‘ศุภชัย ใจเด็ด’ และ ‘เอเลียส ดอเลาะ’ 2 ประตูในจารึกแห่งชัยชนะ ทีมชาติไทยเชื้อสายมลายู

‘ศุภชัย ใจเด็ด’ และ ‘เอเลียส ดอเลาะ’  2 ประตูในจารึกแห่งชัยชนะ ทีมชาติไทยเชื้อสายมลายู

‘ศุภชัย ใจเด็ด’ และ ‘เอเลียส ดอเลาะ’ 2 ประตูในจารึกแห่งชัยชนะ ทีมชาติไทยเชื้อสายมลายู

ฟุตบอลชิงแชมป์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 เป็นครั้งที่ต้องจารึกว่าคนทำ 2 ประตูให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติสิงคโปร์คาบ้านเป็นลูกยิงจากฝีเท้าเด็กหนุ่มเชื้อสายมลายูมุสลิมชายแดนใต้ทั้งคู่ ทั้ง ‘เอเลียส ดอเลาะ’ จากจังหวัดนราธิวาส และ ‘ศุภชัย ใจเด็ด’ จากจังหวัดปัตตานี ทว่าทั้ง 2 คนมีความแตกต่างกันตรงจุดเริ่มต้นในโลกลูกหนัง กว่าจะเติบโตเป็นนักเตะอาชีพทุกวันนี้  จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือดินแดนด้ามขวานทองที่สื่อไทยเรียกกัน ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นับแต่มกราคม 2547 ทำให้ความรู้สึกถูกแบ่งแยกด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมจากเพื่อนร่วมชาติไม่น้อย แม้ความหวาดระแวงคลี่คลายลงบ้างในช่วงหลัง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ คนชายแดนใต้เชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลามต้องเผชิญกับสายตาที่เป็นอื่นมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจริง ๆ แล้ว ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีแต่คนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเดียว ในอดีตทีมชาติไทยชุดใหญ่เคยมีชื่อนักฟุตบอลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้หลายคน ไม่ว่าตำนานอย่าง ‘บุญเลิศ เอี่ยวเจริญ’ กองหน้าทีมชาติไทย ชาวปัตตานี  สังกัดสโมสรราชประชา (รุ่นเดียวกับ เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง กับ ดาวยศ ดารา)  ‘วิทยา นับทอง’ รุ่นเดียวกับ ‘บูคอรี ดือเระ’ กองหลังทีมชาติไทยชาวปัตตานีทั้งคู่ ซึ่งเคยสังกัดบีอีซี เทโรศาสน ยุครุ่งเรือง หรือแม้กระทั่ง ‘ตามีซี หะยียูโซะ’ ขณะยังค้าแข้งกับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เคยถูกเรียกเข้าแคมป์ทีมชาติในยุค วินเฟรด เชฟเฟอร์ ฯลฯ นั่นหมายถึงในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของชายแดนใต้ ความฝันภายใต้กลิ่นสาบลูกหนังของเด็ก ๆ ได้ขจรขจายไปทั่วเรือกสวนไร่นา เชิงเขา และชายทะเล มีเยาวชนจำนวนมากที่รักฟุตบอล อยากเตะฟุตบอลอาชีพ และอยากมีชื่อติดทีมชาติไทย ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะของชีวิตเท่านั้น แต่การสร้างตำนาน 2 ประตูที่พาทีมชาติไทยชุดใหญ่เอาชนะคู่แข่งในทัวร์นาเมนต์สำคัญ นับเป็นครั้งแรกที่เอเลียสและศุภชัยได้จารึกประวัติศาสตร์เอาไว้ให้นักเตะจากดินแดนปลายด้ามขวาน ซึ่งจะเป็นการจุดไฟฝันครั้งสำคัญของเยาวชนรุ่นหลังในชายแดนใต้   ‘ศุภชัย ใจเด็ด’ และ ‘เอเลียส ดอเลาะ’  2 ประตูในจารึกแห่งชัยชนะ ทีมชาติไทยเชื้อสายมลายู ‘ศุภชัย ใจเด็ด’ ย้อนไปในอดีต เขาคือเด็กชายรูปร่างผอมบางเหมือนเยาวชนชายแดนใต้จำนวนมากที่ชอบฟุตบอล แต่ขาดโอกาสฝึกปรืออย่างเป็นระบบ จึงวิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลไปเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย เขาไม่เคยคิดถึงฟุตบอลอาชีพเลยสักครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้ใหญ่แถวบ้านเห็นแววจึงชวนไปฝึกซ้อมที่สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี นั่นทำให้เขาได้พบกับโค้ชคนแรกในชีวิตที่จับตาจังหวะการเคลื่อนไหวของเด็กชายศุภชัย “อาจารย์เสรี เบญอาเหม็ด เป็นโค้ชคนแรกของผม แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนที่เก่งอะไรมากนัก แต่ผู้ชายคนนี้ก็เต็มไปด้วยหัวใจที่รักฟุตบอล และคอยสนับสนุนผมแทบทุกอย่าง” ศุภชัยเคยกล่าวยกย่องถึงโค้ชคนแรกในชีวิตของเขาไว้ เขามุ่งมั่นฝึกฝนทักษะฝีเท้าตามที่โค้ชแนะนำ จนกระทั่งอายุ 10 ขวบก็มีโอกาสคัดตัวเข้าร่วมสโมสรสันติภาพ เอฟซี ที่ ‘เรย์ แมคโดนัลด์’ นักแสดงชื่อดังลงไปคลุกคลีเพื่อมอบโอกาสให้เยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ไปตระเวนแข่งรายการนานาชาติที่สวีเดน เหมือนกับที่เรย์เองเคยได้รับโอกาสจาก ‘สุเมธ แก้วทิพยเนตร’ ให้ร่วมทีมเยาวชนธำรงไทยสโมสร เพื่อไปแข่งโกเธียคัพที่สวีเดน (1986 - 1987) ศุภชัยจึงเคารพรักเรย์เหมือนพ่อคนหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีเรย์ แมคโดนัลด์ ก็ไม่มีศุภชัย ใจเด็ด ในวันนี้ กลับจากสวีเดน ศุภชัยที่ค้นพบไฟฝันในใจตัวเองว่าอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพและอยากต่อยอดความฝันด้านนี้ไปให้สุดทาง แถมได้รับแรงสนับสนุนจากหนึ่งในสตาฟโค้ชที่กลับจากสวีเดนด้วยกันให้ไปคัดตัวที่โรงเรียนดังในกรุงเทพฯ ศุภชัยจึงเดินไปบอกแม่ด้วยเหตุผลสำคัญคือ หากเขาคัดติดจะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้อย่างมาก เมื่อแม่อนุญาต เขาก็หิ้วรองเท้าสตั๊ดขึ้นรถไฟสู่กรุงเทพมหานคร จะว่าไป วิถีลูกหนังของเด็กชายจากภูธรต่างมีเส้นทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก หากต้องการเอาดีด้านนี้ให้ถึงที่สุด ก็ต้องเข้ามาล่าฝันในเมืองหลวง ในอดีตก่อนจะมีฟุตบอลระบบอาชีพเช่นปัจจุบัน นักฟุตบอลภูธรที่มีความมุ่งมั่นในเส้นทางฟุตบอลแทบทุกคนต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาโรงเรียนคัดตัว โดยเฉพาะในเครือจตุรมิตร หากคัดผ่านจะได้ทุนการศึกษาเรียนฟรี มีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือนที่พออยู่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่มีพื้นฐานครอบครัวยากจน หนทางนี้หากพัฒนาฝีเท้าได้ดี ผสมกับโชคชะตาเข้าช่วยบ้างก็เป็นการแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มาก   การได้เล่นในโรงเรียนดัง นอกจากมีทัวร์นาเมนต์ระดับนักเรียนให้เล่นต่อเนื่อง ยังเป็นใบเบิกทางสู่ทีมชาติชุดเยาวชน และอยู่ในสายตาของสโมสรใหญ่เพื่อโอกาสคัดตัวเข้าสู่ระบบ ‘กึ่งอาชีพ’ อีกที เพราะก่อนหน้านั้น ฟุตบอลไทยเป็นระบบกึ่งอาชีพ ตั้งแต่ยุคถ้วยพระราชทานประเภท ก จนถึงช่วงไทยลีกยุคแรกที่ใช้ชื่อ ‘จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก’ ที่เตะฤดูกาลแรกปี 2539 - 2540 ซึ่งสโมสรส่วนใหญ่เป็นองค์กรของรัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ หากคัดติดจะได้บรรจุเป็นพนักงาน เช่น ทหารอากาศ ราชนาวี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ เป็นความมั่นคงในอาชีพหน้าที่การงานที่สำคัญต่อการอุ้มชูดูแลครอบครัวแลกกับการได้เตะฟุตบอล แต่สโมสรทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเดียว ทำให้ช้างเผือกจำนวนมากที่ไม่มีใครสนับสนุนต้องหลุดหายไปในสารบบของฟุตบอลไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งต่างจากระบบฟุตบอลอาชีพปัจจุบัน นักฟุตบอลได้สัญญาอาชีพมีเงินเดือนเลี้ยงตัวเองสูงลิ่ว สโมสรอาชีพก็กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น แต่ระบบเยาวชนที่ยังไม่พัฒนามากนักเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้ศุภชัยต้องขึ้นรถไฟจากปัตตานีเช่นเดียวกับนักฟุตบอลรุ่นก่อน ซึ่งสุดท้ายเขาคัดติดทีม ‘สิงห์เอกมัย’ โรงเรียนปทุมคงคา โลกใบใหม่ที่เขาเกือบถอดใจ เพราะมาตรฐานฟุตบอลที่สูงกว่าสมัยวิ่งไล่เตะกับเพื่อน ๆ ที่ปัตตานี แต่ศุภชัยก็กัดฟันสู้จนจบการศึกษา ทั้งได้รับการสนับสนุนจาก ‘โค้ชโต่ย’ ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย ที่มองเห็นแววเด็กหนุ่มร่างผอมสูง ทำให้ศุภชัยได้สัญญาอาชีพแรกจากสโมสรโอสถสภา ก่อนจะย้ายมาสร้างชื่อกับสโมสรใหญ่อย่างบุรีรัมย์ยูไนเต็ดถึงปัจจุบัน มีเกร็ดส่วนตัวอีกเล็กน้อยของศุภชัย ใจเด็ด ที่เจ้าตัวเก็บไว้ในใจมายาวนานด้วยอารมณ์ตลก คือเขามักจะเป็นตัวเลือก ‘คนสุดท้าย’ เสมอ สมัยคัดตัวที่โรงเรียนปทุมคงคา รายชื่อ 9 คนแรกไม่มีชื่อของเขาจนเจ้าตัวปาดน้ำตาอยากกลับบ้าน แต่มีคนมาบอกว่าชื่อของเขาเป็นคนที่ 10 คนสุดท้ายที่ถูกทำตกหล่นไป หรือสมัยทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ลงทำศึกชิงแชมป์อาเซียนที่ประเทศลาว ก็เป็นคนที่ถูก ‘โค้ชจุ่น’ อนุรักษ์ ศรีเกิด เรียกเป็นรายชื่อสุดท้ายเข้ามาในทีม แต่เป็นทัวร์นาเมนต์แจ้งเกิดของตัวเขาเองในนามทีมชาติด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น   ‘ศุภชัย ใจเด็ด’ และ ‘เอเลียส ดอเลาะ’  2 ประตูในจารึกแห่งชัยชนะ ทีมชาติไทยเชื้อสายมลายู ส่วน ‘เอลเลียส ดอเลาะ’ เป็นลูกชายของคุณพ่อชาวนราธิวาส ‘อิสมาแอล ดอเลาะ’ กับคุณแม่ชาวสวีเดน ชื่อเต็มคือ ‘ยูเซฟ เอเลียส (อิลยาส) ดอเลาะ’ สมัยเด็ก ๆ เขามาเติบโตและเรียนหนังสือช่วงสั้น ๆ ที่นราธิวาสก่อนย้ายกลับไปสวีเดน และเริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลกับทีมอคาเดมี่ของสโมสรคาลบี้ ก่อนที่แมวมองของสโมสรลุนด์ส บีเค (Lunds BK) ทีมในดิวิชั่น 1 ลีกรองของสวีเดนดึงตัวไปร่วมทีม ซึ่งเป็นนักเตะระดับเยาวชนเพียงคนเดียวที่สโมสรซื้อตัวในปีนั้น พร้อมกับการแต่งตั้งให้เป็นกัปตันทีมเยาวชนของสโมสร โดยเอเลียสนำทีมเยาวชนของลุนด์ส บีเค คว้าแชมป์ลีกเยาวชนได้ในที่สุด เอเลียสบอกว่า สมัยเป็นนักฟุตบอลเยาวชน เมื่อมีการเปลี่ยนโค้ช เขาก็ถูกโค้ชใหม่จับไปเล่นหลายตำแหน่ง ทั้งกองหน้า กองกลาง