TATA นักปฏิวัติอินเดียสู่ชาติอุตสาหกรรม จากครอบครัวนักบวชที่ยากจนเชื่อว่า ‘ธุรกิจที่สำเร็จต้องอยู่ทั่วโลก’

TATA นักปฏิวัติอินเดียสู่ชาติอุตสาหกรรม จากครอบครัวนักบวชที่ยากจนเชื่อว่า ‘ธุรกิจที่สำเร็จต้องอยู่ทั่วโลก’

ความจริงที่น่าสนใจของ TATA หรือ TATA Group (ทาทา กรุ๊ป) เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีแค่ธุรกิจยานยนต์ แต่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย โดยมีบริษัทลูกในเครือเกือบ 100 บริษัท อีกทั้งยังมีธุรกิจอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

หลายคนน่าจะรู้จัก TATA (ทาทา) เพราะเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน โดยภาพที่เราคุ้นเคยคือแบรนด์รถกระบะ รถบรรทุกสัญชาติอินเดีย (แต่ประกาศยุติการผลิตในไทยตั้งแต่ปี 2561) ความจริงที่น่าสนใจคือ TATA หรือ TATA Group (ทาทา กรุ๊ป) ไม่ได้มีแค่ธุรกิจยานยนต์ แต่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย โดยมีบริษัทลูกในเครือเกือบ 100 บริษัท อีกทั้งยังมีธุรกิจอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

 

มาจากครอบครัวนักบวชที่ยากจน

จุดเริ่มต้นของผู้ก่อตั้ง ทาทา เรียกว่าไม่ธรรมดา โดยก่อตั้งโดย ‘จัมเซตจี ทาทา’ (Jamsetji Tata) เขาเกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2382 เป็นชาวบริติช-อินเดีย จากเดิมอาศัยอยู่ในเมืองนวส่าหรี (Navsari) เมืองใหญ่อันดับ 9 ในรัฐคุชราตของอินเดีย

ปูมหลังครอบครัวของ จัตเซตจี ทาทา เป็นชนกลุ่มน้อยชาวโซโรอัสเตรียน (Zoroastrian) ที่เดินทางอพยพเข้ามาที่อินเดียเพราะเกิดความขัดแย้งในอิหร่านในยุคนั้น เขาเติบโตในครอบครัวนักบวชที่น่านับถือ แต่มีฐานะยากจน (ในยุคการอพยพเข้ามาในอินเดียยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับชาวโซโรอัสเตรียน บางข้อมูลบอกว่ามีการกีดกันเรื่องการทำงาน และการหาเงินในอินเดีย)

ความคิดของ จัมเซตจี ทาทา ที่อยากเป็นนักธุรกิจมากกว่านักบวชเกิดขึ้นจาก ‘พ่อของเขา’ เป็นคนแรกที่ผันตัวสู่เส้นทางธุรกิจ โดยพ่อของ จัมเซตจี ทาทา ตัดสินใจเปิดโรงงานทอผ้าเล็ก ๆ เพราะมองว่าในเมืองนวส่าหรียังมีผู้ผลิตเสื้อผ้าน้อย ซึ่งเขามีโอกาสได้ช่วยทำงานในโรงงานของพ่อตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยดูแลจัดการในเรื่องการนำเข้าส่งออก และขยายตลาดไปต่างประเทศ

ในเวลานั้น จัมเซตจี ทาทา ได้เข้าเรียน Elphinstone College ในเมืองมุมไบ เหตุผลเพราะว่าพ่อของจัมเซตจี ทาทา มองว่าเขาเป็นเด็กฉลาด มีพรสวรรค์ และสนใจในเรื่องธุรกิจตั้งแต่เด็ก จึงต้องการให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี และมีแนวทางการสอนที่ทันสมัย ใช้ระบบการศึกษาแบบตะวันตก

หลังจากจบการศึกษาในปี 2401 เขาผันตัวออกมาช่วยธุรกิจที่บ้านเต็มตัว และเป็นครั้งแรกที่เขาตัดสินใจลองขยายตลาดไปที่ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรปเป็นครั้งแรก พอแนวโน้มว่าธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้ดีในตลาดต่างประเทศ จัมเซตจี ทาทา จึงตัดสินใจซื้อกิจการน้ำมันที่ล้มละลายที่ Chinchpokli และดัดแปลงมาเป็นโรงงานทอผ้า ตั้งชื่อว่า Alexandra Mill

