ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน

ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน
เพราะ ‘สหรัฐอเมริกา’ คือดินแดนแห่งเสรีภาพ ทำให้อิสระทางความคิดและจินตนาการของมนุษย์สามารถโลดแล่นได้อย่างไร้ขอบเขต ก่อเกิดเป็นผลผลิตที่ไม่เคยหยุดพัฒนา เช่นเดียวกับ ‘ศิลปะ’ (ที่ไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร) นั่นทำให้แม้กระทั่งหลักสูตรใน ‘สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก’ (School of the Art Institute of Chicago - SAIC) ก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้ ‘อิสระ’ แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ‘ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล’ หรือ ‘Piper Thaveesakvilai’ คือนักเรียนไทยเพียงไม่กี่คนใน SAIC ที่ได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศการเรียนที่สามารถเลือกวิชาได้เองตามความสนใจ โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับคณะ The People จึงชวนปันปันมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งสอบติดทุน Merit Scholarship Bachelor of Fine Arts in Studio จนกระทั่งเข้าเรียนที่วิทยาลัย และตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อเมริกาถาวร ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน จากไทยสู่วิทยาลัยในฝัน “เราคิดว่า เรามาขนาดนี้ได้ก็ดีแล้ว เพราะเราทำทุกอย่างด้วยตัวเองตลอด โรงเรียนที่ไทยมีอะไรให้น้อยมาก อาจจะเพราะเราเลือกมาเรียนต่างประเทศซึ่งเป็นโปรแกรมที่แตกต่าง ทางโรงเรียนก็เลยไม่ได้มีอะไรรองรับ” ประโยคดังกล่าวดังขึ้นเจือเสียงหัวเราะ ปันปันจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ระหว่างนั้นในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5 เธอได้เดินทางไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองเวสต์พอร์ต รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 เดือน และปัจจุบันเพิ่งจบการศึกษาจาก SAIC สาขา Industrial Design หรือการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ปันปันเล่าว่า แต่เดิมเธอเลือกสถานศึกษาในอเมริกาไว้ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ 1 แห่ง ที่รัฐนิวยอร์กอีก 2 แห่ง และที่เมืองชิคาโก แต่สาเหตุที่เลือกเข้าเรียนที่ SAIC เนื่องจากหลักสูตรของวิทยาลัยค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น คือเป็นแบบ interdisciplinary หรือสหวิทยาการ “มันจะไม่มีคณะตายตัว ในใบปริญญาจะเขียนแค่ว่าเป็น Bachelor of Fine Arts in Studio ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม การแสดง แฟชั่นดีไซน์ สื่อสิ่งพิมพ์ แอนิเมชัน เซรามิก ถ่ายภาพ หรือภาพยนตร์ แต่ในใบจบจะไม่เขียนว่าเราเรียนสาขาอะไร เพราะที่นี่เขาให้อิสระ ไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่สาขาใดสาขาหนึ่ง บางคนอาจจะบอกได้ว่าเรียนอะไร หรือสนใจด้านไหน เช่นเราบอกคนอื่นว่าเรียนสาขา Industrial Design เพราะเราโฟกัสตรงนี้ แต่บางคนก็ไม่จำเป็นต้องมี” เมื่อเริ่มเข้าศึกษาในช่วงปี 1 