พ่อลูกอดีตผบ.ทอ. ตระกูลธูปเตมีย์ จาก ‘พล.อ.อ.ประพันธ์’ ริเริ่มจัดหา F-16 สู่ลูกจัดหา F-35

พ่อลูกอดีตผบ.ทอ. ตระกูลธูปเตมีย์ จาก ‘พล.อ.อ.ประพันธ์’ ริเริ่มจัดหา F-16 สู่ลูกจัดหา F-35

ตระกูลธูปเตมีย์ มีทายาท 2 คน ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กองทัพอากาศไทย จาก ‘พล.อ.อ.ประพันธ์’ ผู้ริเริ่มจัดหา F-16 มาสู่บุตรชาย ‘พล.อ.อ.นภาเดช’ ในยุคที่จัดหา F-35 ซึ่งทั้งสองช่วงล้วนเผชิญกระแสทัดทาน

  • พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีตผบ.ทอ. คือผู้ริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบิน F-16 ให้กองทัพอากาศไทย
  • บุตรชายของ พล.อ.อ.ประพันธ์ คือ ‘บิ๊กป้อง’ พล.อ.อ.นภาเดช ริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35
  • สองอดีตผบ.ทอ.จากบ้านธูปเตมีย์ ล้วนเผชิญกระแสทัดทานโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ และในปี 2566 กองทัพอากาศยังเผชิญคำถามเรื่องวัตถุประสงค์การบิน F-16 ผ่านน่านฟ้า

หากกล่าวถึงปูชนียบุคคลของ ‘ลูกทัพฟ้า’ หนึ่งในนั้น คือ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่สร้างคุณูปการให้กับ ทอ. เมื่อราว 35 ปีก่อน โปรเจกต์สำคัญ คือ พล.อ.อ.ประพันธ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบิน F-16 จากสหรัฐฯ ให้กับ ทอ. เมื่อ 35 ปีก่อน

พล.อ.อ.ประพันธ์ เป็นบิดาของ ‘บิ๊กป้อง’ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทบ. ที่เพิ่งเกษียณฯ เมื่อ ก.ย. 2565 ช่วงที่ พล.อ.อ.นภาเดช ได้มีการทำพิธีลอยอังคารให้กับ พล.อ.อ.ประพันธ์  พร้อมกับการบิน F-16 ผ่านน่านฟ้า หลังพรรคก้าวไกลออกมาเปิดเผย

จากนั้น พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษก ทอ. ยอมรับเป็นเรื่องจริง แต่เป็นการ ‘บินผ่าน’ หลังทำการบินทดสอบและปฏิบัติการร่วมลาดตระเวน เสร็จภารกิจแล้ว เพื่อเทิดเกียรติในพิธีลอยอังคาร พล.อ.อ.ประพันธ์ ผู้ริเริ่มจัดหา F-16 ให้ ทอ. ซึ่ง พล.อ.อ.นภาเดช เป็นนักบิน F-16 โดยมี Call Sing ว่า Snowy

ถือเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ของ ‘บ้านธูปะเตมีย์’ ที่มี ผบ.ทอ. 2 คน จากรุ่นคุณพ่อสู่รุ่นลูก นอกจากนี้ พล.อ.อ.นภาเดช สมัยเป็น ผบ.ทอ. ได้ทำพิธีเชิญรูปหล่อ 2 อดีต ผบ.ทอ. คือ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ขึ้นประดิษฐาน ณ อนุสาวรีย์อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ บก.ทอ.ดอนเมือง

พล.อ.อ.นภาเดช เปิดเผยว่าพล.อ.อ.ประพันธ์ เสียชีวิตไป เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 จึงไม่ได้รับรู้ว่าลูกชายคนนี้จะได้เป็น ผบ.ทอ. เหมือนพ่อในที่สุด เพราะมีคุณพ่อเป็นไอดอล อยากเป็นทหารอากาศ และเป็นนักบินเหมือนคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก และทุกวันพระจะไปทำบุญและไหว้อัฐิ พล.อ.อ.ประพันธ์ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน และได้อธิฐานจิต บอกให้คุณพ่อได้รับรู้แล้วว่า ลูกชายคนนี้ได้เป็น ผบ.ทอ. เช่นที่พ่อเคยคาดหวัง และมีหลายคนเคยทำนายเอาไว้

หนึ่งในโครงการที่ พล.อ.อ.นภาเดช ถูกพูดถึงอย่างมาก คือได้ริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 จากสหรัฐฯ ซึ่งในยุค พล.อ.อ.ประพันธ์ ผู้เป็นบิดาได้ริเริ่มจัดหา F-16 ซึ่งปัจจุบันใช้งานมากว่า 35 ปี ได้เวลาปลดประจำการพอดี ทำให้ พล.อ.อ.นภาเดช มองหาเครื่องบินขับไล่รุ่นอื่นมาทดแทน ซึ่งทั้ง ‘รุ่นพ่อ-รุ่นลูก’ ถูกกระแสต่อต้าน รวมทั้งข้อจำกัดทางงบประมาณเหมือนกัน

