ชาญ แต้มคงคา: ผู้สร้างหมากฝรั่งในตำนาน ‘คิดคิดและนกแก้ว’ แต่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าเจ้าของ

ชาญ แต้มคงคา: ผู้สร้างหมากฝรั่งในตำนาน ‘คิดคิดและนกแก้ว’ แต่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าเจ้าของ

หากให้ลองนึกถึงขนมในยุค 90s เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอนึกออก และสำหรับขนมประเภทหมากฝรั่งแบรนด์แรก ๆ ที่คนส่วนใหญ่น่าจะจำกันได้ก็คือ ‘หมากฝรั่งนกแก้ว’ และ ‘หมากฝรั่งคิดคิด’ ที่มีสโลแกนติดหูจนถึงทุกวันนี้ ‘คิดคิดเพื่อนเคี้ยว ถ้าคิดจะเคี้ยว เคี้ยวคิดคิด’

แต่รู้หรือไม่ว่า หน้าตาผู้ที่สร้างหมากฝรั่งเหล่านี้ขึ้นมาแทบไม่มีใครเคยเห็นหน้าเลยด้วยซ้ำ ‘ชาญ แต้มคงคา’ เจ้าของไอเดียเชื้อสายจีนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด บริษัทที่ผลิตหมากฝรั่งนกแก้ว และคิดคิด จนในยุคนั้นดังเป็นพลุแตก

 

ผลิตหมากฝรั่งเพราะเห็นต่างชาติชอบเคี้ยว

ชาญ แต้มคงคา ถือว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเขามากนัก รู้แค่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เขาไม่ค่อยมีบทสัมภาษณ์กับสื่อไหนตั้งแต่ยุคที่เปิดตัวหมากฝรั่ง

โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้งก่อตั้งในปี 2506 โดยได้นําเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อผลิตหมากฝรั่งในชื่อว่า ‘นกแก้ว’ ซึ่งมีบางข้อมูลเปิดเผยว่า ชาญ แต้มคงคา มีไอเดียเกี่ยวกับการผลิตหมากฝรั่งเพราะเห็นว่าเป็นขนมชนิดหนึ่งที่ในต่างประเทศนิยมกินกัน คงคล้าย ๆ กับที่มาของแบรนด์หนึ่งในเกาหลีที่เห็นว่าวัฒนธรรมการเคี้ยวหมากฝรั่งมาตั้งแต่ยุคที่มีสงครามญี่ปุ่น-เกาหลีแล้ว

จากนั้นชาญ แต้มคงคา ได้ขยายแบรนด์หมากฝรั่งอีกครั้งในปี 2527 โดยนำเข้าเครื่องจักรอีกประเภทหนึ่งสำหรับการทำหมากฝรั่งที่เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมและมีการเคลือบน้ำตาลข้างนอก พัฒนาจนกลายมาเป็น ‘หมากฝรั่งคิดคิด’ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในยุค 90s เช่นกัน

ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง เริ่มมีการทำโฆษณา โดยเปิดตัวแบรนด์ใหม่ด้วยสโลแกนติดหูจำง่าย ‘คิดคิดเพื่อนเคี้ยว’ ซึ่งมาจากสโลแกนเต็มที่ว่า “คิดคิดเพื่อนเคี้ยว ถ้าคิดจะเคี้ยว เคี้ยวคิดคิด” ทำให้หมากฝรั่งคิดคิดได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น

‘ริศร์สุ แต้มคงคา’ ทายาทรุ่นหลาน (เป็นคนดูแลบริหารบริษัทโรงงานลูกกวาดเม่งเซ้งรุ่นที่ 3) ได้พูดถึงชาญ แต้มคงคาในบทสัมภาษณ์นิตยสาร MarketPlus เมื่อหลายปีก่อน

“อากง คือบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจของอ้ำ ท่านเป็นคนเริ่มธุรกิจและทำให้พวกเราทุกคนมีวันนี้ มีการศึกษาที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีโอกาสดี ๆ มากมาย เราทุกคนเห็นท่านเริ่มต้นจากศูนย์ ทำทุกอย่างมาด้วยความยากลำบาก กว่าจะพอหายใจหายคอได้ก็ใช้เวลาหลายสิบปี จนมีธุรกิจหลายบริษัทที่มีชื่อเสียงผลิตสินค้าออกมาเคียงคู่คนไทยหลายตัวด้วยกัน เราเห็นถึงความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ มัธยัสถ์ของอากง เวลาเราท้อแท้ พอนึกถึงอากงก็จะมีกำลังใจและมีแรงที่จะสู้ต่อไป เพราะเราอยากจะต่อยอดธุรกิจของอากงให้ดีที่สุด

“ตอนนี้อยากจะนำทั้ง 2 แบรนด์ (นกแก้วกับคิดคิด) กลับมารีแบรนด์ใหม่ โดยอาจจะให้ออกมาเป็นแนวเรโทรหน่อย เพราะคนที่ยังรู้จักแบรนด์คิดคิดและนกแก้วอยู่ตอนนี้ก็น่าจะอายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป คือเราไม่อยากที่จะทิ้งแบรนด์ของตัวเองไป ไหน ๆ เราก็มีแบรนด์ที่มันแข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็ต้องเข้าไปทำตลาดกับกลุ่มคนที่ยังจำเราได้ และให้คนเหล่านั้นค่อย ๆ กระจายไปสู่คนรุ่นใหม่”

 

เจ้าของคนเดียวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว-ควิก

บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่านอกเหนือจากธุรกิจผลิตหมากฝรั่งและลูกอม ชาญ แต้มคงคา ยังเป็นเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ครองตลาดไทยเป็นอันดับ 2 ในปัจจุบันด้วย นั่นก็คือ ‘ไวไวและควิก’

ชาญ แต้มคงคา เริ่มไอเดียบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2515 ด้วยการก่อตั้งบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ร่วมกับเพื่อนประมาณ 7 คน หลังจากที่เห็นเทรนด์ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมในไทย (ขณะนั้นเขาได้ส่งออกหมากฝรั่งและลูกอมไปขายในญี่ปุ่นด้วย เห็นเทรนด์นี้ว่ากำลังมาแรงในญี่ปุ่น)

ส่วนจุดเด่นของไวไวและควิก (โดยเฉพาะไวไว) คือเรื่อง ‘เส้นเหนียวนุ่ม ไม่อืด’ ซึ่งมีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ไวไวเน้นที่จุดเด่นเรื่องเส้นเหนียวนุ่มเพราะช่วงนั้นที่ญี่ปุ่นกำลังฮิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์หนึ่งที่เส้นมีความเหนียวนุ่มมาก (หลายคนน่าจะคิดออก) ชาญ แต้มคงคา เลยมองว่าเส้นเหนียวนุ่มน่าจะเป็นจุดขายได้ จากนั้นก็พยายามพัฒนาเส้นของไวไวให้คงสภาพเดิมเวลาที่เติมน้ำร้อน ‘ไม่อืด’

และในปี 2540 บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ได้แตกแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกครั้ง ก็คือ ‘ควิก’ ซึ่งชื่อเดิมคือ ไวไว ควิก โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ วัยรุ่น

‘ยศสรัล แต้มคงคา’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand เกี่ยวกับ ชาญ แต้มคงคา ว่า “คุณปู่และเพื่อนประมาณ 6 - 7 คน เริ่มธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในขณะที่แต่ละคนมีธุรกิจเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เห็นโอกาสจึงลงขันกันทำธุรกิจ โดยหนึ่งในหุ้นส่วนเป็นชาวไต้หวัน จึงไปดูโรงงานที่ไต้หวันและนำ know-how มาเริ่มต้นที่นี่”

วิวัฒนาการทางความคิดของชาญ แต้มคงคา และทีมวิจัย ทำให้โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย เป็นรายแรกในตลาดที่เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 รสชาติใหม่ในยุคนั้น ก็คือ ‘ไวไว รสหมูสับต้มยำ’ และ ‘ควิก รสต้มโคล้ง’

ทั้งนี้ ชาญ แต้มคงคา ไม่ได้มีแค่ธุรกิจหมากฝรั่งและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น เพราะเขาได้ขยายธุรกิจอื่น ๆ ออกไปอีก เช่น บริษัท นครหลวงกลูโคส จํากัด ผู้ผลิตกลูโคสไซรัป, บริษัท เอ็ม.เอส.กรุ๊ป จํากัด เป็นผู้จัดจําหน่ายสินค้าประเภทขนมและหมากฝรั่งของบริษัทในเครือทั้งหมด, บริษัท ไทยกลูโคส จํากัด เป็นต้น

ปัจจุบันก็ยังมีธุรกิจที่เป็น OEM ให้กับแบรนด์อื่นด้วย คือรับผลิตหมากฝรั่ง, ลูกอมรูปทรงต่าง ๆ ก็ล้วนมาจากบริษัทโรงงานลูกกวาดเม่งเซ้งทั้งนั้น เช่น หมากฝรั่งทรงกลม, หมากฝรั่งทรงสี่เหลี่ยม, หมากฝรั่งสะเก็ดหิน ฯลฯ

ไม่ว่าจะผ่านมากี่รุ่น จุดเริ่มต้นทางความคิดของชาญ แต้มคงคา ก็เรียกว่าไม่ธรรมดาอยู่ดี ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเส้นทางกว่าจะเป็นบริษัทต่าง ๆ ได้ลำบากยากเย็นแค่ไหน แต่ถ้าอ้างอิงจากคำพูดของทายาทธุรกิจแต่ละคนก็สะท้อนได้ว่า ชาญ แต้มคงคา คือนักสู้ชีวิตอีกคนหนึ่งที่น่ายกย่อง และเป็นอีกหนึ่งคนที่มีความคิดพัฒนาและต่อยอดอยู่เรื่อย ๆ จนเป็นอาณาจักรอย่างทุกวันนี้

 

ภาพ: meng seng sweets/Waiwai

อ้างอิง:

http://www.mengsengsweets.com/

https://waiwai.co.th/th/pages/

https://www.longtunman.com/24416

https://www.marketthink.co/17618

https://forbesthailand.com/people/the-next-tycoons/

https://www.marketplus.in.th/content/detail.php?id=424