read
social
11 มี.ค. 2565 | 09:30 น.
วิชัย เป็งเรือน: เปลี่ยนปัญหาไฟป่า เป็นรายได้ที่ทั้งคนและโลกได้กำไรไปด้วยกัน
Play
Loading...
ถ้าคุณเป็นนายกฯ จะแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยวิธีไหน? แน่นอนทุกคนรู้ว่าปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบกับคนทั่วประเทศนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาป่าเพื่อทำการเกษตร ถ้าให้เกษตรกรหยุดเผาเราอาจแก้ไขต้นเหตุหนึ่งของฝุ่นควันได้ แต่ความซับซ้อนที่ตามมาคือ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นซ้ำเติมเกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยังไม่ได้พูดถึงว่าบางครั้งสาเหตุหนึ่งของฝุ่นควันเกิดจากไฟป่าที่ไม่สามารถควบคุมได้
ถ้าเป็นนายกฯ จะแก้ปัญหา PM 2.5 ปัญหาไฟป่า และปัญหาปากท้อง ทั้งหมดนี้ด้วยวิธีไหน?
“ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คนในชุมชนเราเป็นด่านแรกที่จะเผชิญปัญหานี้ก่อนพี่น้องเชียงใหม่ หรือคนอื่น ๆ จะประสบปัญหา พวกเราเลยหาทางลดปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา”
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหานั้น พวกเขาต่างใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษด้วยความยากลำบากกว่าคนนอกพื้นที่หลายเท่าตัว เป็นที่มาให้พ่อหลวงวิชัย เป็งเรือน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้หาวิธีร่วมกับคนในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหานี้
“ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหมอกควันไฟป่า ส่วนหนึ่งมาจากการบุกรุกทำลายป่า เมื่อก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เขามีความคิดเดิม ๆ ว่าเผาป่าแล้วเห็ดจะออก เผาป่าแล้วจะทำให้เข้าป่าสะดวกขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ หมอกควันไฟป่าที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาวะและสุขภาพของคนในหมู่บ้านทั้งการไอหายใจลำบาก”
ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งของผู้ใหญ่บ้านวิชัย เป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของหมู่บ้าน เขาจึงเหมือนนายกรัฐมนตรีหมู่บ้าน ทำให้เขาต้องคิดไปไกลกว่าแค่การให้ชาวบ้านเลิกเผาป่าเพื่อลดหมอกควัน แต่ต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกของปัญหาทั้งหมดอีกด้วย
พ่อหลวงวิชัยเริ่มต้นด้วยการขอจัดตั้งป่าชุมชนภายใต้ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้ถูกต้องตามกฎหมายจากกรมป่าไม้ เพื่อสร้างระเบียบข้อตกลงในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกัน และเป็นการอนุรักษ์พืชพรรณที่มีในป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากิน แหล่งสร้างรายได้ ที่พ่อหลวงวิชัยเรียกว่าเป็นแหล่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตในป่าชุมชน
ในแต่ละปีชาวบ้านต้นผึ้ง จะร่วมกันทำกิจกรรมในป่าชุมชนเพื่อเป็นการดูแลรักษาป่าของพวกเขาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวกันไฟ การทำคอกเสวียนกักเก็บใบไม้ในป่าชุมชน การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางพระราชดำริ
“เรามีต้นไม้ใหญ่ที่มีฝูงผึ้งมาทำรังจำนวนมากเลยเรียกว่าบ้านต้นผึ้ง ป่าชุมชนเราลักษณะเป็นป่าเต็งรัง มีต้นไม้ที่คนท้องถิ่นเรียกว่าต้นตึง ใบต้นตึงในแต่ละปี ๆ มีการร่วงหล่นในป่าชุมชนเราจำนวนมาก รวมแล้วก็หลายตัน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าอย่างดี เราเลยคิดกระบวนการในการจัดการเชื้อเพลิงในป่าชุมชนและสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน จึงเกิดแนวคิดการนำใบตองตึงมาทำเป็นจานชามใบไม้รักโลก”
จากใบตองตึงแห้งกรอบที่เคยเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าชั้นดี ถูกเปลี่ยนเป็นธนบัตรใบไม้มูลค่าใบละ 20 สตางค์ โดยชาวบ้านหรือว่าผู้สูงอายุที่ว่างจากการทำงานสามารถเข้าป่ามาเก็บใบตองตึงไปขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งได้ ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันทำผ้าป่าใบตองตึง เพื่อเอาไว้เป็นกองทุนใบตองตึงของหมู่บ้าน
ใบตองตึงที่รวบรวมได้ จะถูกนำขึ้นรูปเป็นจานชามสวยงามน่าใช้งาน แล้วส่งออกจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านบ้านต้นผึ้ง และช่องทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ต่าง ๆ ที่สั่งผลิตล่วงหน้า ทำให้ผลิตภัณฑ์จากใบตองตึงของหมู่บ้านต้นผึ้งผลิตแทบไม่ทัน
“การนำใบตองตึงมาทำเป็นจานชามใบไม้รักโลก เป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ และลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าชุมชนได้เป็นอย่างดี”
