จับตาอนาคตโลก ‘ฉิน กัง’ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ ผู้ฟื้นความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ ?

จับตาอนาคตโลก ‘ฉิน กัง’ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ ผู้ฟื้นความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ ?

'ฉิน กัง' (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีน ผู้ที่โลกจับตาว่าอาจมาช่วยพลิกฟื้นความสัมพันธ์ที่เสื่อมโทรมระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งยังถูกมองว่าเขาคือหนึ่งในลูกน้องคนสนิทของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ให้เป็นหมากเดินเกมสร้างเสถียรภาพระหว่างสหรัฐฯ ในอนาคต

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐเมริกา สั่นคลอนมาเกือบ 5 ปี โดยเฉพาะการเปิดฉากทำสงครามการค้า และชิงตำแหน่งมหาอำนาจทางเทคโนโลยี

'ฉิน กัง' (Qin Gang) อดีตอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ประจำการในปี 2564-2565 ถูกจับตามองมากขึ้น เพราะเขามีความสัมพันธ์อันดีกับคนอเมริกัน รวมทั้งเชื่อในการสนับสนุนประชาชนระหว่างกันและกันเพื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น

บทบาทใหม่ของ 'ฉิน กัง' ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ หลายคนเชื่อว่าอาจมาพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจของโลกได้

 

 

ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ลากยาวมานานหลายปี และสั่นคลอนรุนแรงขึ้นในปี 2563 หลังจากสหรัฐฯ คว่ำบาตร ‘แคร์รี หล่ำ’ ผู้บริหารสูงสุดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงฮ่องกง ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถูกแช่แข็งมานาน ทั้งสงครามการค้า, การลิดรอนสิทธิของชาวฮ่องกง รวมทั้งศึกชิงความเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีระหว่างสองชาตินี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ชายผู้ที่อาจมาช่วยพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หลายคนจับตาไปที่ ‘ฉิน กัง’ (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีนที่เข้ารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2566 โดยรับไม้ต่อจาก ‘หวัง อี้’ หัวหน้าฝ่ายกิจการด้านการต่างประเทศทั้งหมดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

 

ทำความรู้จัก ‘ฉิน กัง’

เรียกได้ว่าการเปลี่ยนตำแหน่งในแต่ละครั้งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักจะถูกจับตามองเสมอ เพราะแต่ละบทบาทมีความสำคัญในเชิงการค้า เศรษฐกิจ และต่างประเทศเกือบทั้งหมด อย่างตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ‘ฉิน กัง’ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน The People จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับบุคคลนี้ให้มากขึ้น เพราะบทบาทของเขาอาจเกี่ยวข้องกับอนาคตของโลกได้เลย

ฉิน กัง เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2509 (อายุ 56 ปี) เกิดและเติบโตในเมืองเทียนจิน หนึ่งในสี่มหานครหลักของประเทศ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายการเมืองระหว่างประเทศที่ University of International Relations เขาเริ่มทำงานที่แรกเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักบริการทางการทูตที่ปักกิ่ง

และหลังจากนั้นเขาก็เริ่มขยับเส้นทางทำงานไปสู่กระทรวงการต่างประเทศในตำแหน่ง ‘นักการทูตและเลขานุการ’ อันกดับ 3 ของกรมกิจการยุโรปตะวันตก

ฉิน กัง ได้เข้ามาทำงานเป็นอัครราชทูตประจำในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2538 เริ่มจากที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และตำแหน่งล่าสุด (ก่อนเข้ารับตำแหน่งใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์) ก็คือ อัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ในระหว่างปี 2564 – 2565

อย่างไรก็ตาม การที่ฉิน กัง เข้ามารับตำแหน่งนี้หลายคนมองว่าเขาจะเข้ามาฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ ‘แอนโทนี บลิงเคน’ (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งในระหว่างที่ทั้งสองคนได้ยกหูคุยกันประเด็นเรื่องความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ ได้ถูกยกขึ้นมาพูด สะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองคนเห็นตรงกันเรื่องการฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้น

เดินหมากฟื้นสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเข้าสู่ช่วงวิกฤตและอาจต้องรับมืออย่างหนักกับสถานการณ์ที่แช่แข็งมานาน อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ ฉิน กัง เขามีความต้องการที่จะเห็นจีบกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในอนาคต

ฉิน กัง ได้กล่าวในแถลงการณ์บนเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งว่า “การทูตของจีนจะมอบภูมิปัญญา ความคิดริเริ่ม และความแข็งแรงให้กับเรา เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของมวลมนุษยชาติ”

นอกจากนี้ ฉิน กัง ได้ทวีตข้อความขอบคุณผ่าน Twitter ว่า “ผมอยากจะขอบคุณอย่างจริงใจต่อประชาชนชาวอเมริกัน สำหรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่มอบให้กับผมและกับสถานทูตจีนในช่วงเวลานี้”

“ผมรู้สึกประทับใจอย่างมากต่อคนอเมริกันที่ทำงานหนัก เป็นมิตร และมีพรสวรรค์มากมายที่ผมเคยได้พบเจอ”

“จากนี้ไปผมจะดูแลและซัพพอทการเติบโตของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ นอกจากนี้จะส่งเสริมการเจรจา ความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งความใกล้ชิดระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทั้งสองประเทศ และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาของโลก”

มีบทวิเคราะห์ของ South China Morning Post เกี่ยวกับการเข้ามารับตำแหน่งของ ฉิน กัง โดยเขาถือเป็นหนึ่งในลูกน้องคนสนิทของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และได้รับความไว้วางใจมาโดยตลอดในด้านการต่างประเทศ เขาจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำสี ตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็น ‘โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศ’

ฉิน กัง เคยออกมาปกป้องนโยบายการต่างประเทศของจีนอย่างดุเดือด ซึ่งหลายคนในยุคนั้นให้ฉายารูปแบบการทูตของเขาว่า ‘การทูตแบบนักรบหมาป่า’ (wolf warrior diplomacy) ทั้งนี้ ท่าทีของของอ่อนลงตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งในวอชิงตัน ดี.ซี. เขาได้พยายามฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ปกป้องนโยบายการต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วย

เรียกได้ว่าสไตล์การทำงานของ ฉิน กัง ถือว่าน่าสนใจ และเขาจะทำหน้าที่เป็น ‘หมาก’ เพื่อเดินเกมจีน-สหรัฐฯ ที่น่าติดตามมาก ทั้งนี้มีหลายคนมองว่า ตลอดทั้งปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลง

แม้ว่ายังไม่เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะมีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์อีกหลายครั้งเพื่อฟื้นความสัมพันธ์แน่ ๆดังนั้น อนาคตของโลกจะเป็นอย่างไร หาก ฉิน กัง มาช่วยฟื้นความสัมพันธ์ได้

โลกอาจเห็นจุดยุติของสงครามการค้า และไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียวที่เป็นมหาอำนาจของเทคโนโลยี เพราะ ‘ความหลากหลาย’ ผ่านความร่วมมือกันอาจสำคัญมากกว่าต่อระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจของประเทศนั้น ๆ

 

 

 

ภาพ: Kyodo

อ้างอิง:

SCMP

Fmprc

Washingtonpost

China-briefing