‘2 + 2 = 5’ คำตอบสำเร็จรูปภายใต้สังคมเผด็จการ, นวนิยาย 1984 สู่บทเพลงของ Radiohead

‘2 + 2 = 5’ คำตอบสำเร็จรูปภายใต้สังคมเผด็จการ, นวนิยาย 1984 สู่บทเพลงของ Radiohead

พลิกดูที่มาแนวคิด 2 + 2 = 5 จากนวนิยาย 1984 งานประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ยุคสมัยของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ก่อนจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นอีกบทเพลงหนึ่งของ Radiohead

  • ก่อนจะมาโด่งดังจากนวนิยายจากผลงานอมตะ  ‘1984’ จากปลายปากกาของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) แนวคิด 2 + 2 = 5 ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตภายใต้การปกครองของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) แล้ว
  • นัยยะการเสียดสีสังคมเผด็จการกับ  ‘การคิดสองชั้น’ (Doublethink) แนวคิดจากเผด็จการที่ทำให้ 2 + 2 กลายเป็น 5
  • แกะเนื้อหาจากบทเพลง ‘2 + 2 = 5’ โดย Radiohead  ที่นำเอาเนื้อหาจากนวนิยาย 1984 มาเสียดสีสถานการณ์การเมืองในสหรัฐอเมริกา

 

สองบวกสองก็เท่ากับห้าได้ หากท่านผู้นำต้องการให้มันเป็น!

 

นี่คือคำกล่าวของ มือขวาของเผด็จการคนหนึ่ง แม้ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นสิ่งที่ตัวเขาเองก็ไม่อาจเห็นด้วยได้ แต่หากท่านผู้นำต้องการให้คำตอบมันเป็นห้า สองบวกสองเท่ากับสี่ก็คงไม่อาจเป็นสมการที่ถูกต้องได้ 

แม้ว่าสองบวกสองเท่ากับสี่เป็นสัจธรรมที่ถูกพิสูจน์โดยหลักคณิตศาสตร์และความจริงเชิงประจักษ์ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนอยู่ทุกวัน เราต่างรู้ว่าความจริงที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คุณจะตายหรือหายไปตลอดกาลเมื่อพูดถึงความจริงอมตะเหล่านั้นในสังคมเผด็จการหรือสังคมที่อิสรภาพทางความคิดเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ 

การมีอำนาจที่เหนือกว่าในแง่ของพละกำลังเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมผู้คน แต่หากความจีรังยั่งยืนในอำนาจเบ็ดเสร็จที่ตนมีอยู่เป็นความปรารถนาของเหล่าจอมบงการ การควบคุมความคิดผู้คนก็เป็นเป้าหมายที่ต้องพิชิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เพราะเหตุนี้เอง คำตอบเบ็ดเสร็จในบางคำถามจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นไม่ให้การกบฏทางความคิดเกิดขึ้น และสองบวกสองจึงเท่ากับห้าไม่ใช่สี่ไปโดยปริยาย

ห้าปีเท่ากับสี่ปี

แม้ว่า 2 + 2 = 5 เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาปรับใช้อย่างร่วมสมัยได้ตลอดมาหลังจากที่ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) จรดปากกาลงบนหน้ากระดาษเพื่อเขียนวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง ‘1984’ ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 แต่สมการคณิตศาสตร์ที่ผิดอย่างไร้ข้อถกเถียงนี้ก็ถูกนำมาใช้ก่อนหน้าออร์เวลล์หลายสิบปี

 

2 + 2 + ความกระตือรือร้นของคนงานทุกคน = 5

 

แม้แต่สหภาพโซเวียตในยุคของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ก็ยังเคยใช้สองบวกสองเท่ากับห้าในโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา ประโยคข้างต้นถูกใช้เพื่อส่งเสริมเหล่าแรงงานให้ทุ่มเทกับ การทำงานในแผนพัฒนาห้าปีครั้งแรกของสหภาพ (The First Five-Year Plan) ในช่วงปี 1928 ถึง 1933 รัฐบาลสตาลินต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีนี้ภายในสี่ปี โฆษณาชวนเชื่อที่ถูกออกแบบโดย ยาคอฟ กูมมิเนียร์ (Yakov Guminer) จึงได้ถูกกระจายไปทั่วและได้สร้างภาพกับมาตรฐานใหม่ว่าแผนนี้ต้องสำเร็จภายในสี่ปี ทั้ง ๆ ที่ชื่อแผนก็อธิบายความหมายที่แท้จริงของตัวมันเองอยู่แล้วว่าห้าปี

 

‘2 + 2 = 5’ คำตอบสำเร็จรูปภายใต้สังคมเผด็จการ, นวนิยาย 1984 สู่บทเพลงของ Radiohead

Yakov Guminer's 1931 poster reading The arithmetic of an industrial-financial counter-plan: 2 + 2 plus the enthusiasm of the workers = 5

 

มาตรฐานจึงถูกตั้งไว้สูงเมื่อประชาชนถูกทำให้เชื่อและยอมรับในมาตรฐานนั้น เมื่อประชาชนที่ทำงานให้รัฐไม่สามารถทำงานให้ดีเท่ามาตรฐาน -- ที่ตั้งไว้สูงมาก -- ได้ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก หลายครอบครัวต้องประสบกับความอดอยากหิวโหยจากโควตาข้าวที่ประชาชนต้องส่งมอบให้รัฐจาก นโยบายนารวม (The Collectivization of Agriculture) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาห้าปี และเมื่อแผนห้าปีถูกทำให้เชื่อว่าต้องทำเสร็จภายในสี่ปี การใช้เวลาห้าปีจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้โดยรัฐและ (เป็นที่น่าเศร้า) ประชาชนแรงงานเองด้วย

‘2 + 2 = 5’ คำตอบสำเร็จรูปภายใต้สังคมเผด็จการ, นวนิยาย 1984 สู่บทเพลงของ Radiohead

Dictator of Soviet Russia, Joseph Stalin, addresses voters, of the Stalin election district in Moscow, on the even of the election in which Russians voted for the first time under the new constitution.

 

หนึ่งเก้าแปดสี่กับสองบวกสองที่ไม่ใช่สี่

แม้ถูกใช้และนำเสนอในหลาย ๆ ทางและรูปแบบมาก่อนแล้ว แต่วลีสองบวกสองเท่ากับห้าก็มาดังเป็นพลุแตกจากงานเขียนอมตะอย่าง 1984 โดยจอร์จ ออร์เวลล์ สงครามและการเปลี่ยนผ่านของสภาพการเมืองการปกครอง ณ ยุคต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้ออร์เวลล์ได้ตกผลึกแนวคิดและคำวิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะกับสังคมเผด็จการ ความเห็นและคำพยากรณ์เหล่านั้นจึงถูกถ่ายทอดผ่านนวนิยายที่เขาเขียน สองบวกสองเท่ากับห้าก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

“Big Brother is watching you

พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ

 

คือวลีอมตะของนวนิยาย 1984 ที่ถูกแปลมาในเวอร์ชันภาษาไทยโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ภายใต้การควบคุมของระบบสังคมนิยมอังกฤษ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘อิงก์ซ็อก’ (Ingsoc) และสายตาของพี่เบิ้มที่คอยจับจ้องอยู่ทั่วทุกมุมถนน

ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่โอเชียเนีย ไม่มีแม้แต่อิสรภาพที่จะแสดงออกทางสีหน้า พื้นที่เดียวที่ปลอดภัยนั่นคือภายในกะโหลกของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งบางทีมันอาจจะล้นออกมาก็ได้ เรื่องราวดำเนินเกี่ยวกับสมาชิกพรรคภายนอกที่มีนามว่า ‘วินสตัน สมิธ’ ที่เกิดความสงสัยในคำตอบสำเร็จรูปของอิงก์ซ็อก รัฐเผด็จการผู้ซึ่งเป็นวายร้ายหลักของเรื่อง ในขณะที่สายตาของใบหน้าปื้นหนวดดำก็จ้องมองเขาทุกย่างก้าว

 

สงครามคือสันติภาพ
เสรีภาพคือความเป็นทาส
อวิชชาคือพลัง

 

คู่คำเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ความหมายของมันก็ประจักษ์ชัดในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต่างอะไรกับ ‘สองบวกสองเป็นห้า’ แต่หากเราเกิดมากับมัน อยู่กับมัน และถูกผู้ปกครองบังคับให้เชื่อมัน เราคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพยายามเชื่อ ในคราแรกอาจเป็นความพยายาม แต่วันหนึ่ง (ในความเชื่อของเรา) มันจะกลายเป็นความจริง แม้สัญชาตญาณธรรมชาติจะบอกว่าไม่ก็ตาม การคิดแบบนี้เรียกว่า ‘การคิดสองชั้น’ (Doublethink) ซึ่งก็คือการรู้เท่าทันความคิดความเข้าใจของตนเองอยู่เสมอ ต้องรู้ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรควรลืม อะไรควรคิดว่าถูก และอะไรควรคิดว่าผิด การจะเชื่อว่าสองบวกสองเท่ากับห้าก็ต้องผ่านการคิดสองชั้นเช่นกัน ตรรกะนี้จะปฏิเสธความจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า และอ้าแขนรับความเท็จที่ประจักษ์ชัด

 

ความสยดสยองไม่ใช่การที่เขาจะฆ่าคุณเมื่อคุณคิดไม่เหมือนเขา

แต่เป็นเพราะเขาอาจถูกต่างหาก เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สองบวกสองต้องเป็นสี่?

 

 

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, หนึ่งเก้าแปดสี่, และเรดิโอเฮด

นอกจากจะเป็นวรรณกรรมการเมืองที่ถูกเขียนมาแล้วกว่า 50 ปี แต่วิสัยทัศน์ของออร์เวลล์ยังคงร่วมสมัย หลายประเด็นยังคงสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงได้อยู่เสมอ และ 1984 เองก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘เรดิโอเฮด’ (Radiohead) แต่งบทเพลงเสียดสีสังคมที่มีชื่อเดียวกับปรัชญาอมตะอย่าง ‘2 + 2 = 5’ ในอัลบั้ม Hail to the Theif ที่ถูกนำมาผสมผสานกับการเมืองสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นของทศวรรษ 2000

เพลงที่มีชื่อเหมือนสมการคณิตศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนเพลงนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมุมมองต่าง ๆ ของคนที่อยู่ในโลกดิสโทเปียอย่างในนวนิยาย 1984 ไม่ว่าจะเป็นจากมุมของผู้ตื่นรู้ ผู้หลับใหล หรือแม้กระทั่งผู้กดขี่ ในขณะเดียวกัน บางท่อนของเพลงก็เปรียบเสมือนการเสียดสีการเมืองอเมริกันในช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นการชนะเลือกตั้งของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ที่มีชัยชนะคู่แข่งอย่าง อัล กอร์ (Al Gore) หรือแม้กระทั่งโศกนาฏกรรม 9/11

 

-

Are you such a dreamer
To put the world to rights?
I’ll stay home forever
Where two and two always makes a five

 

คุณคือคนช่างฝันสินะ
คนที่จะมากอบกู้โลกใบนี้ไว้
แต่ผมจะขออยู่บ้านตลอดไป
อยู่ในที่ ๆ สองบวกสองเท่ากับห้า

-

 

สิ้นสุดเสียงเสียบแจ็คกีตาร์ของจอนนี กรีนวูดในตอนต้น เสียงกีตาร์ด้วยการเล่นแบบอาร์เปจจิโอ (Arpeggio) ในอารมณ์เศร้าหมองก็นำเราไปสู่โลกดิสโทเปียในวันที่ท้องฟ้าหม่นเพราะถูกบดบังด้วยเมฆครึ้มฝน เนื้อเพลงท่อนแรกเปรียบเสมือนคำถามจากผู้หลับใหลที่ชินชากับสังคมที่บอกว่าสองบวกสองเป็นห้า เขาเอ่ยถามใครสักคนที่เต็มไปด้วยไฟที่อยากจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม ส่วนตัวเขาเองขอยืนยันที่จะกลับบ้านและใช้ชีวิตกับหลักสมการที่เขาคุ้นเคย

 

-

It’s the devil’s way now
There is no way out
You can scream and you can shout
It is too late now
Because...

 

นี่คือครรลองของปีศาจ
ไร้ซึ่งทางออก
และต่อให้ตะโกนจนสุดเสียง
มันก็สายเกินไปเสียแล้ว
เพราะ… 

-


หลังจบเวิร์สที่สอง เรดิโอเฮดก็ดึงเราเข้าสู่ท่อนบริดจ์ที่จะนำผู้ฟังไปสู่มุมมองของผู้ตื่นรู้ที่วิพากษ์คนที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบนี้อย่างเฉยเมย ปีศาจเปรียบเสมือนรัฐบาลเผด็จการ และรัฐบาลก็กำลังทำสัญญาปีศาจกับประชาชนผู้หลับใหล และในวันหนึ่งที่คนเหล่านั้นตื่นมาพร้อมความตระหนักรู้ มันก็หมดหนทางเพราะสายเกินไปเสียแล้ว หลังจากจบท่อนบริดจ์ เสียงกีตาร์ที่หนักแน่นก็ดังขึ้นมาพร้อมกับท่อนฮุคที่เป็นเหมือนคำตอบ

 

-

You have not been
Paying attention
Paying attention

 

เพราะคุณไม่สนใจ
ไม่สนใจ
ไม่สนใจ

-

 

เสียงทอม ยอร์กเปล่งเสียงร้องท่อนฮุคด้วยถ้อยคำเดิมซ้ำ ๆ เปรียบเสมือนเป็นคำตอบที่กระจ่างชัดให้กับท่อนก่อนหน้าว่าเพราะประชาชนผู้หลับใหลตกลงทำสัญญากับปีศาจด้วยความเมินเฉยและไม่สนใจของตนเอง ทำให้วันหนึ่งปีศาจจึงมาทวงคืนสัญญาที่ประชาชนเหล่านั้นต้องแลกให้ นั่นก็คือ ‘อิสรภาพนิรันดร

 

-

Don’t question my authority or put me in a box 

 

อย่าสงสัยในอำนาจผม และอย่ามาตีกรอบผม 

-

 

คำตอบของข้อความข้างต้นก็กระจ่างชัดในตัวเองอยู่แล้วว่ามาจากมุมมองของผู้กดขี่ที่ครองอำนาจนิรันดร์ แต่หากเมื่อมองอีกมุมหนึ่ง เนื้อเพลงท่อนนี้รวมถึงท่อน ‘ผู้ร้ายจงเจริญ’ (Hail to the Thief) (ซึ่งเป็นชื่อของอัลบั้มเพลงนี้ด้วย) ก็เปรียบเสมือนจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นเถลิงอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ซ้ำยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ‘พี่เบิ้ม’ จากนวนิยาย 1984 ว่ามีความกระหายอำนาจและสร้างภาพว่าตนเป็นคนดีและไม่ได้ชั่วร้ายอย่างที่ใครคิด

 

-

I try to sing along
But I get it all wrong
’Cause I’m not, ’cause I’m not

 

ผมพยายามจะร้องตาม
แต่ผมกลับร้องผิดทั้งหมด
เพราะว่าผมไม่ใช่.. ผมไม่ใช่…

-


การพยายามที่จะหาคำตอบของคำถามภายใต้สังคมเผด็จการที่มีคำตอบสำเร็จรูปรอเราอยู่แล้วยากเสมอ โดยเฉพาะถ้าเราตระหนักรู้อย่างชัดเจนว่าคำตอบที่แท้จริงนั้นคืออะไร แม้รู้ว่าต้องเชื่อแบบไหน แต่ผู้ตื่นรู้ก็ไม่สามารถทนกับคำลวงที่เป็นคำตอบเท็จภายใต้สังคมนี้ได้อีกต่อไป

แม้รู้ว่าสองบวกสองควรเท่ากับห้า แต่เขาไม่สามารถทนแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์นี้ได้อีกต่อไปแล้ว เมื่อเขารู้อยู่แก่ใจว่าคำตอบมันไม่ใช่ห้า

 

 

ภาพ:
Bettmann / Contributor
Gie Knaeps / Contributor
Yakov Guminer, Wikimedia Commons18

อ้างอิง
Rewriting the past: the history that inspired Orwell's Nineteen Eighty-Four - History Extra
2+2=5 - Philosophy of Shaving
2 + 2 = 5 - Radiohead - Genius
จอร์จ ออร์เวลล์. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ = 1984. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมมติ (2020). รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์. ผู้แปล.
‘Hermann Göring’. Museum of Tolerance Multimedia Learning Center. Archived from the original on 27 December 2004. Retrieved 18 February 2012. 
Wayback Machine