แฟรงค์ คาพริโอ: ผู้พิพากษาที่ใช้ใจในการตัดสินคดีโดยปราศจากอคติและเที่ยงธรรม

แฟรงค์ คาพริโอ: ผู้พิพากษาที่ใช้ใจในการตัดสินคดีโดยปราศจากอคติและเที่ยงธรรม

ผู้พิพากษาที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ใจดีที่สุดในโลก’ เนื่องจากการตัดสินคดีแต่ละครั้ง เขาไม่ได้มองเพียงถูกผิดเท่านั้น แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือความเห็นอกเห็นใจต่อจำเลยที่ยากจนหรือเผชิญกับความทุกข์ยากอยู่

  • ‘แฟรงค์ คาพริโอ’ (Frank Caprio) ผู้พิพากษาที่ได้รับการยกย่องว่า ‘ใจดีที่สุดในโลก’ เพราะการตัดสินคดีความแต่ละครั้ง แฟรงค์มักจะเข้าไปนั่งในใจของจำเลยเสมอ เพื่อคำนึงถึงปัญหาชีวิตที่พวกเขาต้องพบเจอ
  • เพราะการตัดสินที่ไม่ได้เข้มงวดตามกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้ความอบอุ่น ใจดีของผู้พิพากษาคนนี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก
  • แต่คดีแรกของเขากลับดูไม่จืด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป แฟรงค์นึกเสียใจทุกครั้งสำหรับการตัดสินอย่างไร้ปราณี หากไม่ได้พ่อเตือนสติ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เขาเสมอมา แฟรงค์คงไม่กลายมาเป็นผู้พิพากษาที่อ่อนโยนอย่างทุกวันนี้

 

โลกใบนี้มีแต่ขาว-ดำ หรือเปล่า? จะเป็นอย่างไรถ้ามีเรื่องให้ต้องตัดสินผิดถูกเกี่ยวกับคดีจราจร อย่างการขับรถเร็วเกินกำหนด  เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า การขับรถเกินขีดจำกัดนั้นอันตรายและผิดกฎหมาย แต่ใครจะรู้ว่าบางทีเรื่องแบบนี้อาจตัดสินกันโดยอาศัยเพียงกฎระเบียบที่เข้มงวดไม่ได้

หนึ่งในนั้นคือคดีที่ไวรัลไปทั่วโลกเมื่อ ‘วิคเตอร์ โคเอลลา’ (Victor Coella) คุณพ่อวัย 96 ปีที่ถูกใบสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินราว 2,700 บาท ข้อหาเร่งความเร็ว 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดสำหรับเขตโรงเรียน แค่ได้ยินคำว่าเขตโรงเรียนก็รู้แล้วว่าไม่ควรอย่างยิ่ง

หลายคนคงจินตนาการถึงบทลงโทษเด็ดขาด และตึงเครียด แต่ความจริงนั้นกลับกัน เพราะบรรยากาศระหว่างตัดสินอบอวลไปด้วยความรักอันซาบซึ้ง ที่เกือบทำให้ทุกคนในห้องพิจารณาคดีน้ำตาไหล

เมื่อวันขึ้นศาลมาถึง วิคเตอร์สารภาพว่า “ผมไม่ได้ขับรถเร็วขนาดนั้น ผมอายุ 96 ปี ผมขับรถช้า และขับเมื่อจำเป็นเท่านั้น ผมกำลังจะพาลูกชายที่พิการไปตรวจเลือด”

ทุกคนในห้องต่างสงสัยและตกใจกับคำพูดของชายสูงวัยคนนี้ ผู้พิพากษาจึงไม่รอช้าที่จะไขข้อสงสัยให้กับทุกคนด้วยการถามต่อว่า คุณกำลังจะพาลูกชายไปโรงพยาบาลอย่างนั้นหรือ?

“ผมต้องพาลูกชายวัย 64 ปีไปตรวจเลือดทุก 2 สัปดาห์เพราะเขาเป็นมะเร็ง” โคเอลลาเอ่ยถ้อยคำออกมาจากริมฝีปากที่สั่นเทา พลางนึกถึงหน้าของลูกชายอันเป็นที่รัก

เรื่องราวของสองพ่อลูกสร้างความประทับใจให้กับทุกคนในห้องพิจารณาคดี ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คนทั่วโลกที่ได้เห็นวิดีโอของเขาผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ 

และที่สร้างความประทับใจกว่านั้นคือ การตัดสินจากผู้พิพากษาที่ตัดสินใจยกฟ้องพร้อมกับอวยพรว่า

“ผมขอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกชายของคุณ ขอให้คุณมีสุขภาพที่ดี และขอให้พระเจ้าอวยพรคุณ”

ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้มีชื่อว่า ‘แฟรงค์ คาพริโอ’ (Frank Caprio) ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ผู้พิพากษาที่ใจดีที่สุดในโลก’ เขาสร้างความประทับใจในการตัดสินคดีมานับครั้งไม่ถ้วน เพราะเขาไม่เข้มงวดกับกฎระเบียบมากเกินไป และพร้อมที่จะเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ

 

ชีวิตนอกบังลังก์ศาล

‘แฟรงค์ คาพริโอ’ (Frank Caprio) เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 1936 ในย่านพรอวิเดนซ์ ภายใตรัฐเล็ก ๆ อย่างโรดไอร์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะลูกชายคนที่ 2 ของ ‘ฟิโลเมนา คาพริโอ’ (Filomena Caprio) แม่ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลี และ ‘อันโตนิโอ คาพริโอ’ (Antonio Caprio) พ่อผู้อพยพมาจาก แคว้นเตอาโน ในประเทศอิตาลี เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในสหรัฐฯ

พ่อของแฟรงค์หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวอันเป็นที่รักด้วยการเร่ขายผลไม้และพนักงานในฟาร์มโคนม ส่วนผู้เป็นแม่ก็คอยดูแลบ้านและลูก ๆ เพราะความขยันขันแข็งของผู้เป็นพ่อ ทำให้เด็กชายแฟรงค์เริ่มทำงานตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อช่วยเหลือครอบครัวไม่ว่าจะเป็น ขัดรองเท้า ส่งหนังสือพิมพ์  ไปจนถึงทำงานบนรถบรรทุกนม เรียกได้ว่า แฟรงค์คือลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น

แฟรงค์เล่าว่า พ่อมักจะปลุกเขาและพี่น้องตอนตี 4 เพื่อออกไปขายนมและสอนว่า ถ้าไม่อยากทำสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต ลูก ๆ ก็ควรที่จะอยู่ในโรงเรียนและได้รับการศึกษาระดับวิทยาลัย

ได้ยินดังนั้นแฟรงค์ก็หนักเอาเบาสู้ เขารับจ้างล้างจานและขัดรองเท้าไปพร้อมกับเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐย่านพรอวิเดนซ์ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยพรอวิเดนซ์

 

พ่อผู้หย่อนเมล็ดพันธุ์

ในวันที่อากาศหนาวเย็นคืบคลานเข้ามา ครอบครัวคาพริโอรวมตัวกันหน้าเตาเผาเพื่อสร้างความอบอุ่น อยู่ ๆ พ่อก็วางมือลงบนไหล่ของแฟรงค์ในวัย 10 ขวบแล้วพูดว่า “สักวันหนึ่งลูกจะเป็นทนาย และจงจำไว้ว่าอย่าตัดสินใครเพียงเพราะเขายากจน แต่จงใช้ใจมองให้รอบด้าน” นับตั้งแต่นั้นมาแฟรงค์ก็ไม่เคยอยากทำอาชีพอื่นอีกเลยนอกเสียจากทนายความ

แม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยแล้ว แต่เพราะคำพูดของพ่อที่จุดประกายความฝันให้กับแฟรงค์ ทำให้เขาตัดสินใจลงทะเบียนเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยซัฟโฟล์ค แต่เส้นทางก็เป็นอันต้องสะดุด เมื่อเขามีเงินไม่เพียงพอ แม้ว่าจะทำงานทุกอย่างแล้วก็ตาม

เมื่อมองไม่เห็นหนทาง แฟรงค์จึงตัดสินใจบอกกับแม่ว่าจะเลื่อนการเรียนกฎหมายออกไปสักพัก ผู้เป็นแม่ได้ยินดังนั้น ก็มองมาที่แฟรงค์แล้วห้ามปรามลูกชายทันที พร้อมกับเดินเข้าไปในห้องนอน รื้อค้นเอาสมุดบัญชีธนาคาร 3 เล่มยื่นให้กับแฟรงค์พร้อมบอกว่า

“พ่อไม่เคยหาเงินได้มากมายนัก แต่ก็ไม่มีสักสัปดาห์เดียวที่แม่ไม่ได้เก็บเงิน”

แฟรงค์รับสมุดบัญชีมาเปิดดูก็พบว่า ทั้งหมดนี้คือเงินออมตลอดระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจำนวนเงินฝากแต่ละครั้งคือ 25 เซ็นต์ 50 เซ็นต์ เท่านั้น และเงินฝากก้อนที่มากที่สุดคือ 5 ดอลลาร์

