เล่าขุมทรัพย์แห่งอีสาน ผ่านโอกาสทางธุรกิจ อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว

เล่าขุมทรัพย์แห่งอีสาน ผ่านโอกาสทางธุรกิจ อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว

ความเป็นอีสานมีความหมายทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดภาพลักษณ์ในเชิงด้อยค่า ซึ่งความจริงอีสานถือว่าเป็นพื้นที่แห่งโอกาสหนึ่งของประเทศไทยในหลายแง่มุม ทั้งทางธุรกิจ, การเกษตร, อาหารที่ได้รับความนิยม และการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก

  • อีสานเป็นพื้นที่ที่ถูกด้อยค่าจากภาพลักษณ์ที่ดูแห้งแล้ง พัฒนาช้ากว่าภูมิภาคอื่นในไทย
  • ภาคเกษตรในอีสานยังมีหลายปัญหา เกษตรกรมีรายได้ต่ำ คนท้องถิ่นยังติดความคุ้นชินของปุ๋ยเคมี
  • อีสานพยายามก้าวสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้อย่างทั่วถึง
  • ส่วนอีสานในมุมของดนตรีสะท้อนตัวตนชัดว่าเป็นกลุ่มคนไร้กรอบทางความคิด มีอิสระ ไม่ชอบทำตามใคร

 

ในระหว่างที่อาหาร ดนตรี และวัฒนธรรมของคนอีสาน เป็นสิ่งที่คนทั่วประเทศรู้จักดี แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ภาพลักษณ์ของอีสานก็ถูกด้อยค่าว่ามีทรัพยากรที่ไม่โดดเด่นเท่ากับภูมิภาคอื่น ๆ ไร้การพัฒนา แห้งแล้ง และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นั่นอธิบายว่า ความเป็นอีสานมีความหมายในหลายมิติ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ถึงเช่นนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่รอให้ผู้คนมาค้นหาและสร้างมูลค่าให้กับมัน ซึ่งในเวที  ‘อีสานกินม่วน : อีสานกับโอกาสทางธุรกิจอาหาร เกษตร ท่องเที่ยว’ กับขุมทรัพย์ในท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจเกษตรทันสมัย นวัตกรรมอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ก็ได้ฉายภาพไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

โอกาสด้านการเกษตร

วิฑูรย์ ปัญญากุล GREENNET องค์กรธุรกิจส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม ในฐานะตัวแทนกลุ่มธุรกิจเกษตร มองว่าต้นทุนของอีสานด้านการเกษตรหนีไม่พ้นการเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะเป็นแหล่งปลูกข้าว ซึ่งในอดีตที่ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ภาคอีสานก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและขับเคลื่อนความสำเร็จที่ว่านั้น

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการสำรวจหลายสำนักกลับพบว่า เกษตรกรในภาคอีสานยังมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการมีรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับประชากรภาคอื่น ซึ่งวิธีการที่สนับสนุนคือการให้มีวิธีการประกอบอาชีพอย่างภาคภูมิใจ มีการสร้างหลักการค้าที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันก็มีสินค้าที่ประสบความสำเร็จจากแนวคิดเช่นนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน หรือการทำฝ้ายออร์แกนิก

เล่าขุมทรัพย์แห่งอีสาน ผ่านโอกาสทางธุรกิจ อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว

“การจะหาโอกาส สำหรับผมมองว่ามีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือการเชื่อว่าโอกาสมีอยู่ นั่นคือรอไปเรื่อย ๆ กับแบบที่สองคือเราเลือกที่จะสร้างโอกาสด้วยตัวเอง เปลี่ยนวิธีคิดมุมมอง นั่นจะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ”

วิฑูรย์มองว่าการสร้างโอกาสนั้นต้องอาศัยการรวมกลุ่มในการทำงาน และการกล้าที่จะลองผิดลองถูก เพราะไม่มีวิธีการใด สามารถแก้ปัญหาได้ทุกแบบ นั่นเพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน คนชอบอะไรไม่เหมือนกัน

ความท้าทายหลักของการทำเกษตรในอีสานคือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งอายุเฉลี่ยของเกษตรกรในเครือข่ายสูงอยู่ที่ 65 ปีซึ่งสูงขึ้นมาก ขณะที่คนรุ่นใหม่ทำเกษตรน้อยลง ทั้งยังรวมถึงปัญหาอย่างโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการผันผวนของพลังงาน ราคาสินค้าเกษตรในตลาด ทั้งนี้ หากจะสร้างโอกาสทางการเกษตรได้ต้องแก้โจทย์ใหญ่ด้วยการให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคการเกษตรและสร้างความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนได้

“การจะเปลี่ยนความเคยชินนั้นไม่ง่าย เช่นเดียวกับการจะเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นการใช้สารอินทรีย์ นั่นเพราะแม้ปุ๋ยเคมีจะเข้ามาในภาคอีสานไม่นาน หรือประมาณ 50 ปี แต่ก็นานพอที่เกษตรกรจะไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อไปหาสิ่งที่เขาไม่รู้จัก"

ข้อเสนอในภาคการเกษตรจึงเป็นการสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมา กล้าลองผิดถูก และเริ่มทำจากเล็ก ๆ และมองหาเครือข่ายที่จะช่วยให้เกษตรกรเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

 

โอกาสด้านการท่องเที่ยว

หากใครได้เดินทางมาจังหวัดนครราชสีมา ก็น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย

สิ่งที่น่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยวนี้คือการห่างจากตัวเมืองกว่า 25 กิโลเมตร แต่ก็สามารถสร้างมูลค่าพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้

