ไวรัลนางงามลาว ‘ปาเย็งซา ลอ’ สาวม้งที่สร้างประวัติศาสตร์ ผู้ไม่ยอมโดนบังคับให้แต่งงาน

ไวรัลนางงามลาว ‘ปาเย็งซา ลอ’ สาวม้งที่สร้างประวัติศาสตร์ ผู้ไม่ยอมโดนบังคับให้แต่งงาน

‘ปาเย็งซา ลอ’ มิสยูนิเวิร์สลาว สาวม้ง ครูภาษาอังกฤษ และผู้ไม่ยอมเป็นเมียและแม่จากการโดนบังคับโดยผู้ปกครอง เป็นนางงามอีกคนที่ได้รับความสนใจหลังจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2022 จบลง

  • ‘ปาเย็งซา ลอร์’ มิสยูนิเวิร์สลาว ได้ใจแฟนนางงาม จากแนวคิด ตัวตน และภูมิหลังต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตของเธอ
  • ‘ปาเย็งซา ลอร์’ เป็นสาวม้งคนแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวดมิสยูนิเวิร์สลาว และผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายมิสยูนิเวิร์ส
  • เธอเป็นครูสอนภาษาอังกฤษจากครอบครัวที่ฐานะการเงินไม่ค่อยดีนัก เคยถูกบังคับให้แต่งงาน แต่เธอปฏิเสธ

การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 จบลงพร้อมกับชัยชนะของสาวงามเจ้าภาพจากสหรัฐอเมริกา... ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ แต่กระแสของการประกวดก็ไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เพราะยังมีผู้เข้าประกวดอีกหลายคนที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ

หนึ่งในนั้นคือ ‘ปาเย็งซา ลอร์’ สาวงามชาติพันธุ์ม้ง ตัวแทนจากประเทศลาว ผู้สามารถผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายไปได้ สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ประเทศลาว มีโอกาสได้เดินรอบชุดว่ายน้ำและชุดราตรีเทียบชั้นสาวงามสายแข็งจากแถบละตินอเมริกานับสิบ อะไรที่ทำเธอได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทั้งก่อนและหลังการประกวด?

คลิกอ่านบทวิเคราะห์ ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ และ ‘แอนนาเสือ’ บนเวที มิสยูนิเวิร์ส 2022 จากยุค IMG สู่ JKN

 

‘ปาเย็งซา ลอ’ เด็กสาวช่างถามในท่ามกลางชีวิตที่ไม่ง่าย

เมื่อพิธีกรท่านหนึ่งทัก ‘ปาเย็งซา ลอ’ สาวงามวัย 21 ปี ว่าดูเป็นคนมั่นใจมาก เธอไปเอาความมั่นใจจากที่ไหน...เธอตอบกลับว่า เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกัน และเธอก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด (หัวเราะเสียงดัง) และสิ่งหนึ่งที่เธอรู้ตัวมาตลอดคือเธอเป็นเด็กช่างถาม

เธอถามทุกเรื่อง ถามวันละเป็นร้อยคำถาม แม่ของเธอเหนื่อยมากกับการต้องมานั่งตอบคำถามลูกสาว ตรงกันข้ามกับพ่อ ผู้ที่พยายามตอบคำถามเธอให้ได้มากที่สุด เธอไม่เคยรู้สึกว่าพ่อมีอารมณ์รำคาญที่ต้องตอบคำถามเธอ และการเป็นคนช่างถามนั่นเองที่ทำให้เธอกล้าพูด กล้าคุย และมีความรู้จากการถาม ถามแล้วคิด คิดแล้ววิเคราะห์

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นใจในชีวิตเพราะทุกอย่างผ่านการถาม คิด และวิเคราะห์มาแล้ว

‘ปาเย็งซา ลอ’ เกิดวันที่ 25 มีนาคม ปี 2544 เป็นลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 6 คน เธอเกิดและเติบโตที่แขวงเชียงขวาง ครอบครัวของเธอประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฐานะค่อนข้างยากจน แต่ถึงกระนั้น พ่อและแม่ของเธอให้ความสำคัญกับการศึกษามาก และไม่ยอมให้ลูกออกจากระบบการศึกษาแม้ชีวิตความเป็นอยู่จะอยู่ในสภาวะยากแค้น

เธอเคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งพ่อของเธอเคยยื่นกระดาษเปล่าให้ แล้วบอกว่าให้นำจดหมายฉบับนั้นไปให้ไปครูที่โรงเรียน เธอเข้าใจทันทีว่าพ่อไม่มีเงิน จึงตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่มีเงิน หนูไม่ไปเรียนก็ได้ แต่พ่อปฏิเสธ และยืนยันให้นำจดหมายฉบับนั้นไปให้ครู เธอแอบเปิดจดหมายฉบับนั้น ซึ่งมีข้อความประมาณว่า เดือนนี้ไม่มีเงิน ขอนำเงินไปจ่ายเดือนหน้า

เธอเรียนรู้ความยากลำบากและความปรารถนาของพ่อที่จะให้เธอได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เธอจึงตั้งใจทำมันอย่างดีเสมอมา ซึ่งสำหรับเธอ และสำหรับพ่อของเธอ การศึกษาไม่ใช่แค่การไปเรียน เข้าห้องเรียน และทำแต่ละวันให้ผ่าน ๆ ไป แต่มันคือทางสู่การทำความเข้าใจสิ่งรอบตัว เรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง ความฝันของตัวเอง และทำความฝันให้สำเร็จ

 

ภาษาในฐานะ ‘เครื่องมือสู่ความสำเร็จ’

หนึ่งในวิชาที่เธอตั้งใจมากที่สุดคือวิชาภาษาอังกฤษ เธอตั้งใจฝึกฝนมันด้วยตัวเองจนมีทักษะการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว และได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอย่างที่ตั้งใจไว้ และด้วยรายได้จากค่าสอนหนังสือ เธอสามารถเข้าศึกษาที่วิทยาลัยลาว-อเมริกา ณ ขณะนี้

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอคือในวัย 18 ปี เธอเริ่มทำเพจสอนภาษาอังกฤษทางเฟซบุ๊ก และได้มีโอกาสพูดคุยกับคนมากมายและเรียนรู้เรื่องราวของพวกเขา

บรรดานักเรียนของเธอเล่าให้เธอฟังว่า ก่อนหน้านี้ พวกเขาหมดไฟกับการเรียนภาษาอังกฤษไปแล้ว ยึดติดกับความคิดที่ว่าชาตินี้ทั้งชาติคงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่พัฒนาการและความก้าวหน้าของลูกศิษย์ทำให้เธอเรียนรู้ว่า ถ้าคนเราเชื่อมั่น เราย่อมสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากเพียงไร

และนั่นคือจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่กับความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์และการเห็นความสำคัญของเรื่อง mindset แทบจะทุกการสัมภาษณ์ เธอจะย้ำเสมอว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยความคิด ถ้าเชื่อ และทะเยอทะยาน เราจะทำสิ่ง ๆ นั้นได้

ฉะนั้น การสอนสำหรับเธอแล้วไม่ใช่เพียงการแบ่งปัน แต่เป็นการเรียนรู้ไปในตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาอังกฤษไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ และไฟหล่อเลี้ยงใจในการดำรงชีวิต แต่เธอยังแบ่งปันมันให้แก่ผู้ที่มีเงื่อนไขชีวิตยากต่อการเข้าถึงโอกาสผ่านโครงการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ 

และด้วยคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษนี้เอง เธอจึงกลายเป็นนางงามที่มีความโดดเด่นตั้งแต่สมัยประกวดในบ้าน เธอเป็นนางงามที่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ ด้วย ‘สาร’ หรือ message ที่เป็นสากล และนั่นทำให้เธอคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สลาว ประจำปี 2022 ในฐานะสาวม้งคนแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวด และมีโอกาสได้เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สที่ผ่านมา

เธอจึงกล้าพูดได่อย่างเต็มปากว่า “ภาษาไม่ใช่กุญแจแห่งความสำเร็จ แต่คือเครื่องมือสู่ความสำเร็จ” และ “หากรู้ภาษาอังกฤษ คุณจะกลายเป็นเหมือนสิงโตติดปีก”