อนาคตนักเรียนกฎหมายรับรู้ได้ทันทีว่า พ่อแม่เสียสละเพื่อลูกมากเพียงใด และภูมิใจว่า ถึงไม่ได้เกิดมาร่ำรวยแต่อย่างน้อยเขายังมีพ่อแม่ที่รักเขาอย่างสุดหัวใจ

แฟรงค์ปฏิเสธที่จะรับเงินฝากเหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะทอดทิ้งการเรียน เขาตัดสินใจทำงานเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองในโรงเรียนมัธยม โฮป ไฮจน์ ในเวลากลางวัน และเดินทางไปเรียนภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยซัฟโฟล์ค ในบอสตัน ตอนกลางคืน จนสุดท้ายก็ได้รับปริญญาด้านกฎหมาย

จากนั้นแฟรงค์เริ่มต้นอาชีพทางกฎหมายในฐานะทนายความของสำนักงานกฎหมายที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเอง โดยทำหน้าที่เป็นปรึกษาทางกฎหมายและเป็นตัวแทนให้กับลูกค้าในการช่วยพวกเขาสํารวจประเด็นทางกฎหมายต่าง ๆ

กระทั่งได้รับเลือกเข้าสู่สภาเมืองพรอวิเดนซ์ในปี 1962 และดำรงตำแหน่งจนถึงปี 1968 พร้อมทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของอนุสัญญารัฐธรรมนูญโรดไอส์แลนด์ในปี 1975

รวมถึงได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ว่าการรัฐโรดไอส์แลนด์เพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ไม่มีใครคาดคิดแม้แต่ตัวเขาเองว่า จากคนที่ไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ จะกลายมาเป็นประธานคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการทำให้การศึกษามีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้

จนกระทั่งปี 1985 อาชีพที่สำคัญและจะสร้างชื่อเสียงให้แก่แฟรงค์ก็มาถึง เขาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลเทศบาลพรอวิเดนซ์ในโรดไอแลนด์ และด้วยแนวทางการตัดสินที่เห็นอกเห็นใจรวมถึงการอุทิศตนเพื่อความเป็นธรรมทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะบุคคลที่น่านับถือและเป็นที่รักในชุมชนกฎหมาย

 

ผู้ใช้กฎระเบียบไปพร้อมกับหัวใจ

ชื่อเสียงของแฟรงค์เริ่มขยายออกไปนอกห้องพิจารณาคดีเมื่อน้องชาย ‘โจเซฟ คาพริโอ’ (Joseph Caprio) และภรรยาของแฟรงค์ ‘จอยซ์ คาพริโอ’ (Joyce Caprio) เริ่มถ่ายทำคดีในศาลในชื่อ ‘Caught in Providence’ โดยเริ่มออกอากาศทางเคเบิลสาธารณะในรัฐพรอวิเดนซ์ปี 1988 จนเริ่มขยายไปบริษัทในเครือท้องถิ่นประมาณ 190 แห่ง ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุดในระดับประเทศ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล รายการอเมริกันที่ดีที่สุดในช่วงกลางวันในปี 2021

แม้จะมีการถ่ายทำ แต่แฟรงค์ยืนยันว่าทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการพิจารณาคดีจริงแบบเรียลไทม์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ไม่มีการแสดง หรือซักซ้อมใด ๆ เพราะประชาชนจะถูกเรียกตัวขึ้นศาลโดยเทศบาล และไม่มีใครรู้ว่าจะถูกตัดสินอะไร รวมถึงหากประชาชนคนไหนไม่ยินยอมให้มีการบันทึกวิดีโอ ก็จะไม่บังคับ ขู่เข็ญ

แฟรงค์เล่าว่าในการตัดสินคดีแต่ละครั้ง เขาจะคำนึงถึงจำเลยว่า ครอบครัวเขามีใครป่วยหรือไม่ แม่ของพวกเขาเสียชีวิตหรือไม่ และพวกเขามีลูกที่หิวโหยหรือไม่ พร้อมยังบอกอีกว่า

“ผมไม่ได้ประดับเข็มเครื่องหมายยุติธรรมภายใต้เสื้อคลุมของผมเท่านั้น แต่ผมสวมหัวใจไว้ใต้เสื้อคลุมผืนนี้”

