พระคริสต์และองค์กฤษณะ เบื้องหลังเพลง ‘My Sweet Lord’ ของ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ คือเหล่าทวยเทพ

พระคริสต์และองค์กฤษณะ เบื้องหลังเพลง ‘My Sweet Lord’ ของ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ คือเหล่าทวยเทพ
“ถ้าพระเจ้ามีจริง ผมก็อยากจะพบเขา มันไม่มีประโยชน์ที่จะเชื่อโดยไร้การพิสูจน์” คือประโยคเปี่ยมศรัทธาและกังขาในคราวเดียวของ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ อดีตมือกีตาร์แห่งวงดนตรีที่โลกจดจำ ‘The Beatles’ เมื่อพูดถึงสิ่งซึ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขาอย่างศาสนา แฮร์ริสันเป็นผู้ศรัทธาศาสนา พอ ๆ กับที่ตั้งคำถามและศึกษาอย่างจริงจัง จากคริสต์ศาสนาแห่งโลกตะวันตก สู่ปรัชญาและพระเจ้าของโลกตะวันออก - มือกีตาร์จาก The Beatles เรียนรู้ซึ่งศาสนาฮินดู และถ่ายทอดความรู้สึกที่เขามีต่อพระเจ้าหรือเทพเจ้าองค์หนึ่งในนับพันองค์ ผ่านเพลงดังของตัวเอง นั่นกลายเป็นเหตุผลที่ ‘My Sweet Lord’ ได้บรรจุนาม ‘พระกฤษณะ’ ไว้อย่างแว่วหวานท่ามกลางเสียงซึ้งชวนฝันของดนตรี   เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นพระเจ้า แฮร์ริสันเกิดและเติบโตใต้ร่มคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก โบสถ์เล็ก ๆ ในเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ คือสถานที่ที่แม่ของเขามักพาเด็กชายติดสอยห้อยตามไปกล่าวนามพระเจ้าด้วยอยู่เสมอ การไปโบสต์คาทอลิกอย่างสม่ำเสมอไม่ได้ให้สิ่งอื่นใดกับแฮร์ริสันมากไปกว่าความเบื่อหน่าย ด้วยวัย 12 ปี หนูน้อยชาวอังกฤษหันเหความสนใจของตนออกจากหลักศาสนา ด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่เขาเข้าร่วมและได้ยินในโบสถ์นั้นไร้สาระสิ้นดี และที่สำคัญ เขาไม่เคยเห็นพระเจ้า หลักศรัทธาที่สอนสืบทอดกันมาในโบสถ์นั้นมีอยู่ว่า จงนับถือพระเจ้าแม้ว่าจะไม่เคยเห็นพระพักต์ท่าน ซึ่งในข้อนั้นแฮร์ริสันรู้สึกว่าไร้สาระเหลือเกิน “ถ้าโลกนี้มีพระเจ้า เราต้องเห็นพระองค์ ถ้าโลกนี้มีจิตวิญญาณของท่าน เราต้องสัมผัสได้ ผมไม่เชื่ออะไรที่ไม่เห็น และยินดีประกาศตนเป็น ‘atheist’ (ผู้ไม่นับถือพระเจ้า) มากกว่าทำเป็นศรัทธาในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับใจรู้สึก”  แม้จะปลีกตัวให้ห่างจาก God ของคนขาวและชาวคริสต์ หากแฮร์ริสันก็ไม่เคยหยุดตามหา ‘พระเจ้า’ ที่เขาจะศรัทธาอย่างจริงใจได้ นานปีล่วงไป เด็กชายแฮร์ริสันเติบโต มีเพื่อนสนิทเป็นกีตาร์ และมีสมาชิกร่วมแบนด์เป็น จอห์น พอล และริงโก้  และชื่อของวง ‘The Beatles’ ก็กระฉ่อนโลก   บีเทิลส์ในอินเดีย จอร์จ แฮร์ริสัน รับบท ‘คนขรึม’ ในวง ท่ามกลางคืนและวันที่จอห์นกับพอลผลัดกันยื่นเนื้อเพลงของพวกเขามาตรงหน้า เพื่อบันทึกเสียงในนามสี่เต่าทอง แม้จอร์จจะแต่งเพลงให้วงน้อยกว่าเพื่อนอีกสองคน (แน่นอนว่าเพลงที่เขาแต่งอย่าง Here Comes The Sun, Something และ While My Guitar Gently Weeps นั้นล้วนโด่งดังไม่น้อยกว่าเพลงอื่น) แต่เขาคือผู้แต่งเติมความสมบูรณ์แบบของ The Beatles จากความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ อย่างการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านตะวันออกในเพลง และผสานทำนองดนตรีแบบอินเดียเข้าไป แฮร์ริสันสนอกสนใจในวัฒนธรรมตะวันออกตั้งแต่ก่อนหน้าและขณะที่ The Beatles บินร่อนไปมาระหว่างยุโรปและอเมริกา และความสนใจของเขาก็ยิ่งชัดขึ้นตอนที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดนตรีตะวันออกถึงถิ่นที่ประเทศอินเดีย ที่นั่นเองที่แฮร์ริสันพบ ‘พระกฤษณะ’ พระเจ้าของเขา   พระพักตร์ของพระโคบาล ระหว่างปี 1966-1968 ความสัมพันธ์ระหว่างแฮร์ริสันและอินเดียได้กลายมาเป็นคำตอบของคำถามชั่วชีวิตของเขา นับจากครั้งแรกที่เขาบินลัดฟ้าไปเพื่อเรียนเครื่องดนตรี ‘ซีตาร์’ จาก ‘มหาคุรุระวี ชังกรา’ จนถึงครั้งที่เขาได้พบกับ ‘สวามี ปราภูปดา’ อาจารย์สอนจิตวิญญาณชาวอินเดีย ผู้เอ่ยคำซึ่งทำให้ชายหนุ่มนักดนตรีตาลุกวาวอย่างแสนยินดี “ถ้าพระเจ้ามีจริง เราต้องสามารถเห็นพระองค์” “ผมคิดขึ้นมาทันที” แฮร์ริสันเล่า “ใช่! ถูกเผงเลย! นี่แหละที่ทางสำหรับผม ถ้าพระเจ้ามีจริง ผมก็อยากเจอเขาจะแย่อยู่แล้ว!” อาจารย์สวามีสอนแฮร์ริสันไปพบพระเจ้าด้วยการตั้งจิตภาวนา และด้วยความศรัทธาที่พุ่งพล่านขึ้นมา และความปรารถนาอย่างจริงใจในการได้พบพระผู้ปกป้อง - ร่างอวตารของพระวิษณุ อย่าง ‘องค์กฤษณะ’ นั่นเอง ที่ทำให้เสียงดนตรีในเพลง ‘My Sweet Lord’ มีโอกาสได้ถ่ายทอดให้โลกฟัง   / I really want to see you Really want to be with you Really want to see you Lord But it takes so long, my Lord /   ฮาเลลูยา ฮาเรกฤษณะ My Sweet Lord เวอร์ชันแฮร์ริสัน ถูกปล่อยออกมาพร้อมอัลบั้ม ‘All Things Must Pass’ ในปี 1970 แต่ที่จริงเพลงนี้ได้ถูกบันทึกเสียงและลงแผ่นขายไปก่อนหน้านั้นแล้ว  ทีแรกแฮร์ริสันไม่ได้คิดจะเอาเพลงดังกล่าวเข้าใส่อัลบั้มใด ๆ เพราะมันเป็นแต่เพียงเพลงร้องเล่นที่เขาได้ไอเดียมาจากคำ ‘Hare Krishna’ จากบทสวดของฮินดูเท่านั้น เขาจึงได้ยกมันให้กับ ‘บิลลี เพรสตัน’ (Billy Preston) เพื่อนนักดนตรีที่ทำงานด้วยกันในแอปเปิล เรคคอร์ดไป แล้วจึงเอากลับมาปัดฝุ่นใหม่เมื่อเขาเริ่มทำ ‘All Things Must Pass’ อัลบั้มเดี่ยวชุดที่สามของตน ท่วงทำนองแว่วหวาน เสียงกีตาร์ผสานกับเครื่องดนตรีท้องถิ่น ท่อนร้องเพียงไม่กี่คำ ใจความมีเพียง ‘อยากเจอพระเจ้า’ พร้อมด้วยการกล่าวสรรเสริญนามพระกฤษณะและพระเจ้าของชาวคริสต์ (Hare Krishna และ Hallelujah) คลอสลับกันไป สิ่งต่าง ๆ ที่เรียบง่ายแต่มีมนตร์ขลังเหล่านี้ช่วยเป็นแรงส่งให้ ‘My Sweet Lord’ ขยับปีกของมันขึ้นประจำที่บนชาร์ตเพลงได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ครั้งแรกชาวคริสต์ผู้เคร่งศาสนาหลายคนมองว่าเพลงนี้ ‘ดูหมิ่น’ ศาสนาตนด้วยการเอ่ยนามพระเจ้าของพวกเขาพร้อมกับพระเจ้าองค์อื่น แต่จากหนังสือ While My Guitar Gently Weeps ก็ระบุไว้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปเพราะแฮร์ริสันอยากให้เพลงดังกล่าวเป็นเพลงสากล ไม่ผูกติดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเป็นเรื่องของจิตวิญญาณหนึ่งดวงในศาสนาใดก็ตาม ที่ประสงค์จะพบพระเป็นเจ้าแต่เพียงเท่านั้น โดยในเพลงได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงในศาสนาคริสต์อย่าง ‘Oh Happy Day’ ด้วย ก่อนจะก่อเป็นคำครหาว่าแฮร์ริสันคัดลอกเมโลดี้ (โดยไม่เจตนา) มาจากเพลง ‘He’s So Fine’ ของ ‘The Chiffons’ ตามมาด้วยการขึ้นชั้นศาลและชดใช้คู่กรณีในหลายปีถัดไป  ‘My Sweet Lord’ กลายเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่ฉาวโฉ่ด้านลิขสิทธิ์ที่สุดเพลงหนึ่ง และทำให้ตัวแฮร์ริสันผู้แต่งมันขึ้นมาเอง ถึงกับขยาดการเขียนเนื้อร้องและท่อนดนตรีไปพักใหญ่ ขณะเดียวกันมันก็คือเพลงแรกของอดีตสมาชิกวง The Beatles หลังจากแยกย้าย ที่โด่งดังเป็นพลุแตกขึ้นมาได้ หลังจากผ่านเรื่องราวมากมาย สิ่งที่เรารู้ได้จาก ‘My Sweet Lord’ คือ แฮร์ริสันเจอพระเจ้าของเขาแล้ว และพระเจ้าเหล่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นองค์กฤษณะ พระบิดา พระเยซู หรือเทพอวตารจากซีกโลกตะวันออกองค์อื่นใด) ได้อยู่เคียงข้างเขาไปถึงวันสุดท้าย จวบจนชายนักดนตรีจากโลกใบนี้ไปเมื่อปี 2001 - โดยมีภาพของพระรามและพระกฤษณะอยู่ข้างกาย และรายล้อมด้วยเสียงบทสวด ‘Hare Krishna’ “ชีวิตหนึ่งจะดำรงอยู่ต่อไป เช่นที่ดำรงอยู่มาเสมอ ผมไม่ใช่ ‘จอร์จ’ จริง ๆ หรอก เป็นเพียงดวงวิญญาณที่เกิดมาในร่างของจอร์จเท่านั้นเอง”   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.learnreligions.com/george-harrison-and-hinduism-1769992 https://www.cheatsheet.com/entertainment/the-controversial-true-story-behind-george-harrisons-my-sweet-lord.html/ https://www.songfacts.com/facts/george-harrison/my-sweet-lord (Photo by Michael Putland/Getty Images) (Photo by Werner Forman/Universal Images Group/Getty Images) (Photo by GraphicaArtis/Getty Images)