คนหัวล้านก็มีหัวใจ: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของคนไร้ผม จากปกติถึงยุคสมัยที่ต้องปกปิด

คนหัวล้านก็มีหัวใจ: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของคนไร้ผม จากปกติถึงยุคสมัยที่ต้องปกปิด

ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ คนหัวล้าน ได้รับการปฏิบัติที่ทัดเทียมไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป แต่เมื่อเวลาผันเปลี่ยนความงามเริ่มเข้ามามีบทบาท คนหัวล้านจึงถูกมองว่าแปลกแยกจากสังคม

ศีรษะเงาวับไร้เส้นผมประดับอาจไม่เข้ากับมาตรฐานความงามในปัจจุบันเท่าไหร่นัก สังเกตได้จากคลินิกปลูกผมที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด สื่อโฆษณาที่ประโคมขายแชมพู ยา สเปรย์ฉีดบำรุงผม และสารพัดสิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นผมหลุดร่วงจนล้านเตียน

แต่ใช่ว่าความงามจะขึ้นอยู่กับเส้นผมเพียงอย่างเดียวเสมอไป เพราะในปัจจุบันมีการจัดอันดับผู้ชายหัวล้านที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก โดยเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งแคมบริดจ์ ได้รับตำแหน่งนี้ไปครอง ไม่ใช่แค่เจ้าชายวิลเลียมเท่านั้นที่มีปัญหาผมร่วง ดูเหมือนว่าเจ้าชายแฮร์รี่เองก็เผชิญปัญหานี้ตามติดพี่ชายไปติด ๆ อาการผมร่วงของเขาเกิดขึ้นในปี 2018 หลังจากแต่งงานกับ เมแกน มาร์เคิล ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน จนต้องเข้ารับการรักษาไม่ให้ศีรษะล้านตามผู้เป็นพี่

แต่หากจะบอกว่าเพราะแต่งงานกับเมแกน เลยทำให้ผมร่วงคงไม่ยุติธรรมต่อเธอเท่าไหร่ เมื่อย้อนไปดูช่วงอายุที่เจ้าชายวิลเลียมเริ่มเห็นอาการศีรษะล้าน ก็เป็นช่วงอายุใกล้เคียงกับเจ้าชายแฮร์รี่เช่นกัน

นอกจากเชื้อพระวงศ์ที่มีอาการศีรษะล้านแล้ว นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่เราเห็นผ่านตากันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น เดอะร็อก หรือ ดเวย์น จอห์นสัน, วิน ดีเซล และ เจสัน สเตแธม เองก็มักจะเข้าฉากด้วยศีรษะไร้เส้นผม เป็นการยกระดับวงการภาพยนตร์อีกทางหนึ่งว่าไม่จำเป็นต้องมีศีรษะปกคลุมไปด้วยเส้นผม พวกเขาก็สามารถกลายเป็นดาวเด่นประดับฟ้าได้

และนี่คือเรื่องราวของ ‘คนหัวล้าน’ จากยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

คนหัวล้านในสังคมอียิปต์โบราณ

จุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ‘คนหัวล้าน’ ว่ากันว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากคนชนชั้นอื่นของอียิปต์ ในปี 2019 ‘ซามาร์ คามาล’ (Samar Kamal) ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาด้านอียิปต์วิทยา พบหลักฐานภาพวาดชายหัวล้าน 122 คนถูกวาดไว้ในสุสานอียิปต์โบราณ ซึ่งเมื่อใช้เครื่องมือตรวจสอบพบว่ามีอายุย้อนกลับไปราว 525 ปีก่อนคริสต์ศักราช

โดยเห็นได้ชัดว่าผู้ชายทั้ง 122 คนนั้นมีอายุค่อนข้างมาก (สังเกตได้จากสีของเส้นผมที่เปลี่ยนไปเป็นสีขาวแทบทั้งกระหม่อม) ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บทบาทของพวกเขาที่มีตั้งแต่เกษตรกร ทำประมง ไปจนถึงช่างแกะสลักและงานปั้น ช่วยให้สังคมอียิปต์เปลี่ยนไปอย่างเห็นไร

อีกทั้งภาพวาดศิลปะเหล่านี้ ยังเป็นตัวบ่งชี้ชั้นดีว่าชาวอียิปต์โบราณปฏิบัติต่อชายหัวล้านไม่ต่างจากชายที่มีผมดกดำ

ศาสตราจารย์คามาล สังเกตเห็นอีกว่าชาวอียิปต์โบราณมีศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกลักษณะของชายหัวล้าน เพราะอย่างที่เรารู้ว่าหัวล้านมีรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนล้านทั้งหัว ส่วนบางคนล้านเพียงกลางศีรษะ ศาสตราจารย์คามาลค้นพบอีกว่ามัมมี่ของคนที่มีศีรษะล้านมักมีลักษณะการดูแลต่างจากทั่วไป

อีกหนึ่งคนดังในประวัติศาสตร์อย่าง ‘จูเลียส ซีซาร์’ (Julius Caesar) เองก็เลือกปกปิดอาการหัวล้านของตัวเอง ด้วยการสวมมงกุฎช่อมะกอก

วิกผมกับการแบ่งแยกชนชั้น

ในช่วงศตวรรษ 1822 แฟชั่นวิกผมเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในยุโรป เหล่าชายหนุ่มชนชั้นสูงมักสวมวิก เพื่อแสดงออกถึงยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เบื้องหลังการสวมวิกของพวกเขา กลับมีอะไรที่น่าอับอายซ่อนอยู่ เพราะในช่วงเวลานั้นกล่าว โรคซิปิลิสระบาดอย่างหนักในยุโรป ผมของผู้ป่วยจึงร่วงเป็นหย่อม ๆ เป็นภาพที่ไม่น่าอภิรมย์มากนัก พวกเขาเลยเลือกหยิบวิกขึ้นมาปกปิดอาการป่วยของตน

