‘ถนนพระราม 2’ มรดกจากเผด็จการทหาร ภายใต้ยุคสงครามเย็น

‘ถนนพระราม 2’ มรดกจากเผด็จการทหาร ภายใต้ยุคสงครามเย็น

‘ถนนพระราม 2’ เส้นทางลงใต้ กับ สมญา ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ที่ไม่ได้มาแบบเล่นๆ

KEY

POINTS

  • ในอดีต สยามและอุษาคเนย์ไม่มีธรรมเนียมที่นำเอาพระนามพระมหากษัตริย์มาตั้งเป็นชื่อถนน เพราะว่าถนน สะพาน เป็นของต่ำ สำหรับผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย เหยียบย่ำ การนำเอาพระนามไปใช้จึงไม่เหมาะไม่ควร  
  • ยุครัฐบาล ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ อดีตลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำเอาพระนามที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 มาเป็นชื่อ ‘ถนนพระราม 2’    
  • การตัดถนนมีความสำคัญสำหรับยุคพัฒนาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะถือเป็นเครื่องมือนำเอาความเจริญเข้าไปยังท้องถิ่น

‘ถนนพระราม 2’ เส้นทางลงใต้ กับ สมญา ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ที่ไม่ได้มาแบบเล่น ๆ 

เรื่องราวของถนนพระราม 2 เป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นมีมล้อเปรียบกับระยะเวลาการสร้างของสำคัญระดับ ‘สิ่งมหัศจรรย์ของโลก’ อย่าง ‘มหาปิรามิดกีซา’ ที่ประเทศอียิปต์  ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 27 ปี ขณะที่ถนนพระราม 2 ของประเทศไทยใช้เวลาสร้างผ่านไปเป็นเวลากว่า 54 ปีเข้าไปแล้ว

แน่นอนว่านั่นเป็นการเปรียบเทียบข้ามบริบท แต่ทว่าก็เผยให้คนได้ฉุกคิดถึงสิ่งที่อยู่ใต้พื้นผิวของถนนที่สร้างไม่รู้จักจบสิ้น สิ่งนี้สัมพันธ์กับ ‘ลักษณะพิเศษ’ ของสังคมการเมืองไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้  

ถนนพระราม 2 เป็นถนนหลักสำหรับการสัญจรลงสู่ภาคใต้ที่จะใช้งานแทนที่ถนนเพชรเกษมสายเก่า จากถนนที่เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองยุคพัฒนาในอดีต ผันผ่านมาสู่การเป็นสัญลักษณ์ความด้อยพัฒนา  ทั้ง ๆ ที่เป็นถนนเส้นเดียวกัน  ประเด็นเรื่องสิ่งที่อยู่ใต้พื้นผิวเส้นทางการจราจรเส้นนี้จึงมีความสำคัญ  

เมื่อถนนไม่ใช่แค่ถนน และการพัฒนาก็ไม่ใช่แค่การพัฒนา หากแต่เป็นการพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์อย่างอื่นเป็นปัจจัยขับเคลื่อน โดยที่ก็ไม่ใช่สิ่งลี้ลับซับซ้อนเสียจนไม่มีใครรู้ ตรงข้ามสาเหตุที่ถนนเมืองไทยสร้างทำกันนาน หรือทำกันตลอด ชาวบ้านร้านตลาดต่างก็ล่วงรู้ว่าเพราะอะไร ไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยามาแก้ต่างให้ว่าเป็นเพราะดินอ่อนดินงอกจากทะเลแต่อย่างใดเลย    

กลุ่มคนที่น่าเห็นใจที่ได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ห่างออกไปอย่างหัวหินหรอกนะขอรับ เป็นผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมสองฝั่งย่านถนนพระราม 2 เองต่างหาก ที่ตลอดช่วงที่ผ่านมาเสียงของพวกเขาถูกกลบหายไป เพราะเสียงของรัฐที่มาพร้อมกับข้ออ้างเรื่องการพัฒนาระดับชาติ ทำให้พวกเขาต้องยอมกล้ำกลืนฝืนทนกันมานาน  

ชาวพระราม 2 เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเสียสละ เมื่อรัฐสร้างโครงการเพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อชาติบ้านเมืองกลายเป็นเหตุผลส่วนรวม เพื่อได้มาซึ่งเส้นทางลงใต้ที่สะดวกสบาย กลับต้องแลกมาด้วยมลพิษ ฝุ่น และอุบัติเหตุรายวัน ที่คนในย่านนั้นและคนที่ผ่านไปมาบนถนนนี้ต้องประสบพบเจออยู่ตลอด คำถามคือมันคุ้มกันแล้วหรือ? และนี่มันกี่ครั้งกี่หนกันแล้วล่ะ ที่โครงการรัฐทำอะไรที่เกิดผลกระทบแบบนี้อย่างโนสนโนแคร์ 

เส้นทางลงใต้ที่วันนี้เต็มไปด้วยการล่อลวงคนเดินทางด้วยน้ำใบกระท่อม เส้นทางลงใต้เพื่อให้ชาวกรุงเทพเมืองฟ้าได้ออกไปสัมผัสบรรยากาศริมทะเลภาคใต้ได้สะดวกโยธินในวันหยุดสุดสัปดาห์ เส้นทางเพื่อให้พี่น้องชาวใต้ได้เหยียบคันเร่งบึ่งตรงเข้าสู่เมืองหลวงได้รวดเร็วกว่าที่เคย แต่กลายเป็นความล่าช้าและการเดินทางที่เหนื่อยล้าสาหัสมานานหลายสิบปี 

สมญานาม ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ นี้ ไม่ได้มาแบบเล่น ๆ คนอื่นอาจจะทำมีมล้อกันขำขัน แต่คนที่ได้รับผลกระทบตรงนั้น อาจขำขื่นหรือขำไม่ออก อีกทั้งยังมีทีท่าว่าจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ยาวขึ้นเรื่อย ๆ แค่ทำถนนไม่พอ ช่วงหลังแถมพ่วงมากับรางรถไฟลอยฟ้าเข้าไปอีก ทีนี้ก็รถติดยาวกันไปอีกกี่สิบชั่วโคตร ไม่มีใครรู้ได้  

ก่อนนี้มีคติความเชื่อหนึ่งแพร่หลายในหมู่คนเดินทาง เมื่อรถจะวิ่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนหรือแม่กลอง ถ้าบีบจมูกกลั้นหายใจแล้วอธิษฐานจิตจะสมหวังดังใจหมาย นั่นมันยุคที่รถติดบนถนนพระราม 2 อยู่แค่ปลายบางขุนเทียน พ้นห้างเซ็นทรัลไปเข้าสู่เขตมหาชัย ก็เหยียบคันเร่งพุ่งไปได้เป็นร้อยแล้ว แต่พักหลังมานี้เมื่อรถติดยาวไปจนถึงสมุทรสาคร บางวันอย่างวันเสาร์ขาออกและวันอาทิตย์ขาเข้า บอกเลยว่า การกลั้นหายใจระหว่างข้ามสะพานแม่น้ำนั้น “อย่าหาทำเป็นอันขาด” เพราะรถคลานเกาะติดกันยาวไปเป็นขบวนการเต่างอยอยู่แบบนั้น คนทำต้องกลั้นหายใจนานหลายนาทีกว่าจะข้ามผ่านสะพานไปได้ ก็จะ “ตุยเย่” เอาได้ง่าย ๆ

เรียนรู้จากอดีต (กันหน่อยไหม?) & ธรรมเนียมการสร้างถนนในสยามและอุษาคเนย์

คำว่า ‘พระราม 2’ ที่ถูกนำเอามาใช้เป็นชื่อถนนนี้ เป็นชื่อที่สื่อถึง ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 เพราะเป็นถนนที่จะตัดผ่านไปยังบริเวณอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นถิ่นที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชสมภพ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถนนจะผ่านไป ‘บ้านเกิด’ ของในหลวงรัชกาลที่ 2 นั่นแลขอรับ  

แต่ในอดีต สยามและอุษาคเนย์ไม่มีธรรมเนียมที่นำเอาพระนามพระมหากษัตริย์มาตั้งเป็นชื่อถนน ชื่อถนนโบราณอย่าง ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ในฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง และบางส่วนของภาคใต้ตอนบน, ‘ถนนพระร่วง’ ในภาคเหนือตอนล่าง และ ‘ถนนพระรถ’ ในภาคตะวันออก ล้วนแต่เป็นชื่อที่กำหนดเรียกกันขึ้นตามตำนานมุขปาฐะในท้องถิ่นหรือ ‘ตำนานอธิบายถิ่น’

