logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

การสร้างตัวตน ‘ซานตา คลอส’ และซานตาในตำนานที่เป็นจริง ประวัติฉบับมหัศจรรย์ของคริสต์มาส

การสร้างตัวตน ‘ซานตา คลอส’ และซานตาในตำนานที่เป็นจริง ประวัติฉบับมหัศจรรย์ของคริสต์มาส

ภาพ ‘ซานตา คลอส’ (Santa Claus) แบบคุณลุงใจดี เคราครึ้ม ในชุดสีแดง มาพร้อมเทศกาล ‘คริสต์มาส’ เป็นภาพจำของคนทั่วโลกไปแล้ว ก่อนที่ ‘ซานตา’ ถูกสร้างตัวตนมาเป็นสภาพนี้ เรื่องราวผ่านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายแง่มุม

  • ‘ซานตา คลอส’ ในสภาพคุณลุงใจดี สวมชุดแดง และกวางเรนเดียร์ เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นผ่านเส้นทางทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลากหลายมิติ
  • แม้ ซานตา คลอส จะไม่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ แต่วีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่มีรายละเอียดใกล้เคียงกัน และมีตัวตนจริงคือ เซนต์นิโคลัส
  • ส่วน ซานตา คลอส ในภาพลักษณ์แบบปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

เทศกาลงานวันคริสต์มาส 25 ธันวาคมนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นวันสำคัญเนื่องในวันประสูติของพระเยซู แต่ภาพจำของผู้คนเกี่ยวกับงานเทศกาลวันดังกล่าวนี้ กลับเป็นชายชราท่าทางใจดีในชุดแต่งกายสีแดง หนวดเคราขาว ผู้มาพร้อมกับกวางเรนเดียร์ และของขวัญที่จะมามอบให้แก่เด็ก ๆ เขาคือ ‘คุณลุงซานต้า’ (Uncle Santa) หรือ ‘ซานตา คลอส’ (Santa Claus)

คุณลุงซานต้าผู้เป็นขวัญใจของเหล่าเด็ก ๆ ทั่วโลก ผู้มีเรื่องเล่าขานว่า เขามีบ้านอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีภรรยาที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเหรัญญิกคอยรับจดหมายจากเด็ก ๆ ทั่วโลก ข้างบ้านคุณลุงเป็นที่ตั้งของโรงงานใหญ่สำหรับผลิตของเล่นที่จะเอาไปแจกเด็ก ๆ โดยมีเอลฟ์เป็นทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานที่จะเป็นช่างฝีมือคอยทำของเล่นให้ มีพาหนะที่จะเดินทางไปได้ทั่วโลกเป็นรถลากเทียมกวางเรนเดียร์ที่เหาะได้ เดิมมีกวางอยู่ 8 ตัว แต่เพิ่มมาอีก 1 ตัวชื่อ ‘รูดอล์ฟ’ (Rudolf)

รูดอล์ฟนั้นมีตำนานเล่าแยกออกมาต่างหากว่า เป็นกวางน้อยพิเศษ เกิดมามีจมูกสีแดงแถมยังส่องสว่าง จึงโดนเหล่ากวางด้วยกันบุลลี่ว่าเป็นตัวประหลาด กระทั่งถูกขับออกจากฝูง แต่เมื่อมาพบกับ ‘ซานตา คลอส’ เขากลับเห็นเป็นกวางพิเศษมีคุณสมบัติเลอเลิศที่เหมาะกับงานของเขา เพราะจมูกสีแดงส่องสว่างนั้นทำให้เป็นจุดสนใจเปรียบเหมือนไฟหน้า รูดอล์ฟจึงได้รับเกียรติให้เป็นกวางลากอยู่หน้าสุดของรถ

เมื่อไปถึงบ้านของเด็กที่เป็นเป้าหมาย ซานตา คลอส จะปีนเข้าไปในปล่องไฟแล้วหย่อนของขวัญให้เด็กไว้ในถุงที่แขวนอยู่ โดยมีการจำแนกประเภทเด็กออกเป็น ‘ดี’ กับ ‘ดื้อ’ เด็กดีจะได้รับของขวัญ ส่วนเด็กดื้อจะได้รับ ‘ถ่าน’ แน่นอนว่าเด็กย่อมอยากได้ของขวัญ ไม่อยากได้ถ่าน จึงเป็นที่มาของสำนวนภาษิตที่ว่า ‘เด็กไม่เอาถ่าน’ เมื่อมีเด็กตื่นมาพบ ลุงแกก็จะหัวเราะด้วยเสียงอันดัง “โฮ้ะๆๆ” แล้วพูดว่า “เมอร์รี่คริสต์มาส” พร้อมกับยื่นของขวัญให้เด็กน้อยคนนั้น 

จากที่เป็นขวัญใจเด็ก ๆ ‘ซานตา คลอส’ ย่อมเป็นบุคคลสำคัญ ไม่ว่าเขาจะมีตัวตนจริงหรือไม่ ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกจะมี ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ (Cultural hero) ที่ทำหน้าที่สร้างความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์ให้แก่บุคคล เพราะไม่ใช่เพิ่งหลังจากมีวิชาจิตวิทยา ในหลายวัฒนธรรมก็มีปัญญาชนหรือผู้รู้ว่า ความทรงจำที่ดีในวัยเด็กนั้นส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์อย่างไร แต่ทั้งนี้วีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ว่านั้น โดยมากไม่มีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญและบทบาทที่มากล้นไปกว่าองค์ประธานของพระศาสดา กรณีซานตา คลอส มิได้เป็นเช่นนั้น    

คำถามก็คือว่า คุณลุงท่านนี้คือใคร? ทำไมถึงมา ‘แย่งซีน’ พระศาสดาของชาวคริสต์ไปได้  โดยที่ชาวคริสต์ไม่เพียงไม่ต่อต้าน กลับยอมรับนับถือประหนึ่งเป็นเจ้าของวันเกิดของพระศาสดาตัวจริงไปซะอย่างนั้น? หรือนัยหนึ่งเพราะเหตุใด ทำไมชาวคริสต์จึงต้องสร้าง ‘ซานตา คลอส’ ขึ้นมาเพิ่ม ลำพังพระเยซูที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพออย่างไร?

พระเยซูไม่ได้ประสูติวันคริสต์มาส 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า มีงานประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์มากมายทั้งเขียนโดยบาทหลวงและคนธรรมดาสามัญชนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ทั้งมือสมัครเล่นและมือโปร ต่างก็ทราบกันดีว่า พระเยซูไม่ได้เกิดวันที่ 25 ธันวาคม ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเซนซิทีฟหรือลึกลับซับซ้อนอะไรเลย 

(คลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่อง พระเยซูไม่ได้เกิดวันที่ 25 ธันวาคม)

พระเยซูเกิดวันไหน ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ เพราะแม้แต่หลักฐานสำคัญอย่างคัมภีร์ไบเบิล ก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ มีเพียงร่องรอยจากฉากบรรยายในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการที่คนเลี้ยงแกะ ได้ไล่ต้อนแกะออกไปจากคอก โจเซฟจึงพาภรรยาคือนางมารี ซึ่งเป็นพระมารดา ไปคลอดบุตรในที่แห่งนั้น

ตรงนี้ทำให้ทราบว่าเวลานั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ไม่ใช่ฤดูหนาวอย่างในเดือนธันวาคม เพราะไม่อย่างนั้นคนเลี้ยงแกะจะต้องให้แกะอยู่ในคอกเพื่อความอบอุ่น จะไม่ต้อนแกะออกไปภายนอกให้พวกมันเผชิญความหนาว 

สรุป พระคัมภีร์ไบเบิลนั่นแหละคือหลักฐานว่า พระเยซูไม่ได้เกิดวันที่ 25 ธันวาคม อันที่จริงก็เป็นเรื่องปกติ เมื่อพิจารณาว่า ศาสนาเกิดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์แรกสุดอยู่ที่การจัดการความตายของมนุษย์ วันตายจึงเป็นวันสำคัญ ไม่ใช่วันเกิด ยิ่งกับศาสนาที่มีคำอธิบายว่าพระศาสดาเป็นบุตรของพระเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาด้วยแล้ว วันเกิดยิ่งไม่สำคัญให้ต้องจดจำอะไรมากมาย เรื่องที่มีเทวทูตหรือเทพพยากรณ์มาพบในวันประสูติก็เป็นเรื่องตำนานแต่งเสริมเติมความกันไปภายหลัง      

ทว่าวันที่ 25 ธันวาคม กลายมาเป็นวันเกิดของพระเยซูได้ไงนั้น ต้องเท้าความก่อนว่า อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ศาสนาคริสต์มีต้นกำเนิดอยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง แต่แพร่เข้ามากลายเป็นศาสนาหลักของชาวยุโรป คริสตจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่วาติกันเป็นองค์กรหลักอย่างเป็นทางการของชาวคริสต์และเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในวงการคริสต์ 

ยุโรปก่อนที่คริสตศาสนาจะแพร่เข้ามาครอบงำนั้น ในปลายฤดูหนาวอย่างเดือนธันวาคมมีงานเทศกาลฉลองวันสำคัญอยู่ก่อนแล้ว เป็นวันสำคัญเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ชาวคริสต์เรียกว่า ‘พวกนอกศาสนา’ (Pagans) บริเวณแหลมอิตาลีอันเป็นที่ตั้งของกรุงโรมนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะเป็นบริเวณที่อากาศอบอุ่น ไม่หนาวจัดเหมือนยุโรปตอนกลางและตอนเหนือ เดิมจึงไม่มีงานเทศกาลฉลองก่อนสิ้นฤดูหนาว ในช่วงระยะแรกเริ่มศาสนาคริสต์ในยุโรปมีเพียงวันอีสเตอร์เป็นวันหยุด ไม่มีการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู เพราะอย่างที่บอกข้างต้นคือ พระเยซูจะเกิดวันไหนไม่สำคัญเท่าวันเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ของพระองค์   

แต่เมื่อคริสต์ศาสนาแพร่ขึ้นไปตอนเหนือตามการขยายอำนาจของจักรวรรดิโรมัน งานวันสำคัญของคนนอกศาสนาทางตอนเหนือก็เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการคริสต์จักรมากขึ้น กองทัพโรมันได้จับเอาพวกนอกศาสนาทางเหนือมาเป็นเชลยศึกสำหรับเป็นแรงงานรับใช้พวกตนได้เป็นอันมาก ทาสเชลยเหล่านี้มีประเพณีวันหยุดเฉลิมฉลองในช่วงปลายฤดูหนาว จะไม่ให้พวกนี้ได้หยุดงานพักผ่อนบ้างตามประเพณีของพวกเขาก็ดูจะเป็นการโหดร้ายเกินไป คุมเข้มมากจนไม่มีเวลาได้หยุดพักก็รังแต่จะทำให้พวกทาสคิดหาทางหลบหนีกับไปบ้านเมืองของตนมากขึ้นเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะอนุญาตให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น 

แต่ทั้งนี้ วันหยุดนั้นจะต้องไม่ใช่ด้วยเหตุผลดั้งเดิมของพวกนอกศาสนา เป็นเหตุผลเนื่องในศาสนาคริสต์ ไหน ๆ พระเยซูยังไม่มีวันเกิด คริสตจักรก็เลยจัดให้ ในศตวรรษที่ 4 พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 ก็ได้ทรงประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็น ‘วันฉลองวันประสูติของพระเยซู’ (Feast of the Nativity)

ตรงนี้มีนัยสำคัญนะครับ คือแรกเริ่มเดิมทีพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 ได้ทรงประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันสำหรับฉลองให้กับอีกวันซึ่งคือวันไหนก็ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าเป็นวันในฤดูใบไม้ผลิ ยังไม่ถือเป็นเด็ดขาดว่าวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันประสูติของพระเยซู แต่เมื่อถือกันว่าเป็นวันฉลองการประสูติของพระเยซู ภายหลังผู้คนก็เข้าใจกันไปว่าเป็นวันประสูติของพระเยซู 

เหตุที่พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 กับทีมงานคริสตจักรสมัยนั้นเลือกเอาวันสำคัญตามประเพณีของคนนอกศาสนามาเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ก็เพื่อให้คนนอกศาสนาที่มีเป็นจำนวนมากเวลานั้นได้เกิดความรู้สึกยอมรับนับถือพระเยซูประดุจดังที่เคยนับถือเทพเจ้าเก่าแก่ของพวกตน 

เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น กุศโลบายนี้ของคริสตจักรเมื่อศตวรรษที่ 4 ก็เหมือนกุศโลบายของพุทธจักรในการประกาศให้มีวันสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชา เนื่องจากเดิมวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 นั้นเป็นวันศิวราตรีของศาสนาพราหมณ์มาแต่เก่าก่อน  พระภิกษุสงฆ์สาวกรุ่นแรกถ้าไม่เป็นคนวรรณะพราหมณ์ก็ล้วนคือคนนับถือศาสนาพราหมณ์มาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น 

เมื่อถึงวันที่เคยเป็นวันศิวราตรีที่เคยต้องไปชุมนุมกันเพื่อสวดอธิษฐานต่อองค์พระศิวะ ก็เกิดรู้สึกว้าเหว่กัน เลยพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย สำหรับชาวพุทธถือเป็นวันน่าอัศจรรย์ แต่ในแง่ที่พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาบนแผ่นดินพราหมณ์ เรื่องนี้ก็เข้าใจได้ ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อันใด ก็เคยปฏิบัติกันมาอย่างนั้นก่อนที่จะนับถือพุทธ 

เมื่อเป็นดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ต้องว้าเหว่เอกากัน เผลอ ๆ ปล่อยไปประเดี๋ยวภิกษุเหล่านี้จะหวนกลับไปประพฤติปฏิบัติเหมือนอย่างที่เคยทำเมื่อครั้งยังนับถือพราหมณ์ ก็จะยุ่งยากลำบากเสียเปล่า ๆ พุทธจักรก็เลยประกาศให้วันนั้นเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาไปด้วยเลยคือ ‘วันมาฆบูชา’ นั่นเอง   

ประเด็นสำคัญสำหรับในที่นี้ก็คือว่า ในเมื่อก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า วันที่ฉลองการประสูติของพระเยซูนั้น ไม่ใช่วันประสูติที่แท้จริงของพระเยซู อีกทั้งวันที่ 25 ธันวาคม ที่ฉลองกันอยู่นั้นก็เคยเป็นวันเกิดของเทพเจ้าในศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้วด้วย จึงเกิดเป็นเงื่อนไขทำให้การจัดงานฉลองไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่ยึดโยงตายตัวในฐานะงานฉลองของชาวคริสต์ วันคริสต์มาสเลยเป็นวันที่จะสามารถแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้แก่ใครก็ได้ และบุคคลสำคัญระดับเทพเนื่องในวันสำคัญนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเยซู สิ่งนี้กลายเป็นเงื่อนไขให้แก่การสร้างวีรบุรุษทางวัฒนธรรมขึ้นมา

การสร้างตัวตน ‘ซานตา คลอส’ และซานตาในตำนานที่เป็นจริง ประวัติฉบับมหัศจรรย์ของคริสต์มาส   

เซนต์นิโคลัส แห่งไมรา ‘ซานตา คลอส’ ในตำนานที่เป็นจริง

เนื่องจากเป็นประเพณีเพื่อการสปอยล์ชนชั้นแรงงานตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่เหล่าทาสในจักรวรรดิโรมันต่างสวดภาวนาขอให้ได้พบหรือขอให้ท่านผู้นั้นมาเยือนไม่ใช่พระบาทหลวงที่เป็นคนของส่วนกลาง นามของนักบุญคนยากอย่างเช่น ‘เซนต์นิโคลัส’ (St. Nocholas) ผู้ล่วงลับไปเมื่อศตวรรษก่อนหน้าที่จะประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นสำคัญของคริสตจักร ผงาดขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของพิธีกรรมเกี่ยวกับคริสต์มาสตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม 

กล่าวกันว่าเซนต์นิโคลัส คือ ‘ซานตา คลอส’ ตัวจริงมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ เป็น ‘ซานตา คลอส’ ที่แม้ไม่มีเวทมนตร์วิเศษ ไม่มีกวางเหาะได้ ไม่มีเอลฟ์เป็นผู้ช่วยเนรมิตสิ่งของได้ ทว่าเรื่องราวของเขาในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่เคยมีชีวิตอยู่ช่วงยุคสมัยหนึ่ง กลับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาชนิดที่โลกต้องจดจำชื่อและเรื่องของเขามาเท่าทุกวันนี้   

เซนต์นิโคลัส เกิดที่เมืองไมรา เมื่อค.ศ. 280 ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราชแห่งไมรา (Bishop of Myra) เอเชียไมเนอร์ (Asia Minor อยู่ในประเทศตุรกี หรือ ตุรเคีย ในปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน เมื่อศรัทธาต่อพระเจ้า นิโคลัสได้ออกบวชแล้วบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมา ก่อนจะออกเดินทางไปทั่วชนบทเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย บาทหลวงนิโคลัสยังได้ขึ้นเรือพ่อค้าเดินทางไปทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเรือเจอคลื่นลมแรงจวนจะจม นิโคลัสช่วยให้คลื่นลมสงบด้วยการสวดมนต์ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า จนเกิดเสียงเล่าลือกันว่าเรือที่มีบาทหลวงท่านนี้ร่วมเดินทางไปด้วยจะไม่มีวันจม เกิดเป็นประเพณีที่เหล่าพ่อค้านักเดินเรืออนุญาตให้คณะบาทหลวงร่วมเดินทางไปในเรือด้วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวเรือ เมื่อไปถึงบ้านเมืองใดนิโคลัสมักจะทำบุญโดยการซื้อของไปแจกเด็ก ๆ จนได้รับสมญาว่า ‘ผู้พิทักษ์ของเหล่ากะลาสีเรือและเด็กน้อยทั้งหลาย’ 

จูลี่ สไตจีเมเยอร์ (Julie Stiegemeyer) และ คริส เอลิสัน (Chris Ellison) ในงานศึกษาประวัติศาสตร์และตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเซนต์นิโคลัสเรื่อง ‘Saint Nicholas: The Real Story of the Christmas Legend’ ได้ระบุว่า ในบรรดาเรื่องเล่าที่มีอยู่มากมายเกี่ยวกับเซนต์นิโคลัส เรื่องที่โด่งดังและเป็นที่ประทับใจมากที่สุด ก็คือเรื่องที่เขาออกเดินทางตามหาพี่สาวและน้องสาวสามคนที่ถูกบิดาขายเป็นทาสและโสเภณี 

เนื่องจากไม่ทราบว่าพี่สาวและน้องสาวถูกขายไปที่ไหน เขาจึงได้เดินทางไปจนทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อหวังจะได้พบและช่วยเหลือให้พี่น้องเป็นอิสระและกลับคืนบ้านเกิด ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเขาได้พบพี่สาวและน้องสาวทั้งสามและได้ช่วยเหลือพวกเธอสำเร็จหรือไม่ บ้างก็ว่าไม่พบหรือพบแล้ว แต่นิโคลัสก็ยังคงเที่ยวปลดปล่อยทาสไปทั่ว เรื่องตรงนี้ภายหลังจะถูกรื้อฟื้นและผลิตซ้ำในสังคมอเมริกันช่วงต่อต้านการค้าทาสที่นำไปสู่งสงครามกลางเมืองปลดปล่อยทาสในยุคประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น

เมแกน ดี. โรบินสัน (Megan D. Robinson) เจ้าของบทความ ‘How Santa Claus Has Changed Throughout History’ ได้เสนอประเด็นว่ากระแสความนิยมต่อเซนต์นิโคลัสมาบรรจบกับคริสต์มาสได้อย่างไรนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่คริสตจักรในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นศตวรรษที่เริ่มประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของคริสตจักรนั้น  ในหมู่คนยากชาวบ้านประชาชนได้มีการจัดงานรำลึกถึงการจากไปของเซนต์นิโคลัสอยู่ก่อนแล้วด้วย  โดยจะจัดกันในวันที่ 6 ธันวาคม

ต่อมา เมื่อมีการประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันสำคัญ ก็ได้มีการเขยิบจากวันที่ 6 มาฉลองในวันที่ 24-25 ในเดือนเดียวกันนั้น ต่อมาเซนต์นิโคลัสก็ได้รับสมญาว่า ‘พระบิดาแห่งคริสต์มาส’ (Father of Christmas)  

นอกจากนี้ ในงานของไบรอัน แฮนด์เวร์ค (Brian Handwerk) เรื่อง ‘From St. Nicholas to Santa Claus: the surprising origins of Kris Kringle’ ซึ่งสนใจประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใด ทำไม เรื่องของนักบวชในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนท่านหนึ่งถึงได้กลายไปเป็นเรื่องฮอตฮิตในหมู่คนยุโรปเหนือ ซึ่งที่จริงเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก ก็เพราะคนยุโรปเหนือถูกพวกโรมันล่าจับไปเป็นทาสในแหลมอิตาลีและทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกเขาไม่อาจใช้วีรบุรุษทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ประกอบกับเรื่องของเซนต์นิโคลัสเกิดเป็นที่ ‘ป็อปปูลาร์’ ขึ้นมาในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ทาสชาวยุโรปเหนือจึงได้ใช้เรื่องของเซนต์นิโคลัสมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกตน 

แน่นอนว่าเรื่องของเซนต์นิโคลัสมีลักษณะเป็นตำนานค่อนข้างมาก หลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับเขานั้นมีไม่มาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังบันทึกหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปนานแล้ว งานของไบรอัน แฮนด์เวร์ค มิได้หยุดอยู่เพียงคำถามดังกล่าวข้างต้น เขายังได้นำเอาหลักฐานจากรายงานทางโบราณคดีมายืนยันถึงการมีตัวตนของเซนต์นิโคลัส เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการบุกรุกสุสานที่ฝังศพของเซนต์นิโคลัส เป็นฝีมือของพวก ‘สายมูฝรั่ง’ ที่หลงใหลตำนานของเซนต์นิโคลัส ต้องการกระดูกโดยเฉพาะส่วนศีรษะไปทำพิธี

เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาได้สำเร็จ จึงได้มีเชิญนักโบราณคดีมาช่วยพิสูจน์ว่ากะโหลกศีรษะของกลางนั้นใช่ของเซนต์นิโคลัสจริงหรือไม่    

นักโบราณคดียืนยันว่าเป็นของเซนต์นิโคลัสจริง เพราะการตรวจอายุด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอนพบว่าเป็นกะโหลกศีรษะที่มีอายุย้อนหลังกลับไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3 และมีโครงสร้างรูปร่างที่คล้ายคลึงกับคนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อายุเมื่อเสียชีวิตราว 60 ปี  ซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 3 นักบุญที่เป็นชาวเมดิเตอร์เรเนียนมีเพียงไม่กี่คน แต่มีคนเดียวที่เสียชีวิตเมื่ออายุ 60 ปี ตามบันทึกคือเซนต์นิโคลัส นอกจากนี้ การพิสูจน์หลักฐานยังช่วยให้ทราบว่ากะโหลกศีรษะดังกล่าวเป็นของคนพื้นเพเชื้อสายกรีก ตาสีน้ำตาล ผมสีเทา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะชาวกรีกเดินเรือไปมาและตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แล้ว    

ลุงซานต้า เคยมาทางเรือ & คริสต์มาสในวัฒนธรรมชาวเรือดัตช์และอังกฤษ

ในงานของเมแกน ดี. โรบินสัน (Megan D. Robinson) ยังได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากเกิดการปฏิรูปโปรแตสแตนท์ในเยอรมนีแล้วขยายไปทั่วยุโรปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เซนต์นิโคลัสเป็นข้อยกเว้นไม่ได้ถูกตัดทิ้งออกไปจากกระบวนการสร้างความบริสุทธิ์ให้กับศาสนจักร ความเป็นนักบุญเพื่อคนยากไร้ทำให้นิโคลัสยังคงได้รับการเคารพนับถืออยู่ต่อมา กระทั่งเมื่อลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 แนวคิดมนุษย์นิยมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการก็ได้มีการยกย่องให้เป็น ‘นักบุญแห่งยุคฟื้นภูมิธรรม’ (Saint of Renaissance) แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปหลายร้อยปีแล้วก็ตาม    

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนเธอร์แลนด์ นามของเซนต์นิโคลัสเป็นที่รู้จักกันดี และนั่นก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของตำนานเซนต์นิโคลัสที่กลายมาเป็น ‘ซานตา คลอส’ เพราะคำว่า ‘Saint Nicholas’ (เซนต์นิโคลัส) ในภาษาอังกฤษ จะตรงกับภาษาดัตช์ว่า ‘Sint Nikolaas’ (ซินต์ นิเกาลาส) หรือย่อว่า ‘Sinter Klaas’ (ซินเตอร์ กลาส) และเมื่อเรียกเพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นสู่ภาษาอังกฤษจะตรงกับ ‘Santa Claus’ (ซานตา คลอส)

ดังนั้น จึงเกิดความเชื่อเป็นที่ยอมรับกันว่า ‘ซานตา คลอส’ ก็คือเรื่องที่ขยายจนผิดเพี้ยนไปของ ‘เซนต์นิโคลัส’ นั่นเอง

ไม่เพียงแต่ในแง่ภาษา หากแต่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวดัตช์ก็มีส่วนในการรังสรรค์ให้เกิดซานตา คลอส ขึ้นมา เพราะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เป็นยุครุ่งเรืองทางการค้าของบริษัทวีโอซีของดัตช์ (Vereenigde Oost-Indische Compagnie หรือชื่อย่อ VOC ในภาษาดัตช์ หรือ Dutch East India Company หรือ DEIC ในภาษาอังกฤษ)

พวกเขาเดินทางแล่นเรือไปค้าขายทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งกรุงศรีอยุธยาของสยาม พ่อค้าดัตช์บริษัทวีโอซีก็เป็นชาวยุโรปที่มีสายสัมพันธ์กับสยามยาวนานตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร จนถึงพระเจ้าเอกทัศน์ 

คนเรือดัตช์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จำนวนมากมีภรรยาและลูกอยู่ที่ประเทศแม่ ไม่มีสิ่งใดจะปลอบขวัญพวกเด็ก ๆ ที่ต้องห่างจากอ้อมกอดของบิดาได้ดีเท่ากับพวกเขาจะได้รับของขวัญในช่วงปลายฤดูหนาว หากมีความประพฤติดี ไม่ดื้อ 

ในขณะเดียวกัน เซนต์นิโคลัส หรือ ‘ซินเตอร์กลาส’ ในภาษาดัตช์ ก็ได้รับการเคารพนับถือในหมู่ชาวเรือดัตช์ประหนึ่งเทพผู้จะปกป้องคุ้มครองพวกเขาให้ได้มีชีวิตรอดกลับบ้านไปเจอหน้าลูกเมีย และนำของขวัญไปฝากพวกเด็ก ๆ   

ต่อมาชื่อ ‘ซินเตอร์กลาส’ ของดัตช์ ได้แพร่เข้าสู่วัฒนธรรมชาวเรืออังกฤษและอเมริกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าและนักเดินเรือภายใต้บริษัทอีไอซีของบริเตน (British East India Company or EIC) ที่จะผงาดขึ้นแทนที่บริษัทวีโอซีของดัตช์ในเวลาต่อมา ครอบครัวชาวเรือจะนิยมมารวมตัวกันเนื่องในวันรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของ ‘เซนต์ นิโคลัส’ หรือ ‘ซินเตอร์กลาส’

เมื่อคำนี้แพร่มายังวัฒนธรรมอังกฤษและอเมริกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ‘ซินเตอร์กลาส’ ก็กลายเป็น ‘ซานตา คลอส’ พร้อมกับตำนานบทใหม่ ไม่ใช่นักบุญเพื่อคนยากชาวเมดิเตอร์เรเนียนอีกต่อไป หากแต่เป็นบุรุษชุดแดงเคราขาว มีถิ่นพำนักอยู่ในดินแดนลี้ลับที่ยังสำรวจไปไม่ถึงในสมัยนั้นอย่างขั้วโลกเหนือ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงเดิมก็คือความเป็นผู้พิทักษ์เหล่าเด็กน้อย

การสร้างตัวตน ‘ซานตา คลอส’ และซานตาในตำนานที่เป็นจริง ประวัติฉบับมหัศจรรย์ของคริสต์มาส      

ซานตา คลอส และวันครอบครัว-รวมญาติ & คริสต์มาสในวัฒนธรรมอเมริกัน

งานประวัติศาสตร์คริสต์มาสชิ้นสำคัญต่อมาคือ งานของวิลเลียม เฟดเดอเรอร์ (William J. Federer) เล่มที่ชื่อ ‘There Really is a Santa Claus: History of Saint Nicholas & Christmas Holiday Traditions’ ได้เสนอว่า เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันนิยมจัดงานเทศกาลคริสต์มาสกันมาก พวกเขาได้ประดิษฐ์สร้างคริสต์มาสขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนจากการฉลองสไตล์งานคาร์นิวัล ให้กลายเป็นวันรวมตัวกันของครอบครัวและเครือญาติ ซึ่งผู้จุดประกายให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นคือนักเขียนชื่อดังนามว่า ‘วอชิงตัน เออร์วิง’ (Washington Irving)

วรรณกรรมบุกเบิกประเภทเรื่องสั้นจากปลายปากกาของเออร์วิงจำนวนมาก วาดภาพสังคมอเมริกันโดยเน้นฉากการพบปะสังสรรค์กันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เรื่องที่โด่งดังมีอิทธิพลมากคือเรื่องที่มีชื่อว่า ‘The Sketchbook of Geoffrey Crayon, gent.’ ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1819  

เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของชนชั้นสูงผู้มีฐานะดีคนหนึ่งได้อนุญาตให้คนยากจนในละแวกเข้ามาร่วมฉลองวันหยุดในบ้านของเขา ซึ่งเป็นภาพตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในสังคมอเมริกันตอนนั้น ซึ่งยังมีการใช้แรงงานทาส กว่าจะเกิดสงครามปลดปล่อยทาสก็ในอีก 42 ปีต่อมา (สงครามกลางเมืองสหรัฐอยู่ในช่วง ค.ศ.1861-1865)  

วอชิงตัน เออร์วิง เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ต่อต้านระบบทาส ในความคิดของเขา คริสต์มาสควรเป็นเทศกาลแห่งความสงบสุข เป็นวันหยุดอันอบอุ่นที่คนหลายกลุ่มชนชั้นได้มารวมตัวกัน โดยไม่ควรมีการแบ่งแยกชนชั้นหรือฐานะทางสังคม วิธีการเขียนของเขาก็มีส่วนโน้มน้าวคนอเมริกันที่กำลังแสวงหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776 เขามีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่โบราณของชาวยุโรปและชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก 

ภายหลังนักประวัติศาสตร์สังคมอเมริกันหลายคนจึงได้ยกย่องให้เออร์วิงเป็น ‘ผู้สร้างประเพณีใหม่’ ในสังคมอเมริกัน เพราะภาพสังคมอเมริกันแบบที่เขาเสนอในงานวรรณกรรมของเขานั้นได้กลายเป็นภาพจริงที่ผู้คนปฏิบัติกันในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์มาสในฐานะ ‘วันครอบครัว’ หรือ ‘วันรวมญาติ’ ก็เป็นภาพเสนอจากงานของเออร์วิง ประกาศเป็น ‘วัฒนธรรมชาติของสหรัฐอเมริกา’ (National culture of USA.) ในยุคหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) เมื่อ ค.ศ.1946 เป็นต้นมา

‘ซานตา คลอส’ และคริสต์มาสในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 

นักประวัติศาสตร์สังคมหลายท่าน อาทิ ทอม เมอริอาร์ตี้ (Tom Moriarty) ในงานชื่อ ‘The History of Father Christmas: Festive folklore, winter traditions and very merry myths,  the making of a festive icon’, เจเน็ต จีโอวานเนลลี (Janet Giovanelli) ในเล่มชื่อ ‘The True Story of Santa Claus: History, Traditions, and Magic’, ไบรอัน เอิร์ล (Brian Earl) เล่มเรื่อง ‘Christmas Past: The Fascinating Stories Behind Our Favorite Holiday's Traditions’ เป็นต้น

ต่างมองว่า ‘ซานตา คลอส’ ในภาพลักษณ์ที่ถูกพรรณนาว่า เป็นคุณลุงท่าทางใจดีร่างท้วม สวมหมวกและเสื้อโค้ทหนาสีแดง คอเสื้อสีขาว กางเกงสีแดงขาวยาว เข็มขัดและรองเท้าหนังสีดำ มียานพาหนะเป็นกวางเรนเดียร์ลากรถ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนี้ เริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ที่ไม่ใช่นักบวช แต่เป็นผู้มีเวทมนตร์แบบพ่อมด และมีแหล่งผลิตของขวัญเป็น ‘โรงงาน’ นั้น ก็เป็นภาพลักษณ์และความรับรู้ที่สร้างขึ้นในยุคที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตสินค้าหลัก   

ทอม เมอริอาร์ตี้ (Tom Moriarty) ค่อนข้างเชื่อมั่นในหลักฐานข้อมูลที่เขานำเสนอว่า ‘ซานตา คลอส’ แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นในแถบอเมริกาเหนือและตอนใต้ของแคนาดา ราวไม่เกินคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นผลงานการ ‘เตรี๊ยม’ กันระหว่างโรงเรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ที่จะเตรียมของขวัญไปหย่อนไว้ในถุงข้างปล่องไฟให้แก่ลูกเมื่อถึงวันคริสต์มาส 

สำหรับนักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องราวลี้ลับอย่างเมอริอาร์ตี้ เขาได้ข้อสรุปว่า พ่อแม่ของเด็กนั่นแหล่ะคือ ‘ซานตา คลอส’ ที่แท้ทรู 

เจตนาก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมเด็ก สร้างเด็กดีที่จะได้รับรางวัลตอบแทน เป็นการควบคุมโดยทางอ้อม ไม่บังคับเอาตามใจโดยตรงโดยผู้เป็นพ่อแม่ แน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องปลูกฝังและส่งเสริมความคิดอ่านมีเหตุผล ยอมรับเสรีภาพที่มีมาแต่กำเนิดของเด็ก ในแง่นี้ ตำนานแฟนซีว่าด้วยซานตา คลอส ไม่ใช่เรื่องของเด็กล้วน ๆ หากแต่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ด้วยว่าต้องการให้เด็กเติบโตขึ้นโดยมีภาพฝันเป็นอย่างไร     

นอกจากนี้ อิทธิพลอย่างสำคัญของกวี ‘การมาเยี่ยมจากนักบุญนิโคลัส’ ของคลีเมนต์ คลาร์ก มัวร์ (Clement Clark Moor) ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1823 และของนักเขียนภาพล้อเลียนและนักวาดการ์ตูนการเมือง โทมัส แนสต์ (Thomas Nast) จนถึงบทเพลงที่เป็นที่นิยมอย่างเพลงที่มีชื่อว่า ‘ซานตาคลอสกำลังเข้าเมืองมา’ แต่งเมื่อ ค.ศ.1934 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของวอชิงตัน เออร์วิง อีกต่อหนึ่ง  

ภาพลักษณ์นี้ถูกปรุงแต่งและเสริมขยายผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างบทเพลง, วิทยุ, โทรทัศน์, วรรณกรรมเยาวชนหรือหนังสือเด็ก และภาพยนตร์ การพรรณนาซานตา คลอส แบบที่เริ่มในอเมริกาเหนือพัฒนาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมา ได้มีอิทธิพลต่อความเข้าใจของคนในยุคหลังมานี้เป็นอันมาก ไม่ใช่เซนต์หรือนักบุญในวัฒนธรรมดั้งเดิมในวงการคริสตจักรยุโรปอีกต่อไป หากแต่เป็น ‘บิดาแห่งคริสต์มาสสมัยใหม่’ (Father of modern Christmas)

ความยืดหยุ่นและดัดแปลงวัฒนธรรมในหลายช่วงของยุคสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้คริสต์มาสไม่เพียงไม่ดับสูญ ยังแพร่หลายมากขึ้นในระดับขอบเขตโลกสากล ตรงข้าม หากคริสต์มาสยังคงเป็นเพียงการฉลองวันเกิดของพระเยซู หรือแม้แต่ยังเป็นแค่เรื่องของ ‘เซนต์นิโคลัส’ ไม่มี ‘ซานตา คลอส’ ก็เชื่อแน่ว่าวัฒนธรรมประเพณีคงดับสูญไปจากโลกตั้งแต่เมื่อแรกที่คริสตจักรประกาศให้ 25 ธันวาคมเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ไม่ยืนยาวมาจนถึง ณ ปลายค.ศ. 2022 นี้อย่างแน่นอน   

นับว่าเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดอย่างหนึ่งของชาวตะวันตก ในการใช้วัฒนธรรมมาช่วยให้ผู้คนโดยเฉพาะเด็ก ๆ สามารถผ่านพ้นคืนวันอันหนาวเหน็บในช่วงฤดูหนาวไปด้วยความสนุกสนาน 

สังคมไทยและอุษาคเนย์ที่รักของเราทั้งหลายมีวัฒนธรรมประเพณีที่พอจะเปรียบเทียบกันนี้ได้บ้างไหม ลองไล่เรียงดูกันเอาเองนะขอรับ...   

   

อ้างอิง:

Charles, Rev. Wilguymps. December 25, the Date of Birth of Jesus: A Reality to Discover. Hardcover, 2018.

Earl, Brian. Christmas Past: The Fascinating Stories Behind Our Favorite Holiday's Traditions. Hardcover, 2022.

Federer, William J. There Really is a Santa Claus: History of Saint Nicholas & Christmas Holiday Traditions. Paperback, 2002.

Giovanelli, Janet. The True Story of Santa Claus: History, Traditions, and Magic. Hardcover, 2020.

Handwerk, Brian. “From St. Nicholas to Santa Claus: the surprising origins of Kris Kringle” in National Geographic [Published: December 25, 2018].

Irving, Washington. The World of Washington Irving: Stories and Sketches by America's First Great Writer. Ed. and introduced by John Francis McDermott. New York: Dell, 1965.

Moriarty, Tom. “The History of Father Christmas: Festive folklore, winter traditions and very merry myths,  the making of a festive icon” in english-heritage.org.uk [Serched: December 20, 2022].

Robinson, Megan D. “How Santa Claus Has Changed Throughout History” in Art and Object [Published: December 9, 2022].

Stiegemeyer, Julie and Ellison, Chris. Saint Nicholas: The Real Story of the Christmas Legend. Paperback, 2007.