วิคเตอร์ มาลาเร็ค: ผู้ช่วย ‘แพะ’ ที่ต้องโทษจำคุก 100 ปีของตำรวจแคนาดาออกจากเรือนจำบางขวาง

วิคเตอร์ มาลาเร็ค: ผู้ช่วย ‘แพะ’ ที่ต้องโทษจำคุก 100 ปีของตำรวจแคนาดาออกจากเรือนจำบางขวาง

วิคเตอร์ มาลาเร็ค สื่อมวลชนที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของแคนาดา เขาคือผู้ที่ช่วย ‘แพะ’ ซึ่งต้องโทษ 100 ปีของตำรวจแคนาดาออกจากคุกบางขวาง โดยเขาพบเห็นความไม่ชอบมาพากล และใช้เวลาสืบสวนจนคดีพลิก

การได้รับโอกาสจากผู้พิพากษาในการกลับตัวเป็นคนที่ดีในช่วงวัยรุ่นเลือดร้อน ทำให้วิคเตอร์ มาลาเร็ค หันตัวเองจากทางที่ผิด มาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ในเวลาต่อมาเขาได้มาเป็นสื่อมวลชนที่ออกมาแฉ ‘ปม’ ฉาวของตำรวจแคนาดาที่จัดฉากให้ขี้ยาคนหนึ่งกลายเป็นราชามาเฟีย จนถูกตัดสินจำคุกที่ประเทศไทยถึง 100 ปี

นี่คือเรื่องราวของ...วิคเตอร์ มาลาเร็ค

วิคเตอร์ มาลาเร็ค เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายยูเครน เขาเกิดที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบค ประเทศแคนาดาใน ค.ศ.1948 เขากล่าวว่าเขาคงเป็นนักเลงข้างถนนหรือไม่ก็มาเฟียไปแล้วเนื่องด้วยชีวิตวัยรุ่นของเขาที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

ในช่วงมัธยมฯ มาลาเร็คเป็นเด็กมีปัญหาในการใช้ความรุนแรง จนเมื่อเขาอายุ 17 ปี มาลาเร็คกระทำความผิดหลายครั้งจนทำให้เขาต้องถูกจับ ตำรวจที่ทำคดีของเขาไม่คิดจะรับฟังเหตุผลใด ๆ และรีบทำคำฟ้องเพื่อให้มาลาเร็คต้องถูกควบคุมตัวในสถานพินิจถึง 5 ปี ทว่าผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวกลับเลือกตัดสินที่จะให้มาลาเร็คถูกคุมประพฤติแทน โดยแลกกับคำสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้แก่มาลาเร็ค เขากล่าวในภายหลังว่าสิ่งนั้นเป็นโอกาสที่ผู้พิพากษามอบให้เขาที่กำลังหลงทางจนหาทางออกจากความคึกคะนองไม่เจอ

มาลาเร็คจบการศึกษาในสาขา ‘การเขียนเชิงสร้างสรรค์และสังคมวิทยา’ จากมหาวิทยาลัย เซอร์ จอร์จ วิลเลียม และเริ่มทำงานในวงการสื่อสารมวลชนเมื่ออายุได้ 19 ปี ในตำแหน่งพนักงานถ่ายเอกสาร หลังจากนั้น 2 ปี มาลาเร็คได้เริ่มทำงานเป็นนักข่าวโดยเน้นทำข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานของตำรวจท้องที่

มาลาเร็คเริ่มมีชื่อเสียงจากการรายงานข่าวขุดคุ้ยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในคดีอาชญากรรมที่เป็นที่สนใจของประชาชน ในหลายครั้งก็กลายเป็นการเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของรัฐ ทำให้เขาไม่เป็นที่ต้อนรับนักสำหรับองค์กรภาครัฐในแคนาดา

มาลาเร็คมีชื่อเสียงในวงกว้างหลังจากที่เขาเริ่มทำงานเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์มอนทรีออล สตาร์ ในช่วง ค.ศ.1970 และเขาได้เกาะติดสถานการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มสังคมนิยมในแคนาดา

จากนั้นมาลาเร็คได้ย้ายมาเป็นนักข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ที่ทำให้เขาได้เดินทางทำข่าวสถานการณ์การเมืองในหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ที่ทำให้มาลาเร็คเขียนรายงานข่าวกว่า 150 หัวเรื่องจนมีส่วนทำให้สำนักพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ได้รับรางวัลมิชเนอร์ (Michener Awards) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่สำนักข่าวที่ได้รับการยอมรับสูงสุดของประเทศแคนาดาถึง 4 ครั้งในช่วงทศวรรษ 1980 และยังมีรางวัลส่วนตัวคือรางวัลเจมินี (Gemini Awards) ใน ค.ศ.1997 ซึ่งมอบให้แก่นักข่าวที่เขียนข่าวและได้รับการนำเสนอทางโทรทัศน์มากที่สุด

มาลาเร็คยังเป็นนักเขียนที่ตีพิมพ์สารคดีเชิงข่าว 6 เล่ม บอกเล่าเรื่องราวอาชญกรรมและสถานการณ์การค้ามนุษย์ แต่หนังสือขายดีที่สุดของมาลาเร็คคือ Hey, Malarek! : The True Story of a Street Kid Who Made It ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ.1984 บอกเล่าอัตชีวประวัติของเขาเองในช่วงที่เขาเป็นเด็กจนกระทั่งเริ่มเป็นนักข่าว ซึ่งหนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนต์เรื่อง Malarek ใน ค.ศ.1988 และยังดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ใน ค.ศ.1991 – 1992 อีกด้วย

ค.ศ.1990 มาลาเร็คยังมีบทบาทเป็นพิธีกรในรายการสารดคีเชิงข่าวของสถานีโทรทัศน์ CBC และในค.ศ.2000 เขาทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนให้กับ เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ เป็นบรรณาธิการอาวุโส ในฝ่ายข่าวสืบสวน เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์สารคดีเชิงข่าวให้สถานีโทรทัศน์ CTV ของแคนาดา ใน ค.ศ.2000 – 2003

ชีวิตการเป็นนักข่าวของมาลาเร็คเขาอุทิศตนช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และคนที่ได้รับความอยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมดังที่เขาปฏิญาณตนไว้ ซึ่งนั่นรวมถึงเรื่องหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับความไว้วางใจของพลเมืองแคนาดาที่มีต่อวงการตำรวจแคนาดา เรื่องราวดังกล่าวเป็นการจัดฉากครั้งใหญ่ของตำรวจแคนาดาที่สร้างเรื่องให้ขี้ยาคนหนึ่งกลายเป็นราชามาเฟีย จนเขาต้องถูกตัดสินจำคุกถึง 100 ปี

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านลบเป็นอันดับต้น ๆ ในเรื่องธุรกิจยาเสพติดข้ามชาติ

 

กำเนิดสามเหลี่ยมทองคำและชื่อเสียงในด้านมืดของสยามเมืองยิ้ม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองต่อพรรคก๊กมินตั๋งใน ค.ศ.1949 ทำให้สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งส่วนมากต้องลี้ภัยทางการเมืองสู่เกาะไต้หวัน ในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งลี้ภัยสู่ตอนเหนือของประเทศเมียนมาและประเทศไทย ช่วง ค.ศ.1963 หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธก๊กมินตั๋งเก่าชื่อ ‘จาง ซี-ฟู’ ค่อย ๆ เปลี่ยนสถานะของกำลังก๊กมินตั๋งเก่าให้กลายเป็นหน่วยงานทางทหารของพม่าในการดูแลความสงบในแถบรัฐฉาน และเป็นรัฐบาลพม่านี้เองที่อนุญาตให้กองกำลังของจาง ซี-ฟูสามารถผลิตยาเสพติดเป็นงบประมาณในการดูแลกำลังพลของตนเอง

แต่ในช่วง ค.ศ.1969 กองกำลังของจาง ซี-ฟู แปรภักดิ์เข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติของรัฐฉาน จนทำให้ตัวเขาถูกพม่าจับกุมและกองกำลังของเขากลายเป็นกองกำลังใต้ดิน จาง ซี-ฟูได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ.1974 โดยการเจรจาของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เสนาธิการทหารบกของกองทัพไทยในขณะนั้น

ทั้งนี้มีการกล่าวว่าในภายหลังจาง ซี-ฟูตอบแทนพลเอกเกรียงศักดิ์ด้วยการสนับสนุนทุนในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันก็คือราว 10 ล้านบาท

ช่วง ค.ศ.1976 จาง ซี-ฟูเปลี่ยนชื่อตนเองเป็นภาษาฉานว่า ‘ขุนส่า’ และตั้งฐานที่มั่นในแนวเขาบริเวณรัฐฉาน และรัฐว้าติดพรมแดนไทย-พม่า บริเวณ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ ด้วยความช่วยเหลือของ CIA ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคก๊กมินตั๋ง กองกำลังขุนส่าได้รับการสนับสนุนอาวุธและการฝึกกำลังพลโดยคาดหวังว่าจะสามารถกลับไปสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นศัตรูทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในโลกยุคสงครามเย็นได้ 

นอกจากการสนับสนุนดังกล่าว กองกำลังขุนส่ายังมีคงมีการหางบประมาณในการดำเนินงานกองกำลังจากการผลิตและค้ายาเสพติด ยาเสพติดหลักของกองกำลังขุนส่าคือฝิ่น และในเวลาต่อมาก็ได้พัฒนาไปสู่เฮโรอีนบริสุทธิ์ ทำให้ขุนส่ามีงบประมาณเพียงพอในการสร้างกำลังพลในบังคับบัญชากว่า 20,000 นาย และกองกำลังขุนส่าสามารถควบคุมพื้นที่แหล่งขนถ่ายสินค้าบริเวณรอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ จ.เชียงราย ประเทศไทย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และจ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ เฮโรอีนของขุนส่าได้รับการขนานนามว่าเป็น “เฮโรอีนที่ดีและบริสุทธิ์ที่สุดในตลาดมืด” ทำให้เขากลายเป็นราชายาเสพติดอันดับต้น ๆ ของโลกในช่วงทศวรรษ 70 – 90 โดยมี ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นแหล่งกระจายยาเสพติดที่สำคัญ

และการที่ปลายทางใหญ่ของยาเสพติดคือเมืองนิวยอร์ก ขุนส่าจึงแปรสภาพกลายเป็นอาชญากรคนสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย แต่ขุนส่าก็อ้างต่อประชาคมโลกว่า การค้ายาเสพติดของเขาเป็นไปเพื่อการปฏิวัติจากระบอบเผด็จการของรัฐบาลเมียนมา

นอกจากนี้มีรายงานว่ารัฐบาลอเมริกันกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับธุรกิจการค้ายาเสพติดของขุนส่า เนื่องด้วยได้รับผลประโยชน์จากการมีอยู่ของกองกำลังขุนส่าเป็นเหมือนกองกำลังกันชนกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ให้แก่รัฐบาลไทย เรื่องราวจึงดูเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็นที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง

จน ค.ศ.1981 สหรัฐอเมริกากดดันรัฐบาลไทยให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับธุรกิจยาเสพติดของขุนส่า ทำให้กองทัพไทยจำต้องเปิดฉากกวาดล้างกองกำลังของขุนส่าจนทำให้เขาลี้ภัยไปเข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติรัฐฉาน และตั้งชื่อกองกำลังของตนเสียใหม่ว่ากองทัพเมิงไต ในช่วง ค.ศ.1985 และสู้รบกับรัฐบาลพม่าจนถึงราว ๆ ค.ศ.1996 ขุนส่าเสียชีวิต ด้วยอายุ 73 ปี ใน ค.ศ.2007 ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

เนื่องด้วยธุรกิจยาเสพติดของขุนส่าใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางหลักในการกระจายสินค้า ทำให้ในทศวรรษ 1980 การเดินทางของยาเสพติดในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาล มีรายงานของรัฐบาลอเมริกันว่าเฮโรอีนในสหรัฐอเมริกากว่า 70% มีที่มาจากประเทศไทย และยังมีรายงานว่ามีคนไทยราว 250,000 คนในเวลานั้นที่ติดเฮโรอีน

สิ่งนี้ทำให้วงจรธุรกิจมืดเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยมีความเติบโตอย่างยิ่ง นอกจากเฮโรอีนแล้วจากประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตและส่งออกกัญชาเข้าสู่ตลาดมืดที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งด้วยเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยในทศวรรษที่ 1980 กลายเป็นจุดนัดหมายที่โด่งดังของนักธุรกิจมืดในวงการค้ายาเสพติด และหนึ่งในนั้นมีชื่อว่า ‘อแลง โอลิวิเยร์’

 

การจับแพะครั้งใหญ่ของตำรวจแคนาดาด้วยความร่วมมือของตำรวจไทย

ค.ศ.1989 ข่าวใหญ่ในการจับกุมอแลง โอลิวิเยร์ราชายาเสพติดผู้นำเข้าเฮโรอีนรายใหญ่ชาวแคนาดา ที่ จ. เชียงใหม่ ประเทศไทย สร้างความตื่นเต้นให้แก่สังคมแคนาดาเป็นอย่างยิ่ง และมันยังสร้างชื่อเสียงให้กับคณะจับกุมจากองค์กรตำรวจแคนาดา (Royal Canadian Mounted Police: RCMP) เป็นอย่างยิ่ง RCMP รายงานความสำเร็จในการจับกุมราชายาเสพติดรายใหญ่ว่าเกิดจากความร่วมมือของกรมตำรวจไทย ถึงแม้จะมีเรื่องที่น่าเศร้าคือหนึ่งในตำรวจของทีมจับกุมนั้นถูกยิงจนเสียชีวิต RCMP เชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากการติดตามพฤติกรรมการเดินทางของคนร้าย รวมถึงมีลายนิ้วมือที่สามารถระบุตัวคนร้ายอย่างชัดเจน อาชญากรที่ถูกจับกุมนั้นถูกดำเนินคดีที่ประเทศไทย และถูกลงโทษให้ประหารชีวิต

แต่มาลาเร็คกลับตั้งข้อสงสัยว่าการนำเสนอข่าวของตำรวจแคนาดาว่ามีการจับกุมราชายาเสพติดชาวแคนาดาด้วยความร่วมมือของตำรวจไทยนั้นมีความไม่ชอบมาพากล เพราะชื่อของโอลิวิเยร์นั้นไม่ได้อยู่ในสารบบฐานข้อมูลของนักข่าวสายสืบสวนสอบสวนคนใดเลย

อีกทั้งการที่ตำรวจแคนาดาบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปตามจับบุคคลไร้ชื่อเสียงในวงการยาเสพติดอย่างโอลิวิเยร์ถึงประเทศไทยด้วยข้อหามีเฮโรอีนในครอบครองเพียง 2 กิโลกรัม โดยเฉพาะการที่ RCMP ระบุตำหนิหลักฐานบนธนบัตรที่โอลิวิเยร์ใช้ซื้อเฮโรอีน ทว่าธนบัตรดังกล่าวไม่ได้ถูก RCMP ใช้ในการล่อซื้อ แต่เป็นธนบัตรที่โอลิวิเยร์ “ถือไปล่อซื้อ” เฮโรอีน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มาลาเร็คชั่งน้ำหนักดูแล้วเขามองว่าปฏิบัติการจับกุมนี้ดูน่าสงสัย มาลาเร็คจึงเริ่มสืบหาข้อมูลของชายที่ชื่อว่าอแลง โอลิวิเยร์ แล้วก็พบว่าโอลิวิเยร์อาจเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่แทบไม่มีบทบาทความสำคัญอะไรเลยในธุรกิจยาเสพติดข้ามชาติ นั่นนำมาสู่คำถามว่า RCMP ไปทำอะไรถึงประเทศไทย

มาลาเร็คเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และพยายามติดต่อขอพบโอลิวิเยร์ซึ่งในเวลานั้นจำคุกที่เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจนถึงโทษประหารชีวิต แต่เขาไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เข้าพบ และบอกให้มาลาเร็คต้องติดต่อสถานทูตแคนาดาอย่างเป็นทางการเสียก่อน

แต่ด้วยชื่อเสียงที่ไม่ดีนักต่อบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลแคนาดา มาลาเร็คถูกตั้งข้อสงสัยว่าต้องการขุดคุ้ยเรื่องราวให้รัฐบาลแคนาดาต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้เขาไม่ได้รับความร่วมมือจากสถานทูตแคนาดาเช่นกัน จนสุดท้ายเขาต้องใช้ชื่อเสียงความเป็นนักข่าวจอมขุดคุ้ยที่พร้อมทำให้ใครก็ได้ทีเก็บงำเรื่องราวสีเทาไว้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในการต่อรองกับตำรวจไทย จนสุดท้ายเขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าพบโอลิวิเยร์ในที่สุด

มาลาเร็คได้พบกับโอลิวิเยร์ ผู้นำเข้าเฮโรอีนรายใหญ่ของแคนาดา แต่เขากลับพบว่าบุคคลตรงหน้าเป็นเพียงแค่คนติดยาอย่างหนักธรรมดา โอลิวิเยร์ยืนยันกับมาลาเร็คว่าเขาไม่เคยก่ออาชญากรรมไม่มีประวัติอาชญากร และการที่ RCMP จัดเขาอยู่ในอาชญากรระดับ 1A ซึ่งหมายความวามว่าเป็นผู้นำเข้าเฮโรอีน และโคเคนสู่แคนาดาอาจเป็นการสับสนตัวเขากับน้องชายฝาแฝดก็ได้

โอลิวิเยร์ บอกว่าตัวเขานั้นเป็น ‘คนธรรมดา’ เขามีฝาแฝดหนึ่งคนที่เติบโตมาด้วยกันในเมีองเล็ก ๆ เขาเรียนมีประกาศนียบัตรการเป็นตำรวจป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพตำรวจ เขาเล่นดนตรีและท่องเที่ยว และในช่วงวัยรุ่นเขาก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นยุค 80s ของแคนาดาที่ไม่รู้จุดหมายของชีวิต เขาทดลองใช้ยาเสพติดซึ่งมันทำให้เขากลายเป็นคนคิดเฮโรอีนอย่างหนัก เขามักทำงานเก็บเงินที่เมื่อมากพอเขาก็จะเดินทางสู่ที่เอเชียเพื่อท่องเที่ยว และยาเสพติดราคาถูก

ในการท่องเที่ยวครั้งสุดท้ายก่อนที่จะโดนจับ เขาได้รู้จักชายคนหนึ่งที่จ้างวานเขาเป็นเงิน 4,000 ดอลล่าร์ให้นำกระเป๋าใส่เงินจำนวนที่เขาเองก็ไม่ทราบไปซื้อยาที่ จ.เชียงใหม่ แต่แล้วเขาก็ถูกจับและพบว่าคนที่จ้างวานเขาเป็นสายให้ตำรวจแคนาดา เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นราชายาเสพติดทั้งที่มีเงินติดตัวเพียง 5 ดอลล่าร์และเฮโรอีนอีกเล็กน้อยที่เขาซื้อมาเสพเองจากเนปาล อีกทั้งชาวไทยที่ติดต่อซื้อขายยากับเขาก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นถึงสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทั้งที่เป็น ‘คนธรรมดา’ เหมือนโอลิวิเยร์

ด้วยหลักฐานที่ RCMP มอบให้ตำรวจไทย ศาลไทยจึงตัดสินโทษประหารชีวิตโอลิวิเยร์ และลดโทษลงเหลือ จำคุก 100 ปี เขาถูกจำคุกที่เรือนจำบางขวาง โอลิวิเยร์กล่าว่า กุ๊ยขี้ยาที่อาศัยทำงานซื้อยาไปวัน ๆ อยู่ในเมือง บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา กลับต้องมาใช้ชีวิตในคุกที่เขานิยามว่าเป็นคุกที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เขาต้องอยู่ตีตรวนที่เป็นสนิม นอนบนพื้นปูนเย็น ๆ ร่วมกับนักโทษอีกเป็น 100 คนในห้องแคบ ๆ เขาต้องอยู่ร่วมกับนักโทษที่มีเชื้อ HIV วัณโรค โรคผิวหนัง ชีวิตไร้สุขอนามัย และมีสภาพความเป็นอยู่อย่างสัตว์ เขาป่วยจากอาการท้องร่วง หูติดเชื้อ ฟันผุอย่างรุนแรง และเขายินยันต่อมาลาเร็คว่าเขาคือ...แพะ