‘ตำนานอธิบายถิ่น’ หมายความว่าตำนานเหล่านี้มีขึ้น เพื่ออธิบายความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองที่ความทรงจำตามบันทึกลายลักษณ์อักษรสูญหายไป จึงเกิดการสร้าง Story ใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่คนชั้นหลัง (แม้แต่ท่านที่เป็นนักประวัติศาสตร์ - โบราณคดี - มานุษยวิทยา) ก็เข้าใจกันไป (เอง) ว่านั่นคือ History แต่ที่จริงยังไม่ถึงขั้นนั้น 

แน่นอนว่าคันถนนโบราณที่มีชื่อเรียกตามกษัตริย์ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นท้าวอู่ทอง พระร่วง พระรถ ล้วนแต่เป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมมีมายาวนานคู่กับเมืองโบราณที่อยู่ใกล้กัน ทว่าชื่อกษัตริย์เหล่านี้ก็เป็นตำนานที่เพิ่งจะเล่ากัน ก็ต่อเมื่อเกิดมีธรรมเนียมเอาชื่อพระมหากษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อถนนกันแล้ว       

ในเอกสารสำคัญของอยุธยาอย่าง ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ มีระบุถึงถนนปูด้วยอิฐหลายแห่ง ก็ไม่มีใช้พระนามพระมหากษัตริย์ ชื่อ ‘ถนนวังตรา’ หรือ ‘ถนนบางตรา’ ไม่ใช่ชื่อพระมหากษัตริย์ เป็นถนนที่ขุนนางใช้เดินทางขึ้นจากท่าน้ำข้างวังที่ท่าวาสุกรี แวะที่บ่อน้ำวัดธรรมิกราช ก่อนเข้าสู่เขตพระราชฐานในพระราชวังหลวง เช่นเดียวกันมี ‘ถนนนายก่าย’ (ที่ภายหลังเพี้ยนเป็น ‘ถนนในไก่’ และบางส่วนเป็น ‘ถนนคลองมะขามเรียง’) มี ‘ถนนจีน’ ที่ย่านตลาด มี ‘ถนนบางเอียน’ หรือแม้แต่อย่าง ‘ถนนมหารัถยา’ ฯลฯ ล้วนแต่ไม่ใช่ถนนชื่อพระมหากษัตริย์  ส่วนที่มี ‘ถนนนเรศวร’ นั้นตั้งกันภายหลังเช่นกัน  

นอกเมืองอยุธยาที่บริเวณตำบลท่าเรือไปจนถึงชุมชนตรงเนินเขาพระพุทธบาท  มีถนนโบราณสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี เดิมก็ใช้ชื่อ ‘ถนนฝรั่งส่องกล้อง’ เพราะราชสำนักได้ว่าจ้างให้วิศวกรชาวฮอลันดามารังวัดตัดถนน ที่มีอีกชื่อซ้อนทับกันว่า ‘ถนนพระเจ้าทรงธรรม’ ก็เช่นเดียวกับ ‘ถนนนเรศวร’ คือตั้งกันภายหลัง  

รวมถึงสะพานเดิมก็ไม่มีธรรมเนียมเอาชื่อพระมหากษัตริย์ไปตั้ง ที่มี ‘สะพานสมเด็จพระนเรศวร’, ‘สะพานสมเด็จพระเอกาทศรถ’, ‘สะพานพระพุทธยอดฟ้า, ‘สะพานพระปิ่นเกล้า’, ‘สะพานพระราม 5’, ‘สะพานพระราม 7’ ล้วนแต่เป็นของตั้งใหม่โดยไม่สนธรรมเนียมเดิมทั้งสิ้น  

