‘ธวัชชัย สัจจกุล’ นักธุรกิจบ้าบอล สู่ผจก.ทีมชาติไทย ปั้นสิงห์ดรีมทีม เรียกศรัทธาแฟนบอล

‘ธวัชชัย สัจจกุล’ นักธุรกิจบ้าบอล สู่ผจก.ทีมชาติไทย ปั้นสิงห์ดรีมทีม เรียกศรัทธาแฟนบอล

ในยุคที่ฟุตบอลไทยซบเซา ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล นักธุรกิจบ้าบอล ที่เป็นผู้จัดการทีมชาติไทยคืออีกหนึ่งบุคคลที่เข้ามาฟื้นกระแส ปลุกศรัทธาคอลูกหนัง จากผลงานในสนาม รวมถึงการปั้นสิงห์ดรีมทีม

  • ด้วยความรักในกีฬาฟุตบอล ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล นักธุรกิจที่มีอันจะกินจึงก้าวเข้ามาทำงานกับทีมชาติไทย
  • ธวัชชัย สัจจกุล มีส่วนทำให้กระแสความนิยมทีมฟุตบอลทีมชาติไทยฟื้นกลับมา จากผลงานในสนาม และผลงานที่แฟนบอลจำได้คือการปั้นสิงห์ดรีมทีม
  • หลังจากบทบาทกับฟุตบอล บิ๊กหอย มาทำงานการเมืองระยะหนึ่ง ก่อนลดบทบาทลงด้วยอายุที่มากขึ้น 

วงการฟุตบอลไทยนั้นผ่านเรื่องราวมามากมายมีทั้งความสุขสมหวัง ผิดหวัง ผ่านช่วงเวลาแห่งความศรัทธาจนผู้ชมล้นสนามหรือแม้แต่การสิ้นศรัทธาจนฟุตบอลไทยแทบไม่มีใครสนใจ

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีผู้คนมากมายที่เข้ามาข้องเกี่ยวในวงการฟุตบอลไทย บางคนก็จากไปอย่างเงียบ ๆ ทิ้งไว้เพียงความทรงจำ แต่บางคนแม้จะออกจากวงการไปนานแล้วแต่ก็ยังมีผู้คนกล่าวถึงเรื่องราวและผลงานของเจ้าตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล บุคคลซึ่งมีความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าฟุตบอลไทยสามารถที่จะไปสู่ระดับโลกได้

แม้สุดท้ายแล้วทีมชาติไทยจะยังไม่สามารถไประดับโลกได้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ ธวัชชัย สัจจกุล ได้ทำในวันนั้นก็เป็นรากฐานและทำให้ฟุตบอลไทยยังได้รับความสนใจจากสังคมมาถึงทุกวันนี้ บทความนี้จะพาทุกท่านไปรับรู้เรื่องราวของชายผู้หายใจเข้า - ออกเป็นฟุตบอลไทยกันครับ

ธวัชชัย สัจจกุล คนบ้าบอลที่พร้อมทุ่มเททุกสิ่ง

ธวัชชัย สัจจกุล เด็กหนุ่มจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เติบโตมากับความรักกีฬาฟุตบอลตั้งแต่วัยเด็ก โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนที่ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องวิชาการและความสำเร็จในวงการลูกหนังขาสั้นของประเทศไทย

เจ้าตัวมีโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ทั้งสองด้าน ก่อนที่ในระดับปริญญาตรี ธวัชชัย สัจจกุล จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษายังประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาวิศวกรรมโยธา ณ สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ที่ซึ่งเจ้าตัวได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีโอกาสลงเล่นให้กับสโมสรในประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นในระดับปริญญาโท ธวัชชัย สัจจกุล สามารถจบการศึกษาจากคณะการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงปี 1970-1990 ธวัชชัย สัจจกุล เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมากมาย โดยเจ้าตัวเป็นเจ้าของ บริษัท โรสเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัดและ บริษัท ฮาร์ทเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่จัดจำหน่ายเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติ รวมทั้งเป็นเจ้าของ บริษัท ถังแก๊สและอุตสาหกรรม จำกัด เป็นต้น

ในยุคสมัยนั้น ธวัชชัย สัจจกุล ถือได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง และแน่นอน เมื่อเจ้าตัวมีฐานะที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว จึงเดินทางเข้าสู่วงการที่ตัวเองหลงรัก นั่นก็คือการเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในช่วงเวลาที่ทีมชาติไทยห่างหายจากความสำเร็จมาอย่างยาวนานและกำลังอยู่ในช่วงสูญเสียศรัทธาจากแฟนฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก

‘บิ๊กหอย’ หรือ ธวัชชัย สัจจกุล เริ่มงานแรกด้วยการคุมทีมชาติไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี หรือรายการเอเอฟซี ยู-19 แชมเปียนชิพ (AFC U-19 Championship) ปี 1992 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทีมชาติไทยก็ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่โดยเฉพาะในนัดเปิดสนามที่โดนทีมชาติเกาหลีใต้ถล่มไปแบบหาทางกลับบ้านไม่ถูก 1-8 สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก จากนั้นก็ตามต่อมาด้วยความพ่ายแพ้ต่อซาอุดิอาระเบีย 0-2 และกาตาร์ 2-3 จะมีก็เพียงเอาชนะนิวซีแลนด์ได้ 2-0 เท่านั้นที่ไม่ทำให้ทีมชาติไทยต้องขายหน้าไปมากกว่านี้

เพียงแค่งานแรก ธวัชชัย สัจจกุล ก็ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติไทย หลายคนเรียกร้องให้เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบต่อผลงานดังกล่าว แต่ด้วยความที่ ธวัชชัย สัจจกุล เป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่รักและศรัทธาให้ประสบความสำเร็จ เจ้าตัวจึงไม่ถอดใจไปโดยง่าย ซึ่งนอกจากจะไม่ยอมลาออกแล้ว ธวัชชัย สัจจกุล ยังคิดวิธีที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยให้ดีขึ้นให้ได้

“ความล้มเหลวในฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชียที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะว่าผมไม่ได้ทำทีมในแบบฉบับของตัวเอง ผู้เล่นแต่ละคนถูกคัดตัวแบบเฉพาะกิจและรวมตัวกันในเวลาจำกัด ทำให้ตัวเองไม่มีเวลามากเพียงพอในการแก้ไขสิ่งที่เด็กยังขาดอยู่”

คำสัมภาษณ์ของ ธวัชชัย สัจจกุล กับทีมงานสยามกีฬาและฟุตบอลสยามในช่วงเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเจ้าตัวเป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนเมื่อได้ฟังก็อดที่จะปรามาสเจ้าตัวไม่ได้

 

สิงห์ดรีมทีม โครงการปั้นดินสู่ดาว

ช่วงปลายปี 1992 ‘บิ๊กหอย’ หรือ ธวัชชัย สัจจกุล ได้ก่อกำเนิดทีมฟุตบอลสิงห์ดรีมทีมขึ้น ซึ่งเป็นการรวมเอานักฟุตบอลโนเนมหรือก็คือนักฟุตบอลที่ยังไม่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้นมารวมทีมกัน กินอยู่หลับนอนฝึกซ้อมด้วยกัน เก็บตัวกันแบบระยะยาวเพื่อลงสนามในนามทีมชาติไทย

โดยทุกคนจะได้รับเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยงการฝึกซ้อมรวมกว่า 10,000-30,000 บาทต่อเดือน นับได้ว่าเป็นแนวความคิดการทำทีมชาติที่แปลกใหม่และท้าทายการทำงานเป็นอย่างมาก เจ้าตัวถูกตั้งคำถามมากมายและแน่นอนว่าหลายคนก็มองว่า ธวัชชัย สัจจกุล เป็นคนเพ้อฝันไม่ได้อยู่บนโลกความเป็นจริง เพราะวิธีดังกล่าวต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งการจะเอาเงินจำนวนนั้นไปลงทุนกับนักฟุตบอลที่ไม่ได้มีดีกรีหรือชื่อเสียงมันจะเห็นผลสำเร็จได้อย่างไร หลายคำสบประมาทเริ่มดังขึ้นอีกครั้ง

โดยบทพิสูจน์แรกของสิงห์ดรีมทีมก็คือการแข่งขันฟุตบอลเมอร์ไลออนส์ คัพ ครั้งที่ 6 ปี 1992 ที่ประเทศสิงคโปร์  นักเตะโนเนมอย่าง เจริญ กลมเกลี้ยง, สุพล เสนาเพ็ง, วัชรกร อันทะคำภู, พัฒธพงศ์ ศรีปราโมช, โกวิทย์ ฝอยทอง, วัชรพงษ์ สมจิตร, ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล และเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ได้รับโอกาสในการลงสนามรายการนี้

