อวาไบ วาเดีย: ปกป้องสิทธิสตรีอินเดียด้วยการผลักดันนโยบายคุมกำเนิด

อวาไบ วาเดีย: ปกป้องสิทธิสตรีอินเดียด้วยการผลักดันนโยบายคุมกำเนิด

“วิธีที่จะช่วยให้สตรีในอินเดียหลุดพ้นจากความกดดันทางสังคม ที่บีบบังคับให้พวกเธอต้องทำหน้าที่ ‘แม่’ โดยไม่เต็มใจคือการวางแผนครอบครัว เพราะหากพวกเธอต้องให้กำเนิดอีกหนึ่งชีวิตขึ้นมาทั้งที่ยังไม่พร้อม ในอนาคตเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะถูกปล่อยปะละเลย”

นี่คือแนวคิดของ ‘อวาไบ วาเดีย’ (Avabai Wadia) หญิงสาวผู้เชื่อมั่นอย่างสุดใจว่าการวางแผนครอบครัว โดยใช้วิธีการคุมกำเนิดจะช่วยให้ผู้หญิงอินเดีย รอดพ้นจากการถูกกดทับจากสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งมักยัดเยียดหน้าที่การเป็น ‘แม่’ มาให้ทั้งโดยเต็มใจและไม่เต็มใจ

แนวคิดการคุมกำเนิดของวาเดียถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1933 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สิทธิสตรียังไม่ถูกพูดถึงมากนัก อีกทั้งผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียยังมองคนไม่เท่ากัน และยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องเพศ ที่ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกยังคงออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันแทบตลอดเวลา

อีกทั้งการเกิดเป็นผู้หญิงในอินเดียก็ต่ำต้อยเสียยิ่งกว่าอะไร ผู้หญิงแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางสังคม สถานะของพวกเธอถูกกดทับจนแทบไม่เหลือ ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังดีกว่าเกิดเป็นสตรี” (อ้างอิงข้อมูลจาก ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2018 ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.the101.world/woman-rights-in-india/)

อันที่จริงวาเดีย ไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีก็ได้ เพราะเธอเกิดมาในตระกูล Parsee ซึ่งได้รับการนับหน้าถือตาจากชาวศรีลังกามาอย่างช้านาน พ่อเป็นข้าราชการระดับสูงทำงานอยู่ในบริษัทเดินเรือ ส่วนแม่เป็นแม่บ้านธรรมดาที่มักขลุกตัวอยู่ในห้องอ่านหนังสือ

 

พื้นฐานครอบครัวเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นดีถึงดีมาก เธอสามารถนอนเกลือกกลิ้งไปมาบนที่นอน หรือจะย้ายสำมะโนครัวไปใช้ชีวิตอย่างหรูหราที่ต่างประเทศ แต่เธอเลือกที่จะทำตรงกันข้ามนั่นคือการทำหน้าที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ โดยการผลักดันนโยบายคุมกำเนิดให้เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย 

และนี่คือเรื่องราวของเธอ

อวาไบ วาเดีย เกิดวันที่ 18 กันยายน 1913 ณ โคลอมโบ ศรีลังกา มีน้องชายหนึ่งคนแยกไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษตั้งแต่เด็ก ทำให้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของเธอจึงหมดไปกับการอ่านตำราเรียน ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบว่าสังคมที่เธออยู่มีแต่ความเหลื่อมล้ำอยู่เต็มไปหมด ครอบครัวของเธอเองก็เช่นกัน การเกิดมาในชาติตระกูลที่สูงส่ง ไม่ได้ช่วยให้เธอสบายใจนัก

วาเดียจึงตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่อายุ 15 หลังจากย้ายไปอังกฤษในปี 1928 ว่าจะต้องเป็นทนายความหญิงคนแรกของประเทศให้ได้ เพื่อที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม เมืองในอุดมคติที่เธออยากจะเห็น เธอจึงเป็นชาวเอเชียใต้คนแรก ๆ ที่ได้ร่วมชั้นเรียนกับชาวยุโรป แน่นอนว่าสีผิวที่แตกต่างเรียกความสนใจจากเพื่อนร่วมชั้นได้ไม่น้อ

“ทำไมเล็บของเธอมีสีชมพูเหมือนพวกเราเลยล่ะ?”

“เธออ่านหนังสือออกด้วย?”

“ทำไมเธอพูดภาษาเราคล่องจัง?”

นี่คือคำถามที่วาเดียมักได้รับอยู่ตลอดเวลา ระหว่างเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยม Brondesbury และ Kilburn ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่แทนที่จะรู้สึกอับอาย ในทางตรงข้าม เธอกลับภาคภูมิใจที่เกิดมามีเชื้อชาติแตกต่างจากพวกเขา

“คำถามที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเขลาทางปัญญา แต่ฉันไม่เคยโดนพวกเขาดูถูกหรือหยามเกียรติเลยสักครั้ง ซึ่งก็เข้าใจได้ที่พวกเขาสงสัย เพราะฉันเป็นชาวอินเดียเพียงคนเดียวในบรรดาเด็กผู้หญิงนับร้อยคน แม้ว่าจะมีอีกคนที่เป็นคนอินเดียเหมือนกัน แต่เพราะเพื่อนคนนั้นเกิดและโตที่อังกฤษ ฉันเลยถือว่าเธอเป็นชาวอังกฤษโดยสมบูรณ์ ส่วนความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างเพื่อนชาวอังกฤษคนอื่น ๆ คือสำเนียงภาษาฝรั่งเศสของฉันเป๊ะจนคุณครูชม เธอบอกฉันว่าในห้องเรียนนี้ไม่มีใครมีสำเนียงฝรั่งเศสดีเท่าฉันอีกแล้ว”

ส่วนหนึ่งของบันทึกความทรงจำของวาเดีย ที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1920 – 1930 ปฏิบัติต่อชาวเอเชียใต้อย่างไร แต่อย่าลืมว่าการที่เธอได้รับการต้อนรับจากเพื่อนร่วมชั้นและคุณครูเป็นอย่างดี เป็นเพราะชาติตระกูลที่สูงส่งของเธอ ชีวิตในรั้วโรงเรียนจึงไม่ใช่ฝันร้าย หากแต่เป็นช่วงเวลาแสนสุข

หลังเรียนจบมัธยม วาเดียเข้าฝึกอบรมที่ Inns of Court สถานฝึกอบรมกฎหมายในอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี และกลายเป็นหญิงชาวซีลอน (ปัจจุบันคือศรีลังกา) คนแรกที่สอบผ่านเนติบัณฑิตยสภาในสหราชอาณาจักรตอนอายุ 19 หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซีลอน จึงอนุญาตให้สตรีสามารถเรียนกฎหมายในประเทศได้ นับเป็นก้าวแรกของวาเดียที่มีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดันความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่เธอก็ทำให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถไม่ต่างจากผู้ชาย

เส้นทางการเป็นทนายของเธอเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1934 หลังจากสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งติดต่อให้เธอไปร่วมงาน แม้จะต้องเผชิญกับสายตาดูแคลนจากเพื่อนร่วมงานชายที่ไม่เห็นด้วยกับการรับผู้หญิงเข้าทำงานก็ตาม

สภาพสังคมการทำงานที่เธออยู่ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการกดทับ สังคมปิตาธิปไตยที่พยายามหลีกหนียิ่งปรากฏชัด เธอจึงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสตรีหลายแห่งในสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคแรงงาน และออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการชาตินิยมอินเดีย

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ในปี 1939 เธอตัดสินใจทิ้งเมืองศิวิไลซ์เพื่อมาทำงานที่บอมเบย์(มุมไบ)เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จากนั้นก็ย้ายกลับไปยังบ้านเกิดที่ศรีลังกา และเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรสตรีอีกหลายแห่งในอินเดีย เช่น Women's Political Union และ All India Women's Conference