ความเห็นอกเห็นใจเหล่านี้ แฟรงค์ซึมซับมาจากผู้เป็นพ่อที่มักจะจ่ายค่านมให้กับลูกค้าที่มีลูกเล็ก แล้วยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่านม พร้อมทั้งบอกอีกว่า ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย เขามักจะทำในสิ่งที่พ่อสอนให้ทำเท่านั้น และคำแนะนําของพ่อทำให้คดีแต่ละอันดังก้องไปทั่วโลก

สุดท้ายผู้พิพากษาแฟรงค์คิดว่าการที่เขากลายเป็นไวรัล เพราะผู้คนหมดศรัทธาในรัฐบาลและคุ้นเคยกับสถาบันที่ลงโทษอย่างหนักโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ส่วนตัว

คดีที่ลืมไม่ลง

ก่อนจะมาเป็นผู้พิพากษาอันเป็นที่รัก เป็นตํานานของความใจดีสำหรับทุกคน คดีแรกของเขาแตกต่างจากภาพทุกวันนี้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นคดีที่เขาหวนคิดถึงเมื่อไหร่เป็นต้องเสียใจอยู่เสมอ

ในวันแรกของการก้าวเข้าสู่บังลังก์ผู้พิพากษา แน่นอนว่าโอกาสสำคัญขนาดนี้ พ่อของแฟรงค์จึงไม่พลาดที่จะเข้าร่วมรับฟังคดี “พ่อของผม... เขาอาจจะเป็นผู้ชายที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมาในชีวิต เขาเป็นผู้ชายที่ใจดีและอ่อนโยน” ดังนั้นแฟรงค์จึงรู้สึกเป็นเกียรติที่วันนั้นพ่อของเขาอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย

เรื่องราวของคดีคือ ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นหนี้บัตรจอดรถมูลค่ากว่า 300 ดอลลาร์ เธอบอกว่าไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากไม่มีเงิน แต่แฟรงค์พยายามรีดเลือดกับปูพร้อมเสนอแผนการชําระเงินให้ แต่ผู้หญิงคนนั้นก็ยังยืนกรานว่า “ฉันจ่ายไม่ได้ ฉันไม่สนฉันไม่สามารถจ่ายได้ ฉันมีลูกสามคน ฉันจ่ายไม่ได้”

เนื่องจากเป็นวันแรกของแฟรงค์ เขาจึงกลัวผู้ว่าหญิงคนนั้นจะหลอกลวงเขาหรือไม่? บวกกับความกระตือรือร้นในวิชาชีพ เขาจึงไม่ช่วยลดหย่อนค่าปรับให้เธอ พร้อมกับยืนกรานกับผู้หญิงคนนั้นว่า 300 ดอลลาร์ และถ้าคุณไม่จ่ายรถของคุณกำลังจะถูกลาก

หลังจากคดีนี้เสร็จสิ้น แฟรงค์ได้พบกับพ่อในห้องของเขา ซึ่งผู้พิพากษาหน้าใหม่ตื่นเต้นเหลือเกินที่จะได้ฟังว่าพ่อภูมิใจในตัวเขามากเพียงใด แต่กลับต้องผิดหวังเข้าอย่างจังเมื่อพ่อไม่ได้มีท่าทีอย่างที่เขาวาดฝัน

พ่อเอ่ยชื่อแฟรงค์แล้วบอกว่า “ผู้หญิงคนนั้นที่มีลูกสามคน แต่ลูกกลับเลือกที่จะสั่งปรับเธอ” แฟรงค์อธิบายว่าที่เขาทำเช่นนั้นเพราะเธอหยิ่งผยอง ซึ่งพ่อของเขาแย้งในทันที “เธอกลัว ลูกควรจะคุยกับเธอ ควรจะเข้าใจปัญหาของเธอ ลูกไม่สามารถปฏิบัติต่อคนแบบนั้นได้นะแฟรงค์”

นั่นคือทั้งหมดที่ยังคงก้องอยู่ในใจของแฟรงค์ และมันได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิต รวมถึงอาชีพของเขาไปอย่างสิ้นเชิง “หลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย ไม่เคย และกรณีนั้นผมไม่มีวันลืม”

 

ผู้โยงใยความช่วยเหลือ

ในปี 2018 ‘แองจี้ เชสเซอร์’ (Angie Chesser) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากรัฐอินเดียนา ที่พ่วงตำแหน่งผู้ชมรายการรู้สึกประทับใจกับการตัดสินคดีของผู้พิพากษาที่ช่วยลดจำนวนค่าปรับลงให้กับแม่ผู้พึ่งสูญเสียลูกชาย