โดยทีมชุดดังกล่าวก็สร้างผลงานได้ดีอย่างเหลือเชื่อเมื่อสามารถเสมอสโมสรโลโคโมทีฟ มอสโก ของรัสเซียไป 0-0 จากนั้นก็สามารถเอาชนะทีมชาติมาเลเซียไปได้ 1-0 จากการยิงประตูของสมาน ดีสันเทียะ ส่วนนัดสุดท้ายทีมชาติไทยชุดดังกล่าวต้องพ่ายแพ้เจ้าภาพสิงคโปร์ไป 0-2 ตกรอบแรกไปอย่างน่าเสียดาย แต่ผลงานโดยรวมถือว่าไม่ธรรมดา และนี่ก็คือจุดกำเนิดของสิงห์ดรีมทีมอย่างแท้จริงตามแนวความคิดการทำทีมชาติไทยด้วยเด็กจากดินปั้นสู่การเป็นดาว

 

จากคนบ้า (บอล) สู่การพาทีมชาติไทยทวงบัลลังก์เหรียญทองซีเกมส์

‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล ถือได้ว่าเป็นคนกล้าคิดกล้าลงมือทำ เจ้าตัวพร้อมจะทุ่มเทเพื่อเป้าหมายที่วางเอาไว้ เวลาส่วนใหญ่ของเจ้าตัวนอกจากจะบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่เป็นกิจวัตรอีกอย่างหนึ่งเลยนั่นก็คือการคุมลูกทีมฝึกซ้อมฟุตบอล ซึ่งหลายครั้งที่เจ้าตัวนั้นใช้เวลาอยู่กับลูกทีมมากกว่าการบริหารธุรกิจมูลค่าหลายล้านบาทเสียอีก จนใครต่อใครต่างก็บอกว่า ธวัชชัย สัจจกุล นั้นคือคนบ้าที่ทำในสิ่งที่น้อยคนนักจะทำ

“ผมยอมรับว่าตัวผมเป็นคนบ้าฟุตบอล และผมก็ยังบ้าพอที่จะคิดว่าทีมชาติไทยจะสามารถไปแข่งฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้”

นี่คือคำพูดของเจ้าตัวที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในยุคสมัยนั้น และภารกิจสำคัญที่จะพิสูจน์คำพูดดังกล่าวก็คือการพาทีมชาติไทยชุดใหญ่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 1993 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทีมชาติไทยต้องห่างหายจากการคว้าเหรียญทองไปกว่า 8 ปี โดยการเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในครั้งนั้นของ ธวัชชัย สัจจกุล เปรียบเสมือนการเดิมพันครั้งสำคัญที่หากไม่สามารถคว้าเหรียญทองกลับมาสู่มาตุภูมิได้ก็ยากที่เจ้าตัวได้รับโอกาสจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอีก

สำหรับนักฟุตบอลทีมชาติไทยในชุดซีเกมส์ครั้งที่ 17 ปี 1993 ณ ประเทศสิงคโปร์นั้นก็เป็นการผสมผสานระหว่างผู้เล่นตัวเก๋าอย่างวิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์, นที ทองสุขแก้ว, สุรศักดิ์ ตังสุรัตน์, อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์, สุเมธ อัครพงศ์, ไพโรจน์ พ่วงจันทร์,อรรถพล ปุษปาคม, ส่งเสริม มาเพิ่ม, พงศ์ธร เทียบทอง และปิยะพงษ์ ผิวอ่อน กับผู้เล่นที่มาจากสิงห์ดรีมทีมอย่าง วัชรพงศ์ สมจิตร, สราวุธ คำบัว, สิริศักดิ์ ขะเดหรี, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, ตะวัน ศรีปาน, รุ่งเพชร เจริญวงศ์ และเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

โดยผลการแข่งขันนั้นแม้ว่าในรอบแรกทีมชาติไทยจะสามารถเอาชนะทีมชาติเมียนมาไปได้ในนัดเปิดสนาม 2-0 แต่การเอาชนะทีมชาติบรูไน ดารุสซาลาม 5-2 และทีมชาติลาว 4-1 ในสองนัดถัดมาด้วยฟอร์มการเล่นที่ไม่สู้ดีนักทำให้นักฟุตบอลภายในทีมเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนแตกความสามัคคีทั้งที่ยังเหลือการแข่งขันรอบแรกนัดสุดท้ายกับทีมชาติมาเลเซียที่ทีมชาติไทยจะพ่ายแพ้ไม่ได้ เพราะถ้าพ่ายแพ้นั่นหมายถึงการตกรอบแรกทันที

