The Mitchells vs. The Machines: ครอบครัวที่กู้โลกด้วยการโอบรับความต่าง

The Mitchells vs. The Machines: ครอบครัวที่กู้โลกด้วยการโอบรับความต่าง
/ บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนของเรื่อง The Mitchells vs. The Machines (บ้านมิตเชลล์ปะทะจักรกล) / / การสะกดชื่อตัวละครอ้างอิงจาก Netflix /   “ทำไมพ่อถึงเป็นแบบนี้นะ” “ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้นะ” สองพ่อลูกบ้านมิตเชลล์ต่างตั้งคำถามถึงกันและกันในวันที่ความไม่เข้าใจครอบงำความสัมพันธ์ของพวกเขา นี่คือเรื่องราวที่เริ่มต้นจากความรู้สึก ‘แตกต่าง’ ของลูกสาวคนโตอย่าง ‘เคที่ มิตเชลล์’ เธอเป็นเด็กสาวที่มีความหลงใหลในการเปลี่ยนจินตนาการออกมาเป็นภาพยนตร์ แต่ความสามารถในการตัดต่อ และความคิดสร้างสรรค์ของเธอกลับไม่เป็นที่ยอมรับของ ‘ริค มิตเชลล์’ ผู้เป็นพ่อเท่าไรนัก เพราะเขามองว่ามันเป็นความแปลกที่ไม่น่าจะหาเงินได้ เคที่และพ่อเริ่มทะเลาะกันบ่อยขึ้น กระทั่งครอบครัวไม่ใช่สถานที่ที่เธอสามารถเอนกายพักพิงได้ เธอจึงเริ่มมองหาสถานที่ใหม่ที่ ‘คนของเธอ’ ผู้รักและเข้าใจในสิ่งเดียวกันรวมตัวอยู่ นั่นก็คือวิทยาลัยภาพยนตร์ในแอลเอ หลังจากเคที่รู้ตัวว่าสอบติด เธอเตรียมติดปีกโบยบินจากไปตลอดกาล แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อคนในครอบครัวทั้งริค ‘ลินดา’ (แม่) ‘อารอน’ (น้องชาย) และสุนัขอย่าง ‘มอนชิ’ ไม่ยอมปล่อยเธอไปพร้อมกับความล้มเหลวในการสานสัมพันธ์ครอบครัว พวกเขาจัดโร้ดทริปขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่มันจะถูกทำลายโดยการปฏิวัติยึดครองโลกของหุ่นยนต์จากบริษัท ‘พัลแล็บส์’ แต่ไม่น่าเชื่อว่าหายนะจากจักรกลในครั้งนี้ กลับให้เวลาครอบครัวได้มองดูความแปลกและแตกต่างของกันและกัน จนกระทั่งค้นพบคำตอบที่จะทำให้พวกเขากอบกู้โลกและครอบครัวกลับมาได้ เมื่อกล้าเปิดใจ ช่วงวัยก็ไม่ใช่ปัญหา “ลูกจะสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ถ้าไม่มีกล้อง (มือถือ) มาคั่น ตาของลูกคือกล้องโดยธรรมชาติ” “หนูก็สัมผัสมันอยู่ แค่นี่คือวิธีของหนู” ริค มิตเชลล์ คือชายที่หลงใหลในธรรมชาติ เขาคือตัวแทนของคนที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอันล้ำหน้า นั่นทำให้เขาคิดว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวจะเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น และโทรศัพท์มือถือคือสิ่งที่ทำลายทุกอย่าง หัวหน้าครอบครัวอย่างเขาพยายามอย่างหนักที่จะเข้าใจลูกสาว แต่มันคงเป็นเรื่องยากเมื่อเขาพยายามในทางปฏิบัติ แต่ไม่ได้เปิดใจมองสิ่งที่เคที่สนใจอย่างรอบด้าน เขาทำแล็ปท็อปของเคที่พัง เขาทำลายโทรศัพท์มือถือของสมาชิกในบ้าน และเขาถูกหุ่นยนต์จับตัวไป แต่การถูกจับตัวไปในครั้งนี้ ทำให้เขาได้ดูคลิปวิดีโอที่ลูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจเป็นครั้งแรก และเขาก็ค้นพบว่า ‘วิดีโอของเคที่นั้นเจ๋งมาก’ หลังจากนั้นก็ถึงตาของคุณพ่อที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งยูทูบ ต้องเปิดหาวิดีโอของลูกสาว เพื่อใช้มันในการกู้โลก นั่นคือช่วงเวลาแห่งหายนะทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริงของผู้ใหญ่หลายคน ‘แค่ตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ก็หาแทบไม่เจอแล้ว’ แต่สุดท้ายริคก็ทำได้สำเร็จ และมันก็แสดงให้เขาเห็นว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีได้ เพราะมันไม่จำกัดอะไรแม้กระทั่งอายุ มันทำให้ลูกสาวที่เขารักมีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ ที่สำคัญคือมันเป็นความสุขของเคที่ในวันที่ริคไม่แม้แต่จะดูวิดีโอที่ลูกสาวตั้งใจทำจนจบ ถ้าหากเขาอยากจะได้ลูกสาวกลับมา สิ่งที่เขาต้องทำคือการเปิดใจ และลองเปลี่ยนโปรแกรมในหัวของตัวเองบ้าง “ถ้ามนุษย์ลุงหัวรั้นยังเปลี่ยนโปรแกรมตัวเองได้ เราก็เปลี่ยนโปรแกรมของเราได้เหมือนกัน” นั่นคือตลกร้ายที่หุ่นยนต์พูดกับมนุษย์อย่างเคที่และริค แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ฉายให้เห็นที่มาส่วนหนึ่งของอุปนิสัยที่ดื้อรั้นของริคว่า มันเป็นเพราะความผิดหวังของเขาในอดีตที่ทำให้เขาไม่ยอมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ที่เข้ามา The Mitchells vs. The Machines: ครอบครัวที่กู้โลกด้วยการโอบรับความต่าง อดีตของใครของมัน ใช้แทนกันไม่ได้ เคที่เป็นสาวติสท์ที่ชอบทำหนัง อารอนเป็นน้องชายที่คลั่งไคล้ไดโนเสาร์ ลินดาเป็นแม่ที่พยายามทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ ส่วนริคคือพ่อผู้รักธรรมชาติและรักครอบครัวเหนือสิ่งอื่นใด แต่ปัญหาของเขาคือ ‘ความรักที่มากจนไม่อยากเห็นใครเจ็บ’ “ผมจะไปมหา’ลัยแคลิฟอร์เนีย เพื่อตามหาว่าผมอยากจะเป็นตำรวจแบบไหน” “นายทำไม่สำเร็จหรอก ความผิดหวังมันเจ็บปวดนะ ไอ้หนู” “แล้ววันหนึ่งคุณจะเข้าใจว่าผมเป็นตำรวจแบบไหน เพราะผมรักคุณนะ คุณจ่า แต่ตอนนี้ผมต้องไป ผมอยากได้กองหนุน แต่พอผมมองหาคุณ คุณกลับไม่เคยอยู่ตรงนั้นเลย” นั่นคือบทพูดของเคที่ที่ใส่เอาไว้ในวิดีโอคลิปของตัวเอง ‘จ่า’ คือตัวแทนของริค และเคที่แทนตัวเองเป็น ‘ผม’ (นายตำรวจ) ที่กำลังจะย้ายจากสถานีตำรวจแห่งนี้ไปยังสถานีตำรวจแห่งใหม่ ริครู้ตัวว่าเขากำลังจะเสียลูกไปจากบทสนทนาดังกล่าว อดีตของริคคือชายที่ไม่อยากออกจากป่า เขาสร้างบ้าน สร้างครอบครัวร่วมกับลินดา และสร้างชีวิตน้อย ๆ ของเคที่ขึ้น แต่สุดท้ายเขาก็จำใจขายบ้านหลังนั้นทิ้ง เพราะความฝันจะอยู่ในป่าชั่วนิรันดร์ในวันที่มีลูกน้อยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขาเผชิญหน้ากับความฝันที่ไม่เป็นจริง และเข้าใจว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน แต่สิ่งที่เขาไม่เข้าใจคือ อดีตของเขาไม่ใช่อดีตของเคที่ เขาไม่สามารถนำประสบการณ์ของตัวเองมาเปรียบเทียบกับลูกสาวได้ เขาไม่สามารถคิดแทนเธอว่า เธอจะเจ็บปวดแค่ไหนเมื่อต้องเผชิญกับความล้มเหลว ริคยังคงเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่หลายคนที่เอาอดีตของตัวเองมาฉุดรั้งนกน้อยให้หยุดโผบิน เคที่อาจจะไม่เจ็บแบบเขาก็ได้ ใครจะรู้? หากไม่ลองให้นกกางปีกบิน และเมื่อริคค้นพบว่า นกน้อยของเขาพร้อมที่จะโผออกจากรังแล้ว หน้าที่ของเขาไม่ใช่การบอกว่าต้องบินอย่างไร แต่หน้าที่ของครอบครัวคือการทำให้นกน้อยรู้ว่า แม้เธอจะตกลงมาจากฟากฟ้า หรือเผชิญกับลมมรสุมที่ทำให้ปีกของเธอหัก ครอบครัวจะอยู่เป็นรังพักใจ และเป็นหน่วยสนับสนุนให้กันและกันไม่ห่าง ที่สำคัญคือ พวกเขาต้องกล้ายอมรับความต่างของกันและกัน กู้โลกด้วยการโอบรับความต่าง “พวกเขาเสแสร้งทำเป็นเก่ง เสแสร้งทำเป็นครอบครัวที่ปกติ ขนาดตอนที่พวกเขาทำดีต่อกัน พวกเขาก็ยังเสแสร้ง” นั่นคือสิ่งที่ ‘พัล’ ใช้อธิบายการกระทำของครอบครัวมิตเชลล์ พัลคือเอไอสุดฉลาด ผู้ควบคุมกองทัพหุ่นยนต์ และหวังจะกำจัดมนุษย์ทิ้งอย่างที่เธอถูกเจ้านาย (เก่า) ‘มาร์ก โบว์แมน’ เจ้าของพัลแล็บส์โยนทิ้งกลางงานเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ เธอมองว่ามนุษย์นั้นไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่บนโลก เพราะมนุษย์มักหักหลังกันและกัน และไม่จริงใจ แต่พัลหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เธอคิดว่าเป็นการเสแสร้ง แท้จริงแล้วในอีกมุมหนึ่งมันคือ ‘ความพยายาม’ ของมนุษย์ที่จะประคับประคองกันและกันเอาไว้ในชีวิต เพราะพวกเขารู้ว่าตัวเองแตกต่าง และทุกคนเกิดมาแตกต่าง มนุษย์ไม่ใช่ ‘หุ่นยนต์’ ที่ถูกลงโปรแกรมแบบเดียวกัน การจะเข้ากันได้อย่างเพอร์เฟกต์จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่การ ‘โอบรับความแตกต่าง’ ต่างหาก คือสิ่งที่มนุษย์สมควรทำ ความพิเศษของครอบครัวมิตเชลล์คือ ‘ความหลากหลาย’ ที่ถูกมองเป็น ‘ความแปลกแยก’ มากกว่า ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ แต่การเดินทางไปยังพัลแล็บส์เพื่อกู้โลกของครอบครัวมิตเชลล์ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเหมือนกัน มันเกิดจากการเปิดใจและการยอมรับ ‘ความเป็นตัวตน’ ของกันและกันต่างหาก หลังจากเหตุการณ์ทุกอย่างเข้าสู่โหมดปกติ เคที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างที่เธอฝัน เธอได้เจอคน ‘คอเดียวกัน’ ที่สนใจเรื่องภาพยนตร์และมีจินตนาการที่เอ่อล้น โดยภาพยนตร์แสดงให้เห็นในตอนท้ายว่า เคที่ได้ออกเดตกับ ‘เจด’ เพื่อนสาวที่วิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เคที่อยากเข้าเรียนใจจะขาด และพ่อแม่ของเคที่ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยที่ลินดาถามเคที่ว่า ลูกจะพาเจดมาหาในวันขอบคุณพระเจ้าไหม? นั่นคือความตั้งใจของทีมผู้สร้าง The Mitchells vs. The Machines ที่ช่วยผลักดันตัวละคร LGBTQ+ ให้ขึ้นมามีบทบาทมากกว่าแค่ตัวประกอบ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งการโอบรับความเป็นตัวเองของเคที่จากครอบครัวเช่นเดียวกัน เพราะทุกครอบครัวคือครอบครัวมิตเชลล์ นั่นคงจะเป็นบทสรุปของการกู้โลกในครั้งนี้ เราได้เห็นพัฒนาการทางความคิดของตัวละคร ครอบครัวมิตเชลล์ตกตะกอนได้ว่า สมาชิกทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ลูกไม่จำเป็นต้องมีชีวิตเหมือนพ่อ พี่น้องไม่จำเป็นต้องมีความฝันเดียวกัน เพราะความหลากหลายคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมาย เช่นเดียวกับโลกนอกจอภาพยนตร์ ครอบครัวมิตเชลล์คือตัวแทนของทุกครอบครัว พวกเขาแก้ปัญหาจากการเปิดใจ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง และเพ่งพินิจไปในสิ่งที่ไม่เคยมองเห็นอย่างถี่ถ้วน เมื่อนั้นเราอาจได้คำตอบของปัญหา และลงมือแก้ไขมันได้ถูกจุด แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก็อาจไม่ได้ผลเสมอไป “เวลามีอะไรพัง คุณมักจะซ่อมมันด้วยตัวคนเดียวเสมอ” ลินดาบอกกับสามีอย่างริค เพราะเธอคิดว่าการออกจากบ้านของเคที่จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถซ่อมได้ แต่สุดท้ายริคก็แสดงให้เธอเห็นว่า เพราะครั้งนี้เขาไม่ได้ลงมือซ่อมมันด้วยตนเองคนเดียว แต่มีทุกคนที่ลงมือซ่อม ‘ความสัมพันธ์’ ไปด้วยกันต่างหาก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับทุกครอบครัว เมื่อความสัมพันธ์มีปัญหา การซ่อมคนเดียวอาจไม่ได้ผล แต่การเปิดใจยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่การกอบกู้โลก แต่คือการกู้ตัวตน และกู้ครอบครัวกลับมา เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง The Mitchells vs. The Machines ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=_ak5dFt8Ar0