โรเล็กซ์: นาฬิกาหรูของรักนักสะสม ในวันที่กลายเป็นเหยื่อจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ

โรเล็กซ์: นาฬิกาหรูของรักนักสะสม ในวันที่กลายเป็นเหยื่อจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ

“จิตวิญญาณความหรูของโรเล็กซ์ เชื่อว่ายังช่วยยกระดับคุณค่าให้กับคนที่สวมใส่ ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ภายนอกแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเที่ยงตรงของนาฬิกาโรเล็กซ์” ฌอง-เฟรเดอริก ดัฟโฟร์ (Jean-Frederic Dufour) CEO ของแบรนด์นาฬิกาหรู โรเล็กซ์ (Rolex)

โรเล็กซ์ นาฬิกาหรูที่ไม่เคยตกรุ่น หนำซ้ำยังเป็นของสะสมที่ตามหา เป็นเครื่องประดับติดตัวที่มักจะถูกซื้อเพื่อมาเก็งกำไรต่อ

จากที่นาฬิกาโรเล็กซ์ติดอันดับเป็นของสะสม (ในกลุ่มนาฬิกาหรู) ที่คนต้องการซื้อมากที่สุดอันดับหนึ่งมาตลอด จนถึงช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา (ข้อมูลอ้างอิงจาก Index และ Jefferies)

สัญญาณลบแสดงให้เห็นชัดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาจากปัจจัยรอบด้าน ตั้งแต่เงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี, ตลาดหุ้นผันผวน, ตลาดคริปโตฯ ร่วง, ดอกเบี้ยสูงขึ้น และปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

โรเล็กซ์กลายเป็นเหยื่อรายแรกในกลุ่มนาฬิกาหรูที่ได้รับผลกระทบทำให้ตกที่นั่งลำบาก นอกจากยอดขายตก ราคารีเซลของนาฬิกาหลาย ๆ รุ่นก็ลดลงเช่นกัน

 

ราคารีเซลโรเล็กซ์ร่วง

โรเล็กซ์เคยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจโลกของหลายคน (ในแง่ของสภาพคล่องทางการเงิน) ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะว่าตอนนี้นาฬิกาของโรเล็กซ์ในหลายรุ่นปล่อยราคารีเซลที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี สะท้อนชัดว่าเศรษฐกิจโลกเวลานี้อ่อนแอมากแค่ไหน

Index เปรียบเทียบราคาของโรเล็กซ์ไว้ อย่างนาฬิการุ่น Rolex Daytona Black Dial ที่ราคาเปิดตัว (เดิม) อยู่ที่ 12,400 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนราคาจะดีดขึ้นเมื่อต้นปี 2022 ที่ 44,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันราคาขายร่วงลงมาอยู่ที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ยังมีอีกหลายรุ่นของโรเล็กซ์ที่นาฬิการีเซลราคาตก เพราะความต้องการของคนซื้อโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาลดลง อย่างนาฬิการุ่น Rolex Oyster Perpetuals ที่หน้าปัดมีจุดขายที่สีสัน เป็นผลงานของ CEO ฌอง-เฟรเดอริก ดัฟโฟร์ ที่หยิบลูกเล่นของ Rolex Stella เมื่อปี 1970 มาเล่นอีกครั้ง

Rolex Oyster Perpetuals เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 ความต้องการของนาฬิการุ่นนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ที่เปิดตัว และลากยาวมาจนถึงปี 2021 ทำให้ราคารีเซลพุ่งไปถึง 8 เท่าจากราคาเปิดตัวครั้งแรก เป็นนาฬิกาในหลาย ๆ รุ่นของโรเล็กซ์ที่ทุบสถิติราคารีเซลในตลาดที่แรงมาก ก่อนราคาจะลดลงอีกครั้งเพราะความต้องการไม่เหมือนเดิม

 

ยังเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนสูง

Bob’s Watches เว็บไซต์ซื้อขายนาฬิกาหรูที่ปล่อยตัวรีพอร์ตเมื่อต้นปี 2022 ‘โรเล็กซ์’ ยังจัดว่าเป็นนาฬิกาหรูที่ให้ผลตอบแทนสูง แม้ว่าจะเจอกับสภาวะเงินเฟ้อและราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

นักสะสมและนักเก็งกำไรยังมองว่า โรเล็กซ์เป็นนาฬิกาที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์แบบอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือทองคำด้วยซ้ำ

ในรายงานพูดถึง 3 รุ่นหลักของโรเล็กซ์ที่ได้รับความนิยมสูง และเป็นรุ่นที่ให้ผลตอบแทนสูง คือ Daytona, Day-Date และ Sky-Dweller

ซึ่งในมุมของนักวิเคราะห์อย่าง Jefferies ประเมินว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่กลุ่มนักสะสมชะลอการซื้อหรือลงทุนในสินค้าฟุ่มเฟือยไปก่อน ไม่ใช่แค่กับโรเล็กซ์ หรือนาฬิกาหรูแบรนด์อื่น แต่หมายถึงทั้งหมด เช่น กระเป๋า, รองเท้า

เพราะความที่เป็นโรเล็กซ์ ทั้งในฐานะที่เป็นนาฬิกาข้อมือที่หรูหรา ยังเป็นนาฬิกาแบรนด์แรกของโลกที่ได้มีกลไกที่เที่ยงตรงที่สุดรายแรกของโลก ซึ่งได้ใบรับรองจาก Official Watch Rating Centre ที่เมืองเบียนน์

โรเล็กซ์เกิดขึ้นจากความหวัง

ฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ (Hans Wilsdorf) ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งแบรนด์โรเล็กซ์ ในปี 1905 ตอนนั้นเขาอายุได้เพียง 24 ปีเท่านั้นเอง โดยเขาเริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในด้านการขายนาฬิกา

จุดเริ่มต้นของนาฬิกาโรเล็กซ์จริง ๆ แล้วต้องบอกว่ามาจาก ‘ความหวังและความฝัน’ ของฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ ที่อยากจะมีนาฬิกาข้อมือดี ๆ ไว้สวมใส่ ปัญหาคือนาฬิกาข้อมือในสมัยนั้นยังไม่มีความเที่ยงตรงมากพอ

เขาจึงตั้งปณิธานกับแบรนด์ของเขาว่า “นาฬิกาข้อมือไม่ควรมีเพียงความหรูหราเท่านั้น แต่ต้องมีความเที่ยงตรงด้วย”

โรเล็กซ์กลายเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกที่มีกลไกขนาดเล็กที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งผลิตโดยบริษัทผลิตนาฬิกาในเมืองเบียนน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทำการจดทะเบียนในชื่อ ‘Rolex’ ตั้งแต่ปี 1908

ชื่อเสียงของโรเล็กซ์ตั้งแต่ยุคนั้นทั้งดีไซน์และกลไกที่เป็นนวัตกรรมยอดเยี่ยมที่สุดของสมัยนั้น ทำให้โรเล็กซ์กลายเป็นนาฬิกา/เครื่องประดับที่คนยุคนั้นต้องมี

ใบรับรองเรื่องความเที่ยงตรงของโรเล็กซ์ไม่ได้มาจากแค่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง เพราะในปี 1914 Kew Observatory ในอังกฤษได้มอบใบรับรองความเที่ยงตรงระดับ ‘A’ ให้กับนาฬิกาข้อมือของโรเล็กซ์ ซึ่งยากมากเพราะใบรับรองนี้สงวนไว้เฉพาะนาฬิกาที่บอกเวลาเที่ยงตรงของทหารเรือเท่านั้น 

 

โรเล็กซ์เป็นนาฬิกากันน้ำยุคแรกๆ

สำหรับ ฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ ยกให้เรื่องความมานะเป็นสิ่งสำคัญและเบื้องหลังความสำเร็จของโรเล็กซ์ ในปี 1926 เขาปฏิวัติวงการนาฬิกาข้อมืออีกครั้ง ด้วยการออกแบบตัวเรือนให้กันน้ำ กันฝุ่น และเปิดตัวรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า ‘Rolex Oyster’ นาฬิกาที่มีการซีลอย่างแน่นหนา มีคุณสมบัติปกป้องกลไกการทำงานของนาฬิกาจากน้ำได้ดีที่สุด

การโปรโมตนาฬิการุ่นนี้ของโรเล็กซ์ สร้างเสียงฮือฮาจากคนในยุคนั้นจนทุกวันนี้ยังถูกหยิบมาเล่าเป็นกรณีตัวอย่างอยู่บ่อย ๆ ก็คือโรเล็กซ์ลงทุนที่จะสร้างอควาเรียมและใส่นาฬิกาเข้าไปเพื่อโชว์ของ โดยที่ไม่มีข้อความชวนเชื่อหรือ hard sell อะไรทั้งนั้น

ในปี 1927 โรเล็กซ์พิสูจน์ว่านาฬิกากันน้ำได้ดีแค่ไหน ด้วยการให้ ‘เมอร์เซเดส กลีต’ (Mercedes Gleitze) นักว่ายน้ำหญิงชาวอังกฤษ สวมใส่นาฬิกา Rolex ว่ายน้ำข้ามช่องแคบของอังกฤษได้สำเร็จ ซึ่งสุดท้ายแล้วนาฬิกายังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100%

โรเล็กซ์ แบรนด์ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองสักครั้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพของนาฬิกาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปเรื่อย ๆ ทั้งนาฬิกาที่สามารถบินข้ามยอดเขาเอเวอเรสต์ได้, สวมใส่เวลาที่แข่งรถได้, ปีนเขาได้

คุณภาพของโรเล็กซ์กับชื่อเสียงที่สั่งสมมานานกว่า 117 ปี จากผู้ก่อตั้งแบรนด์อายุน้อย ส่งไม้ต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงยุคการบริหารของ ฌอง-เฟรเดอริก ดัฟโฟร์ ที่เข้ามารับตำแหน่ง CEO ตั้งแต่ปี 2015

ความลำบากที่กำลังเผชิญตอนนี้จากภาวะ recession ของเศรษฐกิจโลกจนทำให้ราคารีเซลลดลงหลายรุ่น อย่างไรแล้วหากความเชื่อมั่นและความต้องการของนักลงทุนกลับมาเหมือนเดิม การฟื้นตัวของโรเล็กซ์ก็คงกลับมาแน่นอน

 

ภาพ: Rolex

อ้างอิง:

https://www.ablogtowatch.com/rolex-watches-appoints-jean-frederic-dufour-new-ceo/

https://www.bobswatches.com/best-investments

https://www.rolex.com/th/about-rolex-watches/hans-wilsdorf.html

https://www.rolex.com/th/about-rolex-watches/1905-1919.html

https://robbreport.com/style/watch-collector/rolex-resale-prices-fall-1234696544/

https://revolutionwatch.com/is-dufours-appointment-as-rolex-ceo-a-sign-of-new-directions-for-the-best-watch-brand-in-the-world/

https://www.jewellermagazine.com/Article/10729/Luxury-watch-prices-slump-US-sales-down

http://idexonline.com/FullArticle?Id=47763