พลิกปมคลั่ง อะไรทำให้เกิดผู้กราดยิงทักษะสูงแบบตำรวจ-ทหารจากกรมกอง? ก่อนเรื่องเลือนหาย

พลิกปมคลั่ง อะไรทำให้เกิดผู้กราดยิงทักษะสูงแบบตำรวจ-ทหารจากกรมกอง? ก่อนเรื่องเลือนหาย

ก่อนที่เรื่องเหตุกราดยิงจะเลือนหายจากสังคมและหน้าสื่อ ลองสำรวจปัจจัย และแนวโน้มที่อาจส่งผลทำให้เกิดผู้กราดยิงทักษะสูงจำพวก ตำรวจ-ทหารจากกรมกอง พร้อมฟังข้อมูลจากปากคนในแวดวงตำรวจ

  • เหตุกราดยิงและฆ่าตัวตายซึ่งมีผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลจากกรมกองนำมาสู่คำถามเรื่องความเครียดของเจ้าหน้าที่
  • นายตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนท่านหนึ่งเล่าถึงปมปัญหา และปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน

ความโศกเศร้ายังเกาะกินหัวใจแต่สังคมยังจับตาว่า ผ่านมาเกือบสองสัปดาห์เต็มแล้วที่เหตุกราดยิงและสังหารครู เด็กเล็ก และประชาชนผู้บริสุทธิ์จนสูญเสียไปรวม 36 ชีวิตที่จังหวัดหนองบัวลำภู ด้วยน้ำมือของ ‘ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ’ อดีตตำรวจ สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู เกิดจากสาเหตุใดกันแน่

ซึ่งคำตอบนั้นจะนำไปสู่คำถามว่า จะป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคตได้อย่างไร

เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุ ‘อดีตตำรวจคลั่ง’ เกิดจากอะไร ข้อกล่าวหาเรื่องการถูกไล่ออกจากราชการจากพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คำบอกเล่าหลังเกิดเหตุว่าอดีตตำรวจหนุ่มผู้แปลงร่างเป็นฆาตกรสังหารหมู่เพียงชั่วพริบตาเสพยาบ้ามาตั้งแต่วัยรุ่น มีพฤติกรรมขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาบ่อยครั้ง

เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกตั้งคำถามดังขึ้นว่ามีน้ำหนักดังที่กล่าวอ้างเพียงใด เพราะแพทย์นิติเวชตรวจไม่พบสารเสพติดจากศพของ ส.ต.อ.ปัญญา หรือแม้แต่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า เขาเรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้วพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เขาถูกไล่ออกจากราชการจริง ด้วยสาเหตุถูกจับกุมตัวด้วยยาบ้า 1 เม็ด และคดีกำลังอยู่ในชั้นศาล หรือนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อดีตตำรวจผู้นั้นบังเกิดระเบิดความเครียดจนสิ้นสำนึกผิดชอบชั่วดีแบบมนุษย์ปกติ รวมถึงคำกล่าวอ้างเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวที่เป็นอีกปมที่ไม่มีใครยืนยันข้อเท็จจริงได้

แต่สังคมยังคงมีคำถามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกหลายคำถาม ทั้งในข้อเท็จจริงของปัญหาใน สภ.นาวัง รวมถึงมาตรการดูแลกำลังพลใต้บังคับบัญชา ทั้งมาตรฐานการตรวจสอบบุคลากรที่จะนำเข้ามาเป็นกำลังพล การตรวจสอบสภาพจิต การป้องกันและดูแลไม่ให้กำลังพลที่เผชิญสภาวะความเครียดออกไปก่อเหตุอาชญากรรมกับผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ

ตัวอย่างของเหตุกราดยิงและฆ่าตัวตาย

ต้องยอมรับความจริงว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีตำรวจก่อเหตุสะเทือนขวัญอันเป็นผลจากสภาวะความเครียด ไร้ทางออกจากปัญหา รวมถึงเผชิญโรคซึมเศร้าถึงขั้นลงมือสังหารเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ตัว เช่น ปี 2561 ดาบตำรวจเมาสุราคลั่งกราดยิงเพื่อข้าราชการตำรวจโรงพักเดียวกันเสียชีวิต ในพื้นที่ สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ปี 2549 ตร.เมืองช้างเครียด ยิงเพื่อนบนโรงพักดับ 2 นาย-ก่อนจ่อขมับตายตาม

2 ส.ค. 2565 รองสารวัตร สภ.ไทรย้อย จ.พิษณุโลก ก่อเหตุยิงภรรยาเสียชีวิต ก่อนปลิดชีพตัวเองตาม พบป่วยซึมเศร้าและเคยคิดสั้นมาหลายครั้งแล้ว ฯลฯ

หรือกรณีฆ่าตัวตาย เช่น ปลายปี 2564 ‘ดาบตำรวจ’ พลับพลาไชย ยิงตัวตายบนโรงพัก พบชนวนเหตุ ป่วยซึมเศร้า ปี 2562 ดาบตำรวจยิงตัวตายบนโรงพัก สภ.เหนือคลอง จ.กระบี่ หลังถูกทวงหนี้หลักแสนที่กู้มาจัดงานแต่งลูกชาย ปี 2562 ตำรวจยะลายิงตัวเองเสียชีวิตในแฟลต หลังแยกทางภรรยามีอาการซึมเศร้า ฯลฯ

จะเห็นว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาที่เป็นบ่อเกิดของการก่อเหตุอาชญากรรมคือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวชที่คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจ มีคนป่วยจำนวนไม่มากนักที่รู้ตัวและเข้าถึงการรักษา จากสถิติปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน

ผู้เขียนได้รับการเปิดเผยจากนายตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนนายหนึ่งว่า บ่อเกิดของโรคเครียดจนถึงโรคซึมเศร้าในอาชีพตำรวจนั้นมีหลายสาเหตุ

ผู้คนอาจรับรู้แค่เรื่องปัญหาครอบครัว หนี้สิน แต่ชีวิตตำรวจที่เงินเดือนทุกบาททุกสตางค์แลกด้วยภารกิจไขที่มีระยะเวลาบีบคั้น คดีความที่เรียกว่าล้นโรงพักแต่กำลังพลแต่ละสายงานมีจำกัด ไหนจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาที่มี KPI หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จอยู่ที่จำนวนผลงานซึ่งต้องส่งรายงานเป็นทอด ๆ จนถึงระดับสูงสุด ตำรวจแต่ละตำแหน่งมีภารกิจล้นมือ พักผ่อนน้อยสะสม จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับครอบครัวตามมา

“มีแต่คนถามว่า ถ้าเหนื่อยทำไมไม่ลาออกมาให้คนอื่นเข้าไปทำแทน ผมอยากให้มองข้อเท็จจริงว่าแต่ละปีมีจำนวนตำรวจลาออกนับพัน ๆ นาย ไม่นับที่ผ่านโครงการเออร์ลี่รีไทร์ อย่าง 1 ตุลาคมที่ผ่านมาตำรวจก็เลือกเออร์ลี่ฯ กว่าพันนาย ทั้งหมดคือการหลีกหนีปัญหาความเครียดกับระบบที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต่อให้ตำรวจใหม่ ๆ สอบเข้ามาและทำหน้าที่ตรงนี้ก็เผชิญปัญหาเหมือนเดิม”

