หน้ากากเสือ: นิยามของความหวังและความรักไร้เสียง

หน้ากากเสือ: นิยามของความหวังและความรักไร้เสียง
ถ้าพูดถึงชื่อของฮีโร่จากการ์ตูนที่เป็นขวัญใจและมีคาแรคเตอร์ตราตรึงผู้คนทุกยุคทุกสมัย เราเชื่อว่าชื่อของ ‘หน้ากากเสือ’ ผลงานจากปลายปากกาของ ‘อิกกิ คาจิวาระ’ (Ikki Kajiwara) วาดภาพประกอบโดย ‘นาโอกิ ทซึจิ’ (Naoki Tsuji) น่าจะเป็นหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่ถูกพูดถึงอย่างแน่นอน เพราะหน้ากากเสือเป็นตัวละครที่มีมิติของความเป็นมนุษย์สูงมาก คือไม่ดีและไม่เลวจนเกินไป ต่างจากพระเอกในการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะมีภาพแสดงของคนดีปกคลุมอยู่ตลอดเวลา หน้ากากเสือคือการ์ตูนที่พูดถึงเด็กกำพร้าชื่อ​ ‘ดาเตะ นาโอโตะ’ ซึ่งถูกลักพาตัวเพื่อไปฝึกเป็นนักมวยปล้ำตัวร้ายในสังกัด ‘ถ้ำเสือ’ องค์กรลับที่ขึ้นชื่อเรื่องการฝึกนรกและโหดร้ายป่าเถื่อนถึงขีดสุด โดยถ้ำเสือมีกฎสำคัญที่ระบุว่า นักมวยปล้ำต้องแบ่งเงินรางวัลจากการปล้ำครึ่งหนึ่งให้แก่พวกเขาโดยไม่มีข้อแม้  อย่างไรก็ตาม เมื่อหน้ากากเสือเดินทางกลับญี่ปุ่น และได้พบความจริงว่า ‘บ้านเด็กกำพร้าชิบิโกะ’ ที่เขาเคยอาศัยอยู่นั้นกำลังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เขาก็ตัดสินใจฝ่าฝืนกฎของถ้ำเสือ โดยนำรายได้มาช่วยปลดหนี้ให้บ้านหลังนี้แทน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ถ้ำเสือโกรธแค้นมากจนต้องส่งนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมมาไล่ล่าโดยหวังจะปลิดชีพหน้ากากเสือให้สิ้นซากต่อหน้าผู้ชมบนสังเวียน หน้ากากเสือถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1968 มีจำนวน 14 เล่ม และได้รับความนิยมอย่างสูงในเมืองไทยในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชันเมื่อปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท และเป็นผลงานแจ้งเกิดของ ‘นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ นั่นเอง ใครก็เป็นหน้ากากเสือได้ มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับหน้ากากเสือเกิดขึ้นในวันคริสต์มาส ปี ค.ศ. 2010 เมื่อมีชายปริศนานำกระเป๋านักเรียนมูลค่ารวมเกือบหนึ่งแสนบาทมาบริจาคให้กับศูนย์พัฒนาเด็กในจังหวัดกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยทิ้งข้อความเอาไว้ว่า ‘ฝากกระเป๋าเหล่านี้ให้เด็ก ๆ ด้วยนะ - ดาเตะ นาโอโตะ’​ จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันในปีต่อมาที่จังหวัดคานางาวะ เมื่อมีผู้บริจาคของและทิ้งข้อความไว้ว่า  “ของขวัญปีใหม่จากดาเตะ นาโอโตะ - การบริจาคที่กุนมะเมื่อปีที่แล้วทำให้ผมตื้นตันใจมาก ๆ มันคือสาเหตุที่ทำให้ผมอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเด็ก ๆ เช่นกัน” จากจุดดังกล่าวทำให้มีผู้บริจาคในนามของหน้ากากเสือกระจายไปทั่วประเทศมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งความสำคัญในเรื่องนี้ก็คือโดยวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นแล้ว พวกเขาค่อนข้างหวงแหนความเป็นส่วนตัวและไม่ค่อยอยากทำกิจกรรมที่ต้องเปิดเผยตัวตนมากนัก แม้จะเป็นกิจกรรมในด้านดีก็ตาม เห็นได้จากสถิติที่ระบุว่า มีคนญี่ปุ่นเพียง 