เช มินจอง : ทายาท 'แชโบล' หลานสาวอดีตประธานาธิบดีเกาหลีผู้ผันตัวไปเป็นทหาร

เช มินจอง : ทายาท 'แชโบล' หลานสาวอดีตประธานาธิบดีเกาหลีผู้ผันตัวไปเป็นทหาร

“ฉันภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินเกาหลี... หลังจากผ่านการฝึกอบรมทางทหารมาหลากหลายรูปแบบ ฉันมั่นใจว่าพร้อมแล้วที่จะดูแลปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนในฐานะบุตรสาวของประเทศนี้”

มองเผิน ๆ ถ้อยคำข้างต้น คงเป็นเรื่องปกติที่เรามักได้ยินจากปากของคนที่มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ชาติมีความเป็นปึกแผ่น แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ ถ้อยคำดังกล่าวกลับออกมาจากปากของ ‘เช มินจอง’ (Chey Min-jung) ลูกสาวของกลุ่มบริษัท เอสเค กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือที่เรียกกันด้วยคำว่า แชโบล (Chaebol – 재벌)

กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่แม้แต่รัฐบาลยังต้อง ‘ยอม’ ทำตามความต้องการของคนกลุ่มนี้ ซึ่งแชโบลที่คนไทยรู้จักมากที่สุดคงเป็น ‘ซัมซุง’ ค่ายโทรศัพท์มือถือชื่อดัง ขณะที่กลุ่มบริษัท เอสเค กรุ๊ป เองก็มีอิทธิพลติด 1 ใน 3 ของแชโบลที่คอยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการออกมาประกาศเจตนารมย์ของมินจอง ทำให้หลายคนงุนงงไปตาม ๆ กัน เพราะเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารด้วยซ้ำ ต่างจากทายาทแชโบลที่เป็นชายส่วนใหญ่ ที่มักจะหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารด้วยข้ออ้างต่าง ๆ และแน่นอนว่าพวกเขารอดจากการทำหน้าที่รับใช้ชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์

นี่คือเรื่องราวของเธอ หญิงสาวผู้เลือกละทิ้งสมบัติพัสถาน เพื่อมาทำหน้าที่รับใช้ชาติในวัย 23 ปี

ลูกคนกลางจากตระกูลมหาเศรษฐี

‘เช มินจอง’ เกิดปี 1991 เป็นบุตรสาวคนที่สองของ ‘เช แตวอน’ ประธานกลุ่มบริษัท เอสเค กรุ๊ป และ ‘โน โซยอง’ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซล เธอมีพี่สาวและน้องชาย 1 คน น้องสาวต่างแม่อีก 1 คน

ดูเหมือนว่าการเกิดมาในครอบครัวมหาเศรษฐีจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขเท่าไหร่นัก เธอมักขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด ค้นหาประวัติต้นตระกูลว่าพวกเขาเป็นใครมาจากที่ไหน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เธอค่อย ๆ ซึมซับความชื่นชอบในอาชีพ ‘ทหาร’ อย่างช้า ๆ เพราะปู่ของเธอ ‘โน แทอู’ เคยเป็นถึงอดีตนายพลของกองทัพบกเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีลำดับที่ 6 ของเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปในเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา

แม้ว่าเธอจะเกิดมาในตระกูลผู้มีอิทธิพลในเกาหลีใต้ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพและแวดล้อมไปด้วยลูกหลานเศรษฐีได้สบาย ๆ แต่เธอกลับขอพ่อ-แม่เข้าเรียนที่โรงเรียนธรรมดา ๆ ในประเทศจีนช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงปลาย และเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ณ กรุงปักกิ่ง (Renmin University of China) มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรคุณภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

