จากนักบัญชีสู่ CEO หญิง ทายาทรุ่น 4 Jubilee Diamond: นักปฏิวัติวงการเพชรในไทย

จากนักบัญชีสู่ CEO หญิง ทายาทรุ่น 4 Jubilee Diamond: นักปฏิวัติวงการเพชรในไทย

“ยูบิลลี่เราเป็นแบรนด์คนไทย แต่เราอยากที่จะสร้างอะไรบางอย่างให้คนได้จดจำว่าบริษัทอัญมณีในประเทศไทยก็มีอะไรเจ๋ง ๆ เหมือนกันนะ”

ชื่อ ‘ยูบิลลี่’ (Jubilee) นับว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เราได้ยินชื่ออยู่บ่อย ๆ ทั้งยังเห็นสาขาตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำจนชินตาไปแล้ว ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘ยูบิลลี่’ คือนักปฏิวัติตัวยงในวงการเพชร เป็นเครื่องประดับแบรนด์เดียวในประเทศไทยที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์

ยูบิลลี่ เป็นผู้ค้าเพชรที่มีอายุมานานกว่า 93 ปี และตอนนี้คนที่นั่งคุมหัวเรือใหญ่คือ CEO สาววัย 40 ต้น ๆ ‘อัญรัตน์ พรประกฤต’ ที่มาเล่าจุดเริ่มต้นก่อนมาเป็น CEO และ DNA ของยูบิลลี่อย่างน่าสนใจ

 

เริ่มจากนักบัญชีสู่เส้นทาง CEO

กว่าจะมาเป็น CEO นั้นไม่ง่ายเลย ทั้งยังผ่านช่วงที่ต้องค้นหาตัวเองอยู่สักพักก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเป็น CEO โดยอัญรัตน์เริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีที่บริษัทไพรซ วอเตอร์ เฮาส์ คูเปอร์ส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ทำงานครั้งแรก (จากการจบสายบัญชี)

“รู้สึกว่าสายบัญชีอาจไม่ได้เป็นตัวเรามากสักเท่าไร ก็เลยไปเรียนปริญญาโททางด้านมาร์เก็ตติ้ง แล้วก็เริ่มเข้าทำงานกับยูบิลลี่ไปด้วย ซึ่งสายมาร์เก็ตติ้งเรารู้สึกสนุก รู้สึกมีความท้าทาย และเป็นตัวเองมากกว่า

“ด้วยความที่อัญเรียนจบทั้งทางด้านตัวเลขและมาร์เก็ตติ้ง วิธีคิดในการทำงานของอัญก็เลยจะเอาตัวเลขเป็นตัวตั้ง ซึ่งแน่นอนในการที่จะทำงานอะไรก็ตาม performance มันก็คือตัวเลข มันเลยเป็นข้อดีที่ทำให้เราเอาตัวเลขมาเป็นตัวตั้ง”

เส้นทางการเป็น CEO ของอัญรัตน์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงแม้ว่าจะเป็นทายาทที่ต้องรับไม้ต่อเป็นรุ่นที่ 4 ก็ตาม เธอเล่าว่า “ตอนที่เราเข้ามาทำงานในบริษัทนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงรอยต่อ อัญทำงานที่ยูบิลลี่ เริ่มต้นตั้งแต่พนักงาน ทีมทำงาน ผู้บริหารในยุคของ generation ที่ 3 ซึ่งคุณพ่อก็ยังทำงานอยู่ แต่ว่าทุกท่านก็เปิดโอกาสให้เรา”

“หลังจากที่เราผ่านบททดสอบ แล้วก็เริ่มมีผลงาน อัญก็ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้น จนถึงปัจจุบันมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้บริหารค่ะ”

 

สานฝันคุณพ่อเข้าตลาดหลักทรัพย์

“ต้องบอกว่ารูปแบบของธุรกิจอัญมณีค้าปลีกเครื่องประดับเพชร ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ย้อนกลับไปในอดีตจะเป็นรูปแบบของร้านค้าเดี่ยว เจ้าของขายเองอยู่ในย่าน เช่น บ้านหม้อบ้าง สะพานเหล็ก แต่วันนี้ยูบิลลี่ได้ transform รูปแบบของธุรกิจเครื่องประดับอัญมณีในไทยให้เป็นโมเดิร์นเทรด เราได้ทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

“เราเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของการค้าเพชรผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า แล้วเราก็เป็นแบรนด์ค้าปลีกเครื่องประดับแบรนด์เดียวในประเทศไทยที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์”

ไอเดียการพาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ อัญรัตน์บอกว่าเป็นไอเดียมาจากคุณพ่อที่อยากจะให้ธุรกิจค้าเพชรมีความโปร่งใสมากกว่านี้ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

เหตุผลส่วนหนึ่งที่เซอร์ไพรส์ก็คือ ลูกค้ามากกว่า 80% ดูเพชรไม่เป็น ดังนั้นการที่แบรนด์ลักชัวรีจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้สนิทใจ กระบวนการหรือข้อมูลต่าง ๆ ต้องโปร่งใสมากพอจนผู้ซื้อสัมผัสได้

“การที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วเริ่มที่จะมีผู้ถือหุ้น นักลงทุนต่าง ๆ ก็เป็นโจทย์ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แล้วก็เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่น ความเชื่อถือให้กับลูกค้าได้”

 

สร้าง Julibee Culture ผ่านประสบการณ์ลูกค้า

“เราอยากสร้าง culture ที่เรียกว่า Jubilee customer experience หรือว่าประสบการณ์ที่ลูกค้าจะมีกับแบรนด์ของเรา การที่จะเกิด Jubilee customer experience ได้ อัญแบ่งออกมาเป็น 2 มิติหลัก ๆ คือ เรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ และ brand experience”

นอกจากนี้ยูบิลลี่ยังใส่ใจลูกค้าด้วยการลงรายละเอียดในส่วนอื่นด้วย ทั้งที่มาของเพชรเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ จนไปถึงดีไซน์และน้ำหนักของเพชรที่เหมาะกับจุดประสงค์ของผู้ใช้

“เรามีเทคโนโลยีการผลิตที่เรียกว่า Microscope Setting Technique ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์วิธีการฝังพิเศษของยูบิลลี่ ทำให้หนามเตยการเกาะเกี่ยวใด ๆ ไม่มีเลย หรือทุกวันนี้การใส่เครื่องประดับเองก็ไม่ได้ใส่เฉพาะเพื่อไปงานสำคัญ ๆ หรือใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ใส่ในชีวิตประจำวัน ใส่ไปทำงาน ใส่ไปชอปปิงได้

“ดังนั้น น้ำหนักของเครื่องประดับก็ต้องรู้สึกสบายในการที่จะสวมใส่ หรือรูปแบบดีไซน์ เดี๋ยวนี้หนุ่ม ๆ สาว ๆ มีความทันสมัยแล้วก็จะ mix & match การแต่งกายกับเครื่องประดับเพชร ดีไซน์ก็ต้องทันสมัย รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง บ่งบอกบุคลิกของผู้สวมใส่ ทีมดีไซเนอร์ก็ต้องทำงานร่วมกับทีมมาร์เก็ตติ้งในการที่จะเข้าใจ consumer inside”

สำหรับยูบิลลี่ไม่ได้โดดเด่นแค่เทคโนโลยี ดีไซน์ หรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร แต่ยังมีการให้ความรู้ใหม่ ๆ ไปถึงผู้ซื้อด้วย อย่างเพชรน้ำ 100 หรือในวงการเพชรจะเรียกว่า D color (สมัยก่อนคุณภาพสูงสุดก็คือ G color น้ำเพชรประมาณ 97)

“เราให้ความรู้กับผู้บริโภคในเรื่องเหล่านี้ ลูกค้าจะรู้จักว่าเพชรที่สวยที่สุดก็คือ D color หรือเพชรน้ำ 100 แล้วก็สุดยอดของการเจียระไนที่เพชรประกายดีที่สุดคือ Triple excellent ดังนั้นคนไทยทุกวันนี้เรียกร้องหา Triple excellent จุดหนึ่งก็มาจากยูบิลลี่เป็นคนที่ทำให้ตลาดนี้ได้รู้จัก”

ยูบิลลี่ยังได้ปฏิวัติ sales process ใหม่ในเรื่องของการขายผ่านแพลตฟอร์มประสบการณ์ของลูกค้า ที่จะมีการวิเคราะห์และการจัดการของข้อมูล เช่น การวัดผลที่ลูกค้าพึงพอใจ, ไม่พึงพอใจ, มีคำแนะนำ, ข้อเสนอต่าง ๆ ยูบิลลี่จะรับรู้ได้อย่างเรียลไทม์

“เรื่องของการสร้างประสบการณ์ ทั้งในเรื่องของโปรดักต์ที่ดี การสร้างแบรนด์ที่แข็งแรง แล้วทำการให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ของยูบิลลี่ เราถือว่าเป็น DNA ในการบริหารงานของเรา”

 

บริหารแบบพุ่งชนและใช้ data ให้เป็น

อัญรัตน์มองตัวเองว่าเป็นเพียง ‘leader’ แค่ชื่อในทีมเท่านั้น เพราะวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้คือการทำงานแบบทีม เปิดกว้างทางความคิด มองว่าความสำเร็จสามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่ทีมต้องมีเป้าหมายเดียวกัน

“เราเป็นคนทำงานที่ result oriented คือเรามุ่งหวังผลมากกว่าลำดับขั้นหรือกระบวนการ ทำงานให้สนุก ทำให้ทีมทำงาน fresh อยู่ตลอดเวลา แล้วก็มุ่งหวังผลไปด้วยกัน พูดง่าย ๆ ว่าถ้าดีก็ดีด้วยกัน ถ้าเจ็บก็เจ็บด้วยกันค่ะ

“อัญว่าวันนี้เราอยู่ในยุคที่อาจจะไม่เหมือนกับรุ่นคุณพ่อคุณแม่ baby boomer ที่ท่านทำงานแล้วอาจจะไม่ได้อยู่ในยุคของข้อมูลข่าวสาร แต่เราอยู่บนโลกดิจิทัล ทุกอย่างมี data ทุกอย่างเราสามารถที่จะค้นคว้าหาข้อมูลได้ ดังนั้นการที่เราจะทำธุรกิจ เราต้องเข้าใจบุคคลที่เราต้องการสื่อสารถึง ซึ่งก็คือลูกค้าของเรา เราไม่สามารถที่จะเอาตัวเราเป็นโจทย์ตั้งได้ทุกอย่าง

“เราไม่สามารถบอกทุกคนว่าจะชอบเหมือนเรา ทุกคนจะกินของเหมือนเรา มีรสนิยมเหมือนเรา ดังนั้นการที่เราจะเข้าใจกลุ่มผู้บริโภค คนที่เราต้องการพูดกับเขาคือการทำงานผ่าน data”

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องมาบริหารธุรกิจของครอบครัวซึ่งมีมานานมาก ส่วนตัวอัญรัตน์เลือกที่จะเป็นผู้บริหารแบบใช้ data ต้องทำงานแม่นยำที่สุด พลาดน้อยที่สุด คิดกลยุทธ์ต่าง ๆ ด้วย data คือหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจในยุคนี้

ทั้งยังพูดไปถึงคนรุ่นใหม่ที่อาจจะต้องมารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว และอยู่ในช่วงที่กำลังพิสูจน์ตัวเอง เธอพูดว่า “วันแรกที่เราเข้ามาทำ เราไม่มีเครดิตหรอกเพราะเราก็เด็กอยู่ ใจเย็น ๆ แล้วค่อย ๆ prove ความสามารถ อย่างอัญเองก็ไปเอาโปรเจกต์เดิมที่มองว่ามันมีโอกาสแต่ยังไม่มีคนทำ ทุ่มเทและทำอย่างเต็มที่ วิธีนี้ก็ถือว่าเป็นการหาเวทีให้กับตัวเองค่ะ”