จอห์น เคจ: บทเพลงแห่ง ‘ความเงียบงัน’ ที่สอนว่าโลกนี้จะไม่มีวันไร้เสียงดนตรี

‘เสียงดนตรี’ เป็นความคุ้นชินของคนบนโลก เมื่อเพลงสักเพลงบรรเลงขึ้น เรามักรู้กันว่าเบื้องหลังสุ้มเสียงเพราะ ๆ เหล่านั้น คือเหล่าตัวโน้ตที่ประกอบกันอย่างมีระบบระเบียบ ตัวโน้ตที่ประกอบกันเป็นคอร์ด การเต้นรำของคอร์ดประกอบกันเป็นห้องเพลง บทสนทนาระหว่างห้องเพลงร้อยรัดทุกจังหวะและเมโลดี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นเพลงหนึ่งบทที่เพลิดเพลินและเร้าอารมณ์ - แต่นั่นไม่ใช่นิยามดนตรีของ ‘จอห์น เคจ’ (John Cage) ชายผู้เชื่อว่า ‘เสียง’ ทุกเสียงคือดนตรี และโลกใบนี้ก็เต็มไปด้วยบทเพลงที่มนุษย์ไม่อาจเล่น และไม่ได้จงใจที่จะเล่น
นี่คือเรื่องราวของเขา และ ‘4’33”’ ดนตรีไร้เหล่าตัวโน้ตซึ่งเขาสร้างขึ้นมา
วูดสต็อก, มหานครนิวยอร์ก, ปี 1952 ท่ามกลางโรงเพลงที่ดัดแปลงจากโรงนา เบื้องบนคือหลังคา ด้านหลังคือพื้นที่เปิดโล่ง โอบล้อมด้วยสีเขียวของหมู่ไม้และกลิ่นอายธรรมชาติ ที่แห่งนั้นคือเวทีซึ่ง ‘จอห์น เคจ’ กล่าวกับโลกผ่าน ‘บทเพลงแห่งความเงียบงัน’ (Silent Piece) ว่า ‘ความเงียบไม่มีจริง’
‘บทเพลงแห่งความเงียบงัน’ คือชื่อกึ่งนิยามที่มันมักถูกเรียกขาน โดยชื่อที่แท้จริงของบทเพลงที่ว่าคือ ‘4’33”’ - ตั้งตามเวลาสุทธิที่เพลงเพลงนี้บรรเลงเล่น - 4’33” คือผลงานเอกของจอห์น เคจ ที่อาจจะเรียกได้ว่ามันปฏิวัติวงการดนตรีสมัยใหม่ในยุคหนึ่ง และกลายเป็นผลงานคลาสสิกที่ควรค่าแก่การศึกษาในอีกยุค 4’33” เป็นทั้งคำตอบและคำถามที่อาจพลิกโฉมทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับดนตรี - เพราะตลอดสี่นาทีสามสิบสามวินาทีของบทเพลงนี้ คือการ ‘ไม่เล่นอะไรเลย’
ไม่มี ‘เสียงเครื่องดนตรี’ สักเสี้ยวในวันที่ 29 สิงหาคม ปี 1952 เมื่อจอห์น เคจ นักทดลองทางดนตรีเผยแพร่ผลงานสำคัญชิ้นนี้ของเขาเป็นครั้งแรก ต่อหน้านักฟังผู้มีเกียรติเป็นถึงผู้สนับสนุนในมูลนิธิเพื่อคนดนตรีร่วมสมัย นักเปียโนคู่ใจของเคจอย่าง ‘เดวิด ทูดอร์’ (David Tudor) นั่งลงหน้าเปียโน เบื้องหน้ามีแผ่นโน้ตดนตรีที่ไร้ซึ่งตัวโน้ตใด ๆ
4’33” แสดงความหมายถึงระยะเวลาของเพลงที่ยาวสี่นาทีสามสิบสามวินาที โดยแบ่งการแสดงออกเป็นสามช่วง แต่ละช่วงมีความยาวต่างกัน ช่วงแรก 33 วินาที ช่วงที่สอง 2 นาที 30 วินาที และช่วงสุดท้าย 1 นาที 40 วินาที แต่ละช่วงหรือแต่ละ ‘องก์’ ถูกแบ่งออกจากกันด้วยการปิดและเปิดฝาครอบคีย์เปียโน ‘ปิด’ แปลว่าเริ่มองก์ และ ‘เปิด’ แปลว่าจบองก์
องก์ที่สามจบลงแล้ว เดวิด ทูดอร์ยืนขึ้นและโค้งปิดการแสดงเพลงโดยที่ยังไม่ทันได้แตะปลายนิ้วกับลิ่มเปียโนแม้แต่ครั้งเดียว