พล.อ.อ.นภาเดช สมัยเป็น ผบ.ทอ. เคยกล่าวตอนหนึ่งในการแถลงนโยบาย ทอ. หลังรับตำแหน่ง ผบ.ทอ. เมื่อ ตุลาคม 2564 ถึงสมัย พล.อ.อ.ประพันธ์ อดีต ผบ.ทอ. ยุคคุณพ่อเคยซื้อ F-16 มาแล้ว ในยุคของตนเองจะพัฒนา ทอ. อย่างไร ว่า

“4-5 ปีก่อน ขณะนั้นคุณพ่ออายุ 89-90 ปี เคยพูดกับผมว่า ทอ. น่าจะคิดมีเครื่องบินที่ดีขึ้น เช่น พวกเครื่องสเตลท์ F-35 โดยเป็นการเตรียมกำลังเพื่อประชาชน เพื่อประเทศ ไม่ใช่เพียงเพื่อ ทอ. แม้โดยเครื่องบินที่มีอยู่ขณะนี้จะทันสมัยในยุคนี้ แต่หากผ่านไปไม่กี่ปีก็ล้าสมัย จึงต้องคิดจัดซื้อที่ทันสมัยตั้งแต่วันนี้ แต่เกรงว่าเราเสนออะไรขึ้นไป และเมื่อเจอกับคนที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน ก็จะรวนไปหมด

ซึ่งผมก็เชื่อมั่นว่า ในยุคผมก็คือคิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่คนที่ก้าวเข้ามาต่อจากผม ที่จะมาดำเนินการต่อ ในยุคที่ประชาชนสนับสนุนและงบประมาณเพียงพอ เพื่อมียุทโธปกรณ์ที่ก้าวข้ามยุคสมัย เฉกเช่นที่ ‘คุณพ่อ’ ทำมาในอดีต เช่น การจัดซื้อเครื่อง F-16 เป็นยุคที่ประเทศเผชิญภัยคุกคาม โดยมีเครื่องบินเสนอตัวมา 4 แบบ เครื่องบินมิราจ ฝรั่งเศส, เครื่องบินทอร์นาโด, F-16, F-20 ที่เป็น ซูเปอร์ F-5

ซึ่งในยุคนั้น สหรัฐฯ นักวิชาการ ก็เชียร์ F-20 แต่สุดท้าย ทอ. โดยคณะกรรมการยุคคุณพ่อก็เลือก F-16 จึงเป็นที่วิจารณ์ไปทั่ว จากนั้นก็มีการเชิญนักวิชาการกับคุณพ่อมาพบเจอกันผ่านทีวี ซึ่งนักวิชาการขอให้ซื้อ F-20

แต่คุณพ่อกล่าวว่า ยอมรับสิ่งที่นักวิชาการและประชาชนให้ความเห็น เพราะเป็นความจริง F-20 เป็นเครื่องบินที่มีความทันสมัย สร้างจากบริษัทเครื่อง F-5 อุปกรณ์ใช้กันได้ เป็นบริษัทที่สหรัฐฯ สนับสนุน แต่ ทอ. เป็นกองทัพขนาดเล็ก มีงบจำกัด เราต้องใช้งบให้คุ้มค่า ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะเลือกใช้งบอันจำกัดนี้ สิ่งที่บอกว่าดีในกระดาษ หรือจะซื้อเครื่องที่พิสูจน์ในศึกสงครามว่าดีจริง

ซึ่งคำตอบกระจ่างแจ้ง ในการเลือกที่ไม่เสี่ยงเลือกที่เขาบอกว่าดี เพราะ F-20 ผลิตมา 4 เครื่อง แต่ตกไป 2 ลำ ในการแสดงแอร์โชว์ หากตัดสินใจผิดในวันนั้น ทอ. คงไม่มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในวันนี้” พล.อ.อ.นภาเดช อดีต ผบ.ทอ. กล่าว

สิ่งที่ พล.อ.อ.นภาเดช ต้องเผชิญเฉกเช่นยุคคุณพ่อ คือ ‘เสียงค้าน’ ในการจัดหาเครื่องบิน F-35 เมื่อปี 65 โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณปี 2566 ที่จะเป็น ‘งบตั้งต้นโครงการ’ โดยเมื่อ สิงหาคม 2565 คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาการอุทธรณ์ของกองทัพอากาศ ที่ขออุทธรณ์งบประมาณ 369 ล้านบาท จาก 738 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบินโจมตี F-35A จำนวน 2 ลำ (เครื่องเปล่า ไม่มีอาวุธ) ระยะที่ 1 โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการอุทธรณ์ของ ทอ.ด้วยคะแนน 45 เสียง ต่อ 22 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง 

