หวัง ชวนฟู ‘ราชาแห่งรถ EV’ ใต้แบรนด์ BYD เด็กกำพร้าจากครอบครัวชาวนา มานะจนเป็นเศรษฐี

หวัง ชวนฟู ‘ราชาแห่งรถ EV’ ใต้แบรนด์ BYD เด็กกำพร้าจากครอบครัวชาวนา มานะจนเป็นเศรษฐี

รถยนต์ BYD ได้เสียงตอบรับเชิงบวกจากชาวไทย แบรนด์นี้ก่อตั้งโดย หวัง ชวนฟู ที่เคยเป็นเด็กกำพร้าจากครอบครัวชาวนา แต่ประสบความสำเร็จได้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมานะ

คนไทยเริ่มให้ความสนใจและได้ยินชื่อรถยนต์แบรนด์ BYD มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2565 หลังร่วมทุนกับบริษัทไทยที่ชื่อว่า Rêver Automotive โดยให้สิทธิเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ BYD ในประเทศไทย ขณะที่ประวัติของผู้ก่อตั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความมานะที่โลกกำลังพูดถึง

เด็กกำพร้าลูกชาวนา

ก่อนที่ ‘หวัง ชวนฟู’ (Wang Chuanfu) จะกลายมาเป็นมหาเศรษฐีอย่างที่เรารู้จักอย่างทุกวันนี้ อาจไม่มีใครรู้ว่าเขาเคยลำบากมาก่อน ขนาดที่ว่าเติบโตมาแบบต้องลุ้นกันวันต่อวัน หวัง ชวนฟู เกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนมาก อยู่ในมณฑลอายฮุย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน

หวัง ชวนฟู กลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อแม่ตั้งแต่ที่เขายังเป็นวัยรุ่น และคนที่เลี้ยงดูเขาต่อจากนั้นก็คือพี่ชายและพี่สาวแท้ ๆ ของเขานั่นเอง

จากเดิมที่ครอบครัวก็ยากจนอยู่แล้ว พอพ่อแม่เสียชีวิตก็ยิ่งแร้นแค้นไปกันใหญ่ โดยในแต่ละวัน หวัง ชวนฟู ต้องขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านใจดีเพื่อมาเป็นทุนในการเรียนหนังสือ รวมทั้งค่าอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่เพื่อนบ้านจะให้ได้

ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ขาดแคลนหลายอย่างทำให้เขาเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมาก ขยันและมีความมานะจนทำให้เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1987 ในด้านเคมีฟิสิกส์ของโลหะวิทยา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซ็นทรัลเซาท์ และปริญญาโทในด้านวัสดุจากสถาบัน Beijing Non-Ferrous Research Institute ในปี 1990

จุดเริ่มต้นการทำงานเกิดขึ้นในปี 1990 - 1995 เขามีโอกาสได้นั่งเป็นรองประธานสถาบันวิจัยโลหะนอกกลุ่มเหล็กแห่งปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน ประสบการณ์ 5 ปีจากตรงนี้ทำให้ หวัง ชวนฟู หันหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจเต็มตัว โดยเขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Shenzhen BYD Battery Company ในปี 1995 เริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นความถนัดของเขาก่อน

BYD เริ่มจากพัฒนาแบตเตอรี่

ชื่อบริษัท BYD Battery มาจากคำว่า Build Your Dream (สร้างความฝันของคุณ) ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของ หวัง ชวนฟู เขามองว่าธุรกิจหลายอย่างมีโอกาสเติบโตสูงมากในจีนและตลาดโลก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่ง BYD Battery เริ่มจากการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

จากตอนนั้นที่ BYD Battery มีพนักงานแค่ 20 คน ปัจจุบันตัวเลขพนักงาน (ทั้งพนักงานประจำและ part-time) รวมทั้งหมดมากกว่า 230,000 คนแล้ว ถือเป็นการเติบโตที่น่าสนใจมากในระยะเวลาเพียง 27 ปีเท่านั้น