ต้อง บุตรสีชา ผู้จัดการ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เล่าว่า จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2531 เป็นฟาร์มที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยีการเกษตรทันสมัย และคีย์หลักของที่นี่จะเป็นการผสมผสานระหว่างพื้นที่ทางการเกษตร ให้ความรู้ โดยการเรียนรู้ทุกกระบวนการผลิตผ้าไหมอันเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่การสาวไหม ฟอกย้อมเส้นไหมจากสีธรรมชาติ และการทอผ้าไหม

ถึงเช่นนั้นความท้าทายของการทำแหล่งท่องเที่ยวคือการทำให้ผู้มาเยือนได้ใช้เวลามากกว่า 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ใช่เพียงแค่มาแล้วกลับ และนั่นทำให้เกิดการสร้างมูลค่าด้วยการผสมผสานหลายอย่างเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ จุดที่ 1 ทุ่งคอสมอสและแปลงเก็บผักปลอดสารสวนผักลอยฟ้า ที่คัดสรรพืชผักสมุนไพรและพืชผักสวนครัวหลากหลายสายพันธุ์

เล่าขุมทรัพย์แห่งอีสาน ผ่านโอกาสทางธุรกิจ อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว

จุดที่ 2 ลานฟักทองและทุ่งวงกต ซึ่งมีทุ่งดอกไม้หลากหลาย จุดที่ 3 หมู่บ้านอีสาน ชมบ้านเรือนอีสานในแบบต่าง ๆ รวมทั้งศาสนาคารที่งดงามตามแบบฉบับของชาวอีสาน ซึ่งมีวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของชาวอีสาน เช่น บุญคูนลาน โฮงฮดน้ำ การทำเทียนพรรษา ประเพณีแห่ต้นดอกไม้

จุดที่ 4 หมู่บ้านจิม ร่วมชมและเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมอันเลื่องชื่อและเป็นเอกลักษณ์ของจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วงจรชีวิตหนอนไหมที่สร้างเส้นใยธรรมชาติ การสาวไหม การฟอกย้อมเส้นไหม การทอผ้าไหมและการพิมพ์ผ้าไหม จุดที่ 5 ตลาดจิม สวนไม้ดอกและไร่มะเขือยักษ์พันธุ์หายาก และยังสามารถเลือกซื้อผัก ผลไม้ ต้นไม้ ไม้ดอกกระถางหลากหลายสายพันธุ์

“ความท้าทายในการทำธุรกิจท่องเที่ยวนอกทำเลหลัก คือการทำงานกับชาวบ้าน ทำอย่างไรให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ พยายามหลอมรวมทั้งวัฒนธรรม แหล่งสินค้าที่มีคุณภาพ พยายามดึงชุมชนมาเป็นแนวร่วม ดูประวัติศาสตร์ชุมชนนั้น ๆ ทำให้เห็นว่าการเติบโตไปด้วยกัน ให้คนได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ถ้ามีคนมาท่องเที่ยว พื้นที่ทำให้ธุรกิจอื่น เช่น รีสอร์ตก็ขายได้ ก๋วยเตี๋ยวก็ขายได้ เกิดการจ้างงาน ซึ่งที่จิม ทอมป์สันฯ มีการจ้างงานในชุมชนมากกว่า 200 คนในแต่ละปี”

โอกาสจากธุรกิจท่องเที่ยวจะเกิดได้ ต้องหาโอกาสและการมีตลาดชุมชนคือทางรอด และต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ เช่น หากจะปลูกต้นไม้ ต้องรู้ว่าจะโตวันไหน โรยวันไหน และวันไหนถึงจะเชิญชวนให้มาท่องเที่ยว

 

ต้นทุนทางความคิด รสนิยม และความบันเทิง

นอกจากเกษตรและการท่องเที่ยวแล้ว อีสานยังเป็นหมุดหมายของการจัดกิจกรรม ซึ่งในมุมมองของตัวแทนจัดการธุรกิจ Showbiz 'พงศ์นรินทร์ อุลิศ' ผู้บริหาร Cat Radio สะท้อนว่า จากประสบการณ์แม้จะนำเสนอดนตรี หรือจัดงานเฟสติวัลที่ไม่ใช่กระแสหลัก แต่อีสานคือภูมิภาคที่มั่นใจว่ามีกลุ่มตอบรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่นี่มีอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ต้องทำตามใคร

“ในเชิงโอกาสก็พูดตรง ๆ ว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะการจัดที่กรุงเทพฯ มีต้นทุนมากกว่า ขณะที่รายรับน้อยกว่า แต่เรามั่นใจว่ามาที่นี่ได้ และมั่นใจว่าที่นี่มีคนเป็นตัวของตัวเอง ถึงจะน้อยแต่ก็พอ แต่มีความหนักแน่นขึ้น และมีเอกลักษณ์ เป็นภาคที่มั่นใจมากกว่าที่อื่นด้วยซ้ำ”

เล่าขุมทรัพย์แห่งอีสาน ผ่านโอกาสทางธุรกิจ อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว

พงศ์นรินทร์ยกตัวอย่าง อีสานมีเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างเสียงพิณของคนอีสานว่าที่แค่ได้ยินก็รู้ชัดเจนว่ามาจากที่ไหน เป็นการแทนคำว่าไทยได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามการมองหาโอกาสขึ้นอยู่กับคนคนนั้นด้วยว่า ต้องเรียนรู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรค แต่ไม่นำมาเป็นปัญหา ที่สำคัญคือกล้าจะลองทำ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้สำเร็จง่าย ๆ ต้องเรียนรู้กับข้อผิดพลาดต่อไป และสร้างโอกาสขึ้นมา ต้องมีความรู้และหนักแน่นที่จะทำ

ทั้งหมดคือมุมมองของคนในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนโอกาสที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน พื้นที่ซึ่งมีภาพลักษณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบที่เชิญชวนให้มาสัมผัสด้วยตัวเอง