ปธน. โกตาบายา ราชปักษา: ‘นักฆ่า’ และทายาท ‘ราชปักษา’ คนสุดท้ายในศรีลังกา

ปธน. โกตาบายา ราชปักษา: ‘นักฆ่า’ และทายาท ‘ราชปักษา’ คนสุดท้ายในศรีลังกา

อาคารหลังใหญ่สไตล์โคโลเนียลรูปทรงหรูหรา กลางกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ที่เคยเป็นพื้นที่หวงห้าม มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา เพราะเป็นบ้านพักประธานาธิบดี คล้ายกับทำเนียบขาวในสหรัฐอเมริกา

ตอนนี้มีสภาพไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่ผู้คนมากหน้าหลายตา สามารถเดินเข้าออกไปมาได้อย่างเสรี

สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ภายในสวนข้างบ้าน ซึ่งเคยเป็นที่พักคลายร้อนของครอบครัวผู้นำประเทศและแขกวีไอพี ก็กลายเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะที่ประชาชนทุกเพศทุกวัย สามารถกระโดดลงไปแหวกว่ายได้ตามใจโดยไม่ต้องขออนุญาต
นั่นคือสภาพของกรุงโคลอมโบ หลังมวลชนเรือนหมื่นเรือนแสนจากทุกสารทิศเดินทางมารวมตัวกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีและบ้านพักนายกฯ เพื่อแสดงความโกรธแค้นจากภาวะข้าวยากหมากแพงและวิกฤตพลังงานครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี
พวกเขามีข้อเรียกร้องเดียว คือ ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ทายาทคนสุดท้ายของตระกูลการเมืองใหญ่ที่ยังอยู่ในอำนาจ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเพียงสถานเดียว

วีรบุรุษสงคราม

โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) เป็นทายาทคนที่ 5 จากลูกทั้งหมด 9 คน ของ ‘ดอน อัลวิน ราชปักษา’ นักการเมืองและเศรษฐีเจ้าของนาข้าวและสวนมะพร้าวผู้เคยเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของศรีลังกาในปลายทศวรรษ 1950s

แม้ตระกูล ‘ราชปักษา’ จะมีบทบาททางการเมืองในศรีลังกามาก่อนประเทศได้เอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1948 แต่ตระกูลนี้เพิ่งได้ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในรุ่นลูกของ ‘ดอน อัลวิน’ เริ่มจาก ‘มหินทา’ (Mahinda) ลูกคนที่ 3 ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2005 ก่อนที่ปี 2019 โกตาบายาน้องชาย จะได้ครองตำแหน่งเดียวกัน
เหตุผลที่ตระกูลราชปักษาโด่งดังจนกลายเป็นหนึ่งในตระกูลผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดของศรีลังกา ต้องยกเครดิตให้ ‘มหินทา’ พี่ชายผู้เป็นใบเบิกทาง ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ 2 สมัย (2004 - 2005, 2019 - 2022) และประธานาธิบดีอีก 2 สมัย (2005 - 2015)

เขาคือนักการเมืองขวัญใจคนส่วนใหญ่ในศรีลังกา ซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน และมีชาวสิงหลนับถือพุทธเป็นชนหมู่มาก มหินทาขึ้นสู่อำนาจด้วยการชูนโยบายชาตินิยม และใช้อำนาจเด็ดขาดในการปราบกบฏแบ่งแยกดินแดนนับถือฮินดู ที่ชื่อกลุ่ม ‘พยัคฆ์ทมิฬ อีแลม’ ขบวนการก่อการร้ายที่เป็นต้นตำรับการโจมตีด้วยวิธีพลีชีพ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลก

รัฐบาลมหินทาได้รับการจารึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตผู้ก่อการร้ายชาวทมิฬกลุ่มนี้ และช่วยให้ศรีลังกา สามารถปิดฉากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน 26 ปี (1983 - 2009) และทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันนับแสนรายได้สำเร็จ

นอกจาก ‘มหินทา’ แล้ว ‘โกตาบายา’ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลศรีลังกามีชัยเหนือ ‘พยัคฆ์ทมิฬ อีแลม’ เนื่องจากเขาถูกพี่ชายดึงมาช่วยงานคุมกองทัพในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ทางทหาร จนสามารถเผด็จศึกดังกล่าว ทำให้ชาวศรีลังกาจำนวนมากยกย่องให้ทั้งคู่เป็นวีรบุรุษ

หน่วยล่าสังหารและนักฆ่า

โกตาบายา เกิดวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1949 เขาสมัครเป็นทหารตั้งแต่อายุ 22 ปี และร่วมรบในปฏิบัติการณ์ใหญ่หลายครั้งระหว่างเกิดสงครามกลางเมือง จนต่อมาได้เลื่อนยศถึงตำแหน่งพันโท ก่อนจะปลดประจำการในปี 1992

หลังออกจากกองทัพ ทายาทราชปักษาผู้นี้เดินทางไปใช้ชีวิตในสหรัฐฯ นานกว่า 10 ปี ก่อนจะกลับมาช่วยพี่ชายหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2005 และถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมทันทีที่มหินทาได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของดินแดนที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะรูปหยดน้ำ นอกชายฝั่งภาคใต้ของอินเดีย

แม้มหินทาและโกตาบายา จะใช้เวลาเพียง 4 ปีที่อยู่ในอำนาจ ช่วยกันปิดฉากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในศรีลังกาได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ต้องแลกมาด้วยเสียงวิจารณ์และการถูกตราหน้าจากฝ่ายตรงข้ามว่า ป่าเถื่อนโหดร้ายและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ระหว่างคุมกองทัพ โกตาบายาโดนโจมตีว่าจัดตั้ง ‘หน่วยล่าสังหาร’ เพื่อเปิดทางให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งซ้อมทรมาน ข่มขืน อุ้มฆ่า และบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยเหยื่อความโหดร้ายคาดว่ามีมากถึง 40,000 ราย ไม่เฉพาะฝ่ายกบฏชาวทมิฬ แต่ยังรวมถึงนักข่าว และผู้เห็นต่างทางการเมือง

ด้วยบุคลิกอารมณ์ร้อนและหุนหันพลันแล่น โกตาบายาได้ฉายาจากบรรดาพี่น้องว่า ‘นักฆ่า’ (The Terminator) ส่วนหนังสือพิมพ์ ‘วอชิงตันโพสต์’ อ้างคำบอกเล่าของญาติในตระกูลเดียวกันว่า เขามีนิสัยไม่เหมือนพี่น้องคนอื่น เพราะไม่ชอบสุงสิงกับใคร และมักเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติแค่ปีละครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่เท่านั้น

ระบอบอุปถัมภ์

อย่างไรก็ตาม เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ทั้งมหินทาและโกตาบายา ทุกครั้งที่ได้ขึ้นสู่อำนาจ ทั้งคู่ไม่เคยลืมดึงพี่น้องและเครือญาติมารับตำแหน่งในรัฐบาล ระหว่างมหินทาเป็นประธานาธิบดี นอกจากโกตาบายาที่ได้เป็นรัฐมนตรี เขายังให้ ‘เบซิล’ (Basil) น้องชายอีกคนคุมกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ และ ‘ชามาล’ (Chamal) พี่ชายเป็นรัฐมนตรีชลประทาน

การปกครองด้วยระบอบเครือญาติ นำมาสู่การเล่นพรรคเล่นพวกและปัญหาคอรัปชั่น เบซิลได้ฉายา ‘มิสเตอร์ 10 เปอร์เซ็นต์’ เพราะขึ้นชื่อเรื่องการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากคู่สัญญาของรัฐ ขณะที่สัญญาอีกมากมายที่มหินทาทำกับบริษัทของจีน ก็ถูกกล่าวหาว่ามีความทุจริตไม่โปร่งใส

แม้ปัญหาคอรัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวกจะทำให้มหินทาพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2015 แต่หลังจากนั้น 4 ปี ตระกูลราชปักษาก็กลับมาผงาดอีกครั้ง

คราวนี้เป็นโกตาบายาที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2019 โดยก่อนวันเลือกตั้งไม่กี่เดือน ศรีลังกาตกอยู่ในอาการหวาดผวา เมื่อผู้ก่อการร้ายระเบิดฆ่าตัวตายพร้อมกันหลายจุดในวันอีสเตอร์ โดยพุ่งเป้าโจมตีโบสถ์คริสต์และโรงแรม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 290 ราย โกตาบายาซึ่งเป็นผู้สมัครที่มีจุดเด่นด้านความมั่นคง จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้น

หลังโกตาบายาขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาแต่งตั้งมหินทาเป็นผู้นำหมายเลขสอง หรือนายกฯ ทันที นอกจากนี้ยังแต่งตั้งพี่ชาย น้องชาย และลูกหลานนามสกุลเดียวกันมาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีกันอย่างพร้อมหน้าอีก 5 คน

สื่อบางสำนักรายงานว่า คนในตระกูลราชปักษาได้เก้าอี้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่กุมงบประมาณประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 75 เปอร์เซ็นต์ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจ พากันขับไล่คนตระกูลนี้เมื่อศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี

ทายาทคนสุดท้ายในวิกฤต

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลศรีลังกาเริ่มปะทุเมื่อต้นเดือนเมษายนปี 2022 หลังสงครามรัสเซียบุกยูเครน ซ้ำเติมปัญหาโควิด - 19 จนทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ และหนี้ต่างประเทศพุ่งสูง ไม่มีเงินพอนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค และสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็น เงินเฟ้อภายในประเทศขยับขึ้นสูงทะลุ 30 เปอร์เซ็นต์ จนกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และประชาชนอดอยาก

วิกฤตที่เกิดขึ้นนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่ศรีลังกาได้อิสรภาพ ผู้ประท้วงระบุว่า รากเหง้าของปัญหามาจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลโกตาบายา โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีที่ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ การห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีจนผลผลิตการเกษตรตกต่ำ และการกู้หนี้มหาศาลมาลงทุนในระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เกิดประโยชน์

การประท้วงค่อย ๆ ยกระดับจนกดดันให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่พากันลาออก ขณะที่นายกฯ มหินทา ประกาศอำลาตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนเขากับกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

มหินทานับเป็นคนนามสกุล ‘ราชปักษา’ รายที่ 6 ซึ่งสละเก้าอี้ ทำให้ประธานาธิบดีโกตาบายา คือ ทายาทคนสุดท้ายที่อยู่ในอำนาจ เขาพยายามลดแรงกดดันจากผู้ประท้วงด้วยการแต่งตั้ง ‘รานิล วิกรมสิงเห' (Ranil Wickremesinghe) นักการเมืองฝั่งตรงข้ามเป็นนายกฯ คนใหม่ แต่ก็ไม่สำเร็จ

วันที่ 9 กรกฎาคม 2022 ผู้ประท้วงยกระดับการชุมนุมด้วยการบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีและบ้านพักนายกฯ กดดันให้โกตาบายา และรานิล ที่หลบหนีออกไปล่วงหน้าประกาศลาออก เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย มาทำงานหาทางออกให้ประเทศ

แม้การบุกรุกพื้นที่หวงห้ามดังกล่าว จะตามมาด้วยการรื้อค้นข้าวของ เผาทำลายทรัพย์สิน และเข้าไปใช้พื้นที่ส่วนตัวต่าง ๆ ของผู้นำ แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างสันติ ไร้ความรุนแรง ผู้ประท้วงยืนยันไม่สลายการชุมนุมหรือถอนตัวออกไปจนกว่าผู้นำทั้งสองจะลาออกอย่างเป็นทางการ

เท่ากับเป็นการเพิ่มแรงบีบเพื่อปิดฉากอำนาจระบอบเครือญาติของประธานาธิบดีโกตาบายา ในฐานะทายาท ‘ราชปักษา’ คนสุดท้ายในรัฐบาล และอาจเป็นคนตระกูล ‘ราชปักษา’ คนสุดท้ายในตำแหน่งนี้ ท่ามกลางวิกฤตหลายด้านที่รุมเร้า แบบไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:
https://www.washingtonpost.com/.../sri-lanka-rajapaksa.../
https://www.washingtonpost.com/.../4da28c84-0042-11ed...
https://www.theguardian.com/.../the-terminator-how...
https://www.foreignaffairsreview.com/.../how-to-get-away...
https://www.bbc.com/news/world-asia-61411532