ทุกช่วงปิดเทอม มินจองมักแวะกลับมาที่เกาหลีใต้ ใช้ชีวิตในฐานะเด็กสาวธรรมดา ๆ ไม่มีบอดี้การ์ดคอยคุ้มกัน และที่สำคัญไม่มีคนคอยเคลียร์ทางเพื่อให้เธอใช้ชีวิตอยู่เหนือชาวเกาหลีทั่วไป มินจองมักแอบไปทำงานพาร์ทไทม์เป็นพนักงานเสิร์ฟ แลกกับค่าตอบแทนที่ได้วันละไม่กี่ร้อยบาทอยู่บ่อยครั้ง ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัย เธอก็หาเงินค่าขนมเพิ่มเติมโดยการทำหน้าที่เป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์

ในช่วงปีแรกของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย มินจองและเพื่อนได้ก่อตั้ง Intercultural Union (ICU) องก์การเอกชน ทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเกาหลีใต้และจีน

“ฉันได้ไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้วว่าการก่อตั้ง ICU จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันระหว่างชาติตะวันออกกับชาติตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นได้ โดยความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากค้นหาประวัติคุณปู่ของฉันในห้องสมุด”

มินจองก่อตั้งองค์การนี้ขึ้นจากเงินส่วนตัวของเธอ พ่อและแม่ของเธอเพิ่งมารู้เรื่องราวดังกล่าวในภายหลัง หลังจากบทสัมภาษณ์ของเธอได้เผยแพร่ออกไป ครอบครัวของเธอจึงหันมาช่วยระดมทุนให้กับองค์การของลูกสาว นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ICU ก็ขยับขยายมีผู้ร่วมอุดมการณ์และมีสมาชิกมากกว่า 2,000 ราย

มีรายงานว่าเช แตวอน พ่อของมินจองได้บริจาคเงินมากกว่า 30 พันล้านวอน (ราวหนึ่งพันล้านบาท) รวมภึงเงินเดือนและโบนัสของบริษัท เพื่อช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคมอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแต่องค์การที่ลูกสาวก่อตั้งขึ้นมาเท่านั้น

มุ่งสู่ราชการทหาร

“ตั้งแต่มินจองเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฉันมักจะเห็นเธอพูดชื่นชมกองกำลังติดอาวุธอยู่บ่อย ๆ ซึ่งฉันเชื่อว่าปู่ของเธอมีอิทธิพลต่อความคิดนี้อยู่ไม่น้อย”

หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน มินจองตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องสอบเข้าสถาบันนาวิกโยธินเกาหลีใต้ให้ได้ และเธอก็ทำสำเร็จ ไม่ใช่เพราะอิทธิพลของครอบครัว แต่เป็นความมุ่งมั่นและความสามารถของเธอที่เปล่งประกายออกมา

ในปี 2014 เธอเป็นหนึ่งในนักเรียนหญิง 18 คนที่ศึกษาในสถาบันดังกล่าว จากจำนวนทั้งหมด 120 คนต่อปี (อ้างอิงจากบทความ ละครเกาหลี-คนรวย สองสิ่งที่แยกไม่ออก และใครคือทายาทเศรษฐีเกาหลีที่น่าจับตา ของ Workpoint News เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563)

มินจอง ในวัย 23 ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องเป็นทหารตามรอยเท้าปู่ให้ได้ แม้ว่าจะเป็นหลานสาวอดีตประธานาธิบดี แต่เธอก็ต้องสอบตามขั้นตอนเหมือนคนอื่น ๆ เธอสอบผ่านข้อเขียนในเดือนสิงหาคม และเข้าเรียนในโรงเรียนทหารเรือในเดือนถัดไป เพื่อเข้ารับการฝึกร่างกายขั้นพื้นฐาน รวมถึงปรับสภาพจิตใจให้มีความเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

เธอต้องผ่านการฝึกสุดโหด ตั้งแต่เข้าร่วมปฏิบัติการแก้ปัญหาโจรสลัดในพื้นที่นอกชายฝั่งโซมาเลียเป็นเวลาหกเดือนเต็ม และฝึกบริเวณเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างสองเกาหลี (Northern Limit Line) รวมถึงที่อ่าวเอเดนในตะวันออกกลาง

ทายาทเศรษฐีผู้ต่อต้านกลุ่มอภิสิทธิ์ชน

หลังจากปลดประจำการในเดือนพฤศจิกายน 2017 เธอได้ขัดใจพ่อ-แม่ครั้งใหญ่ โดยเลือกที่จะไม่ทำงานในบริษัทเอสเค กรุ๊ป บริษัทที่คนเกาหลีค่อนประเทศใฝ่ฝันจะเข้าทำงาน มินจองเลือกที่จะทำงานให้กับ Hony Capital บริษัทไพรเวทอิควิตี้ของจีนในปี 2018 ต่างจากทายาทแชโบลส่วนใหญ่ที่มักกลับมาสานต่อกิจการบริษัทของครอบครัว

แต่หลังจากทำงานให้กับบริษัทในจีนได้ประมาณปีกว่า เธอก็กลับมาทำงานให้กับบริษัทเอสเค ไฮนิกซ์ ในปี 2019 บริษัทในเครือของเอสเค กรุ๊ป ผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 3 ของโลก ทั้งยังเป็นนักวิจัยแลกเปลี่ยนของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศในสหรัฐฯ

“จากประสบการณ์อันหลากหลายของมินจอง เธอจะเข้ามารับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องงานด้านการค้าและนโยบายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทเอสเค ไฮนิกซ์ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี”

และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2022 แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนออกมาเผยว่า ตอนนี้มินจองกำลังจะลงจากตำแหน่งในเอสเค ไฮนิกซ์ เพื่อไปทำงานร่วมกับ ‘Done’ บริษัทสตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) ว่ากันว่าเธอได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 2020 เพียงหนึ่งปีหลังจากเข้ารับตำแหน่งในเอสเค ไฮนิกซ์

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าทายาทสาวคนนี้จะทำอะไรก็ดูเหมือนว่า เธอพร้อมจะแหวกขนบตระกูลทุกหนแห่ง ตั้งแต่การเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดาแทนที่จะเป็นโรงเรียนนานาชาติสุดหรู เหมือนลูกหลานแชโบลคนอื่นของประเทศ 

หลังจากจบมหาวิทยาลัย ก็เลือกเข้ารับราชการทหารเป็นผู้หญิงคนแรกของตระกูล และเป็นผู้หญิงคนแรกของกลุ่มแชโบลที่หันมาทำงานรับใช้ชาติ แทนที่จะสานต่อธุรกิจครอบครัวทันทีหลังเรียนจบ

ชีวิตที่แตกต่างของมินจอง กำลังเป็นการประกาศกลาย ๆ ว่าการเกิดมาเป็นลูกคนใหญ่คนโต หรือลูกหลานผู้มีอิทธิพล อาจไม่ใช่สิ่งที่เธอสามารถเลือกได้ก็จริง แต่การเลือกทำตามสิ่งที่หัวใจต้องการ ยังคงเป็นสิทธิและเสรีภาพที่เธอสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าการเลือกทางเดินชีวิตของเหล่าลูกหลานกลุ่มแชโบล หากล้มเหลวจะไม่เจ็บปวดมากเท่ากลุ่มคนอีกกว่า 90% ของประเทศก็ตาม

ภาพ: courtesy of the Navy

 

อ้างอิง:

https://workpointtoday.com/k-drama-chaebol-heirs/

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20141126000961

https://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2020/03/129_273951.html

https://newsarticleinsiders.com/chaebol-daughters5-sk-group-chey-min-jung

https://www.allkpop.com/article/2022/08/working-as-a-waitress-enlisting-in-the-navy-this-sk-group-heiress-is-receiving-attention-for-her-unconventional-chaebol-lifestyle

https://www.wsj.com/articles/BL-KRTB-6458

https://koreajoongangdaily.joins.com/2014/08/29/people/SK-chairmans-daughter-applies-for-Navy-service/2994247.htm