06 พ.ค. 2568 | 12:00 น.
กลางศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในยุคที่ความไม่เท่าเทียมทางสีผิวหยั่งรากลึก ทั้งในกฎหมายและวิถีชีวิตประจำวัน กฎหมาย จิม โครว์ ทำหน้าที่แบ่งแยกผู้คนในพื้นที่สาธารณะอย่างโหดร้าย โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ ที่น้ำพุดื่ม ห้องน้ำ โรงเรียน และแม้แต่ที่นั่งบนรถโดยสารยังถูกกำหนดตามสีผิว จนกระทั่งวันที่สตรีคนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่เอนอ่อนต่อความอยุติธรรมนี้
ในวันที่ 1 ธันวาคม ปี 1955 ‘โรซา พาร์กส’ (Rosa Parks) ตัดสินใจไม่ลุกจากที่นั่งเพื่อมอบให้แก่ผู้โดยสารผิวขาว แม้จะเป็นคำสั่งของคนขับรถก็ตาม การกระทำเล็ก ๆ ของเธอในวันนั้นกลายเป็นชนวนที่จุดประกายการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ความมุ่งมั่นของเธอไม่เพียงแต่เป็นเสียงสะท้อนแห่งการต่อสู้ของชาวผิวดำในยุคนั้น แต่ยังทำให้โลกหันมามองถึงความอยุติธรรมที่ฝังแน่นในระบบ การเลือกจะไม่ยอมในครั้งนั้นทำให้ชื่อของเธอถูกจารึกในประวัติศาสตร์ในฐานะหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง
บทความนี้จะพาคุณเดินทางผ่านชีวิตและบทบาทของเธอคนนี้ ตั้งแต่วัยเด็กที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงและการแบ่งแยกสีผิว ไปจนถึงจุดยืนที่กล้าหาญของเธอซึ่งเปลี่ยนโลก ความกล้าหาญของโรซาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของอดีต หากยังคงเป็นแรงบันดาลใจที่ก้องกังวานในปัจจุบัน และย้ำเตือนเราทุกคนว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากการลุกขึ้นมายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
แม้จะเขยื้อนสถานะจากทาสผู้ถูกแลเห็นไม่ต่างอะไรจากสิ่งของหรือเครื่องไม้เครื่องมือเป็นประชาชนปกติเท่าเทียมกัน ทว่าความเดียดฉันท์ที่คนผิวดำได้รับดูเหมือนจะยังคงอยู่ในสำนึกของคนหลายคนในสหรัฐอเมริการาวช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะเหล่าคนผิวขาวที่ปกครองประเทศ ถึงสถานะความเป็นทาสจะถูกยกเลิกไปเกินกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่การกีดกันแบ่งแยกหลากหลายรูปแบบยังคงหลงเหลือเป็นมรดกตกทอดที่คอยย้ำเตือนว่าการแบ่งแย่งทางชาติพันธุ์ยังคงไม่หายไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปแบบเท่านั้น
ยังไม่ต้องพูดถึงสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นแบบใต้ดินเช่นการค้าทาสอย่างผิดกฎหมายหรือการจัดกลุ่มเป็นขบวนการที่หล่อหลอมด้วยความเกลียดชัง เพราะขนาดเราขยับขึ้นมาบนดินเราก็สามารถเห็นการแบ่งแยกทำนองเดียวกันนี้หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำ มาตรวัดที่ไม่เท่าเทียม หรือมาตรฐานที่ถูกใช้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าผิวของคุณสีอะไร
ที่ชัดเจนคือ ‘กฎหมาย จิม โครว์’ (Jim Crow Law) ที่ได้ประกาศใช้ในบริเวณรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาที่เอื้อให้มี ‘การแบ่งแยกอย่างถูกกฎหมาย’ (Legal Segregation) ระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ร้านอาหาร หรือแม้แต่การสัญจรโดยขนส่งสาธารณะก็จะมีแปะป้ายไปทำนองเดียวกันเสมอเช่น ‘คนขาวเท่านั้น’ (Whites Only) หรือบอกว่าคนจำพวก ‘ผิวสี’ (Colored) ห้ามเข้า หรือแม้แต่รถบัสยังมีป้ายระบุไว้ว่าที่นั่งตรงไหนของผิวสีอะไร