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการท้าทายความสามารถของ ธวัชชัย สัจจกุล ในฐานะผู้จัดการทีมชาติไทย ทุกฝ่ายมีการพูดคุยกันทั้งนักฟุตบอล สตาฟโค้ช และผู้จัดการทีมจนในที่สุดได้ข้อสรุปเรื่องการจัดตัวผู้เล่นและเปลี่ยนระบบการเล่นจากเดิมที่ใช้ระบบ 5-3-2 มาเป็นระบบ 4-4-2 จนในท้ายที่สุด ทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมชาติมาเลเซียไปได้ 2-0 สามารถผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับแชมป์เก่าอย่างอินโดนีเซีย

โดยทีมชาติไทยที่บรรยากาศภายในทีมดีขึ้นก็สามารถร่วมแรงร่วมใจกันเอาชนะอินโดนีเซียไปได้ 1-0 จากนั้นในรอบชิงชนะเลิศ ทีมชาติไทยก็ย้ำแค้นทีมชาติเมียนมาไปอีกครั้งจากลูกหันหลังโหม่งเสยเข้าประตูของ ‘ซิโก้’ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อีกหนึ่งผลิตผลจากสิงห์ดรีมทีม

การคว้าเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ในครั้งนั้นถือเป็นการคว้าแชมป์ครั้งแรกของ ธวัชชัย สัจจกุล ในฐานะผู้จัดการทีมชาติไทย เป็นชัยชนะที่มอบความสุขและความหวังให้กับวงการฟุตบอลไทยที่จะพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น แนวคิดการสร้างทีมชาติไทยในแบบฉบับของเจ้าตัวเริ่มได้รับการพูดถึง

 

พาทีมชาติไทยชุดบี คว้าแชมป์คิงส์ คัพ ความสำเร็จต่อเนื่องปลุกกระแสศรัทธาทีมชาติไทย

หลังจาก ธวัชชัย สัจจกุล สามารถพาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 17 มาครองได้แล้ว เจ้าตัวก็กลับมามุ่งมั่นในการพัฒนานักฟุตบอลของทีมสิงห์ดรีมทีมต่อไป จนมาถึงการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ครั้งที่ 25 ปี 1994 ธวัชชัย สัจจกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยชุดบีสำหรับลงทำการแข่งขันในรายการดังกล่าว ซึ่งทีมชาติไทยชุดบีนี้ก็คือสิงห์ดรีมทีมนั่นเอง โดยเจ้าตัวสามารถพาทีมชาติไทยชุดบีนี้สร้างกระแสฟีเวอร์ให้กับวงการฟุตบอลไทยได้สำเร็จด้วยลีลาการเล่นที่เร้าใจ และผลการแข่งขันอันยอดเยี่ยมในทุกนัดที่ลงสนาม

ทีมชาติไทยชุดบีภายใต้การดูแลของ ธวัชชัย สัจจกุล สามารถเปิดสนามเอาชนะทีมชาติจีนไปได้อย่างสนุก 2-1 จากนั้นในนัดที่สองทีมชาติไทยชุดบีสามารถเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่น ชุดปรีโอลิมปิกไปได้ 1-0

และในนัดสุดท้ายของรอบแรก ทีมชาติไทยชุดบีพ่ายแพ้ให้กับทีมเวสฟาเลีย สมัครเล่น (Westfalia Amateurs) จากประเทศเยอรมนีไป 0-1 แต่อย่างไรทีมชาติไทยชุดบีก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปได้แบบพลิกความคาดหมาย โดยคู่ต่อสู้ที่พวกเขาจะต้องเผชิญนั่นก็คือสโมสรเอฟซี โรเตอร์ วอลโกการ์ด (FC Rotor Volgograd) หรือที่สื่อในยุคนั้นจะเรียกกันจนติดปากว่าสโมสรโรทัวร์ จากประเทศรัสเซีย ซึ่งทีมชาติไทยชุดบีก็สามารถเอาชนะทีมจากแดนหมีขาวไปได้ 1-0 ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปล้างตากับทีมเวสฟาเลีย สมัครเล่น อีกครั้ง

ในรอบชิงชนะเลิศนี้เองที่เป็นการปลุกกระแสศรัทธาทีมชาติไทยให้ไปถึงขีดสุด เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติไทยชุดบีสามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพได้

และที่สำคัญทีมชาติไทยชุดบีสามารถเอาชนะทีมเวสฟาเลีย สมัครเล่น ไปได้อย่างขาดลอย 4-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพไปครองได้แบบหักปากกาเซียน