ไม่กี่ปีต่อมา วาเดียก็ย้ายกลับมาทำงานที่บอมเบย์อีกครั้ง และครั้งนี้เธอได้พบรักกับ ดร.โบมันจิ วาเดีย (Dr. Bomanji Wadia) หลังจากศึกษาดูใจกันเป็นเวลา 5 ปี พวกเขาแต่งงานกันในปี 1946 และตั้งรกรากที่บอมเบย์อย่างถาวร แต่น่าเสียดายที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่สู้ดีนัก หลังจากวาเดียแท้งลูกคนแรกไปในปี 1952

วาเดียไม่ปล่อยให้ความเสียใจเข้าครอบงำนานนัก เธอหันมาจริงจังเรื่องการวางแผนครอบครัวมากขึ้น ทิ้งอาชีพทนายไว้เบื้องหลัง และหันมาใส่เสื้อคลุมนักสังคมสงเคราะห์ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอย่างเต็มตัว พร้อมทั้งได้ก่อตั้งองค์กร Family Planning Association of India (FPAI) ขึ้นในปี 1949 เพื่อมอบความรู้และให้บริการงานด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การวางแผนครอบครัว การบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ 

“ครั้งแรกที่ฉันบอกกับคนอื่นเรื่อง ‘คุมกำเนิด’ ฉันถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่หลังจากที่ฉันได้พบกับหมอหลาย ๆ คนในบอมเบย์ พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาหาหมอ พวกเธอต่างหวาดกลัวการตั้งครรภ์ ขณะที่บางคนต้องให้นมลูกจนตัวตาย มันเป็นความตายที่น่าเศร้าและฉันอยากจะแก้ไขเรื่องพวกนี้”

วาเดียมีส่วนสำคัญในการร่วมวางแผนห้าปีแรก (the first five year plan) ของอินเดีย โดยมี ‘ชวาหระลาล เนห์รู’ (Jawaharlal Nehru) รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ทำให้รัฐบาลอินเดียกลายเป็นประเทศแรกในโลที่ส่งเสริมนโยบายการวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ

ส่วนวิธีการทำงานขององค์กร FPAI จะเน้นทำงานร่วมกับคนจนเมืองและคนชนบทที่อาศัยอยู่ในย่านที่ยากจนที่สุดของอินเดียเป็นหลัก ตั้งแต่การเข้าไปให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว บอกข้อดี-ข้อเสียของการคุมกำเนิด โดยใช้วิธีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เช่นการร้องเพลงบาจัน (เพลงที่มักร้องเวลาสักการะพระผู้เป็นเจ้า) มาประกอบ แม้แต่การลงไปช่วยชาวบ้านปลูกต้นไม้ ทำถนน ทางองค์กรก็พร้อมให้การช่วยเหลือ

ความสำเร็จขององค์กรเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในปี 1970 หลังพบว่าอัตราการตายของทารกลดลง อายุเฉลี่ยของการแต่งงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ และอัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โครงการดังกล่าวทำให้รัฐกรณาฏกะเป็นรัฐแรก ๆ ของอินเดียที่สามารถควบคุมจำนวนประชากรได้

เมื่อโมเดลการวางแผนครอบครัวในอินเดียประสบความสำเร็จ วาเดียจึงขยายการทำงานให้ครอบคลุมทั่วโลก โดยจัดตั้งสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation - IPPF) ขึ้นในปี 1952

ปัจจุบันสหพันธ์ IPPF มีจำนวนสมาชิกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) และยังคงดำเนินให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการก้าวข้ามอุปสรรคการดำเนินงานด้านการอนามัยเจริญพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง

11 กรกฎาคม 2005 วาเดียจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย 92 ปี สิ้นสุดตำนานทนายสาวคนแรกของศรีลังกา ผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ จนนำมาสู่นโยบายการวางแผนครอบครัวที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโล

 

อ้างอิง:

Leela Visaria,  Rajani R. Ved. (2008). India’s Family Planning Programme: Policies, practices and challenges Paperback. Routledge India. 

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-62033246

https://www.theguardian.com/news/2005/aug/11/guardianobituaries.india

https://www.open.ac.uk/researchprojects/makingbritain/content/avabai-wadi