ความเกลียดชังที่ประเดประดังนี้ยังคงปะทุไปใต้ดินจนกลายเป็นขบวนการอย่าง ‘คูคลักซ์แคลน’ (Ku Klux Klan) หรือ ‘เคเคเค’ (KKK) ที่ได้ร่วมมือกันทำลายล้าง แผดเผา และถึงกับเข่นฆ่าเหล่าชุมชนผิวสีเสมือนปีศาจในคราบผ้าขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการนี้ ทั้งหมดที่ว่ามีนี้คือโลกที่ชาวผิวดำเผชิญเมื่อใช้ชีวิตยืนหยัดบนแผนแผ่นดินที่เรียกว่าสหรัฐอเมริกา และเป็นโลกเดียวกับที่ ‘โรซา พาร์กส’ (Rosa Parks) เติบโตขึ้นมา และชื่อของเธอคนนี้จะถูกจดจำในฐานะผู้ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง—ไม่มากก็น้อย—บนผืนแผ่นดินที่เธอใช้ชีวิตอยู่
“แม่สอนหนังสือในชุมชนชนบทที่เราอาศัยอยู่ กลุ่ม KKK เดินทางผ่านพื้นที่ชนบท เผาโบสถ์และโรงเรียนของคนผิวดำ รวมถึงทำการโบยตีและฆ่าคนอย่างโหดร้าย”
— หนึ่งในข้อความในกระดาษบันทึกวัยเด็กของ โรซา พาร์กส
พ่อและแม่ของ ‘โรซา หลุยส์ แม็คคอลลีย์’ (Rosa Louise McCauley) แยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้เพียงสองขวบครึ่ง สายลมแห่งชีวิตจึงได้พัดพาเธอไปอยู่กับครอบครัวฝั่งแม่ โดยมีตาและยายเป็นผู้ช่วยเลี้ยงดู โดยแม่ของเธอประกอบอาชีพเป็นครูผู้สอนในพื้นที่ชนบท ในขณะเดียวกัน คูคลักซ์แคลนก็แพร่หลายไปทั่ว คนขาวบางคนยามกลางวันใบหน้าของเขาอาจปกคลุมด้วยรอยยิ้ม แต่ยามกลางคืนอาจเป็นหน้ากากทรงสูงสีขาวโดยมีช่องโหว่เผยนัยน์ตาที่เอ่อล้นไปด้วยความเกลียดชัง
นั่นน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณตาของโรซาต้องมีกระบอกปืนลูกซองที่บรรจุกระสุนไว้แล้ววางไว้เคียงกายเสมอ ทั้งยังต้องคอยระแวดระวังยามดึกว่าจะมีกลุ่มปีศาจสวมชุดขาวจะบุกมาทำร้ายพวกเขาหรือเปล่า ประตูและหน้าต่างมักถูกปิดสนิท ในหลาย ๆ ครั้งถูกขึงด้วยแผ่นไม้เผื่อปิดตายก่อนจะตอกซ้ำด้วยตะปู แต่แม้จะรัดกุมเพียงไหน โรซาและญาติพี่น้องรุ่นราวคราวเดียวกันก็ต้องสวมเสื้อผ้าเตรียมพร้อมเสมอ เมื่อถึงคราวที่ต้อง ‘วิ่ง’ จะได้หนีออกไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลา ภัยร้ายที่รายล้อมทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นที่ทำให้โรซาตาสว่างหลายค่ำคืนและช่วยคุณตาเฝ้ามองหาผีร้ายที่เพ่นพ่านอยู่ภายนอก
แม้ในตอนกลางวันที่ผีร้ายจะคืนร่างกลับมาเป็นคนธรรมดาแล้ว แต่ กฎหมาย จิม โครว์ กลับเป็นสิ่งที่มอบประสบการณ์การถูกแบ่งแยกให้เธอแทน ดังเช่นร้านอาหาร น้ำพุดื่มน้ำ หรือแม้แต่ในรั้วโรงเรียน ในหลาย ๆ ครั้ง การขึ้นรถบัสเพื่อไปโรงเรียนก็ถูกแบ่งแย่งระหว่างผิวสี—เด็กผิวขาวสามารถขึ้นรถบัสไปโรงเรียน ส่วนเด็กผิวดำต้องเดิน
ทั้งหมดที่ว่ามาคือตัวอย่างบางส่วนประสบการณ์การเติบโตขึ้นมาของเธอที่ต้องเผชิญหน้ากับการแบ่งแยกทางสีผิวอย่างหนักหนา แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา เธอก็ได้ไปเรียนในโรงเรียนของคนผิวดำโดยเฉพาะ ก่อนที่ไม่นานเธอจะต้องจำใจลาออกเพราะข้อจำกัดจากทางบ้านจนทำให้เธอต้องไปประกอบอาชีพเป็นแม้บ้านให้กับครอบครัวผิวขาว แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ได้พบกับสามีของเธอ ‘เรย์มอนด์ พาร์กส’ (Raymond Parks) นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นคนที่บอกให้โรซากลับไปเรียนต่ออีกด้วย โดยต่อมาไม่นานเธอก็ได้เป็นหนึ่งในสมาชิก ‘สมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสี’ (National Association for the Advancement of Colored People ) หรือ ‘NAACP’ อีกด้วย
