‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ มารดาแห่งงานไพรด์ ผู้ปลุก LGBTQIA+ ทั่วโลก ออกมาแสดงความภูมิใจในตัวเอง

‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ มารดาแห่งงานไพรด์ ผู้ปลุก LGBTQIA+ ทั่วโลก ออกมาแสดงความภูมิใจในตัวเอง

‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ ผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘มารดาแห่งงานไพรด์’ จากการวางรากฐานขบวนพาเหรดไพรด์ ทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIA+

  •  ‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มารดาแห่งงานไพรด์’ จากบทบาทสำคัญในการจัดขบวนพาเหรดวันเสรีภาพถนนคริสโตเฟอร์ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการจัดขบวนพาเหรดไพรด์ทั่วโลก
  • เบรนดาเปิดเผยความเป็นไบเซ็กชวลอย่างไม่สะทกสะท้าน แม้เธอจะอยู่ในยุคที่มีการกีดกันทางเพศอย่างหนักก็ตาม ขณะที่คนรักของเธอยืนยันว่า เธอต้องการให้ไบเซ็กชวลรู้ว่า พวกเขามีสิทธิตามกฎหมาย

“ครั้งหน้าถ้ามีคนถามว่า ทำไมถึงมีการจัดพาเหรดงาน LGBT Pride หรือมีคนถามว่าทำไมเดือน Gay Pride ต้องเป็นเดือนมิถุนายน ให้บอกพวกเขาไปว่า คนที่เป็นไบเซ็กชวลชื่อ ‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ คิดว่าควรจะเป็นแบบนั้น” 

นี่คือคำกล่าวของ ‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ ไบเซ็กชวลที่ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้คนหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอาจยาวไปถึงอนาคตด้วย… (ถ้าอยากรู้ว่าเรากำลังพูดเกินจริงไปไหม ลองอ่านเรื่องราวของเธอดู)

‘เบรนดา ฮาวเวิร์ด’ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มารดาแห่งงานไพรด์’ (The Mother of Pride) จากบทบาทสำคัญในการจัดขบวนพาเหรดวันเสรีภาพถนนคริสโตเฟอร์ (The Christopher Street Liberation March) ในปี 1970 เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี ‘เหตุจลาจลสโตนวอลล์’ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการจัดขบวนพาเหรดไพรด์ทั่วโลก

เหตุจลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ เกิดขึ้นเมื่อปี 1969 ในเวลานั้นการรวมตัวของเหล่า LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มหรือการเต้นรำ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บาร์ส่วนใหญ่เลยไม่อนุญาตให้คนหลากหลายทางเพศย่างกรายเข้ามา เพื่อตัดปัญหาตำรวจบุกแล้วต้องเสียค่าปรับ

แต่มีบาร์แห่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถมาสังสรรค์กันได้ ไม่ว่าจะเป็นกะเทย แดร็กควีน เควียร์ คนข้ามเพศ ฯลฯ บาร์แห่งนั้นมีชื่อว่า ‘สโตนวอลล์ อินน์’ (The Stonewall Inn) ใน
หมู่บ้านกรีนวิช นครนิวยอร์ก... สาเหตุเพราะที่นี่มี ‘มาเฟีย’ เป็นเจ้าของ
ตำรวจรู้อยู่เต็มอกว่าชาวสีม่วงจะมารวมตัวกันที่สโตนวอลล์ แต่พอได้รับเงินใต้โต๊ะจากมาเฟียเจ้าของบาร์ ตำรวจก็จะแจ้งให้ทางบาร์รู้ตัวก่อนเข้าไปตรวจทุกครั้ง เหตุการณ์ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจได้บุกค้นที่นี่โดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมควบคุมตัวลูกค้า 13 ราย นำตัวแต่ละคนไปตรวจ ‘เพศสภาพ’ ในห้องน้ำ