และกองหลัง เขาเองที่มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำหน้าที่ตำแหน่งไหนได้ดีที่สุด เอเลียสบอกอีกว่า ตัวเขาเองไม่ใช่นักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์ จึงต้องใช้พรแสวงอย่างมากเพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง ฤดูกาล 2013 - 2014 เอเลียสถูกดันให้ขึ้นไปเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของสโมสรเป็นครั้งแรก เขาเล่นกับสโมสรแห่งนี้ 2 ฤดูกาล 21 นัด ยิงไป 2 ประตู และใช้เวลาปิดฤดูกาล เดินทางพร้อมกับครอบครัวกลับมาเยี่ยมญาติที่นราธิวาส แต่การเดินทางครั้งนั้นเป็นการพลิกชีวิตของเด็กหนุ่มร่างสูงโย่ง 196 เซนติเมตรอย่างแท้จริง เมื่อเขาต้องการหาที่ฝึกซ้อมเพื่อรักษาสภาพความฟิต จนพบทีมสงขลา ยูไนเต็ด ทีมระดับดิวิชั่น 1 เขาจึงให้คุณพ่อมาติดต่อขอซ้อมฟุตบอลด้วย ก่อนที่เขาจะติดใจบรรยากาศของจังหวัดสงขลา และโชว์ฝีเท้าได้ดี จึงได้รับการทาบทามให้เซ็นสัญญากับทีมวัวชนแดนใต้ แต่เอเลียสที่ยังติดสัญญากับลุนด์ส บีเค อีก 1 ฤดูกาล ขอกลับไปเล่นฟุตบอลที่สวีเดนและเดินทางกลับมาร่วมทีมกับสงขลา ยูไนเต็ดในที่สุด เอเลียสใช้เวลาไม่นานก็พัฒนาฝีเท้าจนได้ย้ายข้ามชั้นสู่ทีมใหญ่ในไทยลีกอย่างการท่าเรือไทย เอเลียสมีปู่ย่าเป็นชาวกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เขาจึงมีสิทธิ์ถูกเรียกติดทีมชาติถึง 3 ชาติ ทั้งสวีเดน ไทย และมาเลเซีย กลายเป็นทีมชาติไทยยุค ‘อากิระ นิชิโนะ’ เรียกติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในนัดกระชับมิตรที่จะพบกับสาธารณรัฐคองโก และฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก นัดที่ไทยเปิดบ้านพบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เขายังไม่ใช่ตัวหลักและหลุดหายจากทีมชาติไทยชุดใหญ่ไปช่วงหนึ่ง แต่ฟอร์มการเล่นกับการท่าเรือไทยพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถูกเรียกติดทีมชาติอีกครั้งในยุคที่เปลี่ยนโค้ชเป็น ‘มาโน่ โพลกิ้ง’ เข้ามาคุมบังเหียน และยิงประตูประวัติศาสตร์ได้ในที่สุด ทั้งศุภชัย ทั้งเอเลียส แม้จะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติที่มีเชื้อสายมลายูชายแดนใต้ทั้งคู่ แต่ที่มาแตกต่างกัน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ศุภชัยเริ่มต้นเตะฟุตบอลด้วยความหลงใหลส่วนตัว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบแต่แรก ต้องใช้โอกาสหลายชั้นกว่าเขาจะค้นพบเส้นทางการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้องและเป็นระบบ ขณะที่เอเลียส นอกจากการเกิดในครอบครัวที่คุณพ่ออิสมาแอลเป็นคนหลงใหลฟุตบอล เคยเป็นโค้ชระดับเยาวชนให้กับสโมสรดาลบี้ จีไอเอฟ และเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกบอร์ดบริหารของลุนด์ส บีเค ที่เอเลียสเคยค้าแข้งด้วย เขาเติบโตภายใต้ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่ทุกชุมชนมีสนามฝึกซ้อม ทุกกีฬาได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ไม่แปลกที่สวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนจะเป็นขาประจำในฟุตบอลโลก