ในย่านมอนต์โกเมอรี รถประจำทางสาธารณะมักไม่เป็นตัวเลือกที่เป็นที่นิยมนักสำหรับคนผิวดำ เพราะด้วยนโยบายที่ให้ ‘คนขาวนั่งข้างหน้า’ และ ‘คนดำนั่งข้างหลัง’ ทำให้คนผิวดำส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นั่นมองว่าเป็นการดูหมิ่น เพราะการแบ่งแยกนี้มันไม่ได้หยุดอยู่ที่การแบ่งให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่หน้าและอีกกลุ่มอยู่หลัง แต่หากที่นั่งข้างหน้าเต็ม คนขับรถก็จะบอกให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังสละที่นั่งให้กับคนข้างหน้าไปนั่ง แต่ถึงอย่างนั้น กว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ที่สัญจรก็ล้วนเป็นคนดำอยู่ดี
มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 1955 ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่รถโดยสารประจำทางเต็มไปด้วยผู้คน โรซา พาร์กสก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่บนรถโดยสารคันดังกล่าว ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติจนกระทั่งที่นั่งที่เหลืออยู่เต็มจนทำให้ผู้โดยสารผิวขาวคนหนึ่งต้องยืน คนขับรถจึงหันมาบอกให้ผู้โดยสารผิวดำที่นั่งอยู่คนหนึ่งให้สละที่นั่งให้ผู้โดยสารผิวขาวคนนั้นเสีย และผู้ที่ถูกเลือกคนนั้นคือ โรซา และผู้โดยสารผิวดำอีกสามคนที่นั่งอยู่
ในขณะที่ผู้โดยสารอีกสามคนลุกออกไป โรซา พาร์กส เลือกที่จะยืนหยัดที่จะนั่งอยู่ที่เดิม
ความวุ่นวายดังกล่าวทำให้รถโดยสารต้องหยุดเคลื่อนที่และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ ทางคนขับรถจึงได้แจ้งตำรวจจน โรซา พาร์กส ถูกจับกุมและเสียค่าปรับไปรวม 14 เหรียญ แต่การยืนหยัดในสิทธิของตัวเธอในครั้งนั้นก็นำไปสู่แรงสั่นสะเทือนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสำนึกและการแก้ไขอะไรหลายอย่างในสังคม และเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์อันเป็นรากฐานสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม และสิทธิที่จะไม่สละที่นั่งเพียงเพราะใครคนไหนผิวสีอะไร
“ผู้คนมักบอกว่าฉันเลือกที่จะไม่ลุกเพราะเหนื่อย มันก็ไม่ได้จริงเสมอไปนะ ฉันไม่ได้เหนื่อยกาย ไม่ใช่เลย ฉันเหนื่อยที่จะต้องยอมอยู่ร่ำไป”
เรื่องราวของ โรซา พาร์กส สะท้อนให้เราเห็นถึงความกล้าหาญที่จะยืนหยัด (หรือนั่งหยัด) ท้าทายความไม่ถูกต้องและอยุติธรรมในสังคม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำกันจนเป็นความเคยชินหรือแม้จรดลงบนข้อกฎหมายว่าเป็นสิ่งที่ถูกก็ตาม การยืนหยัดในที่นั่งของเธอในครั้งนั้นเปรียบเสมือนหยดน้ำที่ร่วงลงบนแอ่งจนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปมากกว่ารถบัสคันเดียว
ตัวอย่างของเธอปลุกความหวังและศรัทธาที่จะเห็นโลกที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกว่าที่เคยเป็น และแม้ว่าจะเป็นการไม่ยอมสละที่นั่งให้ แต่มันก็กลายเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมขยับข้างหน้าไปกว่าเดิม