จากนั้นแฟชั่นวิกผมก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรป เหล่าชายหนุ่มทั้งป่วยและไม่ป่วย ต่างหยิบขึ้นมาสวมใส่ราวกับเป็นเครื่องแสดงออกทางชนชั้นที่ใครก็เทียบเคียงไม่ได้ วิกผมเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และข้ามไปยังเกาะอังกฤษ โดยมีพระเจ้าชาลส์ ที่ 2 ผู้นำเทรนด์การใส่วิกผม เพราะตัวพระองค์เองมีอาการศีรษะล้าน

พระองค์เป็นที่น่านับหน้าถือตาในแวดวงชนชั้นสูง ศาลยุติธรรมอังกฤษจึงบรรจุให้วิกผมเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายของผู้พิพากษาและทนายความ ธรรมเนียมการสวมวิกเพื่อพิพากษาก็ยังคงอยู่ และขยายไปอีกหลายประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจนถึงปัจจุบัน

ทำไมหัวล้านจึงกลายเป็นเรื่องน่าอับอาย

ในศตวรรษที่ 20 มาตรฐานความงามได้ยกระดับขึ้นอย่างก้าวกระโดด คนที่หลุดออกจากมาตรฐานความงามจึงไว้วายถูกมองเป็นตัวประหลาดของสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีศีรษะล้าน ยิ่งรู้สึกไม่สบายใจต่อสายตาคนรอบข้างมากเป็นพิเศษ (แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่ผู้ที่มีศีรษะล้านทุกคนจะรู้สึกแบบเดียวกัน) จนพยายามสรรหาสารพัดอย่างมาชะลออาการหัวล้าน

ความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสื่อโฆษณาที่ ‘พยายาม’ ขายสินค้า และใส่กรอบลงไปว่าหัวล้านเป็นเรื่องน่าอาย

ในปี 2013 ‘เควิน ฮาร์วีย์’ (Kevin Harvey) ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ สังเกตเห็นว่าโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันศีรษะล้านส่วนใหญ่ มักมีคำโปรยว่า ผู้ชายผมดกดำนั้นดูน่าดึงดูด และมักเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้พวกเขาดูมีความสุขกับชีวิตมากกว่าผู้ที่มีศีรษะล้าน

โฆษณาบางชิ้น อ้างว่าศรีษะล้านเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ และเสียเปรียบผู้ที่ไม่ได้มีอาการศีรษะล้าน และยิ่งเห็นภาพได้ชัดว่าการเป็นคนหัวล้าน ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตอย่างหนัก จากผลการสำรวจของเว็บไซต์ TV Tropes เผยว่า 60% ของนักแสดงทีวีในช่วงปี 1980 รายการโทรทัศน์มักสร้างคาแรคเตอร์ตัวร้ายให้เป็นคนแก่และหัวล้าน  ตอกย้ำภาพลักษณ์ว่าคนหัวล้านเป็นคนที่น่ารังเกียจ และไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคม

เวลาล่วงเลยก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มยอมรับความงามในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่ในกรอบความงามตามมาตรฐานเดิม ๆ บางคนจึงเลือกที่จะออกมาเปิดเผยความลับดังกล่าว เช่น อายานนา เพรสลีย์ (Ayanna Pressley) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เผยต่อสาธารณชนว่าเธอศีรษะล้าน แม้จะเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แต่เธอไม่อยากปกปิดมันไว้อีกแล้ว

หัวล้านกับค่านิยมความงามในเอเชีย

ส่วนในเอเชียบ้านเรานั้น การสูญเสียเส้นผมอาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากกว่าทางยุโรป สังเกตได้จากมาตรฐานและค่านิยมความงามของชาวเอเชีย พบว่าไอดอลส่วนใหญ่มีผมที่ดกดำเพื่อให้มีลุคเด็กลง “ในวัฒนธรรมเอเชีย คนรุ่นใหม่มักชอบไอดอลที่มีรูปร่างหน้าตาดี ทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจที่ตัวเองมีหัวล้าน”

สอดคล้องกับผลการศึกษาจากสถาบัน International Journal of Dermatology ประเทศเกาหลี พบว่า ผู้ชายหัวล้านทำให้ดูมีอายุและมีเสน่ห์ลดลงกว่า 90% ซึ่งเป็นผลสำรวจจากความคิดเห็นของคนที่ไม่มีอาการศีรษะล้าน

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศเกาหลี ต้องออกมาเรียกร้องให้นายจ้างไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ชายที่มีศีรษะล้าน หลังจากบริษัทแห่งหนึ่งถูกกล่าวหาว่าได้ขอให้พนักงานศีรษะล้านใส่วิกขณะสัมภาษณ์เข้าทำงาน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ปฏิเสธการว่าจ้าง เนื่องจากชายคนดังกล่าวหัวล้าน

สุดท้ายแล้วโลกของเรายังคงหมุนเวียนกันต่อไป ค่านิยมความงามก็เช่นกัน ผู้เขียนเชื่อว่าแม้ไร้ผมแต่ทุกคนก็งดงาม ไม่ต่างจากคนที่มีผมขึ้นอยู่เต็มศีรษะ

 

อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/article/news_1622758

https://rhrli.com/blog/prominent-bald-historical-figures/

https://edition.cnn.com/style/article/asia-men-hair-loss-bald-scn-wellness/index.html

https://theconversation.com/the-art-of-balding-a-brief-history-of-hairless-men-199531

https://www.ted.com/talks/sarthak_sinha_why_do_some_people_go_bald/transcript?language=th&subtitle=en