ที่เป็นเช่นนั้น (การไม่มีธรรมเนียมเอาพระนามมาตั้งเป็นชื่อถนน ชื่อสะพาน) ก็เพราะว่าถนน สะพาน เป็นของต่ำ สำหรับผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย เหยียบย่ำ การนำเอาพระนามไปใช้จึงไม่เหมาะไม่ควร  แม้แต่เมื่อมีการตัดถนนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ยังไม่มีนิยมนำเอาพระนามไปตั้งเป็นชื่อถนน เป็นแต่ใช้ชื่อขุนนาง เช่น ‘ถนนเพชรเกษม’ ตัดลงใต้ เมื่อ พ.ศ. 2464 ก็ใช้ชื่อ ‘หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์’ (แถม เพชรเกษม) อธิบดีกรมทางหลวงสมัยนั้น หรืออย่าง ‘ถนนสุขุมวิท’ ตัดจากกรุงเทพฯ ไปยังชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เมื่อ พ.ศ. 2466 ก็ใช้ชื่อ ‘พระพิศาลสุขุมวิท’ (ประสบ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวงในสมัยนั้นเช่นกัน

แต่เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เกิดธรรมเนียมเอาชื่อสามัญชนคนสำคัญไปตั้งเป็นชื่อถนนและสะพาน เช่น ‘สะพานปรีดี - ธำรง’ ที่ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ และ ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’ ชาวพระนครศรีอยุธยาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร สะพานนี้ถือเป็นสะพานแขวนคอนกรีตแรกของประเทศที่ใช้ชื่อสามัญชน ก่อนที่อีกหลายปีต่อมาจะเกิดมี ‘สะพานติณสูลานนท์’ ขึ้นที่สงขลา 

นอกจากนี้ยังมี ‘ถนนพหลโยธิน’ ที่ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ‘ถนนโรจนะ’ ที่ปัจจุบันได้แบ่งบางส่วนไปเป็น ‘ถนนปรีดี พนมยงค์’ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์ มี ‘ถนนมาลัยแมน’ ที่ตัดระหว่างนครปฐมกับสุพรรณบุรี ผ่านไปทางอ.อู่ทอง มี ‘ถนนสุวรรณศร’ ของภาคตะวันออก ตัดจากหินกองถึงอรัญประเทศ ก็ล้วนแต่ใช้ชื่อสามัญชน

แต่ในยุคหลังทศวรรษ 2500 หลังรัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สร้างนวัตกรรมใหม่อย่างการนำเอาพระนามมาใช้เป็นชื่อถนน และถนนลงใต้เส้นหนึ่งที่เริ่มตัดเมื่อ พ.ศ. 2513 ยุครัฐบาล ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ อดีตลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้นำเอาพระนามที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 มาเป็นชื่อ ‘ถนนพระราม 2’    

‘ถนนพระราม 2’ ถนนที่แอบอิงพระราชประวัติรัชกาลที่ 2     

ถนนพระราม 2 ตัดจากดาวคะนองไปเพชรบุรี เป็นเส้นที่จะผ่านไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองที่สมุทรสงคราม บริเวณดังกล่าวนั้นเป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญอย่างย่านอัมพวา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีเพราะมีตลาดน้ำยอดฮิต อันเป็นต้นแบบของตลาดน้ำที่แพร่หลายทั่วประเทศ แต่ในประวัติศาสตร์ อัมพวาถือเป็นย่านพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ครั้งเมื่อพระราชบิดา (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1) ยังเป็นขุนนางท้องถิ่น ปลัดยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเป็นเวลาก่อนหน้าจะเสียกรุงศรีอยุธยาในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2310) อีกราว 2 เดือนต่อมา   

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงรับราชการเป็นขุนนางท้องถิ่นประจำเมืองราชบุรี แต่เหตุใดจึงทรงมาประทับและมีนิวาสถาน (ซึ่งสมัยก่อนถือเป็น ‘ออฟฟิศ’ หรือที่ทำงานของขุนนางท่านนั้นด้วย) อยู่ในย่านอัมพวา???  

ก็เพราะสมัยนั้น อัมพวายังเป็น ‘แขวงบางช้างเก่า’ ขึ้นกับเมืองราชบุรี ชาวราชบุรียังมิได้เสียดินแดนส่วนนี้ให้แก่ชาวเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม!!!       