TATA นักปฏิวัติอินเดียสู่ชาติอุตสาหกรรม จากครอบครัวนักบวชที่ยากจนเชื่อว่า ‘ธุรกิจที่สำเร็จต้องอยู่ทั่วโลก’

นอกจากนี้ จัมเซตจี ทาทา ยังเป็นผู้บุกเบิกเรื่อง ‘สวัสดิการของคนงาน’ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตอนนั้น

แต่หลังจากนั้น 2 ปีเขาก็ขายโรงงานเพื่อนำเงินก้อนนั้นมาต่อยอดธุรกิจอื่น และนี่คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางธุรกิจของ จัมเซตจี ทาทา ที่ก่อตั้งบริษัทเอง ไม่สานต่อธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป

 

จุดกำเนิดบริษัททาทา

เมื่อเขาอายุได้ 29 ปี จัมเซตจี ทาทา เลือกทางเดินเองโดยก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า ‘ทาทา’ โดยมี 4 ธุรกิจที่วางเป้าหมายในตอนนั้นคือ ธุรกิจผลิตเหล็ก, ธุรกิจโรงแรม, สถาบันการศึกษา (มีหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์) และโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ

วิสัยทัศน์ของ จัมเซตจี ทาทา คือ ต้องการช่วยให้อินเดียก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม (ไม่ใช่เกษตรกรรม) และเชื่อว่า 4 กลุ่มธุรกิจที่วางเป้าไว้จะช่วยให้อินเดียขยายกรอบการทำธุรกิจได้มากขึ้น เพราะเขาจะวางรากฐานสำหรับความรู้และการศึกษาด้านเทคนิคเอาไว้

ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยเอ่ยปากชม จัมเซตจี ทาทา ตั้งแต่ที่รับทราบวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงอินเดียในยุคนั้น เขาได้พูดประโยคหนึ่งว่า “One-Man Planning Commission” (ความหมายคือเป็นคนที่ทำงานคนเดียวแต่คิดวางแผนได้เหมือนคนทำงานเป็นกลุ่มซะอย่างนั้น)

“จัมเซตจี ทาทา เหมาะสมที่จะได้รับเกียรติในการระลึกถึง และยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศสมัยใหม่ มีความคิดทันสมัยและก้าวหน้า เขาถือว่าเป็นยิ่งกว่านักธุรกิจ เพราะเขาเป็นนักปฏิวัติอุตสาหกรรมในอินเดีย มีจิตวิญญาณในการเป็นนักผจญภัยในเส้นทางธุรกิจ อย่างที่ไม่เคยเห็นคนไหนมาก่อน”

ทั้งนี้สิ่งแรกที่ จัมเซตจี ทาทา ทำก็คือเปิดธุรกิจโรงแรมทัชมาฮาล (Taj Mahal Hotel) ที่ริมน้ำ Colaba จุดเด่นคือเป็นโรงแรมแห่งแรกในอินเดียที่ใช้ระบบไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยเขาสามารถกระจายกระแสไฟฟ้าไปแต่ละพื้นที่ของโรงแรมได้

นอกจากนี้ จัมเซตจี ทาทา ยังได้บริจาคเงินเกือบ 102,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนติดอันดับรายชื่อผู้ใจบุญชั้นนำของโลกในศตวรรษที่ 20 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปี 2447 ซึ่งลูกชายของเขาก็คือ โดรับจิ ทาทา (Dorabji Tata) เป็นผู้ที่เข้ามาสานต่อความฝันของพ่อ โดยเริ่มเปิดโรงงานผลิตเหล็กขึ้นในปี 2444 เป็นโรงงานขนาดใหญ่แห่งแรกในอินเดีย โดยชื่อว่า Tata Iron and Steel (ปัจจุบันก็คือ Tata Steel)

