The Girl From Ipanema: บอสซาโนวา สาวน้อย และสวรรค์ริมหาดทราย

The Girl From Ipanema: บอสซาโนวา สาวน้อย และสวรรค์ริมหาดทราย
ด้วยดีกรีบทเพลงที่ถูกบันทึกเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Yesterday ของคณะ The Beatles แสดงให้เห็นว่าบทเพลง The Girl From Ipanema นั้นถูกรักจากโลกอย่างไร - จังหวะเคาะโยกย้ายที่ระบายด้วยเปียโนและเครื่องเป่า เคล้าปลายนิ้วที่ดีดเปลือยเปล่าโดยไม่ใช่ปิ๊กกับสายไนลอนของกีตาร์ และเสียงร้องเปี่ยมเสน่ห์ ซึ่งบรรจุในเวอร์ชันที่หลายคนคุ้นหู พาให้เพลงชมสาวงามแห่งอิปาเนมาเพลงนี้ ยังคงได้รับความนิยมอยู่แม้ผ่านช่วงเวลามานานกว่า 5 ทศวรรษ หากเล่าโดยย่อ ที่มาของ ‘สาวน้อยในอิปาเนมา’ เกิดขึ้นเมื่อนักดนตรีสองชีวิตกำลังเอนหลังดื่มเหล้าแกล้มบรรยากาศริมหาดอิปาเนมา และบังเอิญมีเด็กสาว ‘สูงยาว ผิวแทน ยังเยาว์ และน่ารักจับตา’ เยื้องย่างผ่านพวกเขาไป เธอบันดาลใจให้ ‘มอร์เรส์’ เขียนเนื้อร้องเพลงนี้ ส่วน ‘โจบิม’ เรียบเรียงดนตรี คำบอกเล่าเพียงเท่านี้อาจเพียงพอต่อความเข้าใจ แต่เพื่อให้ภาพฉายของสาวน้อยผู้ย่างกราย และการรังสรรค์สวรรค์ทรายในบราซิลชัดเจนและงามตาขึ้น ก็อาจต้องเท้าความยาวกว่านั้น   บอสซาโนวาแสนรัก ย้อนกลับไปในยุค 60’s ‘The Girl From Ipanema’ คือบทเพลงแรก ๆ ที่วาดสีสันแนวดนตรี ‘บอสซาโนวา’ (Bossa Nova) ให้ติดหูติดตาและเป็นที่คลั่งไคล้ของคนทั้งโลก โดยประวัติศาสตร์แห่งดนตรีแขนงนี้ เริ่มต้นเมื่อปลายยุค 50’s ท่วงทำนองระอุไออุ่นเหล่านั้นเกิดขึ้นที่อดีตเมืองหลวงของบราซิลอย่างริโอ (ชื่อเต็ม รีโอเดจาเนโร) ท่ามกลางแมกไม้เมืองร้อน และเสียงคลื่นซัดหาด มันพัฒนามาจากดนตรีพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของบราซิลอย่าง ‘แซมบา’ โดยผู้ที่ถูกยกย่องเป็นสอง ‘ราชา’ แห่งแนวดนตรีบอสซาโนวา ได้แก่ ‘แอนโทนิโอ คาร์ลอส โจบิม’ และ ‘จาว จิลแบร์โต’ (João Gilberto) ‘บอสซาโนวา’ แปลได้ว่า ‘คลื่นลูกใหม่’ ประกอบด้วยจังหวะเริงรื่นและไออุ่นแบบซอฟต์แซมบา ผสานความนุ่มเย็นหวานเจือเศร้าของอเมริกันคูลแจ๊ซ เคล้าด้วยคำร้องภาษาโปรตุเกสที่มักพูดถึงระยับเม็ดทราย กลิ่นอายโรแมนติก และความยวนใจในการรื่นรักทำนองเกาะสวาทหาดสวรรค์ นักดนตรีชาวอเมริกันที่เผยแพร่ความงามของบอสซาโนวาให้ออกนอกบราซิลก่อนใคร คือนักกีตาร์แจ๊ซนาม ‘ชาร์ลี เบิร์ด’ (Charlie Byrd) ที่ต้องมนตร์บอสซา และชวนนักเป่าแซกโซโฟนอย่าง ‘สแตน เก็ตส์’ (Stan Getz) มาร่วมสร้างสรรค์อัลบั้ม ‘Jazz Samba’ (1962) และบันทึกลงแผ่น มันได้กลายเป็นอัลบั้มยอดฮิตในสหรัฐอเมริกา มีบทเพลงเด่นเป็น ‘Desafinado’ ที่คัฟเวอร์จากต้นฉบับของโจบิม อีกไม่นานหลังจากนั้น เกาะสวาทหาดอิปาเนมาจึงกลายเป็นสถานที่ที่คนทั้งโลกอยากเดินย่ำให้ทรายกระเซ้าขา เมื่อปี 1962 นั่นเองที่ ‘แอนโทนิโอ คาร์ลอส โจบิม’ และ ‘วินนิเชียส เดอ มอร์เรส์’ (Vinicius de Moraes) รังสรรค์ ‘The Girl From Ipanema’ มาประดับโลกด้วยความงามของสาวน้อยชาวบราซิล   เธอผู้งดงามและพวกเขาผู้เป็นกวี โจบิม เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และคอมโพสเซอร์มากพรสวรรค์ชาวบราซิล เขาเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 14 เขาทำงานกับศิลปินมากมาย และสร้างสรรค์, เรียบเรียงดนตรีให้แก่ศิลปินเหล่านั้นจนฝีมือเป็นที่ประจักษ์ ส่วนมอร์เรส์นั้นเล่า - เขาเป็นนักการทูต กวี และนักเขียนเนื้อเพลงชาวบราซิล อิปาเนมาเป็นย่านแฟชั่นในริโอ ย่านริมหาดดังกล่าวไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรนัก กระทั่งวันที่บทเพลง ‘สาวน้อยในอิปาเนมา’ ปรากฏตัว - สาวน้อยคนนั้นเป็นใครกันเล่า? โฉมงามใดที่ทำให้มอร์เรส์ต้องเขียนเนื้อเพลงภาษาโปรตุเกส ที่ถอดความเป็นไทยได้ว่า ‘สูง ผิวแทน ยังเยาว์ และน่ารักต้องตา ยามเธอเดินผ่านมาก็เกี่ยวไปซึ่งใจคน’? ‘เฮโล ปินเยโร’ (Halo Pinheiro) ไม่ใช่เด็กสาวย่านอิปาเนมา ทว่าบ้านของเธออยู่ย่านข้างเคียงอย่างมอนเทเนโกร (Montenegro) สาเหตุที่โจบิมและมอร์เรส์พบเธอเดินย่ำผ่านหน้าบาร์เวโลโซที่พวกเขามักแวะเวียนไปพักผ่อนหย่อนใจอยู่บ่อยครั้ง ก็เป็นเพียงการเดินไป - กลับระหว่างทางไปซื้อข้าวของ, โดยเฉพาะบุหรี่ ให้แม่ของเธอเท่านั้น ถึงอย่างนั้น ท่าทางย่างก้าวของเด็กสาวอายุสิบแปดในชุดบิกินีผู้นี้ ก็ตรึงใจสองหนุ่มผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีเข้าอย่างจัง เมื่อหาดทราย เสียงเพลง สายลม และการชมหนึ่งหญิงที่ต้องตา ผนวกกัน ถ้อยคำงดงามจึงได้ถ่ายทอด และเมื่อโจบิมกับมอร์เรส์พกเพลงนี้เข้าสตูดิโอ เวทมนตร์เล็ก ๆ ก็เกิดขึ้น   มนตร์อิปาเนมา ‘The Girl From Ipanema’ นั้นเคยบันทึกเสียงและวางขายแล้วโดยศิลปิน ‘เปรี ริไบโร’ (Pery Ribeiro) ก่อนที่เพลงนี้จะเดินทางมาถึงมือของจาว จิลแบร์โต และสแตน เกสต์ ในคราวที่พวกเขากำลังสร้างสรรค์อัลบั้ม ‘Getz/Gilberto’ อยู่นั่นเอง พร้อมด้วยเนื้อเพลงที่ถูกเขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยฝีมือ ‘นอร์แมน กิมเบล’ (Norman Gimbel) และเสียงร้องหวานหูของ ‘แอสทรูด จิลแบร์โต’ (Astrud Gilberto) ภรรยาของจาว บทเพลงนี้ก็ทะยานสู่ผู้ฟัง ไม่เพียงชาวบราซิลและอเมริกันชน หากคนทั้งโลกก็ถึงคราวได้รู้จักและหลงรักบทเพลงบอสซาโนวา ที่เล่าถึงหญิงงามแห่งอิปานามากันโดยพร้อมเพรียง บทเพลงนี้ได้รางวัลเพลงแห่งปีจากเวทีแกรมมีอวอร์ด ในปี 1964 ส่วนอัลบั้ม ‘Getz/Gilberto’ เองก็ได้รางวัล Best Jazz Performance และสาขา Album of the Year ไปครอบครอง เช่นเดียวกับตำแหน่งเพลงที่ถูกบันทึกเสียงมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ‘The Girl From Ipanema’ ยังเป็นเพลงที่ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์บ่อยครั้ง และกลายเป็นเพลงที่ใช้ในพิธีเปิด Summer Olympics ปี 2016 ที่จัดขึ้นในริโออีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะแจ้งเกิดแนวดนตรีบอสซาโนวาให้โลกประจักษ์ เพลงนี้ยังเป็นเพลงคลาสสิกที่โด่งดังแบบไม่เลือนหายไปตามสมัย และไม่ว่ามันจะถูกเปิดเมื่อไร ก็ทำให้นึกถึงภาพชายหาดสวย ๆ และหญิงสาวที่งดงามอยู่คู่เคียงกันไม่สร่างซาได้ทุกครั้งไป   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.songfacts.com/facts/stan-getz-and-astrud-gilberto/the-girl-from-ipanema https://performingsongwriter.com/girl-from-ipanema/ https://theculturetrip.com/south-america/brazil/articles/the-mystery-behind-the-girl-from-ipanema/ https://www.udiscovermusic.com/stories/bossa-nova-history-brazil/ https://www.facebook.com/291220404790/posts/10158002091684791/?d=n