Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

‘ปีเตอร์ เบนส์’ (Peter Baines) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Hands Across the Water เปิดบ้านเพื่อดูแลเด็กไทยที่ยากไร้ให้มีบ้านอันอบอุ่นและได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง การกลับมาไทยครั้งนี้เขามาพร้อม ‘Run to Remember’ โครงการวิ่งการกุศล รำลึก 20 ปีถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

จำได้ว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ตอนนั้นเราอายุไม่กี่ขวบ แม้ไม่ค่อยรู้ความ แต่เข้าใจถึงความเสียหายจากภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะเราอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง ไม่ก็เพราะเราอยู่กับทะเลอันดามันมาตั้งแต่เกิด ความสูญเสียที่พวกเขาได้รับทำให้เรารู้สึกทุกข์ทะทมไม่ต่างกัน

เราเห็นภาพนักข่าวพยายามทำงานอย่างสุดความสามารถ แต่กลับจมหายไปท่ามกลางสายน้ำ เห็นอาสาสมัครหลายคนเข้ามาช่วยแบ่งเบาความเศร้าของผู้ได้รับผลกระทบ เห็นถึงความห่วงใยจากคนแปลกหน้าหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย แต่สิ่งที่ไม่อาจทดแทนได้คือ ‘ชีวิต’ ของผู้คนที่ถูกคลื่นสึนามิพรากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

20 ปีต่อมา เราได้พูดคุยกับ ‘ปีเตอร์ เบนส์’ (Peter Baines) ชาวออสเตรเลียผู้เข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในครั้งนั้นด้วย ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมกับ ‘Run to Remember’ โครงการวิ่งการกุศล จากจังหวัดยโสธร ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และมุ่งหน้าไปยังอนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ก่อนจะสิ้นสุดการวิ่งในวันที่ 26 ธันวาคม รวมระยะทางทั้งหมดราว 1,400 กิโลเมตร

และนี่คือเรื่องราวของปีเตอร์ เบนส์ ชายผู้เห็นสัจธรรมของชีวิตผ่านคลื่นสึนามิ จนตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิ Hands Across the Water เพื่อซับคราบน้ำตาคนไทยให้เหือดแห้ง ผ่านการระดมทุนที่หวังจะเห็นทุกคนมีบ้านและการศึกษาที่ดี

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

01 - เริ่มต้นภารกิจ

ปีเตอร์คือชาวต่างชาติ เกิดในชนชั้นแรงงาน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ที่ออสเตรเลีย มีฝันเล็ก ๆ ว่าโตขึ้นมาอยากจะเป็นตำรวจ ถึงจะเติบโตต่างแดนไม่ได้มีความผูกพันใด ๆ กับประเทศไทยก็จริง แต่เพราะประสบการณ์ทำงานร่วมกับตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์  (NSW Police) ในตำแหน่งพนักงานสอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Investigator) เป็นเวลากว่า 22 ปี ร่วมงานกับองค์การระดับประเทศมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น องค์การตำรวจสากล (Interpol) ในฝรั่งเศส, องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเขามีทีมที่พร้อมบุกป่าฝ่าดงเพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาจนถึงประเทศไทย

ปีเตอร์เห็นความทุกข์ทรมานของผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วน เห็นความสูญเสียมาแล้วไม่รู้กี่พันครั้ง และยิ่งเห็นชัดขึ้นไปอีกเมื่อเดินทางมายังประเทศไทย หลังจากนำทีมผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547  

ภาพบ้านเรือนพังทลายราบเป็นหน้ากลอง เสียงร้องไห้ดังระงมทั่วทุกหนแห่ง ร่างผู้เสียชีวิตที่ไม่อาจระบุได้ว่าพวกเขาคือใคร ทั้งหมดนี้ทำให้ใจของปีเตอร์แหลกสลายไม่ต่างกัน จึงตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิ Hands Across the Water ในช่วงปลายปี 2548 เพื่อระดมทุนและช่วยเหลือเด็กในประเทศไทย

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

“ผมลงไปยังพื้นที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นราวหนึ่งเดือนเห็นจะได้ ระหว่างนั้นผมและทีมก็ทำหน้าที่ระบุตัวตนของผู้เสียชีวิต จนกระทั่งได้เจอกับเด็กกลุ่มหนึ่ง พวกเขาสูญเสียครอบครัวไปจากสึนามิ วินาทีนั้นผมตระหนักได้ว่าสิ่งที่เด็ก ๆ สูญเสียไปนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ก็จริง แต่สิ่งที่ผมสามารถเปลี่ยนได้ก็คือ การทำให้พวกเขามีบ้านอันอบอุ่น บ้านที่จะทำให้พวกเขาไม่ต้องนอนร้องไห้ จึงกลับมาออสเตรเลียและเริ่มก่อตั้งองค์การการกุศล Hands Across the Water ในปี 2548"