สถานการณ์เริ่มตึงเครียดเข้าไปอีกเมื่อเกิดภาพความรุนแรงที่ตำรวจตีหัวเลสเบี้ยนคนหนึ่งเข้าอย่างจังแล้วพยายามลากเธอขึ้นไปบนรถตู้ เธอจึงตะโกนบอกให้คนอื่น ๆ ช่วยหยุดการกระทำของตำรวจ

นาทีนั้น หญิงข้ามเพศผิวดำ 2 คน คือ ‘มาร์ชา พี. จอห์นสัน’ และ ‘ซิลเวีย ริเวรา’ ตัดสินใจขว้างของแข็งบางอย่างใส่ตำรวจ หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกันจนกลายเป็นเหตุจลาจลที่ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 1969

ในเวลาต่อมา ทั้ง ‘มาร์ชา พี. จอห์นสัน’ และ ‘ซิลเวีย ริเวรา’ ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ผู้นำการจลาจลสโตนวอลล์’

เมื่อไฟแห่งการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมถูกจุดติด ชุมชนคนหลากหลายทางเพศไม่ยอมให้มันมอดดับไปเปล่า ๆ ในช่วง 1 เดือนหลังการจลาจลสิ้นสุด นักเคลื่อนไหวชาวสีรุ้งซึ่งรวมถึงเบรนดา ได้ช่วยกันจัดขบวนพาเหรดวันเสรีภาพถนนคริสโตเฟอร์ ในนครนิวยอร์ก เพื่อรำลึกถึงเหตุจลาจลสโตนวอลล์

นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า คนหนุ่มสาวที่เป็นคนหลากหลายทางเพศจากทั่วพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมงานนี้ เพื่อประกาศ ‘ความแข็งแกร่ง’ และ ‘ความภาคภูมิใจ’ ของชาวเกย์

เรียกได้ว่าการเดินขบวนบนถนนคริสโตเฟอร์ นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ ยังจุดประกายให้ผู้คนทั่วสหรัฐฯ กล้าออกมาเฉลิมฉลองด้วยเช่นกัน

ปีต่อมา เบรนดาก็ตอกย้ำด้วยการจัดขบวนพาเหรดวันเสรีภาพถนนคริสโตเฟอร์ในนครนิวยอร์ก ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เป็นการยืนยันต่อสาธารณะถึงการดำรงอยู่ของเพศทางเลือก

หลังจากนั้นการเฉลิมฉลองในสหรัฐฯ ได้ส่งอิทธิพลต่อเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก จนเป็นรากฐานในการจัดขบวนพาเหรดไพรด์ในระดับสากล และทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและการเฉลิมฉลองสิทธิของ LGBTQIA+ ของทุกปี

อ่านถึงตรงนี้ คุณคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่า ทำไมเบรนดาจึงสามารถทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้? แล้วไบเซ็กชวลคนนี้เป็นใครมาจากไหน?

สิ่งที่น่าจะทำให้เราเห็นภาพว่าเธอ ‘กว้างขวาง’ ในหมู่คนชายขอบมากแค่ไหน น่าจะเป็นการที่ ‘แลร์รี เนลสัน’ คนรักของเบรนดา สาธยายถึงเธอว่า “ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือในการจัดการประท้วงบางอย่างเพื่อทวงคืนความยุติธรรมทางสังคม สิ่งที่คุณต้องทำคือโทรฯ หาเบรนดา บอกเธอไปเลยว่า จะจัดเมื่อไหร่ และที่ไหน”

เบรนดาเกิดในย่านบรองซ์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 1946 ในครอบครัวชาวยิว เธอเรียนจบพยาบาลจากวิทยาลัย Borough of Manhattan Community College ในปี 1978 แต่ด้วยความที่มีจิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหวเรียกร้อง เธอจึงเลือกที่จะไม่ไปต่อในอาชีพพยาบาล แล้วหันไปมีส่วนร่วมกับขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 และเช่นเดียวกับผู้หญิงหลายคนในยุคนั้น เธอเริ่มวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดปิตาธิปไตยและมีส่วนร่วมในขบวนการสตรีนิยม ทั้งยังเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยเกย์ รวมถึงเคยร่วมประท้วงเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพให้คนผิวสี และผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ด้วย

ด้วยความที่เธอมีเพื่อนหลายคนอยู่ในเหตุจลาจลสโตนวอลล์ เธอจึงเริ่มออกมาสนับสนุนชุมชน LGBTQIA+ ตั้งแต่ตอนนั้น และเดินหน้าทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ

“เธอเป็นนักรบและกระบอกเสียงให้กับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม เธอเป็นนักเคลื่อนไหวที่กล้าเผชิญหน้า เธอต่อสู้เพื่อทุกคนที่ถูกเหยียบย่ำ” แลร์รีกล่าว

เบรนดาเปิดเผยความเป็นไบเซ็กชวลอย่างไม่สะทกสะท้าน แม้เธอจะอยู่ในยุคที่มีการกีดกันทางเพศอย่างหนักก็ตาม เธอมักจะสวมเสื้อที่มีข้อความว่า  “Bi, Poly, Switch - I know what I want.” ขณะที่คนรักของเธอยืนยันว่า เธอไม่เคยสับสนเกี่ยวกับเรื่องเพศของตัวเองเลย และต้องการให้ไบเซ็กชวลรู้ว่า พวกเขามีสิทธิตามกฎหมาย

ระหว่างเส้นทางแห่งการเคลื่อนไหวเรียกร้อง เบรนดาเผชิญอุปสรรคไม่น้อย เธอถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 1988 เธอถูกจับกุมในชิคาโกขณะประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมต่อระบบดูแลสุขภาพที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง คนผิวสี และผู้ที่ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์

เธอถูกจับอีกครั้งเมื่อปี 1991 เพราะไปประท้วงกรณีการไล่เลสเบี้ยนออกจากสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐจอร์เจีย ซึ่งมีกฎหมายต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ

แต่ไม่ว่าจะถูกจับอีกสักกี่ครั้ง เธอก็ยังคงเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมทางสังคมอยู่เสมอ โดยเฉพาะสำหรับชุมชนไบเซ็กชวล ซึ่งเบรนดาได้ก่อตั้ง ‘New York Area Bisexual Network’ ในปี 1988 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสารสำหรับกลุ่มไบเซ็กชวลในนิวยอร์ก และพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ

เธอยังประสบความสำเร็จในการนำกลุ่มไบเซ็กชวลเข้าไปร่วมการเดินขบวนพาเหรดในกรุงวอชิงตัน เมื่อปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวมุ่งเน้นไปที่ชายรักชายและเลสเบี้ยนเป็นหลัก

เบรนดาเป็นนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนชายขอบ แม้ว่าชื่อของเธอจะไม่เป็นที่รู้จักเท่าผู้บุกเบิกเพื่อชุมชน LGBTQIA+ คนอื่น ๆ แต่ความสำเร็จของเธอก็เป็นสิ่งที่มิอาจลืมได้ เพราะทุก ๆ ปี ทั้งเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ จะออกมาเดินขบวนด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อเฉลิมฉลองในความแตกต่าง และเสรีภาพที่มี

น่าเสียดายที่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2005 ซึ่งเป็นช่วงครบ 35 ปีที่เธอจัดขบวนพาเหรดไพรด์ครั้งแรก และครบ 36 ปีเหตุจลาจลสโตนวอลล์  

หลังจากที่เธอจากไป ได้มีการก่อตั้งรางวัล ‘Brenda Howard Memorial Award’ เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ โดยทุก ๆ ปีจะมีการมอบรางวัลนี้ให้กับบุคคลหรือองค์กรที่มีส่วนร่วมในชุมชนไบเซ็กชวล และ LGBTQIA+ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเธอ

 

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก New York Area Bisexual Network, Larry Nelson

อ้างอิง :

catcallmag

advocate

legacyprojectchicago