จุดเริ่มต้น ‘LEGO’ ของเล่นในตำนานจากช่างไม้ผู้อดทน และการเปลี่ยนจากไม้ มาใช้พลาสติก

จุดเริ่มต้น ‘LEGO’ ของเล่นในตำนานจากช่างไม้ผู้อดทน และการเปลี่ยนจากไม้ มาใช้พลาสติก

LEGO ถือกำเนิดขึ้นโดยช่างไม้ฝีมือดี ‘โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน’ เหตุไฟไหม้ทำให้เขาหันมาปรับธุรกิจจากที่เคยทำของเล่นด้วยไม้ ก็เปลี่ยนเป็นพลาสติกที่นำเข้ามาสหราชอาณาจักร ความอดทนและคิดนอกกรอบของเขาทำให้แบรนด์ LEGO กลายเป็นของเล่นที่ยังได้รับความนิยม

  • LEGO ถือกำเนิดขึ้นกว่า 74 ปี กลายเป็นของเล่นในตำนานวัยเด็กที่ใคร ๆ ก็รู้จัก
  • โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน ช่างไม้ชาวเดนมาร์กที่มีไอเดียเริ่มทำของเล่นจากไม้ช่วงที่เขาทำธุรกิจส่วนตัว
  • เหตุไฟไหม้หลายครั้งทำให้คิดใช้วัสดุอื่นแทนก็คือ พลาสติกคุณภาพสูงไม่ติดไฟ

“หากผลิตภัณฑ์ของคุณถูกลอกเลียนแบบ แสดงว่าคุณได้ทำในสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก” เซท โกดิน (Seth Godin) นักเขียนชาวอเมริกันและอดีตผู้บริหารธุรกิจดอทคอม เคยกล่าวไว้แบบนั้น

มีหลายคนพูดถึง ‘LEGO’ ของเล่นตัวต่อที่ทำมาจากพลาสติกว่า ระดับความโด่งดังและได้รับความนิยมอันที่จริงเป็นที่นิยมกว่าตุ๊กตาฮาสโบรหรือตุ๊กตาบาร์บี้ด้วยซ้ำไป เพราะว่า LEGO เป็นของเล่นที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่เด็กเล่นเท่านั้นเพราะผู้ใหญ่เองก็ชื่นชอบไม่ต่างกัน

 

LEGO ชิ้นแรกทำมาจากไม้

‘โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน’ (Ole Kirk Christiansen) ผู้ที่สร้าง LEGO แพร่ลัทธิตัวต่อให้คนทั้งโลกได้รู้จัก เขาเกิดในวันที่ 7 เมษายน 1891 เกิดและโตในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Filskov มีพี่น้องทั้งหมด 12 คน โอเล เคิร์ก เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนเกี่ยวกับการทำสิ่งของต่าง ๆ จากไม้จากพ่อของเขาตั้งแต่เด็ก

ใครจะคิดว่าของเล่นตัวต่อที่ว่านี้เคยทำมาจาก ‘ไม้’ ทั้งหมด ซึ่ง โอเล เคิร์ก ในสมัยนั้นก่อนที่เขาจะหันมาทำธุรกิจของตัวเอง เขาเคยเป็น ‘ช่างไม้’ ฝีมือดีและได้พยายามไปทำงานในประเทศเยอรมนีและนอร์เวย์เพราะคิดว่ารายได้อาจจะดีกว่าในเดนมาร์ก โดยเขาเริ่มเดินทางเพื่อทำงานเป็นช่างไม้ตั้งแต่อายุ 20 ปี

อาชีพช่างไม้ของเขาเรียกว่ากำลังไปได้สวยเพราะสามารถหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เขาทำงานเก็บเงินและเดินทางกลับบ้านเกิดที่เดนมาร์กเพื่อเปิดโรงงานผลิตไม้ทำธุรกิจส่วนตัว วันหนึ่งลูกชายของ หลังจากนั้นเขาก็แต่งงานมีครอบครัว ‘โอเล เคิร์ก’ มักจะสอนลูกชายของเขาอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับการทำไม้ หวังจะให้สานต่อธุรกิจ

ในวันหนึ่งโรงงานไม้เกิดไฟไหม้เพราะลูกชายเล่นซนจนเกินไป อย่างไรก็ตาม โอเล เคิร์ก ก็สร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นอีกครั้ง เพราะธุรกิจยังไปได้ดี