จากการขุดคุ้ยเรื่องราวของโอลิวิเยร์ มาลาเร็ค และใช้เวลา 5 ปีในการบอกเล่าเรื่องราว และข้อสงสัยต่อหลักฐานของ RCMP ที่ใช้ในการจับกุมโอลอวิเยร์ มาลาเร็คพบว่าหลังจากโอลิวิเยร์โดนจับ RCMP จึงเพิ่งได้รับข้อมูลว่า จับผิดตัวเพราะ RCMP ดูประวัติอาชญากรจากเพียงนามสกุล และวัน เดือน ปีเกิด มาใช้ประกอบกับหลักฐานลายนิ้วมือ ซึ่งทั้งหมดระบุตัวตนไปถึงฝาแฝดของโอลิวิเยร์ มีหลักฐานเอกสารที่ RCMP ส่งให้สำนักงานย่อยในกรุงเทพฯ ว่า หลักฐานที่ใช้ในการระบุตัวคนร้ายผิดพลาด แต่กลับไม่ได้ความสนใจที่จะส่งต่อให้ตำรวจไทย 

มาลาเร็คตีพิมพ์เรื่องราวของโอลิเยร์ในหนังสือชื่อ Gut Instinct: The Making of an Investigative Reporter ใน ค.ศ.1996 และมันก็โด่งดังในวงกว้างของสังคมแคนาดา จนทำให้รัฐบาลแคนาดาต้องขอตัวโอลิวิเยร์จากประเทศไทยมารับโทษต่อที่แคนาดา ใน ค.ศ.1999 และจากหลักฐานที่มากพอที่จะบอกว่าเป็นการจับกุมอาชญากรผิดตัว ศาลแคนาดามีคำสั่งทำทัณฑ์บนให้แก่โอลิวิเยร์ไม่ให้ใช้ยาเสพติด ซึ่งตอนนั้นโอลิวิเยร์ที่ใช้ชีวิตที่บางขวางถึง 8 ปีก็ได้เลิกใช้เฮโรอีนแล้ว

อิสรภาพครั้งนี้ทำให้โอลิวิเยร์สามารถต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมของแคนาดา โดยเขาพยายามต่อสู้ว่า RCMP ระบุตัวอาชญากรผิดพลาด ใส่ความให้เขาอาชญากรยาเสพติดรายใหญ่จนทำให้เขาต้องถูกจองจำในสถานที่ที่เลวร้าย และเกือบที่จะถูกประหารชีวิต

โอลิวิเยร์เรียกร้องค่าชดเชย 47 ล้านดอลล่าร์จาก RCMP แต่ทาง RCMP ก็สู้คดีว่า แค่เพียงโอลิวิเยร์ต้องการซื้อยาเสพติด นั่นก็มีความผิดเพียงพอแล้ว อีกทั้ง RCMP กล่าวหาว่า โอลิวิเยร์น่าจะเป็นคนยิงเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิตในช่วงการจับกุมด้วย 

ปัจจุบัน (2021) โอลิเยร์เปิดเว็บไซต์ในชื่อของตัวเขาเอง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเขา เรื่องราวของเขายังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Suspect Numéro Un (Target Number One) ที่ออกฉายใน ค.ศ.2020 (ในสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Most Wanted) และเขายังตีพิมพ์หนังสือใน ค.ศ.2020 ชื่อ Good Luck Frenchy: A Tale of RCMP Deception & Survival Through Thailand's Deadliest Prison เพื่อเล่าเรื่องราวในคุกบางขวางในมุมมองของเขาที่แตกต่างจากหนังสือของมาลาเร็ค และในภาพยนตร์

 

มาลาเร็ค ผู้เปลี่ยนเรื่องราวของแพะให้กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อการต่อสู่กับความอยุติธรรม

จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับภาพยนตร์ Target Number One เขากล่าวว่าเขาติดต่อที่จะทำภาพยนตร์จากเรื่องราวของโอลิวิเยร์ตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว เพราะเขามองว่า

“ศาลของประเทศไทยสั่งลงโทษขี้ยาคนหนึ่ง และทั้งที่ RCMP ก็รู้อยู่เต็มอกว่าเขาไม่สมควรได้รับโทษขนาดนั้น แต่ตำรวจของเราก็เลือกที่จะปล่อยให้พลเมืองแคนาดาต้องได้รับโทษอย่างเกินกว่าเหตุเพียงเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดของพวกเขาที่ทำสูญเสียชีวิตของตำรวจไปอีกหนึ่งคน และทำให้ภาษีของพลเมืองของแคนาดาต้องถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง โชคดีที่ชี้ยาคนนั้นได้รับความช่วยเหลือจากนักข่าวที่กัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย ที่ทำให้พลเมืองแคนาดาคนหนึ่งได้มีโอกาสกลับมาต่อสู้ในระบบยุติธรรมของแคนาดาอีกครั้ง...

เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว นานจนทำให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกษียณอายุกันไปหมด บางคนเกษียณด้วยตำแหน่งระดับสูง ทว่าที่แย่กว่าคือพวกตำรวจเหล่านั้นไม่เคยยอมรับว่าพวกเขาทำพลาด ถ้า (พวกตำรวจ) ยังเป็นแบบนั้น พวกเรา (ชาวแคนาดา) ก็คงเหมือนยืนอยู่บนขอบเหว”

สำหรับโอลิวิเยร์ เขากล่าวถึงมาลาเร็ค ผู้มอบชีวิตใหม่ให้แก่เขาว่า “ผมรู้จักมาลาเร็คตั้งแรกตอนที่เขามาเยี่ยมผมที่ประเทศไทยในปี 1989 วิคเตอร์เขียนเรื่องราวของผมใน Gut Instinct และมันก็เป็นส่วนสำคัญมากมากต่อเรื่องนี้ที่ทำให้ผมได้กลับมาแคนาดาในปี 1996 เขาอยู่เคียงข้างผมเสมอ เขาทำให้ผมอยู่ที่นี่ตรงนี้ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนเรื่องราวของผมในมุมของผมออกมาบ้าง ...ตอนที่มาลาเร็คบอกผมว่าจะเขียนบทนำเสนอให้หนังสือของผม มันทำให้ผมต้องเขียนมันให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เพราะชื่อของเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือของผม การที่มีเขาคอยอ่านและวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ มันทำให้ผมต้องร้องไห้ เขาเป็นคนพิเศษ ผมชื่นชมเขามากยิ่งนัก”

วิคเตอร์ มาลาเร็คเลือกจะใช้โอกาสที่สองที่เขาได้เมื่อช่วงวัยรุ่นปรับปรุงตัวเอง ความเมตตาผู้พิพากษาที่มีต่อเขาเป็นแรงบันดาลใจแก่มาลาเร็คว่า ถ้าเขามีโอกาส เขาก็อยากจะเป็นผู้ช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังหลงทาง และการที่เขาถูกเมินเฉยจากตำรวจ ทำให้มาลาเร็ครู้สึกไม่ไว้วางใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเชื่อว่ามีผู้กระทำผิดอีกจำนวนมากที่สมควรได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัวเอง แต่มันต้องสูญเสียไปจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

สิ่งนี้ทำให้เขาปฏิญาณตนที่จะเป็นนักข่าวที่คอยขุดคุ้ยเรื่องราวความอยุติธรรมที่เกิดกับเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมผู้ถูกลืมจากสังคม มาลาเร็คกลายเป็นแรงบันดาลใจให้สื่อสารมวลชนแคนาดาให้ระลึกว่าสื่อสารมวลชนไม่ใช่เครื่องมือซักฟอกตัวสร้างภาพให้แก่ผู้มีอำนาจที่อยากถูกมองเป็น ‘คนดี’ แต่ข้อเขียนจากปลายปากกาของสื่อสารมวลชนนั้น มันสามารถกลายเป็นเครื่องมือในการคืนความยุติธรรมให้กับผู้คนและสังคมได้

