วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ นักขาย(เบนซ์)มือทอง ขายปีละ 2 พันคัน ก่อนเจอยุคต้มยำกุ้ง

วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ นักขาย(เบนซ์)มือทอง ขายปีละ 2 พันคัน ก่อนเจอยุคต้มยำกุ้ง

วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ ตือนักขาย(เบนซ์)มือทอง ผู้ลือลั่นกับผลงานจากปากว่า ขายปีละ 2 พันคันยุคเฟื่องฟู ก่อนเจอยุค ‘ต้มยำกุ้ง’ เขาคืออีกหนึ่งนักธุรกิจในตำนานการต่อสู้ ค่อย ๆ ปลดหนี้ และกลยุทธ์การตลาดเช่น พระสมเด็จแลกรถเบนซ์

“ไม่ได้ผูกพันแต่ซึมไปอยู่ข้างใน” คือวลีที่วสันต์ โพธิพิมพานนท์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ในฐานะผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เขากลายเป็น ‘นักขายมือทอง’ และเปลี่ยนนามสกุลมาเป็น ‘เบนซ์ทองหล่อ’ เลยทีเดียว

เรื่องราวชีวิตของนักขายมือทองรายนี้มาปรากฏอีกครั้งเมื่อมีรายงานข่าวเผยแพร่กว้างขวางเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565 ระบุว่า นายวสันต์ เบนซ์ทองหล่อ เสียชีวิตแล้วในวัย 76 ปี

นายวสันต์ ในฐานะประธานบริษัท เบนซ์ทองหล่อ จำกัด ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการขายและยอดขายที่ตัวเลขกระฉูดถึงขั้นเจ้าตัวเล่าไว้ว่า ในยุคเฟื่องฟูเคยขายรถเบนซ์ได้ปีละ 2,000 คัน ตีเป็นมูลค่าในราว 2 พันล้านบาท (ค่าเงินในอดีต) กระทั่งเส้นทางธุรกิจมาพบกับปัญหาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

วสันต์ เผยความเป็นมาของเส้นทางธุรกิจว่าเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1975 (พ.ศ. 2518) เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกาก็เริ่มขายรถ เริ่มจากขายรถเก่า ซื้อมาขายไป เมื่อถึงปี 1977 (พ.ศ. 2520) จึงเริ่มต้นขายรถเบนซ์

ภูมิหลังความเป็นมาส่วนตัว วสันต์ เผยเองว่า ไม่ได้เริ่มต้นจากความร่ำรวย “เป็นคนเดินดินกินข้าวแกง” บิดาเป็นคนเดินเรือ ซื้อข้าวสารมาขาย ชีวิตวัยเด็กอยู่ต่างจังหวัด แล้วเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ขณะอายุ 14 ปี เวลานั้นก็เริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ซื้อของมาขายต่อ นำเครื่องประดับจากกาญจนบุรีมาขายบ้าง เมื่อเรียนจบและทำงานไปราว 1 ปีจึงเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

 

“เบื่อนายโง่ ๆ ทั้งนั้นเลย” วสันต์ กล่าวถึงเหตุผลหนึ่งของการเดินทางไปสหรัฐฯ นอกเหนือจากเป็นความใฝ่ฝันในวัยเด็กระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’

“...มองไปหัวหน้าเราไม่ฉลาด วันหนึ่งเราไต่เป็นหัวหน้ามันก็ยังโง่ๆ เซ่อๆ อยู่ ก็มองถึงเจ้าของบริษัท ไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่ใช่สูงสุดที่เราอยากไป ต้องมองบั้นปลายในอาชีพนั้น ๆ ไปสูงสุดมันแฮปปี้ไหม...”

วสันต์ เล่าว่า ไปสหรัฐฯ เพื่อเรียนปริญญาโท หรือทำปริญญาเอก ท้ายที่สุดแล้วต้องกลับเมืองไทยเพราะพี่ชายกำลังลำบากเนื่องจากเป็นหนี้ และร้องขอให้กลับมาช่วยวางระบบธุรกิจ เวลานั้น วสันต์ อายุ 28 ปี

ความพยายามและความมั่นใจของวสันต์ ประกอบกับกลยุทธ์ที่ปรับมาให้เหมาะสมกับพฤติกรรมคนท้องถิ่นทำให้วสันต์ ขายรถได้มากมาย กระทั่งเดินไปติดต่อขอเป็นดีลเลอร์ของรถยนต์เจ้าดังอย่างโตโยต้า ราวปลายทศวรรษ 2520

วสันต์ เล่าถึงแนวคิดสำคัญของตัวเองอย่างหนึ่งในหนังสือ ‘ขายดี เพราะไม่ได้ดีแต่ขาย’ ตอนหนึ่งว่า เชื่อในเรื่องเดินเข้าหาโอกาส จะเดินเข้าหาก่อนเพื่อไปพูดคุยให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ขณะที่คนบางส่วนจะกลัวไปก่อนลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของวสันต์ กลับคิดว่า ถ้าไม่ลองจะรู้ได้อย่างไร แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตัวเองต้องพร้อมด้วยเช่นกัน

แม้จะไม่มีโชว์รูม แต่วสันต์ อาศัยเครือข่ายเพื่อนเยอะ และบอกปากต่อปากทำให้ทำยอดขายได้ และขยับขยายมาขายรถเบนซ์ วสันต์ ให้สัมภาษณ์โดยบอกว่า การขายรถที่ผ่านมาน่าจะทำยอดขายรวมแล้วเป็นหลักแสนคันจากวันแรกที่ไม่ได้มีต้นทุนมากมาย

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจราวทศวรรษ 2540 นายวสันต์ เป็นนักธุรกิจอีกรายที่เป็นหนี้ธนาคาร วสันต์ เผยว่า ยอดหนี้เวลานั้นอยู่ที่ราว 4 พันล้านบาท

ช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา วสันต์ ขายรถได้ปีละหลักร้อยคัน จากเดิมที่ในยุคเฟื่องฟูเคยขายได้เป็นหลักพันคันต่อปี ร้อยคันยังขายแล้วขาดทุนอีกต่างหาก แต่จำเป็นต้องขายเพราะรักษาสถานะดีลเลอร์และเครดิตเอาไว้ จึงต้องทนขาดทุนเพื่อฟื้นฟูกลับมา

วสันต์ เล่าไว้ว่าต้องประคองธุรกิจอยู่ 5-6 ปี สภาวะธุรกิจถึงค่อย ๆ ดีขึ้น นอกเหนือจากการต่อสู้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญในไทย วสันต์ ยังถูกจดจำในฐานะผู้สร้างตำนานตลาดนัดคนเคยรวย

ไม่เพียงแค่แวดวงรถเท่านั้น วสันต์ ยังมีบทบาทเชื่อมโยงไปถึงแวดวงพระเครื่อง เมื่อมีแผนการตลาดแบบ รับแลกพระสมเด็จกับรถเบนซ์

สำหรับธุรกิจในปัจจุบันมีข้อมูลว่า นายวสันต์ ส่งต่อให้กับทายาทดูแลต่อไป

อ้างอิง:

วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ. ขายดี เพราะไม่ได้ดีแต่ขาย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ไม่ปรากฏปี.

https://www.komchadluek.net/amulet/206384

https://www.prachachat.net/general/news-1041188

https://www.youtube.com/watch?v=u8rJNOp2078