตะบอลครั้งแรก ด้วยความกตัญญูและผูกพัน เขายังคงส่งอุปกรณ์ เสื้อผ้า และเงินช่วยเหลือกลับไปอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่เคยเอ่ยถึงต่อสื่อ เพราะอาหมัดไม่ใช่คนที่ชอบโอ้อวด ทว่าสำหรับเด็ก ๆ ที่นั่น เขาคือแรงบันดาลใจมีชีวิต คือบทพิสูจน์ว่าจากสนามดินก็ไปถึงเวทีระดับโลกได้ หากไม่ลืมว่าฝันนั้นเริ่มจากตรงไหน
มิหนำซ้ำ เพราะการที่เขาเติบโตในอิตาลี ทำให้เคยมีข่าวลือว่าอาจรับใช้ทีมชาติอิตาลีในอนาคตและทางทีมชาติเยาวชนของอิตาลีเองก็สนใจต้องการร่วมงานด้วย แต่เมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจ อาหมัดกลับเลือกประเทศบ้านเกิดของเขาอย่างไม่มีข้อแม้ ในปี 2021 เขาลงเล่นให้ ทีมชาติไอวอรีโคสต์ชุดใหญ่ เป็นครั้งแรกในวัยเพียง 18 ปี และในเกมถัดมากับบูร์กินาฟาโซ เขายิงฟรีคิกสุดสวยในนาทีที่ 97 ช่วยให้ทีมเฉือนชนะ 2-1
“ผมมีความสุขมาก มันไม่ใช่แค่ประตู
แต่คือการได้มอบบางอย่างกลับไปให้ประเทศของผม”
อาหมัดอาจยังไม่ได้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในวันนี้ แต่ทุกก้าวที่เขาวิ่ง ทุกบอลที่เขาจ่าย ทุกแววตาที่เขามองเพื่อนร่วมทีมคือบทพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่แค่เด็กหนุ่มที่ ‘รอดพ้น’ จากความไม่แน่นอนในชีวิต เขาคือคนที่เลือกจะ ‘กลับไปให้’ มากกว่าจะวิ่งหนีและเขาคือเสียงตอบกลับจากความเงียบงันของเด็กชายคนหนึ่ง ที่เดินข้ามมหาสมุทรเพื่อบอกโลกว่า
“ผมอยู่ตรงนี้แล้ว และผมจะไม่ลืมว่าผมมาจากที่ไหน”
อาหมัด ดิยัลโล่