         

ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นเมียและเป็นแม่เพื่อประสบความสำเร็จ

จากประวัติชีวิตของเธอ จะเห็นได้ว่าแรงสนับสนุนจากพ่อแม่มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เธอมายืน ณ จุดนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็เคยต้องต่อสู้กับความคิดของพ่อกับแม่ที่ถูกปลูกฝั่งผ่านสังคมและวัฒนธรรมที่ว่าผู้หญิงจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยได้โดยการแต่งงานเพื่อกลายเป็นเป็นเมียและแม่

เธอเคยถูกพ่อ-แม่บังคับให้แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก เธอปฏิเสธ และพยายามขอให้พ่อ-แม่เชื่อมั่นในตัวเธอว่าวันหนึ่งเธอจะประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง เธอจะมีอย่างที่ ‘พวกเขา’ มี และเป็นอย่างที่ ‘พวกเขา’ เป็นได้ และในที่สุดพ่อแม่ก็เชื่อมั่นในตัวเธอ และสนับสนุนในทุกทางที่ลูกสาวเลือก แม้จะขัดขืนต่อขนบของสังคมที่พวกเขามีชีวิตอยู่ ลอเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลังจากเธอชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สลาวว่า

“สำหรับชนเผ่าม้ง สำหรับผู้หญิงม้ง จะมีกำหนดว่าพวกเราต้องเป็นแบบไหน ซึ่งทำให้เราอยู่ใต้อำนาจของการควบคุมของคนอื่น ไม่จะเป็นของแฟนหรือของสามี เพราะฉะนั้น เราเป็นคนอยู่ เราต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราต้องการเลือกเส้นทางตัวเองและยืนหยัดให้กับตัวเอง

เพราะฉะนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้หญิงม้งขาด ก็คือความมั่นใจในตัวเอง การเป็นเจ้าของตัวเอง การที่จะพูดเพื่อตัวเองยืนเพื่อตัวเอง และไปในเส้นทางความฝันของตัวเองต้องการ อยากจะบอกผู้หญิงม้งทุกคนว่าออกมาเชื่อในตัวเรา เพราะว่าหนูเชื่อในตัวหนูเอง หนูไม่ได้ฟังเสียงของคนอื่นเลย แต่ฟังเสียงหัวใจตัวเอง และเดินตามจิตวิญญาณของตัวเอง เพราะฉะนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่อยากให้ผู้หญิงม้งทุกคนมี และผู้หญิงทั่วโลกใบนี้มีก็คือเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะฝันและลงมือทำมันให้ได้”

นอกจากนี้ ลอยังเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และยังเคยเป็นนักกีฬาเทควันโดผู้เคยคว้าเหรียญเงินมาครองอีกด้วย

           

จากเด็กสาวชาวม้ง สู่มิสยูนิเวิร์สลาว

... แม้ ‘ปาเย็งซา ลอ’ จะไปไม่ถึงฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือการเป็นมิสยูนิเวิร์ส แต่เรื่องราวชีวิตของเธอ เช่น การขัดขืนต่อกรอบสังคม การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของตัวตน ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนและได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยจากคนทั่วโลก

จากเรื่องราวในชีวิตของลอ เราปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ที่เขาว่ากันว่าภาษาเป็นทั้งอำนาจและเป็นทั้งเครื่องมือที่ปลดแอกปัจเจกบุคคลจากอำนาจ นั่นเป็นเรื่องจริงเสียยิ่งกว่าจริง

ลองหันสำรวจชีวิตของเราบ้างว่า ภาษากำกับหรือครอบงำการมีอยู่ของเราอย่างไรบ้าง และท้ายที่สุด เราจะขัดขืนหรือสยบยอม ก็คงขึ้นอยู่กับเจตจำนงค์เสรีของแต่ละบุคคล

 

อ้างอิง:

Interview : Speak - talk " Payengxa Lor" Miss Universe Laos 2022 -The journey towards the Crown"/YouTube

MGR Online

missuniverse.com