ทางวิทยาลัยจะมีโปรเจกต์ของทุกสาขาให้ผู้เรียนได้ลองทำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นหาตัวเอง เช่น ผู้เรียนด้านสถาปัตยกรรมสามารถลองทำโปรเจกต์ของสาขาคหกรรม (เย็บปักถักร้อย) หรือสาขาเสียง (The Sound Department) ก็ได้ “มันเป็นการค้นหาตัวเองในระยะเวลา 4 ปี บางคนอาจจะเจอตัวเองเร็ว บางคนอาจจะเจอตัวเองช้า หรือจากที่อยากเข้าไปเรียนสาขานี้ก็อาจจะได้เจออะไรที่ดีกว่า ทุกคนจะได้สกิลที่แตกต่างกันไป เพราะทางวิทยาลัยให้โอกาสและอิสระทางความคิดเยอะมาก เราก็เคยคิดว่าถ้าเรียนอย่างละนิดอย่างละหน่อยจะไม่เก่งสักอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว การได้ลอง มันทำให้เราได้เจอสิ่งที่ชอบจริง ๆ ที่สำคัญคือเราสามารถคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียนไปได้เรื่อย ๆ” ปันปันยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเองในสมัยเรียนปี 1-2 เธอตั้งใจเข้าเรียนสาขา Industrial Design จึงโฟกัสวิชาเรียนด้านผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แต่เมื่อขึ้นปี 3-4 จึงค่อยค้นพบว่า แท้จริงแล้วตัวเองชอบการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กระนั้นความรู้ที่ได้มาตั้งแต่ต้นก็ไม่สูญเปล่า เพราะการเรียนที่นี่ช่วยให้เธอสามารถคิดต่อยอดผลงานได้อย่างต่อเนื่อง [caption id="attachment_34003" align="aligncenter" width="994"] ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน 'HIVE' (Wall Panel) หนึ่งในผลงานการออกแบบของปันปัน[/caption] [caption id="attachment_34005" align="aligncenter" width="993"] ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน 'แชนเดอเลียร์' ผลงานการออกแบบของปันปัน จัดแสดงที่ BFA Show[/caption] ยกตัวอย่างผลงาน ‘แชนเดอเลียร์’ ที่เธอสร้าง lampshade หรือโป๊ะโคมไฟขึ้นมาจากกล่องกระดาษลังที่สั่งของมาในช่วงโควิด ถือเป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่พัฒนามาจากตอนปี 2 ซึ่งปันปันเคยสร้างวัสดุขึ้นมาเองเป็นไบโอพลาสติกจากมันฝรั่ง ทำให้เธอได้สานต่อแนวคิดในการรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด สอดคล้องกับทางวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน “เราสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เพราะความเป็นนักออกแบบทำให้เราต้องคำนึงถึงสิ่งที่เราดีไซน์ออกมา กว่าจะสร้างออกมาได้ต้องดูหลายปัจจัย มันควรจะดีต่อทุกด้าน” นอกจากแนวคิดการผนวกรวมศิลปะเข้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่วิทยาลัยให้ความสำคัญแล้ว เมืองชิคาโกเองก็ผนวกรวมศิลปะเข้ากับวิถีชีวิตอันหลากหลายได้อย่างลงตัว รวมไปถึงให้สิทธิและเสรีภาพแก่ทุกคนในเมืองอย่างเท่าเทียม ชิคาโกเมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน “เพราะอเมริกาค่อนข้างใหญ่และมีทุนทรัพย์เยอะ ทำให้แหล่งการเรียนรู้ด้านศิลปะสามารถเข้าถึงได้ง่าย รัฐบาลเขาก็สนับสนุนผ่านงานโฆษณา เช่น ถ้ามีงานนิทรรศการก็จะมีการติดประกาศทั่วเมือง บางทีก็บนรถบัส ตู้หนังสือพิมพ์ บนถังขยะรอบเมือง หรือบนผนังอิฐของตึกก็สามารถทาสีได้ เขาถือว่าเป็นงานศิลป์ที่มอบให้กับเมือง