ซึ่งแม้ว่าในการแข่งขันรายการดังกล่าวจะไม่ได้รับการรับรองผลการแข่งขันจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าในแบบ FIFA International A Match ก็ตาม แต่ในยุคสมัยนั้นเพียงแค่การเอาชนะทีมจากต่างประเทศได้ก็เป็นข่าวใหญ่ที่น่ายินดีแล้ว แถมยังเป็นการเอาชนะทีมจากประเทศเยอรมนีที่มีดีกรีเป็นแชมป์ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ ก็ยิ่งสร้างศรัทธาและความหวังให้กับแฟนฟุตบอลไทยในสมัยนั้น

 

สร้างผลงานเพื่อทีมชาติไทย ยึดบัลลังก์เจ้าอาเซียน

หลังจากทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ครั้งที่ 25 ปี 1994 มาครองได้ ธวัชชัย สัจจกุล ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ซึ่งแม้ว่าทีมชาติไทยภายใต้การดูแลของเจ้าตัวจะไม่อาจด้านแรงเสียดทานในระดับทวีปเอเชียได้ แต่ในช่วงเวลานั้นทีมชาติไทยก็ถือว่าสามารถกลับมายึดครองบัลลังก์เจ้าอาเซียนได้ด้วยผลงานการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการคว้าเหรียญทองได้ 2 สมัยติดต่อกัน

จากนั้นในปีถัดมาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนหรือเอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ (AFF Championship) ภายใต้ชื่อการแข่งขันตามผู้สนับสนุนว่าไทเกอร์ คัพ (Tiger Cup) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดการแข่งขันขึ้น โดยในช่วงเวลานั้นเฮดโค้ชของทีมชาติไทยไม่สามารถคุมทีมไปแข่งขันได้ ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล จึงทำหน้าที่เป็นทั้งผู้จัดการทีมและเฮดโค้ช พาทีมชาติไทยคว้าแชมป์มาครองได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนจะลดบทบาทของตัวเองจากวงการฟุตบอลไทยไปหลังจากที่ทีมชาติไทยไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ปี 1998 ธวัชชัย สัจจกุล กลับมาทำหน้าที่ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยอีกครั้ง และเจ้าตัวก็สามารถ พาทีมชาติไทยคว้าอันดับที่ 4 เป็นประวัติศาสตร์ให้กับวงการฟุตบอลไทย โดยในครั้งนั้นทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้แบบสุดมันในรอบควอเตอร์ไฟนอลหรือรอบ 8 ทีมสุดท้ายจากการยิงประตูโกลเด้นโกลด์สุดสวยของ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล นับว่าเป็นอีกผลงานประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลไทยที่เจ้าตัวได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมา

ปี 2002 ธวัชชัย สัจจกุล กลับมาพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ฟุตบอลไทเกอร์ คัพ ได้อีกครั้ง เป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ของทีมชาติไทยและเป็นสมัยที่ 2 ของเจ้าตัวในฐานะการเป็นผู้จัดการทีม ตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ธวัชชัย สัจจกุล มีส่วนสำคัญที่สามารถพาทีมชาติไทยจากยุคที่ห่างหายความสำเร็จในระดับภูมิภาคจนก้าวขึ้นมาสู่การคว้าแชมป์มากมายทั้งซีเกมส์และชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน

 

บทบาททางการเมือง

ธวัชชัย สัจจกุล นอกจากจะมีชื่อเสียงในแวดวงของฟุตบอลไทยแล้ว เจ้าตัวก็มีอีกบทบาทที่สำคัญนั่นก็คือเส้นทางสายการเมือง โดย ธวัชชัย สัจจกุล ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 1996 หรือปี พ.ศ. 2539 จากนั้นเจ้าตัวก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในอีก 4 ปีต่อมา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีคะแนนมาเป็นลำดับที่ 3

ปี 2001 ธวัชชัย สัจจกุล ตัดสินใจย้ายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) และ ปี 2005 (พ.ศ. 2548) จากนั้นเจ้าตัวก็ย้ายไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังคนกีฬา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายการเมืองเหมือนดังก่อน และด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ ธวัชชัย สัจจกุล ก็ลดบทบาทตัวเองลงไปตามกาลเวลา

ครับ และนี่คือเรื่องราวของ ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการยกระดับวงการฟุตบอลไทย บุคคลผู้ซึ่งทุ่มเทและมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนรัก แม้ว่าสุดท้ายแล้วฟุตบอลทีมชาติไทยยังไม่อาจไปถึงระดับโลกอย่างที่เจ้าตัวหวังเอาไว้ได้ แต่หลายสิ่งที่เกิดขึ้นระยะเส้นทางการเป็นผู้จัดการทีมของ ธวัชชัย สัจจกุล นั้นก็เป็นอีกรากฐานในการยกระดับวงการฟุตบอลไทยมาจนทุกวันนี้

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO