อีกอร์ โนวิคอฟ : นักจักรวาลวิทยาผู้เชื่อว่าถึงจะมีการข้ามเวลาไปแก้อดีต แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนอนาคตได้

อีกอร์ โนวิคอฟ : นักจักรวาลวิทยาผู้เชื่อว่าถึงจะมีการข้ามเวลาไปแก้อดีต แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนอนาคตได้

‘อีกอร์ ดมิทรีเยวิช โนวิคอฟ’ (Igor Dmitriyevich Novikov) นักจักรวาลวิทยาโซเวียต เจ้าของทฤษฎี Novikov self-consistency หลักการซึ่งสนับสนุนทฤษฎีการเดินทางข้ามเวลา

“ความเป็นไปได้ในการเยือนอนาคตนั้นน่าพิศวงยิ่งนัก สำหรับผู้ที่ได้รับรู้ถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรก”

คุณเคยทำเรื่องผิดพลาดจนอยากจะเดินทางย้อนเวลากลับไปแก้ไขความน่าอับอายในอดีตนั้นมั้ย

หรืออยากจะกระโดดเข้าไปสู่อนาคต เพื่อดูว่าการทำงานหนักของเราในวันนี้ จะทำให้ตัวเราในอนาคตมีความเป็นอยู่อย่างไร

คนที่คุณจะแต่งงานด้วยใช่แฟนคนที่คุณคบหาอยู่ล่าสุดหรือเปล่า

พ่อกับแม่จะอยู่กับคุณอีกกี่ปีกันนะ

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การเดินทางข้ามเวลา (time travel)

แต่เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นอะไรที่ ‘ดูจะ’ เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเองก็สนใจประเด็นนี้เช่นนั้น หนึ่งในนั้นคือ ‘อีกอร์ ดมิทรีเยวิช โนวิคอฟ’ (Igor Dmitriyevich Novikov) นักจักรวาลวิทยาโซเวียต ผู้หลงใหลในเรื่องการเดินทางข้ามเวลา เขาพยายามหาคำตอบมาอธิบายว่าเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร กระทั่งค้นพบความสอดคล้องบางอย่างขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1980 จนเป็นที่มาของทฤษฎี Novikov self-consistency หลักการซึ่งสนับสนุนทฤษฎีการเดินทางข้ามเวลา โดยระบุว่า การกระทำของผู้เดินทางย้อนเวลาไม่สามารถสร้างความขัดแย้งในอดีตได้ กล่าวคือ เหตุการณ์ทั้งหมดในอดีตจะต้องสอดคล้องกันเอง ไม่ว่าจะมีการเดินทางข้ามเวลาเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม

“The past is fixed, and we cannot change it, even if we try.”

หลักการนี้ไม่เพียงแต่ท้าทายจินตนาการของคนทั่วไปเกี่ยวกับการย้อนเวลา แต่ยังช่วยวางรากฐานสำหรับการศึกษาฟิสิกส์เชิงทฤษฎีเกี่ยวกับมิติเวลาในมุมมองที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะการทำความเข้าใจจักรวาลซึ่งเป็นจุดกำเนิดเรื่องยุ่งเหยิงเช่นนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือการคำนวณทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงการกล้าคิดนอกกรอบ ตั้งคำถาม และเริ่มทำในสิ่งที่ใครอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ และลงมือทำจนกว่าจะหาคำตอบได้ว่า คุณบ้าจริงหรือโลกแค่ยังไม่เจอสิ่งที่คุณจินตนาการเอาไว้กันแน่

ข้อมูลส่วนตัวของโนวิคอฟดูจะเลือนรางเต็มที อาจเพราะชายคนนี้อาศัยอยู่ในดินแดนหลังม่านเหล็ก แถมยังเป็นนักฟิสิกส์จากโลกยุคเก่า ภาพถ่ายตามหน้าสื่อจึงแทบไม่ปรากฎ มีเพียงผลงานของเขาที่โดดเด่นเสียจนถูกพูดถึงกันไม่หยุดหย่อน

โนวิคอฟเกิดวันที่ 10 พฤศจิกายน ในปี 1935 ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ท่ามกลางการปกครองอันโหดร้ายของ ‘โจเซฟ สตาลิน’ (Joseph Stalin) ชายที่ปลิดชีพประชาชนราวกับผักปลา เพื่อให้ตนได้ครองอำนาจตราบนานเท่านั้น และพ่อของโนวิคอฟเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น พ่อของเขาหายตัวไป ส่วนแม่ถูกส่งไปใช้แรงงานอย่างหนักในค่ายกักกันกูลักที่นั่นมีสภาพไม่ต่างจากนรกบนดิน วัยเด็กของโนวิคอฟจึงไม่เคยได้รับไออุ่นจากผู้เป็นพ่อและแม่เลยแม้แต่น้อย

“ความชอบของผมได้รับอิทธิพลมาจากคุณยายเสียส่วนใหญ่ ผมต้องขอบคุณท่านที่ทำให้ผมสนใจเรื่องเหล่านี้”

การเติบโตในยุคสมัยของสตาลิน ซึ่งเป็นยุครุ่งโรจน์ของวิทยาศาสตร์ อวกาศ และเทคโนโลยี ทำให้วัยเด็กของเขาหมดไปกับการจ้องมองท้องฟ้าและเฝ้าสงสัยว่าจักรวาลคืออะไร มนุษย์เราเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่ ความสนใจด้านดาราศาสตร์และทฤษฎีสัมพัทธภาพทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อด้านฟิสิกส์ โดยศึกษาที่ Moscow Planetarium หลังจากนั้นเขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Moscow State University (MSU) ในปี 1954 และจบการศึกษาในปี 1959 ด้วยเกียรตินิยม จากนั้นเขาเรียนต่อที่ Sternberg State Astronomical Institute ภายใต้การดูแลของ A.L. Zel'manov โดยทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ 'สภาวะแรงโน้มถ่วงทรงกลมในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป' ในปี 1963 และได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในอีกสองปีให้หลัง

ตั้งแต่ปี 1974-1990 โนวิคอฟได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงสัมพัทธภาพที่สถาบันวิจัยอวกาศรัสเซียในมอสโก โดยก่อนหน้านั้น เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงทฤษฎีที่สถาบันฟิสิกส์ Lebedev กรุงมอสโก และเคยเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโกในปี 1994 อีกด้วย

แม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโซเวียตเป็นหลัก แต่ไม่ได้ทำให้ความรู้ของเขาถูกลดทอน ในทางกลับกัน ชื่อเสียงของเขาได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายต่อหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศเดนมาร์ก จนได้รับการรับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์เชิงทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน มาตั้งแต่ปี 1994

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของโนวิคอฟ คือ ตีพิมพ์บทความร่วมกับ และ ‘ยาคอฟ เซลโดวิช’ (Yakov Zeldovich)  เกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับคลื่นแรงโน้มถ่วงและรังสีพื้นหลังคอสมิก โดยในปี 1964 เขาได้เขียนบทความที่ทำนายถึงความเป็นไปได้ในการสังเกตการณ์รังสีพื้นหลังของจักรวาล ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในปีต่อมาโดย ‘อาร์โน อัลลัน เพนเซียส’ (Arno Allan Penzias) และ ‘โรเบิร์ต วูดโรว์ วิลสัน’ (Robert Woodrow Wilson) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์

ขณะเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1960 เขากับเซลโดวิชพัฒนาทฤษฎีสำคัญที่อธิบายเกี่ยวกับการกำเนิดของหลุมดำ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าการยุบตัวของวัตถุหมุน ซึ่งมีรูปร่างต่างจากทรงกลมเพียงเล็กน้อย จะนำไปสู่การก่อตัวของหลุมดำได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากที่สุด คือ การตีพิมพ์ทฤษฎี Novikov self-consistency เพราะนั่นทำให้กฎของฟิสิกส์ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจขัดแย้งกันเอง อิทธิพลจากงานวิจัยของเขายังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของการตั้งคำถามและการมองโลกในมุมที่แปลกใหม่

โนวิคอฟยังมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวัตถุที่เรียกว่า ‘รูหนอน’ (Wormholes) หรือทางเชื่อมในอวกาศและเวลา ซึ่งทฤษฎีนี้ได้แรงบันดาลใจจากไอน์สไตน์ และจอห์น ลีเลอร์ (John Wheeler) และเป็นที่ถกเถียงในด้านการประยุกต์ทางทฤษฎีการเดินทางข้ามจักรวาล โดยเขาเชื่อว่าวิทยาศาสตร์อาจสามารถค้นพบวิธีการเชื่อมต่อกับจักรวาลอื่น ๆ ได้ในอนาคต

โนวิคอฟมีชีวิตครอบครัวที่ราบเรียบ มีลูกชายและลูกสาวที่น่ารัก และในวัย 89 ปีเช่นนี้ เขายังคงใช้ชีวิตเรียบง่าย ห่างหายจากหน้าสื่อ ไม่ค่อยออกให้สัมภาษณ์ มีเพียงผลงานเป็นเครื่องยืนยันว่าชายคนนี้ได้สร้างเรื่องราวสุดอัศจรรย์ฝากไว้บนโลก

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Wikipedia

 

อ้างอิง