และเป็นการทำการตลาดไปในตัว” ปันปันอธิบายวิถีชีวิตของคนเมืองชิคาโกที่แต่งแต้มด้วยศิลปะอยู่ทุกวันให้ฟัง เช่นเดียวกับชีวิตของเธอที่มีโอกาสเดินผ่านพิพิธภัณฑ์ศิลปะอยู่ตลอด สถานที่แห่งนั้นคือ ‘สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก’ (Art Institute of Chicago) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยและเป็นพิพิธภัณฑ์หลักของเมือง ทุกครั้งที่ปันปันจะเดินทางไปเรียน เธอสามารถเดินผ่านพิพิธภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องต่อคิว ทั้งยังมีนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการถาวรให้ชม หรือหากต้องการหาข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานก็สามารถเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ได้ทันที [caption id="attachment_34007" align="aligncenter" width="988"] ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์[/caption] นอกจากงานศิลปะแห่งอิสระที่กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของเมือง ปันปันยังเล่าถึงความแตกต่างที่น่าประทับใจในวิทยาลัยของชิคาโกให้ฟังอีกว่า “ก่อนมา เรารีเสิร์ชเยอะมาก เพราะเรามาคนเดียว ไม่มีใครมาอยู่ด้วย ที่แตกต่างคือ เราไม่คิดว่าคนที่นี่ หรือคนในวิทยาลัยเขาจะจริงจังเรื่อง Identity หรือความเป็นตัวตนอย่างพวกคำสรรพนาม (Pronouns) วันแรกที่ไปเขาจะให้เราเขียนเลยว่า คำสรรพนามของเราคืออะไร She-Her หรือ They-Them ถ้าเป็น LGBTQ+ เราจะเรียกเขาว่า They-Them หรือถ้าเขาอยากให้เรียกอย่างอื่นก็ได้ ถ้าคุณเป็นผู้หญิง แต่อยากให้เรียกว่า นาย ทุกคนก็จะเรียกคุณว่า นาย ซึ่งตอนแรกที่ไปเราไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้เลย อย่างในไทยเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ มันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาให้ความสำคัญมาก เพราะมันคือตัวตนของแต่ละคน” เนื่องจากชิคาโกเป็นเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนจึงมีความสำคัญและมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก นอกจากนี้ เสรีภาพที่หยั่งรากลึกอยู่ทั่วอเมริกายังทำให้ชิคาโกเป็นอีกเมืองที่ให้อิสระในการเดินประท้วง “ที่นี่มีเดินประท้วงกันเยอะมาก ตำรวจก็ขี่จักรยานตาม เริ่มตั้งแต่สมัย Black Lives Matter ก็มีการเดินเรื่อย ๆ ข่าวมันก็มีมาเรื่อย ๆ เรื่องเชื้อชาติเอเชียก็มีประท้วง เมื่อช่วงที่ผ่านมาก็มีเรื่องปาเลสไตน์ ทุกคนแอคทีฟกันมาก ๆ ตำรวจก็คอยดูแลความปลอดภัย เพราะมันไม่ใช่การประท้วงที่รุนแรง เดินบนถนน ถือธงมันไม่ได้รุนแรง มันเป็นสิทธิของคนที่สามารถประท้วงได้ ตำรวจก็แค่ดูแล แต่ตำรวจไม่ดีก็มีตามที่เป็นข่าว บางทีคนยังไม่ได้ทำอะไรก็ยิงแล้ว ที่เขาประท้วงก็คือประท้วงตำรวจนี่แหละ” และเมื่อพูดถึงความกังวลหรืออุปสรรคที่พบเจอระหว่างอาศัยอยู่ที่เมืองชิคาโก ปันปันเล่าให้ฟังว่า เพราะเธอเป็นชาวไทยเพียงไม่กี่คนในวิทยาลัย และยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักคนไทยคนอื่น ทำให้การใช้ชีวิตหลังออกจากหอมาอยู่ที่อพาร์ตเมนต์มีส่วนที่ต้องช่วยเหลือตัวเองเยอะขึ้น ชีวิตในเมืองที่ยังไม่เจอคนไทย “เราเคยมาแลกเปลี่ยนก็คิดว่าคงไม่ยากอะไร แต่พอเทอมที่สองย้ายออกไปอพาร์ตเมนต์แล้วมันต้องทำทุกอย่างเอง จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ติดต่อย้ายของ มันค่อนข้างยากในส่วนที่ไม่มีใครให้ถามหรือปรึกษาเลย ตอนนี้เรียนจบก็ต้องนั่งคิดเรื่องการซื้อประกันสุขภาพ นั่งทำรีเสิร์ชเอง ค่อนข้างลำบาก เราใช้วิธีถามเพื่อนเอา อย่างที่วิทยาลัยจะมีแผนก International Student คอยช่วยเรื่องเรียน แต่ไม่ใช่เรื่องค่าน้ำค่าไฟ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องช่วยเหลือตัวเอง” ส่วนด้านการเงินปันปันเล่าว่า เธอมาด้วยวีซ่านักเรียน F-1 ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ แต่ทางวิทยาลัยมีงานพาร์ตไทม์ในส่วนของการ Work-Study ให้ เธอจึงได้เข้าทำงานที่ Media Center ซึ่งเป็นออฟฟิศสำหรับให้ผู้เรียนยืมอุปกรณ์ นอกจากนี้ ปันปันยังได้ทุน Merit Scholarship Bachelor of Fine Arts in Studio ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้เยอะ “สถานศึกษาส่วนใหญ่ที่นี่ให้ทุน ต่อให้เป็นนักเรียนต่างชาติเขาก็ให้ หนึ่งปีจะมีคนได้ทุนเต็มจำนวนไม่เยอะ แต่ได้มากได้น้อยเขาก็ให้ มันดีตรงที่นักเรียนต่างชาติเขาก็ให้ อย่างเราได้ 4 ปี ประมาณ 3 ล้านบาท” ซึ่งปันปันได้ให้คำแนะนำว่า หากใครต้องการจะมาเรียนที่ SAIC จะต้องศึกษาหลักสูตรให้ดี เนื่องจากไม่ใช่หลักสูตรแบบนี้จะเหมาะกับทุกคน และอีกสิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อมคือ จดหมายแนะนำ “ยิ่งมีจดหมายแนะนำดี ๆ ยิ่งรู้สึกว่าจะเข้าง่ายขึ้น แล้วก็ทำโพรไฟล์ให้ดี ของเราเป็นวิทยาลัยศิลปะจะเน้นไปทางพอร์ตโฟลิโอ เราก็สอบเป็น SAT เอา ส่วนจะได้ทุนหรือไม่ได้ เขาจะแนบมากับใบตอบรับเข้าเรียนเลย” ก่อนจบบทสนทนา ปันปันยังเอ่ยชวนทุกคนมาชมความงามของ The Great Lake แห่งเมืองชิคาโก ทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา เธอหวังว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ครอบครัวของเธอจะสามารถเดินทางมาเยี่ยมเธอได้หลังจากที่คลาดกันไปในช่วงรับปริญญา ส่วนตัวเธอได้รับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) เป็นที่เรียบร้อย โดยสามารถเข้าฉีดฟรีได้ตามจุดบริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ หรือร้านขายยาทั่วไป ใช้เวลากรอกประวัติและเข้าฉีดรวมทั้งหมดราว 5 นาทีเท่านั้น [caption id="attachment_34009" align="aligncenter" width="990"] ปันปัน-พิชญา ทวีศักดิ์วิไล: ชีวิตเด็กไทยกับหลักสูตรวิทยาลัยที่เลือกเองได้ของ ‘ชิคาโก’ เมืองแห่งศิลปะและการยอมรับตัวตน บรรยากาศและสถานที่ท่องเที่ยวในชิคาโก[/caption] หลังจากนี้ ชีวิตของสาวไทยในชิคาโกก็จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คนในเมืองสามารถรอคอยการจัดคอนเสิร์ตเต็มอัตราได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นับว่าเป็นความลงตัวระหว่างเมืองที่โอบรับตัวตนและความชอบด้านงานศิลป์ กับคุณภาพชีวิตที่ดีจากความใส่ใจของรัฐบาล ทำให้การเดินทางมาเรียนที่อเมริกาตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อนผลิดอกออกผลมาเป็นความฝันในการอยู่อเมริกาถาวรของปันปันในวันนี้ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: พิชญา ทวีศักดิ์วิไล