อิสเบลล่า เมนิน ผู้คว้ามงกุฎมิสแกรนด์ อินเตอร์ฯ 2022 กับประเด็นร้อนความงามกับธุรกิจ

อิสเบลล่า เมนิน ผู้คว้ามงกุฎมิสแกรนด์ อินเตอร์ฯ 2022 กับประเด็นร้อนความงามกับธุรกิจ

อิสเบลล่า เมนิน (Isabella Menin) ผู้คว้ามงกุฎมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชันแนล 2022 ผู้กล้าเอ่ยว่า ความเป็นนางงามอยู่ในสายเลือดของเธอ และควันหลงเรื่องดราม่าที่เป็นประเด็นร้อนของการประกวด เมื่อ ความงาม ปะทะ ธุรกิจ

สิ้นสุดลงแล้วกับงานครบรอบหนึ่งทศวรรษของการประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล เวทีการประกวดของคนไทยภายใต้การนำของ คุณ ‘ณวัตน์ อิสรไกรศีล’ ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย สาวงามผู้คว้ามงกุฎในครั้งนี้ คือ ‘อิสเบลล่า เมนิน’ (Isabella Menin) ตัวแทนจากประเทศบราซิล ซึ่งถือว่าเป็นหนี่งในตัวเต็งที่ทำผลงานได้ดีเป็นอย่างมากตลอดการประกวด

บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสาวมิสแกรนด์ฯ คนนี้ ทั้งประวัติส่วนตัว ตัวตน และความคิดของเธอ รวมถึงพูดคุยเรื่องดราม่าที่เป็นประเด็นร้อนที่หลายคนจับตามองในการประกวดครั้งนี้

สวยดี 3B ครบ

คุณณวัตน์ เคยอธิบายว่า นิยามของสาวมิสแกรนด์ในอุดมคติคือต้องมี 3 B คือ Body (รูปร่าง) Beauty (ความงาม) Brain (สติปัญญา) แต่อิสเบลล่า ยืนยันว่าตนไม่ได้มีแค่สาม แต่เธอมีทั้งหมดคือ 4B

#Body อิสเบลล่าเป็นสาวงามชาวบราซิลที่มีส่วนสูงถึง 178 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงนาฬิกาทราย อก เอว สะโพก ครบ! สัดส่วนของเธอถูกขับเน้นเด่นชัดจากท่าทางการเดินที่สวยสง่าและการวางระเบียบร่างกายที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

#Beauty นอกจากใบหน้าที่สวยงามแบบไม่ค้านสายตาแล้ว อิสเบลล่ายังเคยเล่าประวัติด้านความงามของตระกูลเธอ เธอบอกว่า คุณยายของเธอเคยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในเมือง คุณป้าและคุณแม่ของเธอเคยเป็นนางงามมาก่อน และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอถูกเลี้ยงดูเพื่อเติบโตมาเป็นนางงาม เธอจึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าความเป็นนางงามนั้นฝังอยู่ในสายเลือดของเธอ

#Brain อิสเบลล่าจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินจาก UCL (University College London) แถมยังพูดได้อีก 5 ภาษา คือ อังกฤษ โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส และอีตาลี

และ B ที่สี่คือ #Brazil ตลอดกว่า 50 ปีมานี้ ยังไม่มีสาวงามจากบราซิลที่คว้ามงกุฎของเวทีการประกวดนางงามระดับแกรนด์สแลมได้สักคน ซึ่งแน่นอนว่าชัยชนะของเธอในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มยอดผู้ติดตามให้แก่เวทีมิสแกรนด์ฯ ได้อย่างมากมายมหาศาล กลับไปตีตลาดแถบลาตินอเมริกาอีกครั้ง

อิสเบลล่ายังมีจิตสาธารณะ เธอช่วยเหลือผู้พิการโดยการสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตภายใต้โครงการที่ตัวเธอเองเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นคือ ‘Beyond Project’ แถมมีความสามารถพิเศษอื่น ๆ เช่น การแสดง เดินแบบ ร้องเพลง ถ่ายภาพ

นอกเหนือจากประวัติชีวิตอันน่าสนใจและคุณสมบัติที่ครบเครื่อง อิสเบลล่ายังได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากในการกล่าวสุนทรพจน์รอบ 10 คนสุดท้ายของเธอ เธอพูดถึงความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและชี้ให้เห็นเห็นความสำคัญของความเป็นพลเมืองโลกมากกว่าใช้เชื้อชาติมาแบ่งแยกกีดกันกันอันเป็นต้นเหตุของสงครามความขัดแย้ง

“นับเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เด็กหนึ่งคนถูกฆ่าหรือทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสทุก ๆ 5 ชั่วโมงตลอดช่วง 20 ปี เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกฆ่า ส่วนหนึ่งของอนาคตของพวกเราก็ถูกลบ พวกเราควรเริ่มแสดงให้เด็ก ๆ ทุกคนเห็นถึงการทูตและความเข้าอกเข้าใจกันมากกว่าสนามรบ

เพราะสนามรบนำมาเพียงซึ่งความแตกแยกแด่มนุษยชาติของเรา ฉะนั้น เราควรตระหนักว่าพวกเราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดีกว่าที่จะมองว่าเราแตกกันจากเชื้อชาติ ขอให้อำนาจแห่งความรักเอาชนะความรักต่ออำนาจ (และพูดภาษาไทย) ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างพื้นฐานที่ดีให้โลกของเรากันค่ะ”

ถือเป็นสุนทรพจน์ที่สวยงามตามบริบทของเวทีมิสแกรนด์ที่ยึดคอนเซปต์หลักคือการยุติสงครามและความรุนแรง และเสียดสีโจมตีสภาวะสงครามรัฐเซีย-ยูเครนที่สถานการณ์นั้นย่ำแย่ลงทุกวันในขณะนี้ (ซึ่งก็ต้องชื่นชมเวทีมิสแกรนด์อินเตอร์ฯ ที่เปิดพื้นที่ให้เสรีภาพแก่เหล่านางงามได้มีโอกาสแสดงทัศนคติถึงประเด็นอ่อนไหวนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา)

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาข้างต้นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดอิสเบลล่าจึงคว้ามงกุฏไปครอบครอง เฉือนเอาชนะ ‘อิงฟ้า วราหะ’ ตัวแทนสาวไทยที่ก็ทำผลงานได้ดีไม่น้อยด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง

แต่กระนั้น ประเด็นที่น่าสนใจในการติดตามการประกวดมิสแกรนด์ครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงามทางกายภาพของเหล่าบรรดาสาวงามหรือความร้อนแรงในเรื่องสงครามรัฐเซีย-ยูเครนเท่านั้น แต่แฟนนางงามหลายคนยังตั้งตารอลุ้นผลการตัดสินในการประกวดครั้งนี้อีกว่าจะมีปมใดให้ชวนข้องใจอีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่มุมของปัจจัยทางธุรกิจ

ความยุติธรรม VS ธุรกิจ

ความยุติธรรมในการตัดสิน VS โอกาสทางธุรกิจ ถือเป็นประเด็นที่เริ่มคุกรุ่นตั้งแต่การประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์ฯ ปี 2021 ที่ ‘เหงียน ตุ๊ก ตุย เตียน’ สาวเวียดนามคว้าชัยชนะท่ามกลางดงสาวงามจากลาตินอเมริกันที่ถือเป็นมหาอำนาจแห่งวงการนางงามโลก ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายของแฟน ๆ หลายคน แต่คุณณวัตน์เองก็ออกมาอธิบายถึงผลการตัดสินว่าตัวเขาไม่ได้วัดที่ ‘หน้างาน’ แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของทีมงานหลังบ้าน ทุน และแรงสนับสนุนองค์กรมิสแกรนด์อินเตอร์ฯ ในประเทศนั้น ๆ ด้วย

ตามมาด้วยมงกุฎมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 ที่ตกเป็นของ ‘อิงฟ้า วราหะ’ ซึ่งคุณณวัตน์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกอิงฟ้าเพราะชื่อเสียงของเธอเป็นผลดีต่อการสร้างรายได้ให้องค์กรมิสแกรนด์ฯ แถมเธอยังมีฐานแฟนคลับหนาแน่นและพร้อมทุ่มทุนสนับสนุน ทำเอาแฟนนางงามบางส่วนตั้งฉายาในเธอว่า ‘มิสธุรกิจ’ แต่เจ้าตัวพลิกกลับสามารถสถานการณ์ และป่าวประกาศก้องว่า

“มิสธุรกิจก็ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ นะคะ”

ด้วยเหตุนี้ แฟนนางงามจึงพากันเชื่อว่าคุณณวัตน์น่าจะ ‘โยนมง’ เพื่อให้กลับมาต่อยอดทางธุรกิจให้ปังกว่าเดิมขึ้นไปอีก

ซึ่งนั่นทำให้แฟนนางงามตั้งคำถามอย่างหนักว่ามันย้อนแย้งหรือไม่กับที่คุณณวัตน์มักจะพูดว่าเวทีมิสแกรนด์ฯ โปร่งใส ซื่อตรง ยุติธรรม คิดต่อไปได้อีกว่าเราจะยังคงมองการประกวดความงามในฐานะสื่อบันเทิงขับเคลื่อนสังคมได้อยู่หรือไม่ หากมันพ่ายแพ้ต่ออำนาจทุน หรือการพูดถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยบนเวทีมิสแกรนด์ฯ จะยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่หากผลการตัดสินขึ้นอยู่กับดีลมากกว่าความเป็นธรรม

แต่ในที่สุด ชัยชนะของอิสเบลล่าครั้งนี้ก็ได้ช่วยเจือจางคำครหาด่าทอต่าง ๆ ในประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น แถมยังกอบกู้ศรัทธาหรือความวาดหวังของแฟนนางงามที่ยังคงอยากเห็นความยุติธรรมบนเวทีการประกวดนางงาม และในเชิงพลวัตทางวัฒนธรรม เรายังคงยกย่องให้เวทีมิสแกรนด์ฯ เป็นเวทีที่ยังมีเครดิตมากพอที่จะสามารถเป็นกระบอกเสียงพูดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมที่พึงเกิดขึ้นในทุก ๆ สังคมทั่วโลก

นี่อาจเป็นความท้าทายใหม่ขององค์กรมิสแกรนด์ฯ ในการประคับประคองให้การเติบโตทางธุรกิจสามารถเดินคู่ขนานกับความยุติธรรมและความน่าเชื่อถือไปได้ ซึ่งหากเวทีมิสแกรนด์แสวงหาหรือรักษาจุดสมดุลย์ระหว่างสองเรื่องนี้ได้ คงเป็นไปได้สูงทีเดียวที่เวทีมิสแกรนด์ฯ จะได้ประกาศชัยชนะเหนือมิสยูนิเวิร์สหรือมิสเวิร์ลได้อย่างขาดลอยและกลายเป็น “เวทีอันดับหนึ่ง” ตามสโลแกนสมดั่งตั้งใจ