สรุปว่า กมธ.ชุดใหญ่อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินโจมตี F-35A จำนวน 2 ลำ วงเงิน 369 ล้านบาทตามที่ ทอ. อุทธรณ์มา ถือเป็นการเริ่ม ‘ตั้งต้นโครงการ F-35’ ที่ขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสหรัฐฯ อนุมัติขายให้กับ ทอ. ไทย หากสุดท้ายสหรัฐฯ ไม่อนุมัติขาย งบ 369 ล้านบาท จะต้อง ‘ส่งคืนสภา’ ไม่สามารถโยกไปใช้โครงการอื่นได้

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับทางสหรัฐฯ ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมาดูจุด และพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าประจำการของ F-35A หากการจัดเป็นไปตามแผน คาดว่าภายในกลางปี 2566 ทุกอย่างจะมีความชัดเจน” พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. กล่าวเมื่อม.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ในทอ. ยุค พล.อ.อ.นภาเดช สมัยเป็น ผบ.ทอ. มีวิธีการ ‘ปล่อยข้อมูล-ให้ข่าว’ อย่างเป็นระบบและมีจังหวะ เพื่อสู้กับการให้ข่าวของฝั่งสภาฯ โดนก่อนที่ อนุกรรมาธิการฯ จะพิจารณาไม่กี่วัน ทอ. ได้ออกเอกสารข่าวพร้อมกับ ‘แผนผัง-รูปภาพ’ เพื่อย้ำถึงความจำเป็น-ความคุ้มค่า ออกมาก่อน

แต่สิ่งที่ พล.อ.อ.นภาเดช เคยถูกวิจารณ์หนักและถูกนำมาเชื่อมโยงสะเทือนมาถึงโครงการจัดหา F-35 คือเหตุการณ์เครื่องบิน Mig-29 ทอ.เมียนมา บินล้ำน่านฟ้าไทย ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ช่วงเวลา 11.00-12.00 น. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 หลังฝั่ง ทอ.ไทย ปฏิบัติการล่าช้า ส่งเครื่องบิน F-16 จำนวน 2 เครื่อง จากกองบิน 4 ตาคลี จ.นครสวรรค์ ไปบินลาดตระเวนรบทางอากาศ หรือ CAP – Combat Air Patrol เพื่อการแสดงกำลัง (Show of Force) เตือนว่า อย่าเข้ามาอีก

โดย เอฟ-16 ทำการบินราว 14.00 น. และ 16.30 น. พร้อมกับมาตรการทางการทูต โดย ทอ. ประท้วงผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำเมียนมา อีกทั้งพล.อ.อ.นภาเดช ได้สายตรงถึง ผบ.ทอ.เมียนมา ด้วยตนเอง โดยทาง ผบ.ทอ.เมียนมา ได้ชี้แจงว่า ไม่มีเจตนา แต่เป็นอุบัติเหตุ และกล่าวขอโทษ

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะคำพูดของ พล.อ.อ.นภาเดช ที่ให้สัมภาษณ์สื่อที่ถามว่า หากมีอีกครั้งจะดำเนินการอย่างไร ซึ่ง พล.อ.อ.นภาเดช ตอบว่า

“โดยปกติการป้องกันภัยทางอากาศมี 3 ลำดับ 1.พิสูจน์ฝ่าย 2.สกัดกั้น 3. ทำลาย

“แต่เมียนมาร์คือเพื่อน ถ้าเพื่อนพลั้งเผลอเดินตัดสนามหน้าบ้านแล้วเราจะไปยิงเขาตายเลยหรือ นั่นก็เกินไป เพราะฉะนั้น การปฏิบัติการที่เหมาะสมจึงขอให้อยู่บนพื้นฐานเพื่อนปฏิบัติต่อเพื่อน เชื่อว่าขณะนี้เขาตระหนักในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแน่นอน” พล.อ.อ.นภาเดช กล่าว

เหตุการณ์ดังกล่าวสะเทือนไปถึงโครงการจัดหา F-35 และถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ แต่โครงการ F-35 ก็ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ถือเป็นประวัติศาสตร์ของ ‘บ้านธูปะเตมีย์’ ที่มี 2 อดีต ผบ.ทอ. จาก ‘พ่อสู่ลูก’ และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ F-16 มาถึง F-35

 

ภาพ: (ซ้าย) พล.อ.อ. นภาเดช ธูปเตมีย์ (ขวา) พล.อ.อ. ประพันธ์ ธูปเตมีย์ ภาพจากหนังสือ สุภาพบุรุษทหารอากาศ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปเตมีย์