ชิต บุรทัต มหากวี 2 ระบอบ ราชสำนักถึงประชาธิปไตย เป็นเซียนสุรา และทาสแมว

ชิต บุรทัต มหากวี 2 ระบอบ ราชสำนักถึงประชาธิปไตย เป็นเซียนสุรา และทาสแมว

รัตนกวีเอกอย่าง ชิต บุรทัต มีชีวิตอยู่ระหว่างสองระบบ จาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงยุค ประชาธิปไตย เป็นพระเลขาคนโปรดของพระสังฆราช เป็นเซียนสุรา และ ทาสแมว ตัวยง ชีวิตของท่านมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ

  • ‘ชิต บุรทัต’ ถือกำเนิดและใช้ชีวิตรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • เมื่อผ่านสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังเขียนกวีว่าด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ
  • ไม่เพียงเป็นแค่ยอดศิลปิน ชีวิตส่วนตัวยังมีเรื่องราวหลากหลายแง่มุม เป็นทั้งเซียนสุรา ทาสแมว อิสรชนผู้รักเสรี ไม่ใฝ่ยศถาบรรดาศักดิ์

ณ หน้าแผนกนี้ คือ “สวนกวี” ใน “สวนอักษร” เปรียบเหมือนประมวล สิ่งส่วนอุปกรณ์ เพื่อพิทยาภรณ์ ให้เพริศให้พราว

สนใจในศาสตร์ ลึกซึ้งซึ่งปราชญ์ ทุกชาติบูชา ว่าเลิศเชิดชู ผู้รู้เรียนมา แม่นยำนำพา ในผลตนเพียร

คารมคมขำ ซาบซึ้งพึงจำ จริงจังทั้งมวล เห็นภาพแห่งพจน์ งามงดเชิญชวน ให้ชมสมควร กับข้ออุปมา

เมื่อท่านผู้อ่าน พึงใจโดยวิจารณ์ แล้ววานอย่ารอ รับสวนอักษร ไว้ผ่อนพะนอ ชีพชื่นชะลอ ชนม์ยืนยิ่งเทอญ “แมวคราว”[1]

“คุณชิต เป็นเพชรที่วงวรรณกรรมไทยไม่ควรหวังว่าจะได้พบครั้งละร้อยปีต่อหนึ่งเม็ดเสียด้วยซ้ำ”[2] ยาขอบ

ประโยคสรรเสริญข้างต้นของ ‘ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)’ ดูจะไม่เป็นความเกินเลยแต่อย่างใดต่อสรรพคุณรัตนกวีเอกอย่าง ‘ชิต บุรทัต’ ผู้กำเนิดและเคยใช้ชีวิตรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงขนาดแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ 6 ด้วยวัยเพียง 19 ปี จนดำเนินชีวิตเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจวบกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม มอบปัจจัยร่วมอุปถัมภ์งานศพ

ในวาระ 130 ปีชาตกาล และ 80 ปีมรณกาล ของ ‘ชิต บุรทัต’ ผู้เขียนขอรำลึกถึงความมีสีสันในชีวิตของยอดศิลปินผู้เป็นนายแห่งภาษาท่านนี้ ผ่านการจำแนกแยกคุณสมบัติสำคัญผ่านเรื่องราว 9 หัวข้อดังต่อไปนี้

“มหากวี - พระเลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช - เซียนสุรา - นักปฏิวัติ? - ทาสแมว - คณะสุภาพบุรุษ - สามีสุดที่รัก - เมธีพิการ - เสรีชน”  

มหากวี

ชิต บุรทัต นามสกุลเดิม ชวางกูร เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2435 (ร.ศ.111 ปีมะโรง) บิดาชื่อ ชู มารดาชื่อ ปริก บิดาเคยเป็นพระมหาเปรียญ 7 ประโยคก่อนสึกมาเป็นครูสอนภาษาบาลีอยู่โรงเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

นับแต่ปฐมวัย เด็กชายชิตเป็นคนเชาวน์ไวเฉียบแหลม มีความชำนาญในการอ่านคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะ เชี่ยวชาญโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

เราสามารถเรียกใช้คำนิยามภาษาอังกฤษว่า Child Prodigy (เด็กอัจฉริยะ) สำหรับท่านผู้นี้ ด้วยว่าเมื่อขณะวัยเพียง 18 ปี ก็ได้เริ่มผลิตบทประพันธ์ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ใช้นามแฝงว่า  “เอกชน”  (หมายความว่าแต่งโดยคนๆ เดียว) ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ประตูใหม่จนเป็นที่ต้องพระทัยต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถึงกับเรียกให้เข้าเฝ้าและตรัสกับสามเณรชิตว่า “เณรต้องเป็นจินตกวีของรัชกาลที่ 6 เทียวนะ”[3]

ครั้นต่อมาท่านยังได้อาราธนาสามเณรชิตแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตรฉัตรในพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2454 พร้อมกับกวีระดับแนวหน้าแห่งยุค คือ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก พ.ศ.2401-2471)[4], พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา และ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) 

พระเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช

เด็กชายชิตเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดราชบพิธฯ ที่บิดาสอนอยู่จนจบชั้นประถม แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวรารามเมื่อปี พ.ศ.2449 หลังจบชั้นมัธยมด้วยวัย 15 ปีเข้าบรรพชาเป็นสามเณรครั้งแรกที่วัดราชบพิธ (อุปัชฌาย์ขณะนั้นต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ) เป็นเวลา 2 พรรษา

หลังลาสิกขาอายุได้ 17 ปีเริ่มหลงใหลน้ำตาลเมา “เบียร์ดง” จนผู้ใหญ่ต้องจับให้บวชเณรอีกครั้งที่วัดเทพศิรินทร์ (อุปัชฌาย์ขณะนั้นต่อมาคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจริญ ญาณวโร) แล้วจึงย้ายไปพำนักยังวัดบวรนิเวศที่มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นสมภาร

พ.ศ. 2454 ประเทศสยามผลัดแผ่นดินขึ้นสู่รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้รับการสถาปนาขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะนั้นท่านโปรดและเรียกใช้งานสามเณรชิตในฐานะเลขานุการประจำพระองค์ ทั้งยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ด้วย ส่วนด้านการศึกษาพระบาลีของสามเณรชิตนั้น ทรงพิจารณาเห็นว่าความสามารถระดับนั้นยังไม่จำเป็นต้องสอบไล่ชั้นต่ำ ๆ ไว้รอสอบประโยคสูง ๆ 6 - 7 ไปเลยทีเดียว (ช่วงนั้นยังสอบปากเปล่า ไม่มีข้อเขียน)

ทั้งยังเคยตรัสว่า “ไม่ยอมให้สึกหรอก จะเอาไว้ใช้”[5] โปรดถึงขนาดเวลาเสวยจะแบ่งเครื่องเสวยให้ครึ่งหนึ่ง จนเป็นที่กล่าวขานในครั้งนั้นว่า “ตำแหน่งพระราชาคณะคงไม่หนีไปไหน พระชิตคงจะได้ตำแหน่งเจ้าคุณแต่หนุ่ม ๆ เป็นแน่แท้”[6]

ในเวลาเดียวกันนั้น สามเณรชิตก็ได้แต่งบทละครให้โรงละครปราโมทัย ซึ่งเจ้าของคือ พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) สามเณรชิตใช้นามปากกาว่า ‘เจ้าเงาะ’ (หมายความว่าเป็นเณรอยู่ ยังไม่ได้ถอดรูป) ได้รายรับดีงามจนถึงกับได้รับการปวารณาว่า “สึกเมื่อไรรับรองเต็มที่”[7]

เซียนสุรา

ชิต บุรทัต มหากวี 2 ระบอบ ราชสำนักถึงประชาธิปไตย เป็นเซียนสุรา และทาสแมว

ระหว่างอยู่ในเพศบรรพชิตครั้งหลังนี้ ชิตมีโรคประจำตัวคือโรคเจ็บหน้าอกที่ต้องรักษาด้วยการแช่เถาวัลย์เปรียงกับปูนขาวในแอลกอฮอล์ แล้วชุบผ้าขาวปิดหน้าอกจึงจะหายเจ็บได้ เป็นเหตุให้ต้องกลับมาคลุกคลีกับ “กลิ่นแอลกอฮอล์” ก่อกวนให้จิตใจปั่นป่วนจนต้องกลับมาเสพสุราเมรัยอีก ครั้นเมื่อสำนึกว่าตนผิด เข้ากราบทูลฯสมเด็จประสงค์ขอลาสิกขา ท่านก็ว่า “ไม่ให้สึก จะเอาไว้ใช้เป็นเลขานุการประจำตัว” พระชิตมักจะดื่มในเวลากลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่สมเด็จฯเรียกใช้ จึงจำเป็นต้องจัดแจงล้างปากและฉันหมากดับกลิ่นยามเข้าเฝ้าเสมอมา จนเมื่อท้ายที่สุดท่านจับได้ รับสั่งถามว่า

“ทำไมถึงทำดังนี้เล่า?”

พระชิตว่า

“เพราะข้าพระพุทธเจ้าอยากสึก ทูลขอตรงๆ ก็ไม่โปรดอนุญาตให้สึก กระทำดังนี้โดยเห็นว่าคงจะได้ลาสมณเพศสมหวัง”

เรื่องเล่าการสึกของพระชิตยังมีอีกสำนวนว่าท่านมักจะแอบเสพสุราและทำลายหลักฐานด้วยการโยนขวดทิ้งลงไปในคูน้ำภายในวัดให้จมลงไป วันหนึ่งมีขวดหนึ่งเกิดอาเพศลอยตุ๊บป่องให้สังฆราชเห็น เรื่องจึงแดงขึ้น ชิตได้เล่าอย่างน้อยใจว่า เนื่องจากความผิดครั้งนั้นได้ถูกสมเด็จพระสังฆราชลงโทษขนาดหนัก “ไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด” ทีเดียว[8]

หลังจากได้ลาสิกขาสมใจ ทิดชิตประพันธ์โคลงหนึ่งบทเรื่องสุราเพื่อเตือนสติตัวเองไว้ว่า[9]

เมาภาษิต

๏ ที่ใดมีดื่มเหล้า เมาเฮ

ที่นั่นมีการเซ อยู่ด้วย

เหตุว่าสุรา, เม- รัยใช่ น้ำเพื่อน

ดื่มหนักมากมากถ้วย   อาจสิ้นสติเผลอ

‘แมวคราว’ (นามปากกา ชิต บุรทัต)

เมื่อหวนคืนสู่เพศฆราวาสแล้ว ทิดชิตรับราชการเป็นครูอยู่สั้นๆ จนเมื่อปี พ.ศ.2457 นายชิตได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ไทยจนขยับขึ้นถึงตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ และเป็นปีเดียวกันนี้เองระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ได้รจนากวีนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดและเรียกได้ว่าประดับชื่อเคียงคู่กับกวีแก้วท่านนี้ตลอดทั้งชีวิตคือ สามัคคีเภทคำฉันท์

บทกวีชิ้นเลิศนี้ต่อมาได้รับบรรจุเป็นแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ธรรมการ) สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายราวปี พ.ศ.2474 [10] แทนที่อิลราชคำฉันท์ในชั้นเรียนกวีนิพนธ์[11] และนายชิตจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ร้อยละยี่สิบทุกครั้งที่จัดพิมพ์ใหม่ [12] (กล่าวกันว่าพิมพ์ไม่น้อยกว่า 27 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5 หมื่นเล่ม![13])

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากงานประจำที่หนังสือพิมพ์ไทย  นายชิตยังรับงานหนังสือรายเดือนศรีกรุง รวมถึงแต่งบทละครเป็นรายได้เสริมซึ่งดีงามเพียงพอให้ใช้ชีวิตแบบ “ดื่มอย่างหัวราน้ำ เที่ยวหามรุ่งหามค่ำ” ถึงขนาดปรากฏว่าบางเดือนติดค้างค่าเหล้ามากกว่ารายรับถึง 10 เท่า! 

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ พ.ศ.2459 นายชิตได้รับพระราชทานนามสกุลจากในหลวงรัชกาลที่ 6 ว่า “บุรทัต” (จากเดิมนายชิต ใช้นามสกุล “ชวางกูร” ซึ่งมาจากชื่อบิดาคือ ชู สนธิกับคำว่า “อังกูร” แปลว่าเหล่ากอ)

ถึงแม้ว่าหนังสือพิมพ์ไทยจะอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ คณะบรรณาธิการแทบทุกคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จะเว้นก็แต่นายชิต บุรทัต เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 6 เคยทรงมีพระราชดำรัสว่า “เลี้ยงมันไว้เท่านี้แหละ จะให้ลาภให้ผลก็จะเอาไปกินเหล้าเสียหมด มันจะตายเร็วเสียเปล่าๆ ไว้ฟังโวหารของมันดีกว่า” [14]

ฝ่ายนายชิตก็เคยกล่าวว่า “เพราะท่านไม่ไห้ผมน่ะซี ผมเองก็ไม่หยากได้ ผมคอยเลี่ยงคอยหนีเวลาเฝ้าถวายตัวเสียทุกครั้ง ขี้เกียดคุน ผมไม่ชอบยสๆ สักดิ์ๆ”[15] ชิต บุรทัต ทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยจวบจนสิ้นรัชกาลที่ 6 เมื่อปลายปี พ.ศ.2468

พฤติกรรมเสพสุราเมรัยของเมธีเอกอุท่านนี้มีผู้คนกล่าวขานไว้มากมาย เช่นว่าครั้งหนึ่งชิตเคยเมามายอาละวาดจนถึงกับเผาทิ้งหนังสือปกแข็งเดินทองในกรุส่วนตัวหลายร้อยเล่มที่พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) กำนัลให้จนถึงกับถูกตำรวจจับและต่อมาอีก 3 ครั้งในชีวิตก็ยังเคยตกเป็นผู้ต้องหาฐานเดียวกันนี้ เมื่อถามถึงเรื่องความสร้างสรรค์ของเนื้องานสัมพันธ์กับสุราที่ดื่มไหม? ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยได้มีโอกาสสนทนากับมหากวีชิตโดยว่า

“ตอนกินแหล้าเมาแต่งไม่ไหวหรอก ท่านจะแต่งไว้ตอนไม่เมา (เตรียมแต่งไว้ก่อนแล้วจำไว้ด้วยความทรงจำที่แม่นยำ) พอได้เหล้าลงคอพอมึนๆ ก็จะว่าฉันท์หรือโคลงกลอนที่เตรียมไว้ได้ทันที” [16]

ผิดกับสุนทรภู่ที่เคยเล่ากันว่าพอกินเหล้าได้ที่แล้วจะให้เสมียนจดตาม อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องเล่าที่ต่างออกไปบ้างว่า “ในเวลาที่ความเมาถึงขีด ชิต บุรทัตจะหลับตาและชี้นิ้วแต่งคำฉันท์อวยพรแก่เพื่อนขี้เมาร่วมโต๊ะเป็นที่สนุกสนาน”[17]

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เคยให้ข้อมูลยี่ห้อเหล้าที่ครูชิตติดอกติดใจไว้ว่า “ท่านมีความสุขอยู่กับเมรัย เมื่อมาพบพ่อที่บ้านก็จะต้องมีการดื่มดวดกันตามอัธยาศัย แล้วหล้านั้นนอกเหนือจากวิสกี้ขวดละ 5 บาทแล้ว ก็ดูเหมือนจะเป็นเหล้าไทยชั้นดีคือเหล้า “ว.ก.” เรียกว่าวิสกี้ไทยก็คงจะไม่ผิด เพราะแม่โขงยังไม่ถือกำเนิด”[18]

เกษม บุญศรี อดีตพระมหาเปรียญลาพรตผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา เล่าว่านักเลงสุราระดับชาติรุ่นๆกันนั้นมี พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป), ขุนสุนทรภาษิต (มุ่ย) และ ชิต บุรทัต รสนิยมการเสพสุราของนายชิตได้รับการถ่ายทอดโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ไว้ว่า

“เมื่อถึงคราววันงานเทศกาลต่างๆ เช่น วันตรุษสงกรานต์ วิสาขะ และมาฆะ เข้าพรรษาออกพรรษา หรือวันเฉลิม ฯลฯ อาจารย์กวีเอกชิต บุรทัต จะไปปรากฏตัวที่โรงพิมพ์เพื่อส่งบทประพันธ์โคลงฉันท์กาพย์กลอนเพื่อลงประดับหน้าหนังสือพิมพ์ โดยไม่คิดราคา สุดแต่ศรัทธาตามแต่จะให้ เท่าที่เคยเห็นก็ไม่น้อยกว่า 28 ดีกรีหนึ่งขวด หรือบทละ 1 บาท ตามจำนวนคำประพันธ์ พอได้เงินก็ตรงไปยังร้านเหล้า (ประจำ) ก่อนดื่มจะเอาชานหมากออกจากปากถือไว้ พอดื่มแล้ว (1 เป๊ก) ก็ใส่ปากอมต่อไป ไม่ยอมแตะมะขามเปียกหรือมะยมดอง บอกว่าจะเสียโอชะ และไม่ยอมนั่งในร้านเป็นอันขาด เพราะนั่งแล้วเงินจะหมด ไม่ถึงบ้าน”[19]

ถึงแม้ว่าชิตจะเที่ยวหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ เพียงใด ชิตก็มีกิจวัตรอย่างหนึ่งซึ่งได้เริ่มกระทำเมื่อสึกจากพระมาแล้ว และจะขาดเสียมิได้เลยจนวันเดียว กิจวัตรนี้คือต้องหุงข้าวใส่บาตรด้วยตนเอง ถึงแม้ตอนกลางคืนจะเมามายมาอย่างไรก็ตาม เวลาตีสี่เช้ามืดก็จะต้องลุกขึ้นหุงข้าวเสร็จแล้วกวาดเรือนถูเรือนทั่วบริเวน เมื่อเรียบร้อยแล้วก็พอดีเวลารุ่งอรุณ ตักข้าวที่หุงด้วยมือของตนเองนั้นใส่ขันทองเหลืองนำเข้าไปให้บิดาจบ แล้วชิตก็จะใส่บาตรด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง

นักปฏิวัติ?

ระหว่างที่ยังเป็นสามเณรชิตเกือบต้องโทษในข้อหากบฏ เมื่อเวลานั้นมิตรสหายที่สนิทสนมมากที่สุดของสามเณรชิตคือ “ศรีสุวรรณ” หรือหลวงนัยวิจารณ์ (เปล่ง ดิษยบุตร พ.ศ.2433-2473)[20] นักประพันธ์เลื่องชื่อยุคนั้นที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะก่อการ ร.ศ.130[21] กับอีกสองผู้ก่อการคือ ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ (พ.ศ.2431-2498) และ อุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พ.ศ.2433-2480)  ได้มาขอใช้กุฏิของสามเณรชิต ณ วัดบวรนิเวศเพื่อแปลและเรียบเรียงคอนสติติวชั่นลอว์ (Constitution Law) สำหรับใช้เป็นรัฐธรรมนูญภาษาไทยด้วยเหตุที่ว่าเป็นสถานที่เงียบสงัดและมิดชิดไม่มีผู้ใดพลุกพล่าน โดยได้สามเณรชิตผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีรับหน้าที่ค้นหาคำศัพท์ที่มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษและช่วยเรียบเรียงฉบับแปลของ “ศรีสุวรรณ”[22]

จนท้ายสุดเมื่อผู้ก่อการคณะนี้ถูกรวบตัวโดยทางการ ทั้งสามสหายที่ว่าต้องโทษจำคุกโดย ร.ต.บ๋วย และ นายอุทัย ทั้งคู่ติดคุกกันไปเกือบตลอดรัชสมัยในหลวง ร.6 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 12 ปี 6 เดือนกับอีก 6 วัน

ขณะที่ “ศรีสุวรรณ” ได้ลดโทษเหลือเพียงรอลงอาญา 5 ปี และว่ากันว่า “สามเณรชิตเกือบถูกจับกุมข้อหาพัวพันกับบุคคลที่ก่อการกบฏดังกล่าว แต่ด้วยพระบารมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงรอดตัวไป”[23]

ชิต บุรทัต มหากวี 2 ระบอบ ราชสำนักถึงประชาธิปไตย เป็นเซียนสุรา และทาสแมว

ทาสแมว

ชิต บุรทัต เป็นคนรักแมวตัวใหญ่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงใช้หนึ่งในนามปากกาว่า “แมวคราว”[24] ยาขอบเคยเขียนถึงความเป็นทาสแมวของมหากวีชิตไว้ว่า “ค่า (เรื่อง) ที่ได้มากได้น้อยเท่าไร ก็เหลือติดตัวไปบ้านเพียงสามสตางค์เป็นนิจศีลนั้น ซักเข้าได้ความว่า คุณชิตรักแมวเป็นชีวิตจิตใจ ค่าเขียนถึงหากได้มาจะถลุงไปเท่าไหร่ก็ต้องเหลือไว้ตามจำนวนนั้น สำหรับซื้อกุ้งแห้งไปให้มันกิน”[25]

ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์รายเดือนศรีกรุง พ.ศ.2459 ตีพิมพ์ผลงานชื่อ “นิราศแมวคราว” ของชิต บุรทัต มีใจความว่า[26]

‘แมวคราว’ ดึกร้องหง่าว  แหงวแหงว

หาคู่มันแหวแหว เหี่ยโอ้

อกเรียมก็เทียม ‘แมว- คราว’ นั้น แหละแม่

เปลี่ยวเปล่าจิต-โท่-โท้   ทุ่มสะท้อนทรวงถวิล

คณะสุภาพบุรุษ

ชิต บุรทัต นับเป็นหนึ่งในนักประพันธ์กลุ่มสุภาพบุรุษที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2472 มิตรภาพระหว่างบุคคลคณะนี้ผูกพันธ์แนบแน่นตราบกระทั่งบั้นปลายของคุณชิต เมื่อยังคงพบเขามาร่วมวงสนทนาอย่างเนืองนิจกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์), โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) ฯลฯ

หลังสิ้นแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 6 ปลายปี พ.ศ.2568 นายชิตได้ลาออกจากหนังสือพิมพ์ไทย จากนั้นได้กลับเข้าทำงานประจำอยู่กับโรงพิมพ์ศรีกรุงอีกครั้งช่วงเวลาสั้นๆ กระทั่งลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ อีก 2 ปี  ล่วงถึงปี พ.ศ.2471 เขาได้ไปร่วมทำหนังสือพิมพ์โฟแท็กซ์ของนายประสาท สุขุม จนเมื่อโฟแท็กซ์ล้มก็ไปเข้าทำ “ไทยหนุ่ม” ร่วมกับ นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา

เมื่อไทยหนุ่มเลิกไป ก็ว่างงานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงไปเข้าทำงานบริษัทยาทอง ของนายเสวียน โอสถานุเคราะห์ ทำอยู่ประมาณ 6 เดือน ก็ออกมาทำหนังสือพิมพ์อีก โดยเข้าทำที่หนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ ของขุนเลิศดำริการ

จนเมื่อหนังสือหยุดกิจการ จึงเวียนกลับมารับหน้าที่พิสูจน์อักษรให้หนังสือพิมพ์ไทย ชิต บุรทัต ยังรับงานเขียนกวีที่ภาษาปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฟรีแลนซ์” ให้กับหนังสือและนิตยสารต่างๆ เช่น สุภาพบุรุษ และ ประชามิตร

จวบจนในท้ายที่สุดเมื่อ สด กูรมะโรหิต จัดตั้ง “จักรวรรดิศิลปิน” โดยความอนุเคราะห์ของ “ชลอ รังควร” มีสำนักงานอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม จัดทำหนังสือ 3 หัวคือ “เอกชน สวนอักษร และ ศิลปิน” จึงได้เชื้อเชิญคุณชิต มาร่วมงานประจำกับนิตยสารเอกชนรายสัปดาห์จวบกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต[27]

สามีสุดที่รัก

ด้านชีวิตคู่ ชิตแต่งงานกับม่ายสาวงามทั้งรูปโฉมและจิตใจนามว่า “จั่น”[28] ในวันสมรสเมื่อปี พ.ศ.2459 เจ้าสาวอายุ 30 ปีมากกว่าเจ้าบ่าว 5 ปี ทั้งคู่ครองรักอยู่ดูแลกันและกันจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตกวีเอกท่านนี้

ถึงแม้ว่าจะเคยมีเรื่องระหองระแหงอันเกิดจากความเป็นนักเลงสุราของฝ่ายสามีบ้าง แต่ท้ายสุดก็ยังคงลงเอยกันด้วยดีเสมอ สามีเคยเอ่ยปากแนะนำภริยาสุดที่รักไว้ว่า “คู่ทุกข์คู่ยากหลายสิบปีของผมมาแล้ว ไม่มีลูกมีเต้าด้วยกันจึงรักกันมาก” และเมื่อชิตเสียชีวิต ภริยาได้แต่งบทกลอนสะท้อนความอาลัยอย่างซาบซึ้งไว้ในหน้าแรกของอนุสรณ์งานศพว่า

“จะหางามสามภพตลบหา

จะหาเหมือนแก้วตาหาไม่ได้

จนกระทั่งสุดหล้าสุราลัย

ลับมืดไปใจจะขาดอนาถเอย”[29]

จั่น บุรทัต

ภริยาคุณชิตมีอายุยืนยาวจนถึงแก่กรรมที่สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อ พ.ศ.2519[30]

เมธีพิการ

บุคลิกลักษณะของกวีชิตที่เห็นว่าเป็นชายขาเป๋นั้น เดิมทีแล้วท่านมิได้พิการแต่กำเนิด แต่เป็นเพราะว่าเมื่อ พ.ศ.2474 ด้วยวัยย่าง 40 ปีระหว่างทำงานหนังสือพิมพ์นารีนาถ วันหนึ่งกลับจากสำนักงานมาลงรถที่เชิงสะพานเทเวศร์เกิดก้าวเท้าพลาดเลยตกรถขาแพลง ถึงแม้รักษาหายแล้วก็ยังคงเดินไม่เป็นปกติ[31]

นักเขียนสตรีชื่อดัง ชอุ่ม ปัญจพรรค์เคยเล่าไว้ว่า “ปรกติคุณชิตไม่ชอบสวมรองเท้า ไปไหนมาไหนเดินเท้าเปล่า เพราะเท้าข้างขวาหัวแม่เท้าเก งองุ้มเข้าข้างในเป็นวงกว้างห่างจากนิ้วก้อยมาก หารองเท้าสวมยาก”

ในปัจฉิมวัยมักพบภริยาที่ร่วมนั่งเป็นเพื่อนกับคุณชิตคอยพร่ำเตือนให้เขากลับบ้านกลับช่องปากก็ว่า “ขาแกไม่ดีค่ะ เมามายเดี๋ยวจะหกล้มหกลุก...ดูเขาซี นี่ก็ไปเปื้อนขี้โคลนขี้ดินที่ไหนมาอีกแล้ว” พลางเอื้อมมือไปลูบไล้ที่ขา และปัดเอาสิ่งสกปรกเลอะเทอะออกไปจากขาของสามี[32]

ด้านการแต่งกาย “เสื้อและกางเกงมักจะมีรอยเปื้อนจากน้ำหมาก ในกระเป๋าเสื้อกางเกงมีหมากพลูจีบเป็นคำๆ ห่อกระดาษติดตัวไปด้วยเสมอ ไปธุระนอกบ้าน หมากพลูที่เตรียมไปกินไม่ต้องไปรบกวนคนอื่นจนกว่าจะกลับบ้าน ไม่ชอบสูบบุหรี่”

เคยมีคนฉงนใจว่าทำไมเสื้อของกวีชิตต้องมีรอยฉีกขาดทุกตัว แม้บางตัวยังใหม่ซักไว้ขาวสะอาด ยาขอบเป็นผู้ค้นพบความจริงจากป้าจั่นภรรยาของท่านมหากวีชิต ว่าเสื้อใหม่มีรอยฉีกขาดนั้น เป็นฝีมือของป้าจั่นนั่นเอง ป้าจั่นเล่าว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้นเผลอๆ “คุณชิต” ของป้าจั่นจะเอาไปจำนำเอาเงินไปกินเหล้าหมด “ถึงจะใหม่ถ้ามีรอยฉีกขาดชำรุดจะจำนำไม่ได้”[33]

เสรีชน 

ตลอดชีวิตของชิต บุรทัต ถือว่าดำรงสัมมาอาชีวะด้วยความสามารถทางด้านการประพันธ์ล้วนๆ โดยหาได้นำพาต่อลาภยศสรรเสริญไม่  ทั้งๆที่หากเขาเลือกทางเดินในระบบราชการย่อมสร้างความก้าวหน้าให้กับชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก

กระนั้นเขากลับเลือกวิถีทางชีวิตด้วยการขายผลงานอันรังสรรค์ด้วยมันสมอง ข้างกายเคียงคู่ด้วยภริยา ดื่มด่ำร่ำสุรา และสรวลเสเฮฮากับมิตรสหาย นายชิตจะหัวเราะและให้คำตอบกับชีวิตว่า “ถ้าเขาจะถือว่า ชีวิตของเขามีความสุขแล้ว อยู่กระต๊อบหรือตึกรามก็จะสุขเสมอเหมือนกัน”

เมื่อมีคนถามว่า “ซื้อล็อตเตอรี่บ้างหรือเปล่าล่ะลุง?” เขาจะหัวเราะและร้อง “ไฮ้...ไม่หวังดอกครับความร่ำรวย ผมพอใจแล้ว วันๆ ที่นั่งกินเหล้ากับเพื่อนฝูง ผมไม่ร้องไห้ แต่จะหัวเราะไปจนตาย...”[34]

มหากวีท่านนี้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลำไส้พิการเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2485  สิริอายุได้ 49 ปี ณ บ้านหลังเล็กย่านถนนวิสุทธิกษัตริย์ ลมหายใจสุดท้ายของเขาขาดห้วงไปพร้อมกับมือที่พยายามยกขึ้นเพื่อผจงจารบทกวีชิ้นสุดท้ายคือคตินิยายคำฉันท์เรื่อง คนอกตัญญู ที่ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือเอกชน[35]

สรีระของ “รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ท่านนี้ได้รับการฌาปนกิจอย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2485 ณ วัดไตรมิตร เพื่อนฝูงร่วมจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพให้หนึ่งเล่ม (ประจวบอยู่ในยุคปฏิวัติภาษา หนังสือเล่มนี้จึงพิมพ์ด้วยอักขระ “หนังสือจอมพล”[36])

เนื้อหาหนังสือเล่มนี้นับว่าทรงคุณค่าอย่างสูงด้วยนอกเหนือจากเป็นการรวมผลงานบางชิ้น ยังบอกเล่าชีวประวัติขนาดยาวผ่านนักเขียนสตรีนามปากกาว่า “รสสุคนธ์” (นงเยาว์ ประภาสถิต)[37]

ผู้ได้สัมภาษณ์ทั้งชิตและภริยาก่อนหน้าที่ฝ่ายสามีจะลาโลกเพียงปีเศษ อีกทั้งในงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีร่วมอุปการะสนับสนุนเงินเป็นจำนวนสูงถึง 400 บาท ทั้งๆที่มิได้รู้จักกับผู้วายชนม์เป็นการส่วนตัว[38]และยามนั้นประเทศไทยยังเพิ่งเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาได้เพียงเก้าเดือนเศษ!

ปัจฉิมบท

ความเป็นกวีแก้วแห่งสองระบอบผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อถ่ายทอดสุนทรียภาพทางภาษาสู่ราษฎรไทยทุกชนชั้น นาม “ชิต บุรทัต” ย่อมคงอุโฆษคู่เคียงไปวงวรรณกรรมอีกกาลนาน ช่วง 40 ปีแรกของชีวิตภายใต้ระบอบเก่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชื่อของจินตกวีเอกท่านนี้เป็นที่จดจำร่วมไปกับผลงานอันโดดเด่นสุดอย่าง “สามัคคีเภทคำฉันท์ (พ.ศ.2457)”

กระนั้นยังคงเป็นที่น่าสนใจว่าก่อนหน้านั้นเพียง 3 ปี (พ.ศ.2454) ในขณะครองเพศบรรพชิตเขาได้ร่วมงานแปล “รัฐธรรมนูญภาษาไทย”  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าภายในอนุสรณ์งานศพของเขาเอ่ยถึงเพียงหนึ่งหน้ากระดาษเฉพาะปฏิบัติครั้งนั้นโดยมิได้เจาะลึกถึงเนื้อหาภายในแต่อย่างใด

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 3 ปี ภาพจำของเมธีเอกเดียวกันนี้แนบชิดไปกับกลุ่มนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าที่รวมตัวก่อตั้งกันในนาม “คณะสุภาพบุรุษ” ครั้นเมื่อประเทศสยามเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบใหม่สมัยประชาธิปไตยด้วยปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 “ชิต บุรทัต” กำลังอยู่ในมัชฌิมวัย 40 และดำเนินชีวิต 10 ปีสุดท้ายต่อมาภายใต้สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป 

ทศวรรษแห่งสนธยาวัยนี้เองเขาได้ฝากงานประพันธ์ที่สนับสนุนการปกครองประชาธิปไตยไว้กับบรรณพิภพมิน้อยด้วยกันเช่น “เยาวกษัตริยสดุดี (วสันตดิลกฉันท์ 14), “5 นางสาวไทย (กาพย์ฉบัง 16)”, “ไทยอารยชาติ ควรแต่กายให้เป็นอารยธรรม (กาพย์ยานี 11)”, “เฉลิมฉลองวันชาติ (ภุชงคประยาตฉันท์ 12), “ปีที่ 10 ของวันชาติ (วสันตดิลกฉันท์ 14)”, “เรามาเถิด! มาเถิด!!  รัฐธรรมนูญ” เป็นต้น

ส่งท้ายบทความนี้ด้วยหนึ่งในร้อยกรองที่มีความไพเราะเพริศพริ้งมากที่สุดที่ “ชิต บุรทัต” ประพันธ์ขึ้นในวาระครบรอบ 2 ปีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จัดพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2477 ด้วยรูปแบบโคลงกระทู้สี่สุภาพ ความว่า  “ระลึกรู้สยามรัฐ ปฏิวัติสองปี เข้าสามงามทวี วัฒนาสถาพร ขอท่านผู้เริ่ม เปนเดิมอุปกรณ อยู่ข้าถาวร สวัสดีเด่นแล”  

--ระลึกมิถุนมาส—

(โคลงกระทู้ 4 สุภาพ)

  • ระลึก   มิถุนมาสย้ำ                         ยกหยิบ ยลเทอญ

    รู้         ที่ทินยี่สิบ-                           สี่พ้อง

    สยาม เปนประชาธิป-                     ะไตยถูก ทางแล

    รัฐ       เทอดธรรมนูญป้อง               ปกด้วยราษฎรฯ

  • ปฏิ      บัติรัฐประศาสน์ต้อง              ตามคติ ธรรมนอ

    วัติ      ประวัติลัทธิ                         ทะนุด้าว

    สอง     ศกตกเต็มบริ-                      บูรณ์รอบ

    ปี        สืบคงคืบก้าว                       กิจทั้งปวงไป

  • เข้า      ในไตรพรรษนี้                      คนึงคุณ

    สาม    พระรัตน์เรืองบุญ                  บ่มให้

    งาม     ผลเผล็ดดลอดุล                   อุดมเด่น

    ทวี      แด่รัฐจดได้                          สดวกพร้อมพลันเห็นฯ

  • วัฑฒ- นภาพลาภล้ำ             เลอสรรพ์

    นา      เนกประการอัน                     อาจได้

    สถา    ปนาเนื่องการัณย์                 กิจเรียบ สฤษฎิ์นา

    พร      ดั่งหวังว่าไว้                         วากย์ฉนี้สนองสม

  • ขอ      ชมเชิงสมรรถผู้                     พึงประกาศ เกียรติ์ นอ

    ท่าน    พระยาพหลฯ อาทิ์                เอกอ้าง

    ผู้        เคารพรักชาติ                       ราวชีพ

    เริ่ม      จัดปฏิวัติสร้าง                      สืบข้าคุณมา

  • เปน     ผลสภาราษฎร์ได้                  ดำเนิน งานมา

    เดิม     ขัดดัดใดเจริญ                      รีบคว้า

    อุป-     มาประมุขเผชิญ                   โชคเอนก

    กรณ    กรณีย์หน้า-                         ที่พร้อมบำเพ็ญ

  • อยู่      เย็นเพ็ญสุขล้ำ                     เลอลุ

    ข้า       เนิ่นชนมายุ                          ยิ่งร้อย

    ถา       พรพัฒนทำนุ                       ในทุก ท่านแล

    วร       ลาภเลิศดั่งถ้อย                    ที่พร้อง พลันดล

  • สวัส- ดิผลพ้องราษฎร์                สภารวม งานฤา

    ดี        โปร่งปราศกำกวม                 กิจเกื้อ

    เด่น     คุณวิบุลย์สรวม                    สยามรัฐ

    แล      ราษฎร์จงเจริญเยื้อ               ยึดยั้งภิโย- (ยิ่งนา) ๚

    นายชิต บุรทัต แต่ง

เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

เชิงอรรถ

[1] คัดสรรค์จากกาพย์สุรางคนางค์ 28 “สวนกวี” ดู อาจิณ จันทรัมพร-ช่วย มูลเพิ่ม, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า), น.399-400.

[2] ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์), เสื้อเก่ากับมหากวี, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า), น.236.

[3] พิทยา ว่องกุล, กวีสองชั้นของชิต บุรทัต, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า), น.126-127.

[4] สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ประวัติบุคคลสำคัญ, 2493, (โรงพิมพ์พระจันทร์),น.252-260.

[5] วิวัฒน์ บุรทัต, ชิต บุรทัต รัตนกวี ปรีชาเชี่ยวเชลงฉันท์, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.198.

[6] อ้างแล้ว, น.198.

[7] พ.พจนธรรม รวบรวม, นานาสาระเกี่ยวกับชิต บุรทัต, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า), น.259.

[8] สงบ สวนสิริ, รำลึกถึง ชิต บุรทัต กวีขี้เมา, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.164.

[9] วิวัฒน์ บุรทัต, ชิต บุรทัต ปรีชาเชี่ยวเชลงฉันท์, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.200.

[10] ประกาศ วัชราภรณ์, ชิต บุรทัต กวีแก้ว...กวีเอกของชนทุกชั้น, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.97.

[11] พระปวโรฬารวิทยา และ ขุนวุรุฬห์จรรยา, หนังสือคู่มือ วิชากวีนิพนธ์ไทย สามัคคีเภทคำฉันท์ สำหรับชั้นมัธยมตอนปลาย,พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2479, (อักษรนิติ), น.คำนำ.

[12] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕, (โรงพิมพ์อักสรนิต), น.4.

[13] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, ชิต บุรทัต กวีเอกแห่งกรุงสยาม, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.138.

[14] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕, (โรงพิมพ์อักสรนิต),น.49.

[15] อ้างแล้ว, น.26.

[16] สมบัติ จำปาเงิน, กิระดังได้ยินมา แด่ท่านมหากวีสามัญชนนาม ‘ชิต บุรทัต’, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.217.

[17] บรรเลง (นามแฝง), ชีวิตบนโต๊ะสุราของ ชิต บุรทัต, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.156.

[18] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, ชิต บุรทัต กวีเอกแห่งกรุงสยาม, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.137.

[19] สมบัติ จำปาเงิน, กิระดังได้ยินมา แด่ท่านมหากวีสามัญชนนาม ‘ชิต บุรทัต’, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.217.

[21] ส.พลายน้อย, ศรีสุวรรณ ผู้ชำนาญการแปลและเขียนเรื่องตลก ใน เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต, พ.ศ.2546 (คอหนังสือ), น.8-17.

[22] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, อนุสรณ์งานศพคณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ร.ศ.130, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564, น.70-103.

[23] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2485, (โรงพิมพ์อักสรนิต),น.17.

[24] วิวัฒน์ บุรทัต, ชิต บุรทัต ปรีชาเชี่ยวเชลงฉันท์, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.200-201.

[25] อ้างแล้ว,น.194.

[26] ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์), เสื้อเก่ากับมหากวี, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.243.

[27] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, ชิต บุรทัต กวีเอกแห่งกรุงสยาม, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.140-141.

[28] สงบ สวนสิริ, รำลึกถึง ชิต บุรทัต กวีขี้เมา, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.167.

[29] ภาพสมัยยังสาวของนางจั่น บุรทัต ดู 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า), น.169.

[30] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2485, (โรงพิมพ์อักสรนิต).

[31] สมบัติ จำปาเงิน, กิระดังได้ยินมา แด่ท่านมหากวีสามัญชนนาม ‘ชิต บุรทัต’, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.229.

[32] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕, (โรงพิมพ์อักสรนิต),น.52.

[33] เสลา เรขะรุจิ, ชิต บุรทัต อดีตผู้ช่วย บ.ก.ไทย-ยอดกวี, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.77.

[34] สมบัติ จำปาเงิน, กิระดังได้ยินมา แด่ท่านมหากวีสามัญชนนาม ‘ชิต บุรทัต’, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.217.

[35] เสลา เรขะรุจิ, ชิต บุรทัต อดีตผู้ช่วย บ.ก.ไทย-ยอดกวี, 100 ปี ชิต บุรทัต, พิมพ์ครั้งแรก ก.ย.2535, (ดอกหญ้า),น.77.

[36] ดู จอมพล ป. พิบูลสงคราม: ให้ใช้เลขสากลแทนเลขไทย และเบื้องหลังการปฏิวัติภาษาไทย พ.ศ. 2485-2487 จุดเชื่อมต่อ https://www.facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280779477779/2071400336365813/

[37] ส.พลายน้อย, น.ประภาสถิต นักประพันธ์หญิงรุ่นแรก ในเล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต, พ.ศ.2546 (คอหนังสือ), น.131.

[38] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2485, (โรงพิมพ์อักสรนิต),  คำนำ น.จ.