52.5% เท่านั้นที่นิยมบริจาคเพื่อการกุศล (ในขณะที่อเมริกามีจำนวนสูงถึง 82.7%) ดังนั้นการบริจาคในนามหน้ากากเสือจึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากมีส่วนร่วมโดยไม่ประสงค์ออกนาม  หน้ากากเสือในโลกมวยปล้ำ ความนิยมในระดับโลกของหน้ากากเสือนำไปสู่คำถามตามมาทันทีก็คือทำไมถึงยังไม่มีหน้ากากเสือไปโลดแล่นอยู่ในสังเวียนมวยปล้ำจริง ๆ เสียที เพราะหากพูดกันตามตรงแล้ว ความนิยมของหน้ากากเสือในการ์ตูนมีมากกว่านักมวยปล้ำระดับท็อปของโลกบางคนด้วยซ้ำ  จากจุดดังกล่าวทำให้สมาคม New Japan Pro Wrestling (NJPW) เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์นี้ในปี ค.ศ. 1980 ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ สมาคมต้องการเปิดตัวนักมวยปล้ำที่ใช้สไตล์การปล้ำแบบเม็กซิโก (Lucha Libre) ซึ่งเน้นความคล่องแคล่วว่องไว ลดข้อจำกัดเรื่องขนาดตัวเพื่อให้คนตัวเล็กสามารถต่อสู้กับคนตัวใหญ่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และอีกเหตุผลคือสมาคมต้องการให้นักมวยปล้ำคนนี้เป็นกระแสทันที ไม่อยากเสียเวลาหลายปีเพื่อปลุกปั้นตามธรรมเนียมเดิมของมวยปล้ำญี่ปุ่น ดังนั้นก็คงไม่มีวิธีใดที่จะเหมาะสมไปกว่าการดึงหน้ากากเสือออกมาจากหนังสือการ์ตูนอีกแล้ว ‘ซาโตรุ ซายามะ’ (Satoru Sayama) ผู้รับบทหน้ากากเสือคนแรก (ค.ศ. 1981 - 1983) เล่าว่าการรับบทหน้ากากเสือนั้นยากมาก เพราะถ้าเป็นนักมวยปล้ำที่เพิ่งเปิดตัวคนอื่น ๆ ผู้ชมจะไม่คาดหวังมากนัก สามารถทำผิดพลาดหรือใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองได้เลยเต็มที่ แต่กับเขาที่ต้องมารับบทหน้ากากเสือ ผู้ชมจะคาดหวังให้เขาสมบูรณ์แบบ ห้ามผิดพลาด และพร้อมขึ้นไปเป็นแชมป์โลกทันทีตั้งแต่วันแรก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีแฟนการ์ตูนจำนวนมากที่เชื่อว่าหน้ากากเสือบนสังเวียนเป็นคนที่ถูกฝึกแบบมหาโหดมาจากถ้ำเสือจริง ๆ ดังนั้นหากเขาสามารถตอบสนองความคาดหวังของคนดูได้ก็รอดตัวไป แต่หากเขาทำไม่ได้ กระแสด้านลบที่ตีกลับเข้ามาก็อาจทำให้เขาหมดอนาคตในวงการมวยปล้ำไปเลยเช่นกัน  หน้ากากเสือขึ้นปล้ำด้วยฉายา ‘มัจจุราชสีเหลือง’ (Yellow Devil) ด้วยภาพแสดงอันเหี้ยมโหดและปมในใจที่สืบเนื่องมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของถ้ำเสือ เขาออกไปต่อสู้อย่างกลัดกลุ้มโดยหวังว่า การนำรายได้ไปบริจาคให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจะช่วยเยียวยาให้ตนมีคุณค่ามากขึ้น แม้ต้องพาชีวิตไปอยู่ใกล้กับความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม  แต่หากเรามองให้ทะลุเข้าไปในฐานะของความเป็นมนุษย์ เราจะเข้าใจว่าสภาวะของ ‘การสวมหน้ากาก’ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวพวกเราเลย เพราะเราต่างกำลังสวมบททั้งเล็กทั้งใหญ่ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นสุดท้ายแล้ว คำตอบจริง ๆ ของเรื่องนี้ไม่ใช่ว่า ‘ใคร ๆ ก็เป็นหน้ากากเสือได้’ แต่มันคือความจริงที่ว่า ‘ใคร ๆ ก็เป็นคนดีได้’ ไม่ว่าจะถูกจำกัดชีวิตอยู่ในบริบทใดก็ตามต่างหาก เรื่อง: ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ภาพ: https://www.imdb.com/title/tt0206516/