เมื่อถามว่าปัญหาในระบบคืออะไร นายตำรวจพนักงานสอบสวนสังกัดนครบาลชั้นยศร้อยตำรวจโทผู้นี้บอกว่า แต่ละสายงานในโครงสร้าง ไม่ว่าฝ่ายป้องกันและปราบปราม หรือสืบสวนสอบสวนจะมีปัญหาของตัวเองที่แตกต่างกันไป แต่ในบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพนักงานสอบสวนจะมีปัญหาใหญ่อยู่ที่การจำกัดการทำงานด้วยกรอบเวลา ถูกทวงถามความคืบหน้าทางคดีและเสี่ยงถูกร้องเรียนสูงจนสะสมเป็นความเครียด

และสายงานนี้เติบโตยาก แม้จะมีค่าสำนวนและค่าตำแหน่ง แต่การที่ต้องอยู่กับเอกสารทางคดีเป็นตั้ง ๆ จึงไม่คุ้มค่าต่อความเครียดและเหนื่อยล้า จะเห็นได้ว่าตำแหน่งนี้จะไม่ค่อยมีใครอยากย้ายมาเพราะทั้งเหนื่อยและเติบโตยาก อยู่นอกสายตาของผู้บังคับบัญชา ทั้งที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม

“เวลาประชุม ตำรวจระดับสูงเขาก็มาฟังนะ ตำรวจแต่ละสายงานเขาก็มีแกนในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่รับฟังปัญหาและช่วยแก้ไข ทั้งระดับประทวนและสัญญาบัตร อย่างเรื่องความเครียดเขาก็เคยให้ ร.พ.ตำรวจเพิ่มหน่วยให้คำปรึกษาทางจิตเวช แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีใครมีเวลาไป จะนอนยังไม่พอเลย

“แล้วตำรวจจำนวนมากก็กลัวว่า ถ้ามีหลักฐานว่าตรวจพบโรคทางจิตเวชอาจเป็นเหตุให้ถูกพักงานหรือไล่ออกได้ แล้วภาระครอบครัวหรือหนี้สินที่แบกอยู่อีกล่ะ

“หรืออย่างพวกผมที่เป็นพนักงานสอบสวน เมื่อก่อนตำรวจสายนี้เคยเคลื่อนไหวจัดตั้งเป็นสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ เรียกร้องให้ปฏิรูปงานสอบสวนแยกสายงานนี้เป็นอีกองค์กร แต่สุดท้ายหนึ่งในแกนนำก็ฆ่าตัวตายอย่างเป็นปริศนา (พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติขณะนั้น - ผู้เขียน) สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไล่ล้างบีบให้สลายตัว สุดท้ายสมาพันธ์ก็ต้องยุติบทบาทไป พวกเราก็พยายามกันเต็มที่แล้ว”

ศูนย์พัฒนาเด็ก สถานที่เกิดเหตุกราดยิง

ความคาดหวังของตำรวจ

สิ่งที่นายตำรวจหนุ่มผู้นี้สะท้อนอีกอย่างคือ อาชีพตำรวจแม้ไม่ระบุเพศ แต่ในความหมายที่หล่อหลอมกันขึ้นมาให้ตำรวจเป็นเพศชาย ต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ ห้ามอ่อนแอ เพราะมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน เมื่อเผชิญปัญหาหรือความป่วยไข้ทางใจก็ต้องเก็บกลืนไว้กับตัว เมื่อสะสมนานวันกลายเป็นปัญหาทางสภาพจิต ไประบายกับคนใกล้ตัว ครอบครัว จนถึงระเบิดความคลั่งต่อประชาชนทั่วไป

และปัญหาที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ คือความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงาน เพราะตำรวจหรือคนมีสีทั่วไปถูกสอนต่อ ๆ กันว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่ถูกสะสางอย่างถูกต้องยุติธรรม อาชีพตำรวจที่มีอาวุธปืนประจำกายแบบถูกกฎหมายก็ย่อมเสี่ยงต่อการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แม้บางคนถูกไล่ออกจากราชการไปแล้วแต่มีทักษะการใช้อาวุธ มีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน หรือรู้แหล่งเข้าถึงปืนผิดกฎหมาย ก็ย่อมทวีความน่ากลัว