เธอจึงส่งข้อความหาผู้พิพากษาว่า เธอต้องการบริจาคเงินจำนวน 25 ดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือคนอื่น และเธอส่งเงินสดมาจริง ๆ ดังนั้นผู้พิพากษาจึงใช้เงินนี้ช่วยจ่ายค่าปรับของจำเลย

หลังจากเทปนี้ออกอากาศไปมีหลายคนส่งเงินเข้ามาเพื่อช่วยเหลือจำเลยหลายคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จากเงิน 25 ดอลลาร์ของผู้หญิงคนหนึ่งในวันนั้น นำไปสู่การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ กองทุน ฟิโลเมนา ซึ่งตั้งตามชื่อแม่ของผู้พิพากษา

แม้ว่าตอนนี้ผู้พิพากษาจะเกษียณอายุแล้วแต่กองทุนนี้ยังคงช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ด้อยโอกาสต่อไป เพื่ออุทิศการช่วยเหลือให้กับองค์กรการกุศล องค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือที่จําเป็นแก่ผู้ที่ต้องการ

ชายที่ต้องการเพียงคำอวยพร

“วันเกิดปีนี้แตกต่างจากวันเกิดอื่น ๆ ที่ผมเคยมีมาเล็กน้อย”

ของขวัญวันเกิดในวัย 87 ปี ของผู้พิพากษาคนนี้เป็นของขวัญที่ไร้ปราณีและล้วนไม่มีใครต้องการ เนื่องจากเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งในรูปแบบที่ร้ายกาจ เพราะคร่าชีวิตชาวอเมริกันกว่า 50,500 คน ภายในระยะเวลา 1 ปี

หลายคนที่ทราบข่าวล้วนส่งข้อความถามแฟรงค์ว่า มีอะไรที่จะสามารถทำให้คุณได้บ้าง?

ทำให้แฟรงค์รู้สึกขอบคุณสำหรับมิตรภาพและข้อความที่หวังดีของหลาย ๆ คนที่ส่งไปถึงเขา พร้อมทั้งเสียใจที่ไม่สามารถไล่ขอบคุณทุกคนได้ จึงขอเพียงแค่ให้ทุกคนช่วยอธิษฐานเผื่อเขาด้วยวิธีการของแต่ละคนเอง เพราะแฟรงค์เชื่อว่า นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลที่เขาได้รับแล้ว นี่ยังเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่จะช่วยให้เขารอดชีวิตจากสิ่งนี้

ทำให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนเข้ามาส่งกำลังใจให้ผู้พิพากษาอย่างล้นหลามหลายหมื่นคอมเมนต์ อย่าง

“คุณเป็นตัวอย่างที่ดีของความรักของพระเจ้าบนโลก ขอพระเจ้าอวยพรคุณกับครอบครัวของคุณไปอีกหลายปี”

“อธิษฐานเพื่อผู้พิพากษา คุณจะผ่านสิ่งนี้ไปได้”

เมื่อได้อ่านกำลังใจทั้งหมดแฟรงค์บอกว่า “แค่ได้รู้ว่าคุณเก็บผมไว้ในความคิดของคุณ นั้นก็หมายถึงโลกทั้งใบสําหรับผม ดังนั้นขอขอบคุณสําหรับทุกข้อความที่ผ่านมาของคุณ ขอบคุณสําหรับการสนับสนุนด้วยความรักของคุณ และโปรดจําไว้ว่า แค่คําอธิษฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมก็ซาบซึ้งแล้วจริง ๆ”

ตอนนี้แฟรงค์รักษาอยู่กับทีมแพทย์โรดไอแลนด์ ที่สถาบันมะเร็งดานาฟาร์เบอร์ และสุดท้ายเราเชื่อว่าคำอวยพรของทุกคนจะช่วยให้ผู้พิพากษาพ่อพระคนนี้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตไปได้ พร้อมทั้งกลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในเร็ววัน

 

เรื่อง: นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)

ภาพ: Frank Caprio /Facebook

 

อ้างอิง:

An Emotional Father's Day (youtube.com)

Memories of Mom (youtube.com)

80-year-old judge becomes unlikely internet star - CBS News

Providence is home court for TV Judge Frank Caprio '58, '08Hon. | News | Providence College

Beloved TV judge Frank Caprio: 'I wear a heart under my robe' (nypost.com)

HOME | Judge Frank Caprio

TV Judge Frank Caprio Reveals Pancreatic Cancer Diagnosis (people.com)

RI Foundation | Filomena Fund

Judge Caprio Shares The Biggest Mistake He Ever Made On A Case That Still Haunts Him | YourTango