ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า

ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า
จินตนาการถึงความร้อนจากเปลวไฟอุณหภูมิหลักร้อยถึงหลักพันองศาเซลเซียส ที่พร้อมแผดเผาทุกอย่างเป็นจุณในเสี้ยววินาที ไฟป่าที่ลุกเต้นเร่าอยู่ตรงหน้า หากเทียบกับร่างกายมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ เมื่อต้องฝ่าความร้อนบนอากาศ ไอร้อนที่แผ่บนผืนดินและใต้ดิน ปะทะกับควันที่พวยพุ่งท่วมหัว จะมีสักกี่คนที่ “กล้า” วิ่งเข้าหามัจจุราชเช่นนั้น แต่กับเขา “ว่าที่ร้อยตรีวัฒนา พลอยกัลยา” หรือ “ชิ” เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมไฟป่าเหยี่ยวไฟ สังกัดกรมป่าไม้ พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ผู้มีพลังวิเศษ มีเพียงแค่อุปกรณ์ดับไฟที่ถือด้วยสองมือเปล่า ทักษะความรู้ และหัวใจ เท่านั้นที่พาเขาเข้าไปปราบเปลวไฟในผืนป่าให้สงบลง พวกเขา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ด่านหน้าสำคัญในภารกิจควบคุมไฟป่าภาคเหนือซึ่งเป็นจุดที่ดัชนีความรุนแรงไฟในการเกิดไฟป่าอยู่ในระดับสูงไปจนถึงรุนแรง  มีเจ้าหน้าที่เพียงทีมละ 15 นาย กับภาระงานดูแลพื้นที่ป่าหลายจังหวัด “ไฟไม่ดับ เราไม่กลับ” คำสั้น ๆ แทนภารกิจสำคัญของเหล่านักดับไฟป่า ผู้พิทักษ์พงไพรจากเปลวเพลิง เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่าไฟป่าคือสาเหตุสำคัญทำให้พื้นที่ป่าในประเทศลดลงอย่างมาก ต้องทุ่มเทกำลังกายและใจอย่างมากเพื่อทำหน้าที่นี้ ข้อมูลจากสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ระบุว่าไฟป่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี โดยในปี 2564 เกิดไฟป่าผลาญพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ถือเป็นปัจจัยรบกวนสมดุลระบบ นิเวศอย่างรุนแรง ไฟป่าในซีกจังหวัดหนึ่ง แต่ส่งผลต่อทุกคน ทั้งประชาชนในพื้นที่และคนเมือง การเผาป่าทำให้เกิดจุดความร้อนหรือฮอตสปอต ส่งผลต่อการเพิ่มค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่ประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะช่วงฤดูไฟป่าคือตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ที่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าทุกชีวิตต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า จากช่างไฟฟ้าสู่เจ้าหน้าที่ดับไฟ วัฒนาเกิดและเติบโตในพื้นที่ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เขาเห็นภาพความสัมพันธ์ของคนกับป่ามาตั้งแต่เป็นเด็กชาย กระทั่งเลือกศึกษาต่อ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า จบแล้วหางานตามที่ร่ำเรียนมา ด้วยการเป็นช่างไฟฟ้าในโรงแรมกว่า 10 ปี แม้จะมีรายได้และความสุขตามอัตภาพ แต่นั่นยังไม่ใช่ชีวิตแบบที่เขามองหา เพราะการได้เห็นน้องทำงานดับไฟป่ามาก่อน ประกอบกับนิสัยส่วนตัว ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัย เดินป่า รักความท้าทาย และการหวงแหน ต้นไม้ ใบหญ้า ผืนป่า สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงให้เขาเกิดความคิดอยากเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟบ้าง ทันทีที่มีการเปิดรับสมัครกำลังพล เขาจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ด้วยพื้นเพที่เกิดและเติบโตบนดอย ทำให้คุ้นเคยการใช้ชีวิต เดิน-วิ่ง-ปีน บนพื้นที่สูงชัน บวกกับทักษะงานช่าง จึงเป็นแต้มต่อเมื่อต้องฝ่าด่านการรับสมัครของหน่วยเหยี่ยวไฟ ที่ทดสอบพละกำลังก่อนเป็นด่านแรก ในที่สุดชื่อของวัฒนา พลอยกัลยา ก็ปรากฏบนใบประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกหน่วยเหยี่ยวไฟ ประจำปี 2563 นำมาซึ่งความยินดีของตนเองและครอบครัว แต่ก็มาพร้อมความวิตกกังวลแก่ พ่อ แม่ และภรรยาเช่นกัน จากเนื้องานที่ได้ชื่อว่า ขาดแคลนทั้งบุคลากรและเครื่องมือสนับสนุนภารกิจ รวมถึงอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายทั้งในขณะปฏิบัติงาน และผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว  ไม่มีใครรู้ว่าทุกครั้งที่เขาหันหลังให้บ้าน แบกเป้อุปกรณ์ทำงานออกไป แล้วจะได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้งในเวลาไหน ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า ดับไฟป่าวิชานอกตำรา การดับไฟป่าเป็นงานที่หนักและเสี่ยงอันตรายที่สุด แม้จะมีหลักการควบคุมไฟป่าที่ถ่ายทอดกันมาตามหลักวิชา และประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง แต่ต้องยอมรับว่าการดับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่มีตำราตายตัว เหล่านักผจญเพลิง ต้องพลิกแพลงการทำงานตามสถานการณ์และพฤติกรรมของไฟที่พร้อมจะผันแปรและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สำหรับเจ้าหน้าที่ใหม่อย่างเขา ได้รับการถ่ายทอดความรู้การป้องกัน จัดการ ควบคุมไฟทุกกระบวนการ แต่การเรียนรู้จากคำสอน ก็ยังไม่เท่ากับประสบการณ์จริง ที่ทำให้กลายเป็นคนสู้ไฟที่กล้าแกร่ง ด้วยเหตุการณ์ไฟป่ารุนแรงครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในพื้นที่ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ในปี 2563 รับน้องนักดับเพลิงที่เพิ่งประจำการมาหมาด ๆ ด้วยสภาพพื้นที่ลาดชัน ทิศทางลมที่ไม่เอื้ออำนวย และเปลวไฟเผาไหม้ระดับ 4-5 ที่เหมือนเป็นบททดสอบความแกร่งของร่างกาย ถือเป็นด่านอรหันต์สำหรับมือใหม่ในการเก็บเลเวล “แม้พวกเราจะผ่านการฝึกมาแล้ว แต่เวลาลงพื้นที่ ไฟและทิศทางลม อาจทำให้เหนื่อยล้า ผมเคยมีเพื่อนในทีมที่ปฏิบัติการด้วยกันที่ จ.ลำปาง โดนไฟคลอกร่างกายถึง 40% ทำให้เราเรียนรู้ ไตร่ตรอง ต้องประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ทำอย่างไรให้ไม่เกิดอันตราย” วัฒนาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขายังจำได้ไม่ลืม ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า งานที่แลกด้วยชีวิต ไม่ทันได้เตรียมใจนานนัก เขาก็ถูกระดมกำลังไปผจญไฟป่าที่พื้นที่รอยต่ออำเภอแม่แจ่ม และ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบการเผาไหม้แบบ “ไฟเรือนยอด” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยากที่สุดสำหรับนักผจญเพลิงแห่งพงไพร เพราะเปลวไฟที่ไหม้ลามเลียจากยอดต้นไม้สูงยังยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มอีกต้นหนึ่ง สามารถส่งสะเก็ดไฟไปไกลได้ในทุกทิศทาง สามารถข้ามแนวกันไฟไปลุกไหม้ได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีอัตราการลุกลามรวดเร็วมาก และเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับพนักงานดับไฟ เป็นภารกิจปราบเซียนของนักดับไฟป่าภาคเหนือที่ไม่มีใครอยากเจอ ประสบการณ์ที่สั่งสม ตอกย้ำว่าทุกวินาทีมีค่า ทันทีที่ได้รับการประสานแจ้งเหตุ พวกเขาต้องพร้อมปฏิบัติการ สวมชุดและอุปกรณ์ดับไฟทั้ง ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลมหนักกว่า 15 กิโลกรัมบนร่างกาย เร่งไปให้ถึงเป้าหมาย ก่อนจะสำรวจความเสียหายและทิศทางไฟด้วยการใช้โดรนบินสำรวจ เพื่อจัดกำลังแบ่งทีมดับไฟแต่ละจุด ด้วยรูปแบบการดับไฟทางตรง ที่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าจะเข้าไปดับไฟโดยตรง โดยใช้เครื่องมือ อย่าง ถังฉีดน้ำ พลั่วไฟป่า เครื่องเป่าลม และที่ตบไฟ จะเริ่มควบคุมไฟที่หัวไฟก่อน เพื่อหยุดยั้งการลุกลามของไฟ แล้วจึงค่อยกระจายกำลังออกดับไฟทางปีกทั้งสองด้าน ซ้าย-ขวา แล้วไปบรรจบกันที่หางไฟ จนควบคุมได้ในที่สุด ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า ดับไฟด้วยไฟ แต่หากเปลวไฟขนาดใหญ่เกินกว่าจะดับโดยตรงได้ ต้องใช้วิธีดับด้วยไฟ ดับด้วยไฟ (Backfiring) คือการขยายแนวกันไฟให้กว้างขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใช้ไฟเผา เพื่อไม่ให้ไฟกระโดดข้ามลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงทั้งในแง่ของอาจผิดพลาดทำให้ไฟลุกไหม้เพิ่ม และมีความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ดับไฟที่อาจตกอยู่ในอันตราย จึงมักใช้เป็นทางเลือกท้าย ๆ เท่านั้น  แน่นอนว่าสำหรับคนที่อยู่ร่วมกับป่ามายาวนานอย่างวัฒนา จนเปรียบเสมือนบ้านที่มีสวนสีเขียวมอบอากาศบริสุทธิ์ เสมือนครัวที่เป็นแหล่งอาหาร เมื่อต้องจุดไฟเผาป่าเพื่อดับไฟ เป็นเรื่องที่ทำให้ใจสลายไม่น้อย ทั้งการต้องคร่าชีวิตสัตว์ที่ไม่สามารถหนีแนวไฟไปได้ ในขณะที่ตนเองก็เสี่ยงอันตรายจากไฟที่อาจโหมเผาไหม้ตนเองและเพื่อนร่วมทีมหากลมเปลี่ยนทิศขึ้นมา “บางพื้นที่เราต้องใช้ไฟดับไฟ ทำแนวดำ คือการเผาป่าเป็นแนวกันไฟ สัตว์เล็ก ๆ กล้าไม้ ก็จะโดนเผาไปด้วย มันก็เศร้าครับ ที่เราทำหน้าที่ดูแลป่า แต่เวลาดับไฟบางครั้งต้องจุดไฟเผาป่าเสียเอง เพื่อที่จะรักษาผืนป่าส่วนใหญ่ไว้ให้ได้” แม้จะดับไฟได้สำเร็จ ทิ้งผืนดินแห้ง เศษซากต้นไม้ ใบไม้ที่ถูกเผาไว้เบื้องหลัง สถานการณ์กลับสู่ความสงบอีกครั้ง แต่สิ่งที่ติดตามพวกเขากลับบ้าน คืออาการตาแดง แสบคอ ควันพิษเข้าปอด กระทบระบบหายใจ ที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว “ปัญหาสุขภาพ ระบบหายใจ ตาแดง เหมือนเรื่องที่ต้องเจอประจำ ครอบครัวก็จะถามตลอดว่าเราโอเคไหม ผมก็ต้องคอยตรวจเช็กเรื่อย ๆ แต่ที่ผมยังอยากทำ เพราะชอบงานที่ได้ช่วยเหลือคน ได้เป็นครูให้ความรู้และประสบการณ์ เรื่องผลกระทบไฟป่ากับประชาชนทั่วไปด้วย” วัฒนากล่าว ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า ไฟดับแต่งานยังไม่จบ แม้เปลวไฟจะมอดลงแล้ว แต่งานของเหยี่ยวไฟไม่ได้จบลงเท่านั้น พวกเขายังมีงานด้านการป้องกันทั้งทำแนวกันไฟ การให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องวิธีการช่วยควบคุมไฟป่า รวมถึงสาเหตุการเกิดไฟไหม้ป่าที่ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ถึง 80% ทั้งการหาของป่า เผาไร่ และการแกล้งจุดจากความคึกคะนอง ในขณะที่ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งแม้จะมีการป้องกันไฟป่าได้ดีเพียงใด ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% แม้จะเป็นงานแบบปิดทองหลังพระ เนื่องจากต้องทำงานในป่า แต่เขายืนยันว่านี่เป็นสิ่งที่รักและจะทำไปตลอดชีวิต เพราะมากกว่าการเป็นอาชีพนั่นคือการได้ช่วยเหลือประชาชน และตอบแทนบุญคุณผืนป่าและแผ่นดินเกิด “ผมรักในอาชีพนี้ งานนี้ได้ช่วยเหลือประเทศ ผมภูมิใจมากครับ จะทำให้ดีที่สุด แม้จะไม่มีใครมองเห็น แต่เรารู้ว่าเราทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินเกิด ผมคิดว่าก็คงจะทำงานนี้ไปตลอดชีวิต” ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า รวดเร็วแข็งแกร่งหนักแน่นเฉียบแหลม ปณิธานของเหยี่ยวไฟต้องคือ รวดเร็ว แข็งแกร่ง หนักแน่น เฉียบแหลม ต้องพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ไหวพริบ ทักษะ การฝึกฝน และยังต้องอาศัยเครื่องมือและพาหนะเพื่อจะพาทีมไปถึงจุดหมายให้รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด โดยล่าสุดทีมเหยี่ยวไฟได้เริ่มใช้ “นาวารา PRO-4X” กระบะพันธุ์แกร่งจากนิสสันที่พร้อมลุยพาผู้กล้าทุก ๆ คนของทีมเหยี่ยวไฟปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ทีมคนกล้า ผู้พิทักษ์พงไพรจากไฟป่า คันเก่งเสริมทีมแกร่ง นิสสัน ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของภารกิจหน่วยเหยี่ยวไฟ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทรัพยากรธรรมชาติ จึงเสริมทีมด้วยการส่งมอบรถยนต์กระบะนิสสัน จำนวน 2 คัน และอุปกรณ์สนับสนุนชุดปฏิบัติงานพิเศษ อุปกรณ์สำหรับดับและไล่ควันไฟ เครื่องเป่าลม ด้วยไฟฟ้า ซึ่งในอดีตเครื่องเป่าลมใช้แหล่งพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง มีความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟ แต่ด้วยการสนับสนุนนี้ ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาป่า ป้องกันไฟป่า และเข้าไปดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย จะมีทั้งหน่วยเหยี่ยวไฟ และ ผู้สนับสนุนต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาแล้ว แต่งานนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบใครหรือหน่วยใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าลง ทั้งทางตรง คือการตระหนักถึงอันตรายของไฟป่า ลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเผาป่า และทางอ้อมคือการร่วมกันหยุดภาวะโลกร้อน ด้วยการปรับวิถีชีวิต ลดใช้พลังงาน หยุดทำลายสมดุลธรรมชาติ เพราะการกระทำสิ่งเล็ก ๆ ของเราสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ตามมา ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ว่าเกิดจากซีกใดในโลก ล้วนส่งผลเป็นวงกว้างต่อทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ข้อมูล : - ส่วนควบคุมไฟป่า : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (dnp.go.th) - การพยากรณ์สถานการณ์ไฟป่า (dnp.go.th) - Behavior of forest fire5.pdf