BYD Battery นับว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ก่อตั้งในเซินเจิ้นซึ่งคนทั่วโลกยกให้เป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งประเทศจีน เพราะจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ บริษัทชื่อดังล้วนมาจากที่นี่ ได้แก่ Huawei, Tencent และ DJI (ผู้ผลิตโดรน)

หวัง ชวนฟู ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนโดยเขายอมรับตรง ๆ ว่าช่วงแรกที่ก่อตั้งบริษัทและเป็นผู้พัฒนาแบตเตอรี่ เขาจำเป็นต้องลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์จากชาติตะวันตก แต่สิ่งที่เขาทำมากกว่านั้นคือ การทำวิจัยและพัฒนาต่อให้เทคโนโลยีทันสมัยมากกว่าที่เคยศึกษา

“ช่วงแรก ๆ ผมให้ทีมวิจัยของ BYD Battery แยกแบตเตอรี่ Sony หรือ Sanyo ออกจากกัน แล้ววิเคราะห์ว่าพวกเขาประกอบกันอย่างไร จากนั้นก็ทำสิ่งที่คล้ายกันแต่อยู่ภายใต้ชื่อของ BYD

“การลอกเลียนแบบจะเกิดขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น ซึ่งเราไม่ต่างกับบริษัทอื่นในจีน แต่ที่เราทุ่มเทมากกว่านั้นคือเงินเพื่อการวิจัยและเวลาเพื่อให้ทีม R&D ศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เราแตกต่างจากผลิตภัณฑ์จากโลกตะวันตก และต้องดีกว่า มีคุณภาพกว่า”

ในปี 2002 BYD Battery ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ขณะเดียวกัน BYD Battery ได้เซ็นสัญญาเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนให้ NOKIA บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากฟินแลนด์ เป็นเจ้าแรกในจีนด้วย

นอกจากนี้ BYD Battery ยังเป็นซัพพลายเออร์ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ MOTOROLA มือถือแบบพับรายแรก ๆ ของโลกสัญชาติอเมริกัน และยังมีอีกหลายแบรนด์ในช่วงเวลานั้น

ซึ่งระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี BYD Battery สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้กว่า 50% ในตลาดแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ และกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟรายใหญ่ที่สุดในจีน แต่ความฝันของหวัง ชวนฟู ไม่ได้หยุดอยู่ที่การพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่เท่านั้น เพราะต่อจากนี้คือบทบาททางธุรกิจใหม่ของเขา

 

ยานยนต์หมากสำคัญของ BYD

หวัง ชวนฟู มองว่าการทำธุรกิจไม่สามารถหยุดอยู่ที่ธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งได้ หมายความว่าถ้าเขายังทำแบตเตอรี่อย่างเดียวต่อไป วันหนึ่งอาจจะมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาชิงมาร์เก็ตแชร์ได้

ดังนั้น ‘ยานยนต์’ คือสิ่งที่เขากำลังสนใจ เพราะมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จริงเป็นคู่แข่งของเขาได้หากวันหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าพัฒนาจนกลายเป็นกระแสหลัก

“อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตลาดที่มีศักยภาพมหาศาล และน่าจะคู่ไปกับการพัฒนาแบตเตอรี่ได้ แต่สิ่งที่กังวลก็คือ ธุรกิจรถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินสูงมาก และมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 เขาตัดสินใจขยายไลน์ธุรกิจเป็น BYD Motor ภายใต้แนวคิดการเป็นยานยนต์พลังงานสะอาดที่จะมีทั้งรถยนต์ รถบัส รถตู้ รถบรรทุก ฯลฯ และได้เข้าซื้อกิจการ Tsinchuan Automobile มาเป็นบริษัทลูกของ BYD จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘BYD Auto’

ซึ่งในช่วงแรก ๆ รถยนต์ของ BYD ยังผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และออกแบบดีไซน์รถให้หน้าตาคล้ายกับรถยนต์จากยุโรปและญี่ปุ่น แต่ในปี 2008 BYD Auto สามารถผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และยังเป็นคันแรกของโลกด้วย โดยตั้งชื่อว่า BYD Auto’s F3DM PHEV-60 hatchback นับว่าการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดครั้งนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มรู้จักกับ BYD มากขึ้น

เสียงแห่งความสำเร็จของ BYD ไปถึงหูของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ (Warren Buffett) นักลงทุนชื่อดังระดับโลกที่แสดงความสนใจอย่างมาก จนสุดท้ายเขาได้เข้าถือหุ้นบริษัท BYD อยู่ที่ 10% ถ้าจะบอกว่า BYD สำหรับบางคนรู้จักเพราะวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ไม่ผิด ซึ่งเคยมีนักวิเคราะห์พูดไว้ว่า BYD ต้องเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากหรือมีโอกาสเติบโตสูงมากถึงทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจที่จะเข้าถือหุ้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างนับตั้งแต่ที่ หวัง ชวนฟู เริ่มขยายไปที่ตลาดต่างประเทศ ในปี 2017 BYD Hungary ได้กลายมาเป็นเจ้าของโรงงานรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้าแห่งแรกในยุโรป ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน ทั้งยังขยายไปสร้างโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายในอีกหลายประเทศในยุโรปต่อมา เช่น ฝรั่งเศส

ปัจจุบันแม้ว่า BYD จะทำธุรกิจหลายประเภททั้งแบตเตอรี่, โซลาร์เซลล์, ชิ้นส่วนอุปกรณ์มือถือ, การขนส่งทางรถไฟ แต่รถยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักสำคัญของ BYD เป็นที่เรียบร้อย โดยมีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด 51% เทียบจากธุรกิจอื่นของ BYD

สิ่งที่น่าหนักใจสำหรับธุรกิจอื่นที่ทำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับ BYD เวลานี้คงจะเป็น Tesla ของนักประดิษฐ์ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา BYD สามารถแซงหน้า Tesla กลายเป็นแบรนด์ที่ทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก โดย BYD ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 641,000 คันในครึ่งแรกของปี 2022 ส่วน Tesla ทำได้ 564,000 คัน

นอกจากนี้ BYD ยังขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของโลก แซงหน้า LG Energy บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ จึงทำให้ทั้งอันดับ 1 และ 2 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่กลายเป็นบริษัทสัญชาติจีนแล้วในเวลานี้

มีประโยคหนึ่งที่ หวัง ชวนฟู มักจะพูดเสมอเกี่ยวกับธุรกิจของเขาว่า “BYD ก็ยังเป็นการสร้างความฝันของผมอยู่ ซึ่งความพยายามและการพัฒนาอยู่เสมอของเราทำให้ฝันกลายเป็นจริง แต่ผมจะยังพัฒนาต่อไปไม่หยุด เพราะสิ่งที่ทำมันต่อยอดเชื่อมหากันได้หมด”

ส่วน Charles Munger รองประธานบริษัท Berkshire Hathaway (บริษัทที่บริหารโดยวอร์เรน บัฟเฟตต์) เขาได้พูดถึง หวัง ชวนฟู ไว้ว่า

“ผู้ชายคนนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง Thomas Edison (นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน) และ Jack Welch (อดีต CEO แห่งศตวรรษที่โลกพูดถึง) สำหรับ หวัง ชวนฟู เขามีลักษณะนิสัยทั้ง 2 อย่างในคนเดียว มีทั้งวิธีการแก้ปัญหาบางอย่างด้วยเทคนิคที่น่าสนใจ และเมื่อเขาต้องการทำอะไรสักอย่างไม่มีวันที่ไม่สำเร็จ สิ่งเหล่านี้มันน่าชื่นชมมากหากทุกคนรู้ว่าเบื้องหลังชีวิตเขามันน่าขมขื่นแค่ไหน”

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://bydeurope.com/byd-group

https://www.forbes.com/profile/wang-chuanfu/?sh=2cca5b6d1793

https://www.bloomberg.com/news/features/2019-04-16/the-world-s-biggest-electric-vehicle-company-looks-nothing-like-tesla

https://asia.nikkei.com/Companies/BYD-Co.-Ltd

https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3188247/forget-elon-musk-meet-wang-chuanfu-chinese-billionaire

https://carnewschina.com/2021/08/01/the-big-read-history-of-byd/