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ จากจุดเริ่มต้นของภารกิจที่จะเข้าไปช่วยระบุตัวตนผู้เสียชีวิต นำมาสู่ภารกิจครั้งใหม่ นั่นคือการสร้างบ้านซึ่งจะเป็นที่พักพิงชั่วระยะหนึ่งให้เด็กด้อยโอกาส ปีเตอร์ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งปี บ้านหลังแรก ‘ธารน้ำใจ’ ก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนจะเดินทางกลับไปยังออสเตรเลียอีกครั้ง

ราวกับโชคชะตาเป็นใจ ปีเตอร์เจอกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านโฮมฮักหรือมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ สถานที่ที่รับดูแลเด็กยากไร้ ตั้งแต่เด็กกำพร้าที่ติดเชื้อเอชไอวี เด็ก ๆ ที่ต้องสูญเสียพ่อแม่จากโรคเอดส์ รวมถึงถูกล่วงละเมิด ปีเตอร์จึงไม่ลังเลที่จะบินกลับมายังประเทศไทยในปี 2553 และพูดคุยกับ ‘แม่ติ๋ว’ ภิกษุณีผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ด้วยใจรัก

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

ใช่ว่าการเข้ามาของชาวต่างชาติจะได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่เสมอไป ปีเตอร์และทีมงานต้องใช้เวลาไม่น้อยในการสร้างความเชื่อถือ

“ผมรู้ว่าการมาของผมมันต้องใช้เวลา ผมบอกกับชาวบ้านว่าเดี๋ยวผมจะกลับมา ผมจะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมไป ๆ มา ๆ ระหว่างออสเตรเลีย-ไทย นั่นล่ะเลยกลายเป็นว่าเธอเห็นถึงความตั้งใจจริง เห็นถึงความรักที่ผมมีต่อเด็ก ๆ และเรายังสนับสนุนภารกิจของเธอในการดูแลเด็ก ๆ อยู่เสมอ

“สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการเกิดในชนชั้นแรงงาน ทำให้ผมมองเห็นความสุขได้ชัด ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย ก็สามารถมีความสุขได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างตอนผมเดินทางไปอีสาน ชาวบ้านไม่ได้มีบ้านหลังใหญ่อะไรเลยนะ แต่ผมเห็นรอยยิ้มของพวกเขาอยู่เสมอ นั่นแหละคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต”

ปัจจุบัน มีบ้านทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน คือ บ้านธารน้ำใจ, บ้านโฮมฮัก ยโสธร, บ้านโฮมฮัก สุรินทร์, นิวไลฟ์โปรเจ็กต์ กาญจนบุรี, นิวไลฟ์โปรเจ็กต์ ชุมพร, บ้านน้ำเค็ม และสถานสงเคราะห์เด็กบ้านพ่อแม่ (PAMA House) จันทบุรี

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

02 – ต้องเริ่มถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าการทำงานของปีเตอร์จะเดินทางอยู่บ่อยครั้ง โชคดีที่ครอบครัวของเขาเข้าใจมนุษย์พ่อผู้นี้เป็นอย่างดี ทั้งภรรยาและลูก ๆ ต่างสนับสนุนอยู่ไม่ห่าง จึงเป็นอีกเหตุผลให้เขายังคงทำหน้าที่ส่งต่อความรักมายังเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย

“ผมอยากให้ลูก ๆ เห็นผมเป็นแบบอย่างผ่านงานที่ผมทำ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็ก ๆ เรื่องของสิทธิมนุษยชน ผมไม่อยากให้มองหาเหตุผลว่าทำไมจะต้องทำด้วย

“ผมอยากทำมัน ถึงผมจะมีงานอีกหลายอย่าง ผมมีงานประจำ ผมทำงานกับตำรวจสากล ดูด้านต่อต้านการก่อการร้าย มันเป็นงานที่ยุ่งมากนะ แต่คุณรู้ไหมว่าตอนได้เจอเด็ก ๆ ที่ต้องสูญเสียครอบครัว ผมว่ามันคือสิ่งที่ผมต้องทำ และควรทำ"

“เพราะถ้าผมหยุด ผมคงเป็นคนเห็นแก่ตัว”

ถึงจะมีเด็กหลายคนไม่รู้ว่าเขาคือใคร รู้เพียงแค่ว่าเขาคือ ‘คุณปีเตอร์’ ชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่เขายังคงภาคภูมิใจในการดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้อยู่เสมอ ตั้งแต่วันแรกที่เขาเดินทางมายังประเทศไทย ทำงานร่วมกับมูลนิธิต่าง ๆ จัดตั้งองค์การการกุศลของตัวเอง ซึ่งทุกโครงการของเขามีเพียงสิ่งเดียวที่หวังอยากจะเห็นคือ อยากให้เด็กทุกคนเติบโตมาท่ามกลางความรัก และได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

เพราะเขาเคยเห็นด้านที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์มาแล้ว จึงไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นอีก

“ในงานของผมด้านนิติเวช ผมมองเห็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในตัวมนุษย์ แต่การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผมได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของผู้คน

“ผมคิดว่านั่นคือความแตกต่าง เพราะตอนที่ผมทำงานอยู่ในกรมตำรวจ งานส่วนใหญ่ของผมเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม การฆาตกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ และการก่อการร้าย

“แต่ผมไม่เคยหมดหวังในมนุษย์นะ มันคืองานที่ผมต้องทำ”

Peter Baines : Run to Remember ภารกิจวิ่ง 1,400 ก.ม. จากยโสธรถึงพังงา เพื่อรำลึกถึงคนที่จากไปในคลื่นสึนามิ

03 – เพราะรักจึงต้องปล่อย

“ความสำเร็จที่แท้จริงสำหรับองค์การการกุศล คือ การปิดตัวลง”

ปีเตอร์บอกถึงหมุดหมายที่เขาวางไว้ในใจ ว่าสุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา เขาอยากจะเห็นมันปิดลง ไม่อยากเห็นเด็กคนไหนต้องมาอยู่ในบ้านหลังนี้อีก

“จุดที่วัดความสำเร็จของเราได้จริง ๆ คือ การสร้างทางเลือกในการใช้ชีวิตสำหรับเด็ก ๆ เรามอบที่พัก จัดหาอาหาร เจ็บป่วยก็รักษา เราดูแลทุกอย่างเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ แต่ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว ความสำเร็จจริง ๆ คือเด็กทุกคนสามารถมีชีวิตของตัวเอง”

เด็กจำนวน 36 คนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หนึ่งในนั้นได้รับโอกาสครั้งใหญ่ให้ไปศึกษาต่อด้านโฆษณา ประเทศออสเตรเลีย ส่วนอีกคนกำลังเรียนต่อปริญญาเอก ขณะที่บางคนเรียนจบจิตวิทยาและกลับมาช่วยงานที่ ‘บ้าน’ ของพวกเขา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เด็ก ๆ ได้รับจากการทำงานอย่างหนักของปีเตอร์

จึงไม่แปลกที่ความปรารถนาของชายคนนี้ อยากจะเห็นเด็กในความดูแลของเขา โบยบินไปใช้ชีวิตตามใจฝัน

แม้จะมีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้นมากมายระหว่างการทำงานในประเทศไทย แต่เมื่อถามถึงความทรงจำที่เจ็บปวด ปีเตอร์นิ่งคิดอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะตอบมาด้วยความระมัดระวังว่า มีเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่ต่างกับฝันร้ายสร้างความรวดร้าวให้เขามาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ การจมน้ำเสียชีวิตของเด็ก ๆ

“ผมเสียใจที่ไม่สามารถช่วยเด็ก ๆ ได้ พวกเขาอาศัยอยู่ที่บ้านธารน้ำใจ ใกล้ ๆ กับชายฝั่ง ที่ออสเตรเลียเด็กทุกคนว่ายน้ำเป็น แต่กับเด็กไทยพวกเขาไม่ใช่อย่างนั้น มีเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ตกไปในทะเล แล้วเด็กอีกสองคนเขาเห็นเลยลงไปช่วย แต่ปรากฎว่าเด็กสองในสามคนนั้นเสียชีวิต ส่วนเด็กที่รอดก็ได้รับความเสียหายทางสมองจากการจมน้ำ”

“เหตุผลที่ผมเสียใจเป็นเพราะ ถ้าผมแข็งแกร่งกว่านี้ เด็ดขาดกว่านี้ เด็ก ๆ คงไม่จากไป”

ความเสียใจที่ปีเตอร์ไม่อาจสลัดมันออกไปได้ เขาจึงทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอย และในวาระครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศไทย เขาจึงหวนกลับมายัง ‘บ้าน’ หลังนี้อีกครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยรับรู้ว่า เขาในฐานะคนต่างชาติไม่เคยลืมฝันร้ายครั้งนั้น โดยได้แต่หวังว่าการวิ่งการกุศลจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กไทยอีกหลายร้อยหลายพันคน

 

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ https://www.handsacrossthewater.org.au/

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปีเตอร์ เบนส์ 

  • ได้รับเหรียญ Order of Australia ในปี 2557 สำหรับการทำงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ในปี 2559
  • ชาวออสเตรเลียคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติของ Rotary Professional Excellence Award ในปี 2551
  • ผู้เข้ารอบสุดท้ายของ นิวเซาท์เวลส์ สำหรับรางวัล Australian of the Year ในปี 2553
  • ได้รับรางวัล NSW Police Service Medal และ Australian Federal Police Operations Medal สำหรับการทำงานในเอเชีย
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ NSW คนแรกที่ได้รับรางวัล Humanitarian Overseas Service Medal และ Australian National Medal