และเป็นทีมแกร่งในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยุโรป ทำให้ระยะเวลา 6 ปีในประเทศไทย เอเลียสมองเห็นความแตกต่างของวงการฟุตบอลไทยกับสวีเดนที่เขาเติบโตขึ้น “ผมมองว่าปัญหาของฟุตบอลไทย คือโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แบบผม ที่ประเทศไทยคุณแทบไม่มีโอกาสได้เข้าสู่การเรียนฟุตบอลที่ดีเลย อคาเดมี่ฟุตบอลก็มีน้อย จำนวนหนึ่งผูกติดโรงเรียนชื่อดัง ทำให้โอกาสมีจำกัด ถ้าคุณเข้าไปได้ก็ดี แต่ถ้าเข้าไม่ได้ล่ะ เรื่องนี้แตกต่างกับที่สวีเดนมาก” เอเลียสให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Main Stand เอาไว้ นอกจากขาดโอกาสในการฝึกสอนฟุตบอลที่ดีแล้ว เอเลียสมองว่าเด็กไทยยังขาดพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สนุกกับการเล่นกีฬา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป เพื่อสร้างฝันและสร้างความรักในการเล่นกีฬาที่จะผูกอยู่กับตัวเด็กจวบจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ “ที่สวีเดน ถ้าคุณเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก คุณจะผูกพัน โตขึ้นคุณอยากเป็นนักฟุตบอล ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักฟุตบอล คุณอาจไปเป็นโค้ช เป็นกรรมการ หรืออย่างน้อยที่สุด คุณก็ได้เป็นแฟนบอล เพราะฉะนั้น มันสำคัญมากกับการสร้างรากฐานฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็ก “ผมเชื่อว่าสุดท้าย เด็กไทยต้องการพื้นที่ที่จะเล่นฟุตบอล รวมถึงกีฬาอื่น ๆ ด้วย คุณต้องไม่ลืมว่าที่สวีเดนไม่ได้สนับสนุนแค่ฟุตบอล แต่เราสนับสนุนทุกกีฬาอย่างเท่าเทียม แต่ที่เมืองไทย กีฬาอื่นไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไรนักเท่าที่ผมรู้มา “ผมมองว่าวงการฟุตบอลไทย กำลังลืมเรื่องการสร้างจากพื้นฐาน สร้างทีมท้องถิ่นให้กับเยาวชนได้มีโอกาสเล่นฟุตบอล” มุมมองต่อฟุตบอลไทยของเอเลียส ดอเลาะ และชีวิตที่ดิ้นรนจนมีวันนี้ของศุภชัย ใจเด็ด กองหลังและกองหน้าทีมชาติไทยเชื้อสายมลายูชายแดนใต้ในยุคที่เราใฝ่ฝันถึงฟุตบอลโลกทุก 4 ปี ภายใต้ระบบฟุตบอลอาชีพที่ยังไม่มีพื้นที่ปลุกปั้นความฝันให้เยาวชนมากเพียงพอ บทเรียนจากความสำเร็จของนักฟุตบอลทีมชาติที่เติบโตจากที่มาแตกต่างกัน อาจทำให้เห็นว่าเราอยู่ตรงไหน และต้องทำอย่างไรเพื่อให้ฟุตบอลไทยก้าวไปสู่จุดที่ทุกคนฝันร่วมกัน   เรื่อง:  กัณฐ์ นครสุขาลัย   อ้างอิง: https://www.goal.com/th/news/5285/give-a-shout/2015/09/02/14969842/Give-A-Shout-ศุภชัย ใจเด็ด เพชรงามนอกสายตาแห่งชายแดนใต้ https://mgronline.com/sport/detail/9630000062649 ไม่เคยลืมบันไดขั้นแรก! ‘ศุภชัย ใจเด็ด’ โพสต์ถึง ‘เรย์ แมคโดนัลด์’ https://www.mainstand.co.th/890 ชีวิตฟุตบอลและการเติบโตใต้รัฐสวัสดิการที่คนไทยไม่คุ้นเคยของ เอเลียส ดอเลาะ https://youtu.be/msJoLHeqa0Q Story นักเตะไทย!! เอเลียส ดอเลาะ (Elias Dolah) ช่วงเวลาที่ฝันเป็นจริง ของไวกิ้งหนุ่มสายพันธ์ุช้างศึก   Photo by Lim Weixiang/Getty Images Photo by Zhizhao Wu/Getty Images