ท่ามกลางผู้คนที่บ้างยังงุนงง บ้างรู้สึกขัดใจที่ไม่ได้ฟังเพลงอย่างต้องการ บ้างรู้สึกถูกสบประมาทจนผลุนผลันออกจากโรงเพลงไปก่อนจบองก์สุดท้าย เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงการแสดงดนตรีที่ไร้เสียงดนตรีชิ้นนี้แพร่ขยายไปทั่ว ผู้คนเริ่มเรียกมันว่า ‘บทเพลงแห่งความเงียบงัน’ ขณะที่จอห์น เคจ ส่ายหน้า พร้อมทั้งบอกว่า 4’33” ของเขาเป็นคนละอย่างกับความเงียบ เพราะ ‘ความเงียบไม่มีจริง’
ขณะที่ผู้คนมากมายเพ่งเล็งไปที่การไร้เสียงเครื่องดนตรีของ 4’33” จอห์น เคจเล่าว่าผู้ฟังของเขาพลาด ‘เสียง’ มากมายไปอย่างมีนัยสำคัญ
“เสียงลมที่พัดผ่านจากภายนอกในองก์แรก เสียงเม็ดฝนกระทบหลังคาดีบุกในองก์ที่สอง รวมไปถึงเสียงของเหล่าผู้ฟังที่ดังขึ้นในองก์สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเสียงกระซิบกระซาบ พูดคุย เสียงบ่นสบถ เสียงฝีเท้าที่ย่ำเดินออกจากโรงเพลง ไม่ว่าจะมีการเล่นเครื่องดนตรีหรือไม่ เสียงดนตรีกลับไม่เคยหยุดลง” จอห์น เคจกล่าว
ในยุคที่ผู้คนคุ้นเคยกับ ‘Muzak’ หรือดนตรีตามห้างและสถานที่สาธารณะ ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยบริษัท Muzak Corporation ด้วยเหตุแห่งกำไร มหานครนิวยอร์กจึงเต็มไปด้วยเสียงเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเรียบเรียงเป็นบทเพลงบรรเลงหรือเพลงมีเนื้อร้อง จอห์น เคจ ไม่เชื่อว่าเสียงที่ถูกร้อยเรียงมาอย่างประณีตเหล่านั้นจะงดงามละเมียดละไม หรือมีจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ไปกว่าเสียงการสั่นสะเทือนที่มีอยู่ทั่วไปบนโลก เสียงร้องของนกที่ร่อนระเหนือเมือง เสียงหวดหวนของลม เสียงพูดคุยยากจับศัพท์ หรือเสียงเกือกกระทบถนนยามคนย่ำเท้า
เคจเป็นนักประพันธ์ผู้รักการสร้างเสียงดนตรีใหม่ ๆ มาอย่างยาวนาน ได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิดาดา, ผลงาน ‘The Art of Noises’ ของ Luigi Russolo ที่เล่าถึงดนตรีวิถีเซน, หนังสือ ‘I Ching’, แนวคิดเกี่ยวกับดนตรีจากอินเดีย สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ทำให้เขาเบนความสนใจจากการสร้างเสียงดนตรีใหม่ ๆ จากสิ่งที่ผู้คนเรียกว่า ‘เสียงรบกวน’ (noise) สู่การค้นหาดนตรีในสิ่งที่ผู้คนเรียกว่า ‘ความเงียบงัน’