จนกระทั่งในปี 1930 ที่เดนมาร์กเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ทำให้ยอดสั่งไม้ค่อย ๆ ลดลงและไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เขาจึงปรับตัวลดสเกลธุรกิจลงจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มาเป็นมาชิ้นเล็กลง เช่น กล่องใส่ของ, ของเล่นเด็ก ฯลน ซึ่งไอเดียการทำ ‘ตัวต่อไม้’ ก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย

แม้ว่าตอนนั้นธุรกิจของเขายังไม่ได้ชื่อว่า LEGO (ชื่อโรงงานทำไม้บิลลันด์) แต่ก็มีรากความคิดการผลิตตัวต่อทำจากไม้ และพัฒนามาเป็น LEGO จากพลาสติกคุณภาพสูงในเวลาต่อมา ตั้งแต่ปี 1949 โอเล เคิร์ก พยายามคิดหาวิธีทำของเล่นเด็กที่ทำให้ไม่ติดไฟง่าย ๆ เพราะตอนนั้นของเล่นไม้กำลังไปได้ดีเป็นที่นิยม เพราะพกพาง่ายกว่าไม่เหมือนกับของเล่นที่ทำจากเหล็กที่ไหลเข้าตลาดมาจากเยอรมนี

 

จุดพลิกธุรกิจสู่ LEGO เวอร์ชั่นใหม่

โอเล เคิร์ก เริ่มต้นปรับเป็นสิ่งแรกคือชื่อโรงงานเพราะรู้สึกว่าชื่อยังไม่ติดหูเท่าที่ควร เขาจึงจัดการประกวดชื่อขึ้นโดยให้พนักงานในโรงงานมีส่วนเสนอชื่อโรงงานทุกคน แล้วชื่อที่คว้าชัยชนะก็คือ ‘LEGO’ ซึ่งมีที่มาจากอักษร 2 ตัวแรกของคำในภาษาเดนมาร์ก คือ ‘LEG GODT’ (ไลก์-กอดท์) แปลว่า ‘เล่นกันดี ๆ’ (play well) และในภาษาละติน lego ยังหมายถึงการรวมกัน (put together) อีกด้วย

นอกจากนี้ โอเล เคิร์ก ได้ติดคำขวัญของโรงงานเอาไว้ว่า “Der bedte er ikke for godt” ในภาษาเดนมารืก ซึ่งแปลว่า “เฉพาะสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นที่คู่ควร” และลูกชายของโอเล เคิร์ก ก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่าสิ่งที่พ่อของเขาจะผลิตเป็นหลักนั้นคือ ‘ของเล่น’ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์อย่างเคยอีกแล้ว

ในปี 1936 โรงงาน LEGO มีของเล่นที่ถูกผลิตขึ้นมากว่า 42 ชุดด้วยกัน แต่โอเล เคิร์ก ก็ยังรู้สึกว่าของเล่นจากโรงงานของเขามีราคาแพง (เพราะทำมาจากไม้) ซึ่งราคาแบบนี้อาจไม่ใช่ความสุขของคนเล่นเสมอไป ดังนั้น ของเล่นที่ไม่ได้ทำมาจากไม้จึงกลับมาเป็นสิ่งที่เขาย้ำคิดอีกครั้งหลังจากนั้น

ในปี 1947 โอเล เคิร์ก เริ่มสนใจวัสดุที่ทำจาก ‘พลาสติก’ อย่างบ้าคลั่ง โดยเขาศึกษาตัวอย่างมาจาก Kiddicraft พลาสติกตัวต่อที่ผลิตมาจากสหราชอาณาจักร โดยจดสิทธิบัตรในชื่อของ ฮิลารี แฮร์รี ฟิชเชอร์ เพจ (Mr. Hilary Harry Fisher Page) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาเด็ก

และนั่นก็ทำให้ LEGO ตัดสินใจถอยห่างออกจาก ‘ไม้’ อย่างถาวร และมุ่งหน้าการผลิตของเล่นจากพลาสติกแทน ธุรกิจของ โอเล เคิร์ก ถือว่าเป็นครอบครัวในเดนมาร์กสมัยนั้นที่นำเข้าเครื่องฉีดพลาสติกขนาดใหญ่มากเป็นคนแรก และเป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 LEGO มีสต็อกของเล่นพลาสติกมากถึง 40 โมเดลด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ใช่บริษัทอันดับต้น ๆ ที่มีคนรู้จักในประเทศอื่น ซึ่ง โอเล เคิร์ก ต้องการทำให้ LEGO เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศด้วย เขาจึงปรับแนวคิดใหม่เกี่ยวกับธุรกิจ

 

LEGO เน้นความต้องการลูกค้าก่อน

ก่อนหน้านี้ โอเล เคิร์ก ผลิตโมเดลของเล่นตัวต่อมาจากความชอบของลูก ๆ และจินตนาการของตัวเอง แต่เขาก็เริ่มหันมาศึกษาและเปิดอกคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับความต้องการ จนทำให้ LEGO ปรับทิศทางธุรกิจตั้งแต่นั้น

หากพูดว่า LEGO เป็นบริษัทในยุคแรก ๆ ที่ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าโดยตรงก็ไม่ผิด และนั่นทำให้เกิด ‘ชุดรถไฟ LEGO’ (LEGO train sets) ขึ้นมาเป็นโปรดักส์ตัวแรก ๆ ที่ไม่ได้มาจากความชอบของคนในครอบครัว

ในยุคแรก ๆ สำหรับ LEGO ยอมรับว่าผลิตขึ้นมาเพื่อตอบกับความต้องการของ ‘ผู้ชาย’ มากกว่าผู้หญิง เพราะไอเดียส่วนใหญ่มาจากผู้ชาย ซึ่งยุคต่อมาเมื่อ LEGO ได้รับความนิยมในต่างประเทศมากขึ้น เขาเริ่มผลิตชุดตัวต่อ LEGO สำหรับผู้หญิงมากขึ้น เช่น บ้านตุ๊กตาพร้อมเฟอร์นิเจอร์

ซึ่งพัฒนาการของ LEGO จากชุดตัวต่อที่เสิร์ฟความต้องการเด็กผู้ชายก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ LEGO มีหลายรุ่นและส่วนใหญ่จะอิงกับเทศกาล, ฤดูกาล หรือวันสำคัญของหลายประเทศ เช่น ล่าสุดที่ LEGO ของเปิดตัวชุดตัวต่อรับเทศกาลวันตรุษจีน ทั้งแพ็กเกจและตัวคาแรคเตอร์ในชุดก็จะมีความจีนมากขึ้น หรืออย่างที่ LEGO เตรียมจะเปิดตัวชุดตัวต่อรับ ‘วันเด็ก’ จัดชุดที่เหมาะกับวันเด็กพากันย้อนวันวาน เป็นต้น

ทั้งนี้ วิธีการทำมาร์เก็ตติ้งของ LEGO เรียกว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยในปี 1968 ได้จัด ‘LEGOLAND park’ ในเดนมาร์กบนพื้นที่ 59 เฮกตาร์เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ และแสดงให้เห็นว่า LEGO ไม่ใช่เรื่องของเด็กอย่างเดียว แต่สามารถครีเอทออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำใครได้

ซึ่งในฤดูกาลแรกมีผู้เข้าชมมากกว่า 625,000 คน ถือว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อมากทีเดียว

และในปี 1974 เป็นครั้งแรกที่ LEGO ตัดสินใจเปิดโรงงานนอกประเทศ โดยเปิดโรงงานแห่งที่ 2 ชื่อว่า ‘LEGO AG’ ในสวิตเซอร์แลนด์ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 1992 เป็นชื่อใหม่ว่า LEGO Produktion AG

เรียกว่า LEGO เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในตำนานวัยเด็กที่ขยันสร้างตำนานในแต่ละด้าน ทั้งสร้างแลนด์มาร์กใหม่ ๆ เป็นหอคอย LEGO ในกรุงมอสโก, สร้างสวน LEGO ในอีกหลายประเทศหลังจากนั้น และในปี 2010 ก็เคยเปิดตัวเกมออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘Lego Universe’ เพื่อแสดงจุดยืนว่า LEGO เป็นมากกว่าแค่ชุดตัวต่อหรืออิฐบล็อก ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จมากซะด้วย

เส้นทางความสำเร็จของ LEGO ถือว่าเป็นเรื่องน่ายกย่อง อีกทั้งยังทำให้เข้าใจด้วยว่าจุดเริ่มต้นของเจ้าของธุรกิจบางคนก็ไม่ได้สวยงามโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เหมือนกับ ‘โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน’

 

ภาพ: LEGO

อ้างอิง:

Astrumpeople

LEGO [1]

LEGO [2]