ว่ากันว่าแขวงบางช้างเก่านี้ ก่อตั้งขึ้นโดยสืบมาจากเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัยที่อพยพลี้ภัยมาจากอยุธยาในรัชกาล ‘สมเด็จพระเอกาทศรถ’ แต่ทว่าการเกิดชุมชนบ้านเมืองไม่จำเป็นจะต้องสัมพันธ์กับบทบาทของชนชั้นนำหรอก โดยภูมิสถานบริเวณดังกล่าวนี้เป็นย่านที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นทำมาค้าขายกันอยู่แล้ว จึงมีคนจีนเข้ามาตั้งรกราก และท่านปลัดยกกระบัตรทองด้วง (รัชกาลที่ 1) ก็เป็นขุนนางท่านหนึ่งที่ได้แต่งงานกับสาวชาวจีนตระกูลมั่งคั่งในย่านนี้  

ฃความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของย่านนี้ก็อย่างเช่นที่มีสำนวนโบราณกล่าวว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง” คือเป็นย่านบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่ง เทียบเท่ากับเมืองอันดับสองของราชอาณาจักรในสมัยอยุธยาอย่างเมืองท่าบางกอกเลยทีเดียว  

ถึงกระนั้นบริเวณนี้ก็ยังถือว่าอยู่ห่างไกลและเป็นปลายแดนของราชบุรีที่มาชนกับเมืองแม่กลอง เหตุที่ที่พำนักหรือที่ทำการของปลัดยกกระบัตร ต้องอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของเมืองนั้น ๆ ก็เพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์การเมือง

ตำแหน่งปลัดยกกระบัตรนี้ถือเป็นกลไกการปกครองของอยุธยาต่อหัวเมือง สำหรับบ้านเมืองที่มีชนชั้นนำเดิมเป็นเจ้าเมืองอยู่ กษัตริย์อยุธยาจะแต่งตั้งขุนนางชั้นมหาดเล็กไปเป็นปลัดยกกระบัตร ถือเป็นรองเจ้าเมืองอยู่โดยนัย เมื่อเจ้าเมืองเดิมเสียชีวิต ก็จะมีการแต่งตั้งปลัดยกกระบัตรขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนโดยทันที พูดง่าย ๆ ปลัดยกกระบัตรก็คือตัวแทนที่ส่วนกลางส่งไปตรวจสอบและถ่วงดุลเจ้าเมืองเก่าอีกต่อหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ปลัดยกกระบัตรกับเจ้าเมืองเลยเหมือนเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน ปลัดยกกระบัตรจึงต้องแยกมาอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองต่างหาก อยู่ใกล้กันไม่ได้ เจ้าเมืองคนเก่าที่มีอำนาจบารมีอาจใช้อิทธิพลกลั่นแกล้งถึงตายได้  

ปลัดยกกระบัตรเลยต้องไปประจำการอยู่ปลายแดน และแดนดังกล่าวนี้ก็จะต้องเป็นด่านทางที่จะติดต่อกับส่วนกลางได้สะดวก ตามลักษณะการคมนาคมทางน้ำในอดีตของเมืองราชบุรี บริเวณดังกล่าวนั้นไม่ใช่ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง แต่เป็นทางใต้ตามลำน้ำแม่กลอง   

กรณีปลัดยกกระบัตรเมืองจันทบุรี ตามความในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ อยู่ที่บ้านโพธิ์ทอง ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดระยอง ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนว่าระบบนี้ยังคงใช้อยู่จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ที่สุนทรภู่ไปแกลงนั้นก็คือไปพบปลัดยกกระบัตรเมืองจันทบุรี แต่เช่นเดียวกับอัมพวาที่ไปขึ้นกับสมุทรสงครามในภายหลัง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำประแสหรือเมืองแกลงเก่าที่เคยขึ้นกับจันทบุรี ก็เพิ่งจะโยกย้ายถ่ายโอนมาขึ้นกับเมืองระยองในสมัยรัชกาลที่ 5 สุนทรภู่เลยอดไปจันทบุรี ไประยองแทน เพราะระยองได้ดินแดนแกลงมาจากจันทบุรี   

‘ถนนพระราม 2’ ผลงานชิ้นโบว์แดงของเผด็จการทหารไทยแท้

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า หลัง 2475 ได้เกิดมีกระแสความนิยมในการใช้ชื่อสามัญชนเป็นชื่อถนนและสะพาน บางแห่งใช้ชื่อหัวหน้าหน่วยงานที่ตัดถนนเส้นนั้น เช่น ‘ถนนโรจนะ’, ‘ถนนมาลัยแมน’, ‘ถนนสุวรรณศร’ เป็นต้น  

การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มนายทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2500 ส่งผลต่อการยกเลิกอุดมการณ์รัฐที่สืบเนื่องมาจากนโยบายคณะราษฎร โดยกลุ่มเผด็จการทหารกลุ่มนี้ได้เริ่มหันไปแอบอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มาตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้น เผด็จการทหารกลุ่มนี้ยังมีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายใต้สนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เพราะยังเป็นยุคสงครามเย็น  

การตัดถนนมีความสำคัญสำหรับยุคพัฒนาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะถือเป็นเครื่องมือนำเอาความเจริญเข้าไปยังท้องถิ่น ตามข้อเสนอแนะของเทคโนแครตจากสหรัฐอเมริกา  เพื่อที่ความเจริญที่ว่านั้นจะช่วยให้ชาวบ้านประชาชนในท้องถิ่นไม่หันไปนิยมคอมมิวนิสต์ ถนนนี้ก็เช่น ‘ถนนมิตรภาพ’ ที่ตัดเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน   

ถนนจันทบุรี - สระแก้ว ตัดเมื่อ พ.ศ. 2505 สำหรับเป็นเส้นเลียบแนวชายแดนธรรมชาติของภาคตะวันออกที่คั่นระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา เป็นถนนตัดโดยองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตัวย่อ: สปอ.; อังกฤษ: Southeast Asia Treaty Organization) หรือ ซีโต้ (SEATO)) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์โดยตรง การตัดถนนพระราม 2 เพื่อลงใต้ได้สะดวกขึ้นกว่าเส้นเพชรเกษมที่มีอยู่เดิมในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม ก็ยังเป็นช่วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ตามเขตป่าเขาในพื้นที่ภาคใต้ด้วยเหมือนกัน   

บุคคลสำคัญในเส้นทางถนนลงใต้ใหม่นี้ นอกจากรัชกาลที่ 2 ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับย่านบริเวณจากดาวคะนองถึงสมุทรสงคราม ยังมีเช่น ‘เทียนวรรณ วรรณโภ’ ผู้มีพื้นเพเป็นชาวบางขุนเทียน หรือแม้แต่ ‘พันท้ายนรสิงห์’ ที่ตำบลโคกขาม สมุทรสงคราม และ ‘พระยาวิเชียรโชฎก’ ที่ป้อมมหาชัย จ.สมุทรสาคร  

แต่เพราะรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอมอ้างความชอบธรรมจากสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อต้านคอมมิวนิสต์ควบคู่กัน เช่นเดียวกับที่ลูกพี่คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้วางรากฐานเอาไว้ จึงไม่แปลกที่ระหว่าง ‘ถนนเทียนวรรณ’, ‘ถนนพันท้ายนรสิงห์’,  ‘ถนนวิเชียรโชฎก’ และ ‘ถนนพระราม 2’ คำหลังนี้จะเข้าวิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดยุคสงครามเย็นไปแล้ว คำถามคือบทบาทของถนนพระราม 2 ทำไมจึงยังไม่หมดฟังก์ชั่น ก็เพราะแม้จะไม่ใช่ยุคสงครามจิตวิทยาต้านคอมมี่ไปแล้วก็จริง แต่ถนนคือถนน  เป็นเรื่องของอำนาจ/ความรู้ของการคมนาคมสมัยใหม่ ที่แม้แต่พวกเด็ก ๆ สมัย 14 ตุลาคม 2516 ที่กลายมาเป็น ‘คนเดือนตุลา’ ในชั้นหลังมานี้ก็ไม่เคยได้คิดต่อต้านขัดขืนหรือทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ   

ถนน การพัฒนา และการเมืองแบบไทย ๆ & ความสะดวกสบายที่คาดว่าจะได้รับ (ในอนาคต) สู่ “อำนาจ/ความรู้ของถนนและงานโยธา” (ในปัจจุบัน)   

กรณีการสร้างถนนดูเหมือนจะจริงอย่างที่ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ (George Orwell) เคยกล่าวไว้ใน ‘1984’ นวนิยายเรื่องเด่นดังของเขา ที่ว่า “ผู้ใดกุมอนาคต ผู้นั้นมีอำนาจ” ถนนที่การทางฯ กุมอยู่ในที่นี้ไม่ใช่แค่ถนน หากแต่เป็นการกุมอนาคตที่เป็นความสะดวกสบาย (ที่คาดว่าจะได้รับ) ความรู้วิศวกรรมโยธาที่ออกมาซับพอร์ทการสร้างถนน ก็จึงเป็นความรู้ที่มีอำนาจเนื่องจากการกุมอนาคตของผู้คนไว้ในมือเช่นกัน ไม่แปลกที่เผด็จการอำนาจนิยมในประเทศโลกที่สามจะนิยมชมชอบและสนับสนุนความรู้เช่นนี้

ในอดีต การขุดคลองเคยมีบทบาทเช่นนี้เช่นกัน เพียงแต่การขุดคลองนั้นเมื่อก่อนรัฐจะเกณฑ์แรงงานไพร่มาขุด ถือเป็นงานโยธา ควบคู่กับการถางหญ้าถมถนนเพื่อสร้างทางเชื่อมกับคลองที่ขุดใหม่นั้น การขุดคลองและปราบถนนนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่เสร็จแม่กองซึ่งเป็นขุนนางผู้รับผิดชอบอาจจะหัวหลุดจากบ่าได้  

ภายหลังเมื่องานโยธาถูกโอนไปเป็นบทบาทหน้าที่ของข้าราชการ ยิ่งเป็นข้าราชการยุคที่วางตัวเองเป็น ‘นายของประชาชน’ ด้วยแล้ว ยิ่งโนสน โนแคร์  ใครเดือดร้อนก็ปล่อยให้เดือดร้อนกันไป แลกกับความสะดวกสบาย (ที่คาดว่าจะได้รับ) ในอนาคต ถือเป็นงานของประเทศชาติบ้านเมือง ท้องถิ่นต้องเงียบปาก แม้จะสร้างนานเจ็ดชั่วโคตร ก็ไม่เป็นไร หัวยังอยู่กับบ่า แม้จะภายใต้พระนามหรือทำให้พระนามต้องมัวหมองไปด้วยก็ไม่เป็นไร   

ในแถบชายฝั่งทะเลปัจจุบัน งานโยธายังสร้างทำสิ่งวิปริตอย่างผนังก่อซีเมนต์กั้นน้ำทะเล ไม่ใช่เพื่อป้องกันคลื่นให้ชาวบ้าน หากแต่เพราะกลัวถนนที่ตนเองสร้างนั้นจะพัง ก็ไม่รู้ว่าเอาอะไรมาคิดว่าของพรรค์นั้นจะสู้รบปรบมือกับพี่ทะเลเค้าได้   

อย่างไรก็ตาม ความคิดทำนองนี้ก็เป็นความคิดแบบเดียวกับการสร้างเขื่อนกีดขวางทางน้ำธรรมชาติ พื้นฐานความคิดคือความเชื่อมั่นต่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าจะทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติและเรียบง่าย   

ในขณะที่รัฐและระบบการศึกษามักจะสอนเด็กเยาวชนว่าให้ “อยู่กับปัจจุบัน” แต่รัฐกลับชอบทำอะไรเพื่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน และคำว่า ‘ปัจจุบัน’ ที่ว่านี้ก็กินระยะเวลายาวนานข้ามภพข้ามชาติ  

กล่าวโดยสรุป การพัฒนาที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐเผด็จการไม่ใช่การพัฒนาเพื่อความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชน (ดังที่เขามักหลอกลวงกัน) หากแต่เป็น “การพัฒนาเพื่อสัมฤทธิ์ผลทางการเมือง” ในอดีตเป็นการพัฒนาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์และกีดกันคณะราษฎร ก็เปลี่ยนมาสู่ “การพัฒนาเพื่อคุมกำเนิดประชาธิปไตย” (ของแทร่)      

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว  ระหว่าง ‘ถนนพระราม 2’ ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ กับ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ คนไทยจะได้อะไรก่อนกัน ให้คุกกี้ทำนายกัน (ดีไหม?)

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

ภาพ : คมชัดลึก