ปัจจุบัน (2021) วิคเตอร์ มาลาเร็คยุติบทบาทการเป็นนักข่าว และทำงานด้านการเขียนอย่างจริงจัง และถือเป็นสื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของประเทศแคนาดา

 

ภาพ: (ซ้าย) Elias Koteas นักแสดงแคนาดาผู้เคยรับบทเป็น วิคเตอร์ มาลาเร็ค ในภาพยนตร์ Malarek (1989) ประกอบกับภาพวิคเตอร์ มาลาเร็คตัวจริง (ภาพจาก twitter.com/Roby_Dan)

อ้างอิง: 

https://www.alainolivier.ca

Lintner, B. (1999), Burma in Revolt: Opium and Insurgency Since 1948. Silkworm Books.

Windle, J. (2016). Drugs and Drug Policy in Thailand Improving Global Drug Policy: Comparative Perspectives and UNGASS 2016. Retrieved.  https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2016/07/windlethailand-final.pdf

The Open Society Foundations. (n.d.). Thailand: Report Documents Abuses in Drug War. Retrieved. https://www.opensocietyfoundations.org/newsroom/thailand-report-documents-abuses-drug-war

Before the light podcast. (n.d.). Alain Olivier Wrongfully Convicted to 100 Years in Thai Prison/ Author of Good Luck Frenchy. Retrieved. https://www.beforethelightspod.com/beforethelights-episodes/pllhvd5l8eza7vabxx4udz35334cvd

Thanh Ha, T. (2004, 9 Jan). RCMP sting endangered Canadian in Thailand. Retrieved. https://www.theglobeandmail.com/news/national/rcmp-sting-endangered-canadian-in-thailand/article992277/

Din, J.K. (2018, 7 Mar). Crusading journalist ‘fighting the fight’. Retrieved. https://www.catholicregister.org/item/26950-crusading-journalist-fighting-the-fight

Thanh Ha, T. (2004, 24 Apr). Man sues RCMP, alleging entrapment on Thai drug charges. Retrieved. https://www.theglobeandmail.com/news/national/man-sues-rcmp-alleging-entrapment-on-thai-drug-charges/article18263833/

Maguire, P. (2018, 30 Apr). Thailand’s Legendary Marijuana. Retrieved. https://thediplomat.com/2018/04/thailands-legendary-marijuana/

Publishing Insights. (2020, 16 Jul). Target Number One: Author Alain Olivier’s On A Mission For Justice. Retrieved. 
https://www.friesenpress.com/blog/2020/7/15/target-number-one-movie-alain-olivier-interview

Deckelmeier, J. (2020, 25 Jul). Antoine Olivier Pilon Interview: Most Wanted. Retrieved. https://screenrant.com/most-wanted-movie-antoine-olivier-pilon-interview/

Coviello, W.(2020, 14 Aug). 'Most Wanted,' about a drug sting leading to a Thai prison, shows at Zeitgeist. Retrieved. https://www.nola.com/gambit/film/article_3e10c146-de5c-11ea-b06a-8bd5c7f63e0f.html

The News. (2020, 4 Nov). ‘Still today, there’s a lot of people on edge. Retrieved. https://www.thenews.com.pk/print/738578-still-today-there-s-a-lot-of-people-on-edge-about-it

Thanh Ha, T. (2003, 26 Nov). Police mix-up led twin into heroin trap, suit alleges. Retrieved. https://www.theglobeandmail.com/NEWS/NATIONAL/POLICE-MIX-UP-LED-TWIN-INTO-HEROIN-TRAP-SUIT-ALLEGES/ARTICLE1048437/

Chia, J. (2020, 1 Dec). How Thailand Became The Center of Southeast Asia’s Narcotics Trade. Retrieved. https://www.thaienquirer.com/21196/how-thailand-became-the-center-of-southeast-asias-narcotics-trade/

เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม