‘Cocaine Bear’ เรื่องจริงเบื้องหลังหนังว่าด้วย ‘หมีเสพโคเคน’ จนได้ฉายา Pablo EskoBear

‘Cocaine Bear’ เรื่องจริงเบื้องหลังหนังว่าด้วย ‘หมีเสพโคเคน’ จนได้ฉายา Pablo EskoBear

เรื่องจริงที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ Cocaine Bear ‘หมีเสพโคเคน’ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบซากหมีที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด จนนำมาสู่ฉายาว่า ‘ปาโบล เอสโกแบร์’ (Pablo EskoBear)

  • Cocaine Bear’ ภาพยนตร์ระทึกขวัญสุดตลกร้ายกับการเอาชีวิตรอดจาก ‘หมีดำเมาโคเคน
  • ภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อโคเคนที่หล่นมาจากฟ้ามาอยู่ในท้องหมีผู้โชคร้าย
  • เรื่องราวถูกจดจำจนได้ชื่อเล่นว่า ‘ปาโบล เอสโกแบร์’ (ไม่ใช่เอสโกบาร์ ราชายาเสพติด)

หมี… หมีมันเล่นโคเคน! หมี มัน เล่น โคเคน!

ถือเป็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องใหม่จาก Universal Studios ที่มีเนื้อหาบ้าบิ่นอยู่ไม่น้อยกับ ‘Cocaine Bear’ ที่เล่าเรื่องราวความสยองปนตลกร้ายของนักท่องเที่ยวผู้ไปผจญป่าในเมืองเล็ก ๆ ณ รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญหน้ากับอสูรกายที่ใครก็คาดไม่ถึงอย่าง ‘หมีดำเมาโคเคน’ ที่ถูกปลุกความดิบเถื่อนในตัวเอง และตระเวนไล่ฆ่ามนุษย์อย่างโหดเหี้ยม จนยากที่จะหยุดยั้งได้

ไม่เพียงแต่ความระทึกสยองปนอารมณ์ขันแบบดาร์ก ๆ เคล้าเข้าไปกับเนื้อเรื่องสุดแหวกแนวที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเหล่านักแสดงที่สวมบทตัวละครในเรื่องก็ยกขบวนมาอย่างน่าสนใจอยู่ไม่น้อย นำขบวนโดย เครี่ รัสเซลล์ (Keri Russell) จาก Dawn of the Planet of the Apes และ Mission Impossible III, เรียงต่อมาด้วย บรู๊คลิน พรินส์ (Brooklynn Prince) นักแสดงเด็กมากความสามารถจากภาพยนตร์อินดี้-ดราม่าแสนปวดใจกับ The Florida Project และผลงานชิ้นท้าย ๆ ของ เรย์ เลออตต้า (Ray Liotta) ดาวเด่นจากตำนานหนังมาเฟีย Goodfellas ที่จากไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022

นอกเสียจากหมีเมาเคล้าความฮาจากการเอาชีวิตรอดสุดป่วน อีกความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่หมีเมาโคเคนได้รับแรงบันดาลใจมากจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบกับซากศพของหมีดำในป่าลึกซึ่งมีสาเหตุการตายคือ ‘เสพโคเคนเกินขนาด’ (An Overdose of Cocaine)

บทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับเหตุการณ์หมีเสพโคเคนในอดีตที่เกิดขึ้นจริง ๆ จนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นเรื่องเล่าที่เล่าขานกันต่อมาจนหมีตัวนั้นได้รับฉายาว่า ‘ปาโบล เอสโกแบร์’ (Pablo EskoBear) ซึ่งเป็นการเล่นคำให้คล้องไปกับ ‘ปาโบล เอสโกบาร์’ (Pablo Escobar) ราชาพ่อค้ายาเสพติดแห่งโคลอมเบีย

แม้ในตัวอย่างภาพยนตร์เราจะเห็นว่าหมีดำเมายาจะบ้าบิ่นดั่งสัตว์ร้ายที่จะไม่ปราณีสิ่งมีชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมันจะฉีกคุณเป็นชิ้น ๆ (แม้ว่าจะปีนไปหลบอยู่บนต้นไม้ก็ตาม) แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เลือดสาดเหมือนที่เราเห็นในตัวอย่างภาพยนตร์เท่าไหร่นัก

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1985 เมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวนแห่งรัฐจอร์เจีย (The Georgia Bureau of Investigation) พบหมีดำนอนเสียชีวิตอยู่ในป่า เหลือเพียงแค่กระดูกและหนังแห้ง ๆ และเมื่อทำการพิสูจน์สาเหตุการตายก็พบกับความจริงว่า สิ่งที่ปลิดชีวิตมันคือ ‘โคเคน’ (Cocaine) ยาเสพติดชนิดหนึ่ง ในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะรับไหว 

นอกจากนั้นก็ยังพบแพ็คของยาเสพติดโคเคนรายเรียงอยู่บริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสันนิษฐานว่ามันถูกโยนทิ้งลงมาจากเครื่องบินที่ถูกขับโดย ‘แอนดรูว์ ธอร์นตัน’ (Andrew Thornton) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดผู้ผันตัวเองสู่ด้านมืดไปลักลอบขนส่ง-ค้ายาเสียเอง

แต่ธอร์นตันเสียชีวิตไปตั้งแต่ วันที่ 11 เดือนกันยายนในปีเดียวกัน จากการที่เขากระโดดร่มจากเครื่องบินขนส่งยาเสพติดจากประเทศคอลัมเบีย แต่ดูเหมือนว่าฟ้าจะไม่เป็นใจ ธอร์นตันมุ่งหน้าลงสู่พื้นดินโดยตรง เพราะร่มชูชีพไม่ทำงาน จนกระทั่งสามเดือนถัดมา เจ้าหน้าที่สืบสวนก็ค้นพบหมีที่เสียชีวิตจากการเสพโคเคนเกินขนาด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชื่อมโยงกันว่าน่าจะเป็นยาเสพติดที่กำลังจะถูกลักลอบขนส่งโดยธอร์นตัน

เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจที่หมีดำผู้โชคร้ายตัวนั้นเดินผ่านมาพบแพ็คปริศนาแล้วน่าจะกินมันไป จนปริมาณยาเสพติดคร่าชีวิตมันไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งจากการชันสูตรอย่างละเอียดก็พบว่าในเลือดของหมีดำตัวนั้นมีโคเคนกว่า 3-4 กรัม

หลายปีถัดมาเรื่องราวดังกล่าวก็ยังคงไม่เลือนหาย แม้ว่าหมีตัวนั้นจะเสียชีวิตไปโดยไม่ได้ไปคลั่งฆ่าใครดังในเรื่อง แต่มันก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ช่วยจุดประกายให้นักสร้างสรรค์หลายคนคิดว่า ‘แล้วถ้าเกิดหมีตัวนั้นเกิดคลั่งไล่ฉีกร่างคนขึ้นมาจากการที่มันเมาโคเคนล่ะ?’ เราจึงได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์ดังที่เราเห็นกันในวันนี้…

ซากของหมีตัวดังกล่าวยังถูกนำไปเก็บรักษาและตั้งโชว์อยู่ที่ห้างสรรพสินค้า ‘Kentucky for Kentucky Fun Mall’ ณ เมืองเลกซิงตัน แถมยังมีสินค้าเกี่ยวกับตัวนั้นผลิตออกมามากมาย โดยเฉพาะเสื้อลาย ‘Cocaine Bear’ นอกจากนั้นมันก็นังมีป้ายชื่อที่ระบุชื่อเล่นที่ผู้คนตั้งให้มันอีกด้วย ซึ่งก็คือ ‘ปาโบล เอสโกแบร์’

 

ภาพ: ตัวอย่างภาพยนตร์ Cocaine Bear - Univesal Studios

อ้างอิง: 

The real ‘Cocaine Bear’ story: Behind the ‘coke-fueled rampage for blow — and blood’ - New York Post

Yes, the viral ‘Cocaine Bear’ movie is based on a true story (kinda) - CNN

Yes, ‘Cocaine Bear’ Was Real. Here’s the Back Story. - The New York Times