การค้นพบครั้งใหม่ของ ‘อาหารปรุงสุกที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์’

การค้นพบครั้งใหม่ของ ‘อาหารปรุงสุกที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์’

ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดได้ค้นพบเมนูอาหารปรุงสุก (Cooked Meal) ที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ย้อนกลับไปเมื่อ 780,000 ปี ที่แล้ว

ในวันที่มนุษย์เริ่มบริโภค ‘อาหารปรุงสุก’ (Cooked Meal) แทนที่จับมันเคี้ยวเข้าปากแล้วกลืนอย่างดิบ ๆ นับเป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนที่มีผลต่อวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์และมีความสำคัญไม่แพ้กับการค้นพบและใช้งาน ‘ไฟ’ (Fire) เลยแม้แต่น้อย ไม่เพียงแต่มันจะเป็นการขจัดแบคทีเรียในอาหารให้ลดน้อยลง แต่มันยังช่วยประหยัดเวลาและพลังงานในการย่อย แถมยังทำให้ดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ไปพัฒนาร่างกายได้ในประสิทธิภาพที่สูงกว่าเดิม

อาจจะดูเป็นประเด็นที่ห่างไกล แต่แท้จริงแล้วมันเกี่ยวกัน การที่มนุษย์เริ่มรับประทานอาหารสุกนั้นทำให้มนุษย์มีเวลาในการที่จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมภายในเผ่าพันธุ์และยังเสริมสร้างทักษะเชิงพฤติกรรมด้านต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งเวลาว่างที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นก็มาจากส่วนที่เราประหยัดไปเมื่ออาหารปรุงสุก ไม่ว่าจะในด้านการย่อย การเก็บรักษา หรือด้านสารอาหารที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย

เป็นเวลาเกือบจะ 8 แสนปีมาแล้วที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะปรุงและบริโภคอาหารแบบสุก ๆ แต่ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น

อะไรคือเมนูแรกที่พวกเขาได้ลองเอาไปย่างไฟแล้วค้นพบความวิเศษของการบริโภคอาหารแบบสุก ๆ มันเป็นอย่างไร?

อาหารปรุงสุกที่เก่าแก่ที่สุด (ที่ค้นพบในปัจจุบัน)

หากจะกล่าวแบบตามตรงก็คงเป็นเรื่องยากที่จะระบุชัดว่าเมนูไหนแน่ที่ถือเป็นเมนูแรกที่มนุษย์ได้ลองชิมอาหารร้อน ๆ (หรือไหม้) แล้วติดใจ จึงได้สืบสานการทำให้วัตถุดิบ ‘สุก’ ก่อนรับประทานจนสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการและวัฒนธรรมที่ส่งผลมาถึงทุกวันนี้

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะหาคำตอบไม่ได้เลย เพราะมีงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature Ecology & Evolution โดย ดร. ไอริต โซฮาร์ (Dr. Irit Zohar) นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติสตีนฮาร์ทแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University’s Steinhardt Museum of Natural History) ที่มีการค้นพบถึงร่องรอยการปรุงสุกของมนุษย์เมื่อ 780,000 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่บ่งบอกเราถึงการนำอาหารมาปรุงสุกครั้งที่ ‘เก่าที่สุด’ ของมนุษย์

จากงานวิจัยที่ได้มีการลงไปสำรวจในพื้นที่ ‘Gesher Benot Ya'akov’ ที่อยู่ติดกับขอบของทะเลสาบฮูลา (Hula Lake) ในประเทศอิสราเอล ทางทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาซากกระดูกของปลาจากสมัยก่อน ซึ่งซี่ฟันของซากปลาเหล่านั้นก็บ่งบอกว่าเมนูที่เก่าแก่ที่สุดที่บรรพบุรุษของเราบริโภคแบบสุก ๆ ก็คือ ‘ปลาย่าง

แม้จะไม่มีซากโครงกระดูกที่บ่งชี้ว่าเผ่าพันธุ์ใดเป็นผู้อาศัยและย่างปลาอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่หากประเมินจากเครื่องมือต่าง ๆ ที่พบก็พอจะสรุปได้ว่า ‘โฮโม อีเร็กตัส’ (Homo erectus) คือเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เริ่มนำปลามาย่างและอาศัยอยู่ ณ พื้นที่ตรงนั้น

 

นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ติดทะเลสาบซึ่ง (ในตอนนั้น) อาจจะไม่ลึกมาก จึงทำให้สามารถจับปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่แถวนั้นได้ง่าย พันธุ์ปลาที่นักวิจัยคาดว่าเป็นที่นิยมในการถูกจับมาย่างก็น่าจะหนีไม่พ้น ‘Luciobarbus’ ที่ได้สูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว ไม่เพียงแค่ระดับน้ำที่ไม่ลึกมากที่ทำให้ชาวโฮโม อีเร็กตัสสามารถจับปลาเหล่านั้นได้ง่ายเพียงเท่านั้น แต่ปลาชนิดดังกล่าวยังสามารถเติบโตและมีขนาดใหญ่ถึง 2 เมตรอีกด้วย

จากหลักฐานที่ค้นพบดังที่เราได้กล่าวมา ก็พอจะสรุปได้ว่าอาหารปรุงสุกที่เก่าที่สุดที่ค้นพบในตอนนี้คือ ปลาย่างโดยฝีมือของโฮโม อีเร็กตัส

 

 

ปลาย่างหรือปลาเผา?

แล้วเขาเอาปลาไปย่างหรือเผา?

หากถามถึงในยุคสมัยนี้ก็คงต้องตอบว่าแล้วแต่ความชอบของคน แต่หากมีขนมจีน ผัก และน้ำจิ้มมาด้วย ปลาเผาก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเท่าไหร่นัก แต่กรณีที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้อาจจะไม่เกี่ยวโยงกับเมี่ยงปลาเผาหรือปลาย่างซีอิ๊วเสียทีเดียว เพราะเมื่อนักวิจัยค้นพบว่ามีการนำปลามาเผา จึงมีคำถามที่ต้องถามต่อไปอีกว่า เหล่าโฮโม อีเร็กตัสนำปลามาย่างไฟเพื่อบริโภคหรือนำมันมาเผาทิ้งหรือเพื่อเป็นเชื้อเพลงเฉย ๆ?

ในการที่จะตัดสินได้ว่าพวกเขาเอาปลามาปรุงสุกจริง ๆ หรือว่าเอามาเผาทิ้งเป็นเชื้อเพลิงเฉย ๆ นั้น นักวิจัยได้ทำการสังเกตไปที่ขนาดของซี่ฟันและส่วนของคริสตัลที่เคลือบฟันแต่ละซี่อยู่ เพราะเมื่อซี่ฟันเหล่านั้นโดนกับความร้อน เพราะฟันแต่ละซี่จะมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับของอุณหภูมิที่มันต้องเจอ

เราก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดหรอกว่าพวกเขามีกรรมวิธีในการปรุงอาหารให้สุกอย่างไร ด้วยความที่หลักฐานต่าง ๆ นั้นมีจำกัด แต่เราแน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้เอาปลาไปเผาตรง ๆ, เอาไปเผาทิ้งในไฟ หรือว่าใช้มันเป็นเชื้อเพลิง

ในการทดลอง โซฮาร์ได้นำเอาซี่ฟันของปลาบริเวณนั้นที่เชื่อว่าถูกเผาในยุคดังกล่าวไปทำการวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งฟันเหล่านั้นก็ถูกนำไปทดลองด้วยการเผาในอุณภูมิที่ต่ำและสูง และนำเอามาเปรียบเทียบกันเพื่อหาความแตกต่างทางปฏิกิริยาจากสองกรณี

ผลจากการทดลองชี้ให้เราเห็นว่าปลาเหล่านั้นถูกเผาในระดับอุณหภูมิประมาณ 200-500 องศาเซลเซียส และนักวิจัยก็ตีความว่าด้วยอุณหภูมิดังกล่าวน่าจะเป็นการทำให้สุกเพื่อการบริโภคมากกว่าการนำเอาไปเผาทิ้งหรือเพื่อเป็นเชื้อเพลิง 

แต่การศึกษาค้นคว้าก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น ทีมนักวิจัยก็ยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่า

เมนูปลาย่างถือเป็นเมนูหลักของชาวโฮโม อีเร็กตัสที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณนั้นเลยหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงเมนูที่บริโภคเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นอยู่กับฤดูกาล?

เหล่านักวิจัยก็ได้เจาะลึกไปถึงองค์ประกอบทางธรณีเคมีว่ามีปริมาณอะตอมของออกซิเจนและคาร์บอนอยู่มากน้อยเพียงใดเพื่อที่จะระบุให้ได้ว่าปลาเหล่านั้นตายในช่วงฤดูใดบ้าง ซึ่งผลก็ปรากฎว่าปลาเหล่านั้นตายในแทบทุกฤดู ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าเหล่าโฮโม อีเร็กตัสบริโภคปลาย่าง (หรือเผา) เป็นอาหารหลักทั้งปี

 

ภาพ: 

Culture Club / Contributor

J. Valiallahi, B. Coad. 'Present status and re description of Iranibarbus or Luciobarbus barbuls Heckel 1849 a valid Cyprinidae species of Iran'. Figure 1.

 

อ้างอิง:

CNN