ด้วยความรักสามัคคีของพี่น้องคนบ้านต้นผึ้งด้วยบวกกับการทำงานอย่างตั้งใจของคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยการนำของพ่อหลวงวิชัย ทำให้ในปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านต้นผึ้ง ไม่เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่แม้แต่ครั้งเดียว จากการตรวจสอบจุด Hot Spot ด้วยข้อมูลดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
“โครงการต่อไปที่พวกเราจะทำในอนาคตคือ จะทำกระถางใบไม้จากใบตองตึงเพื่อเป็นการเพาะชำกล้าไม้แล้วนำมาปลูกคืนป่าโดยให้กระถางใบไม้นั้นย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้กับป่าชุมชนเราไปด้วย”
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการที่ชาวชุมชนหมู่บ้านบ้านต้นผึ้งหันมาดูแลป่าชุมชนของพวกเขา คือตัวเลขปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน ซึ่งมีการศึกษาว่า ในปี ๆ หนึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 300 ตัน คาร์บอนเครดิตเทียบเท่า
โดยในอนาคตพ่อหลวงวิชัยจะนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับภาคเอกชนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เปลี่ยนเป็นทุนในการพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาป่าชุมชนของพวกเขาต่อไป
ตอนนี้หมู่บ้านต้นผึ้ง ที่เคยเป็นหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงมาก ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งแทบไม่มีคนรู้จักว่าบ้านต้นผึ้งคือหมู่บ้านแห่งหนตำบลไหน เปลี่ยนเป็นหมุดหมายของผู้คนที่ตั้งใจเดินทางมาอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาเรียนรู้ศึกษาดูงานในเรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการสร้างงานสร้างอาชีพที่ได้ผลจริง ทำให้ชาวบ้านต้นผึ้งเกิดความภาคภูมิใจ
อีกหนึ่งรางวัลที่สร้างความภูมิใจให้กับหมู่บ้านต้นผึ้งคือรางวัลชนะเลิศโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี พ.ศ. 2564 ระดับจังหวัด ของจังหวัดเชียงใหม่
รางวัลนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความรักความสามัคคีและตั้งใจทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน หน่วยที่เล็กที่สุดในการบริหารหรือการปกครองในพื้นที่ของหมู่บ้าน ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านหมู่บ้านต้นผึ้งตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ในฐานะประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน พ่อหลวงวิชัยได้พูดถึงที่มาของความสำเร็จในครั้งนี้ว่า
“ผมเองเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เรียนจบปริญญาใหม่ ๆ อายุแค่ 25 ปี เพราะชาวบ้านเห็นว่าเราน่าจะปกครองพัฒนาหมู่บ้านได้ แรก ๆ ก็มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง เพราะเรายังใหม่ ก็ร่วมมือกันทุกคนช่วยกันพัฒนามาเรื่อย ๆ ลำพังผมคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ เราเลยมีการประชุมประชาคมหมู่บ้านร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านแล้วก็พี่น้องชาวบ้านกันทุกเดือน เวลาเรามีปัญหาก็จะให้คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ไข”
ความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จในการเปลี่ยนปัญหาไฟป่า ให้เป็นรายได้ที่ทั้งคนในหมู่บ้านและสิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เหมือนเป็นการสร้างรากแก้วสำคัญที่หยั่งลึกอย่างมั่นคงในหมู่บ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนหมู่บ้านให้เป็นมีความเข้มแข็งในระดับประเทศ โดยการทำงานประสานร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหารท้องที่ ท้องถิ่น ทำให้หมู่บ้านต้นผึ้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวคิดที่จะทำให้ชาวบ้าน ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ซึ่งพ่อหลวงวิชัยได้ตั้งใจไว้
“ภาพที่ผมได้ฝันไว้ อยากให้คณะกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชนอื่น ๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ทำงานเป็นทีมเดียวกันให้มีความสมัครสมานสามัคคี เข้มแข็ง เพื่อให้งานที่ทำประสบผลสำเร็จ เพราะว่าเราเกิด เรากิน เราอยู่ แล้วอนาคตก็จะตายที่บ้านเรา ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่ตัวเราก่อน แล้วใครจะมาทำให้หมู่บ้านของเรา เมื่อเราทำสำเร็จในระดับหมู่บ้านแล้ว เราก็ขยายไปช่วยให้ยั่งยืนในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โซนี่ฯ รวมพลคนคาราเต้นับร้อยร่วมงานพรีเมียร์ “Karate Kid: Legends” สุดยิ่งใหญ่ที่เมืองไทย
11 ก.ค. 2568
บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน เปิดตัว “บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน” โฉมใหม่
09 ก.ค. 2568
12
แฟนๆหนุ่ม guncharlie ต้องไม่พลาด!! ใน "Like You Never Left" guncharlie First Full Album Concert เจอกัน 16 สิงหานี้!!
09 ก.ค. 2568
13
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
คณะกรรมการหมู่บ้าน