“ผมยกตัวอย่างเหมือนทหารสหรัฐที่ไปต่อสู้ที่อิรัก เจอปัญหามากมายแล้วสะสมไว้ในตัว กลับมามีอาการ PTSD (โรคทางจิตเวชที่เป็นผลจากการกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย - ผู้เขียน) ตำรวจหลายส่วนก็เจอเรื่องแบบนี้เยอะนะ

“เรื่องพวกนี้ไม่ต้องผ่านสงคราม อย่างพวก คฝ. (ควบคุมฝูงชน - กองบรรณาธิการ) ที่เผชิญกับการประท้วงทางการเมืองหนัก ๆ ต่อเนื่องกันกลับไปต้นสังกัดก็พกปัญหาทางจิตเวชไปเพียบ มีคนลงไปดูตรงนี้ไหม”

“เราต้องมองตำรวจในฐานะมนุษย์ปกติ โครงสร้างกำลังพลส่วนใหญ่คือชั้นประทวน หลายคนชีวิตสมบุกสมบันสมัยเป็นวัยรุ่น เคยเกเรมาบ้าง เคยติดยามาบ้างก็มี บางคนภูมิคุ้มกันทางใจอาจจะต่ำ นี่ผมพูดถึงคนมีปัญหานะ บางคนดี ๆ พอเข้ามาในระบบบังคับบัญชาแนวดิ่งที่แข็งโป๊กของตำรวจ ปรับตัวได้ก็รอดไป ที่ปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ลำบาก

“เพราะอยู่ตรงนี้ปัญหาก็เยอะ ไหนจะผลประโยชน์ล่อตาล่อใจก็มาก ถ้าผู้นำสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่ละคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตรงนี้ไม่ปรับระบบให้สอดรับกับยุคสมัย พอเกิดปัญหาอะไรก็รีบกวาดเข้าไปเก็บใต้พรม ไม่ลงไปดู ไม่กำกับให้มันยุติธรรม กลัวจะแปดเปื้อน กลัวจะเสียชื่อ ผ่านไปอีกกี่ปีก็แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วชื่อตำรวจทุกวันนี้ถ้ามองกันด้วยความเป็นจริงในสายตาประชาชนนี่มันติดลบไปแล้วนะ”

ภาพเหตุการณ์ขณะเกิดกราดยิงที่โคราช

ฟากของทหาร

ความจริงปัญหาที่พูดถึงไม่ใช่แค่ตำรวจเท่านั้น ในฟากของ ‘ทหาร’ ก็เผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน หลังเหตุการณ์ที่ ‘จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา’ สังกัดกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ไล่สังหารประชาชนที่ห้างเทอมินอล 21 กลางเมืองนครราชสีมาเมื่อ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 จนมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 30 ศพ

และเมื่อสืบลึกปมปัญหาจนพบขบวนการคอร์รัปชั่นหาประโยชน์จากทหารชั้นผู้น้อยในโครงการก่อสร้างบ้านพักสวัสดิการทหาร โดยเครือญาติของนายทหารนำโครงการมาเสนอขายให้ทหารชั้นผู้น้อยในราคาถูก จากนั้นจัดหาเจ้าหน้าที่มาดูแลด้านการอนุมัติเงินกู้ของกรมสวัสดิการทหารบกมาประเมินราคาบ้านให้สูงกว่าความเป็นจริงเพื่อขออนุมัติเงินกู้ในวงเงินที่สูง ๆ โดยผู้บังคับบัญชาเซ็นหนังสือรับรองเพื่อให้อนุมัติเงินได้ง่ายขึ้น 

แต่ทางพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นปฏิเสธ เหลือเพียงการสรุปสั้น ๆ “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ” และการปล่อยข่าวว่าฉากหลังมีการตรวจสอบโครงการดังกล่าวทั่วประเทศ แต่ไร้ความคืบหน้าและไม่ให้ข้อมูลเรื่องนี้กับสื่อมวลชนอีกเลย