ซึ่ง จัมเซตจี ทาทา ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องโรงงานผลิตเหล็กเมื่อตอนที่เขาได้เดินทางไปที่แมนเชสเตอร์ในอังกฤษ เพื่อตรวจสอบเครื่องจักรใหม่สำหรับโรงงานทอผ้าของเขา โดยตั้งเป้าตั้งแต่ตอนนั้นว่า ต้องเป็นโรงงานผลิตเหล็กที่เทียบคุณภาพได้กับโรงงานที่ดีที่สุดในโลก

หลังจากนั้นไม่นาน โดรับจิ ทาทา ได้สานต่อความฝันของพ่อด้วยการสร้างบริษัท Tata Power ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ และเปิดตัวสถาบันการศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ

แต่ในระหว่างนั้นเขาก็ได้เปิด JN Tata Endowment ได้ด้วย (ซึ่งจัมเซตจี ทาทา เคยพูดเอาไว้ว่าถ้าบริษัทพอจะอยู่รอด เขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคมอินเดีย) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้นักเรียนอินเดียสามารถศึกษาต่อในอังกฤษในระดับที่สูงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงวรรณะหรือศาสนา

ต่อมาการบริหารในรุ่นที่ 3 ภายใต้กลยุทธ์ของ เจอาร์ดี ทาทา (J.R.D. Tata) ที่เปรียบเสมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องของ จัมเซตจี ทาทา ถือว่าเป็นบุคคลที่ทำให้ทาทาก้าวกระโดดอย่างมากทั้งในแง่ของตัวเลขการเติบโต การขยายธุรกิจในอินเดียและต่างประเทศ โดยเขาเข้าซื้อกิจการ Jaguar และ Land Rover รถยนต์หรูสัญชาติอังกฤษด้วย

เจอาร์ดี ทาทา เป็นอีกหนึ่งคนที่มาสานต่อความฝันของ จัมเซตจี ทาทา โดยการก่อตั้งธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น TATA Chemicals (เคมีภัณฑ์), TATA Communications (โทรคมนาคม), TATA Cliq (คอมเมิร์ซ), TATA Projects Limited (รับเหมาก่อสร้าง), TATA Consumer Products (สินค้าอุปโภคบริโภค), TATA Consultancy Services (ธุรกิจที่ปรึกษา), TATA Capital (ผู้ให้บริการทางการเงิน), TATA Sky (ผู้ให้บริการดาวเทียม), สายการบิน TajAir และ Vistara ฯลฯ

จากนั้นคนที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจต่อก็คือ ราทัน ทาทา (Ratan Tata) ซึ่งเป็นหลานชายของ เจอาร์ดี ทาทา โดยสิ่งที่เขาพยายามโฟกัสก็คือ ธุรกิจที่อิงตามกระแสโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ยังได้ซื้อกิจการ Tetley Tea ในลอนดอน, ซื้อธุรกิจการผลิตรถบรรทุก Daewoo Motors ของเกาหลีใต้ รวมทั้งได้ร่วมมือกับ American International Group, Inc. (AIG) เพื่อสร้างบริษัทประกันภัย Tata-AIG

อาณาจักรของทาทาในปัจจุบันมีมากจนน่าตกใจ เพราะมีถึง 95 บริษัทลูกที่อยู่ในเครือ ทั้งยังให้บริการอยู่ในกว่า 100 ประเทศ 6 ทวีป ต้องบอกว่าจุดประสงค์ของการก่อตั้งบริษัททาทาขึ้นมา ‘จัมเซตจี ทาทา’ เคยพูดกับคนในครอบครัวไว้ว่า เขาต้องการทำธุรกิจที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในอินเดีย เพราะธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในนิยามของเขาคือ ต้องอยู่ในทุก ๆ ที่อยู่ในทั่วโลก ที่สำคัญคือ “ความมั่งคั่งของธุรกิจผมต้องสร้างประโยชน์ เสริมสร้างความรู้และความแข็งแกร่งให้กับอินเดียด้วย”

 

ภาพ: TATA Group

อ้างอิง:

https://www.tata.com/management-team#//management-team/rnt

https://www.britannica.com/topic/Tata-Group

https://www.tata.com/about-us/tata-group-our-heritage/Our-Timeline

https://www.theceo.in/leaders/tata-group-history-companies-and-philosophy

https://www.tata.com/about-us/tata-group-our-heritage/tata-titans/jamsetji-tata