เคจค้นพบข้อเท็จจริงของศาสตร์แห่งความเงียบที่กลายเป็นแนวคิดหลักของ 4’33” ในปี 1950 เมื่อเขาได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเงียบที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง ‘ห้องแอนโชอิก’ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในห้องที่ควรไร้เสียงอย่างสิ้นเชิง เคจกลับได้ยินเสียงสองเสียง คือเสียงย่านสูงและเสียงย่านต่ำ; สองเสียงจากระบบประสาทและการไหลเวียนโลหิตของเขานั่นเองที่ทำให้เขารู้ว่าความเงียบไม่มีอยู่จริง
“เสียงดนตรีไม่เคยหยุดลง มนุษย์เราแค่หยุดฟัง”
หนึ่งแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ที่เคจเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือน ‘คำอนุญาต’ ให้เขาสร้างผลงาน 4’33” แล้วมอบมันแก่โลกนั้นเป็นภาพบนผืนผ้าใบในอาร์ตแกลเลอรี - ผลงาน ‘โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก’ (Robert Rauschenberg) นั่นเองที่สะกิดใจเขา ผ้าใบสีขาวล้วน ไม่มีภาพอะไรนอกจากสีขาว แต่แม้มันจะขาวหมดจดจนไร้ภาพอย่างนั้น เมื่อแสงเปลี่ยนทิศ เงาที่ตกกระทบบนผืนผ้าก็เปลี่ยนทีท่า ภาพที่ปรากฏตามการเคลื่อนไหวที่ไม่อาจจับแตะได้เหล่านั้นราวกับ ‘สนามบินแห่งแสงและเงา’ สำหรับเคจ และทำให้เขาคิดได้ว่าการปฏิวัติโลกดนตรีของเขาตามหลังโลกแห่งภาพเขียนเสียแล้ว และเขาต้องทำอะไรสักอย่าง
4’33” กลายเป็นรากแห่งงานเพลงของเคจนับจากนั้น ปี 1962 เคจประพันธ์ ‘0’0”’ หรือ 4’33” หมายเลข 2 ขณะที่ปี 1989 สามปีก่อนเสียชีวิต เคจก็ได้สร้างสรรค์ ‘One = 4’33” (0’0”) +’ หรือ 4’33” ฉบับสุดท้ายขึ้นมาอีก
สำหรับผู้เขียน 4’33” ของเคจเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าในฐานะผลงานชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรี ขณะเดียวกันมันก็สวยงามอย่างยิ่งด้วย - การบอกกล่าวแก่ผู้คนว่าทุกสรรพเสียงที่อยู่รายล้อมรอบกายเราคือดนตรี และชี้ชวนให้เราเงี่ยหูฟังเสียงต่าง ๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ในความเงียบนั้นอาจพาเราไปเจอความไพเราะที่ไม่คาดคิดเข้าก็ได้
และบางที เราอาจจะเจอเสียงที่ทำให้เชื่ออย่างจอห์น เคจ เชื่อ
ว่า (สิ่งที่เราอาจเรียกว่า) ความเงียบงันนั้นงดงามไม่ต่างจากเสียงดนตรี
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ
ที่มา: https://www.britannica.com/biography/John-Cage
https://rosewhitemusic.com/piano/writings/silence-taught-john-cage/
https://www.wsj.com/articles/john-cage-4-33-david-tudor-silence-avant-garde-11636142799
https://www.vpr.org/programs/2017-03-13/timeline-john-cages-433-and-what-silence-sounds-like
https://www.mentalfloss.com/article/59902/101-masterpieces-john-cages-433
ภาพ: (Photo by Ben Martin/Getty Images)