คำว่า “ปัดกวาดปัญหาไปอยู่ใต้พรม” จึงน่าจะเป็นคำที่ใกล้เคียงสภาพการณ์ที่สุด เพราะล่าสุดก็ยังเกิดเหตุที่ จ.ส.อ.ยงยุทธ มังกรกิม ตำแหน่งเสมียนในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก ใกล้สถานีรถไฟสามเสน ก่อเหตุสังหารเพื่อนร่วมงานเสียชีวิตถึง 2 ศพภายในหน่วยงานเมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา

มีรายงานว่า ฆาตกรในเครื่องแบบทหารประกาศว่าจะสังหารให้ครบ 10 ศพก่อนที่ตำรวจ สน.ดุสิต จะเข้าไปกล่อมจนยอมมอบตัว แต่พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบกให้สัมภาษณ์สื่อแค่ว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตประสาท และปฏิเสธว่าไม่น่าจะมาจากปมขัดแย้งใด ๆ ภายในหน่วยงาน

ข้อเขียนนี้อาจไม่ได้ชี้ให้เห็นลำดับทางออกของปัญหาได้ทั้งหมด เพราะเชื่อว่าผู้อ่านคงมองเห็นได้ด้วยตัวเอง และเชื่อว่าหากทั้งปมปัญหาภายใน สาเหตุของสภาวะทางจิต และระบบที่ไม่เกื้อหนุนให้เกิดทางออกทั้งสามสิ่งนี้ยังอยู่ด้วยกัน จะเป็นสิ่งเพิ่มแนวโน้มบ่มเพาะฆาตกรทักษะสูงออกมาสู่สังคมได้อีกในอนาคต

อ้างอิง:

กองทัพชี้ มือยิงในกรมยุทธศึกษาทหารบกตาย 2 ศพ มีอาการประสาท ปัดปมขัดแย้ง https://www.bbc.com/thai/articles/cxegp4xkk50o

กราดยิงโคราช : ความสูญเสียจากเหตุกราดยิง นำมาสู่การตรวจสอบธุรกิจในค่ายทหาร https://www.bbc.com/thai/thailand-51499744

ตร.ลาออกเกือบพันนาย ขณะที่นิตยสาร COP’S เปิด จม. ตร.ตั้งคำถามผู้ใหญ่ 'ทำไมต้องให้ลาออก' https://prachatai.com/journal/2019/10/84581

สตช. สั่งตรวจสอบสมาพันธ์พนง.สอบสวนจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ คาดอาจมีเบื้องหลัง https://prachatai.com/journal/2016/02/64066

ซึมเศร้ารู้เร็วลดเสี่ยงฆ่าตัวตาย เช็กง่ายๆ ผ่าน "DMIND” ด้วยตนเอง https://www.bangkokbiznews.com/social/1011008

สลด รองสารวัตรยิงเมียดับก่อนจบชีวิตตัวเองตาม คาดโรคซึมเศร้ากำเริบ https://www.thairath.co.th/news/local/north/2461926

ตำรวจแจ้ง 3 ข้อหา ‘ร.ท.ปืนดุ’ รัวยิง ‘จ.ส.อ.’ ดับคาร้านข้าวต้มกลางเมืองยะลา https://mgronline.com/south/detail/9650000037772

ตำรวจ สภ.เมืองยะลา ใช้ปืนยิงตัวเองเสียชีวิตภายในแฟลตตำรวจ พบมีอาการซึมเศร้าหลังจากแยกทางกับภรรยา https://workpointtoday.com/police-kill/

กราดยิงหนองบัวลำภู : อดีตตำรวจกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก สังหาร 36 ชีวิต ตำรวจชี้ แรงจูงใจมาจากเครียดสะสมและทะเลาะภรรยา https://www.bbc.com/thai/thailand-63155949